วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2551

ปัญหาเรื่องยางแก้ไขได้โดยมาตรการทางกฎหมาย



ร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน ประเด็นเรื่องยางที่สามารถแก้ไขได้ โดยมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ของผู้ปลูก-ผู้ผลิต-ผู้ใช้
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า กรมวิชาการเกษตร ได้จัดประชุมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อหารือประเด็นเรื่องยางที่สามารถนำพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 มาใช้แก้ปัญหาได้ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยได้มีการปลูกยางมานานแล้ว และมีกฎหมายควบคุมยางมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ใช้กำกับดูแลเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรในการปลูกยาง ต่อภาคอุตสาหกรรมทำยาง ต่อการค้าทั้งการนำเข้าและส่งออกยาง และเพื่อบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมยางได้มีการปรับปรุงครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ. 2542 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการค้ายางของโลก อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดในโลก มีเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยางประมาณ 6,000,000 คน ในเกือบทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้และภาคตะวันออก ทั้งการผลิต อุตสาหกรรมและการค้ายางต่างก็มีประเด็นปัญหาและความต้องการแตกต่างกันออกไป จึงสมควรมีการปรึกษาหารือถึงประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขในแต่ละกลุ่มแต่ละเรื่อง เพื่อนำมาสู่การแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบอยู่ มากำหนดเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาได้ ก็จะทำให้กฎหมายมีประโยชน์สมบูรณ์ตาที่มุ่งหมายไว้
เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดให้มีการประชุมเรื่อง พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 : มาตรการกำกับดูแลและการบังคับใช้ขึ้นในวันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2551) ณ โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน พิจารณามาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยาง ที่ควรนำมาใช้กำกับดูแลยางทั้งระบบ
ในการประชุมได้เชิญผู้บริหารภาครัฐได้แก่ กรมวิชาการเกษตรโดยสถาบันวิจัยยาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต1-8 รวมทั้งภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย มาร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะประเด็นปัญหาในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับยางเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาแก้ไข เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง และผู้ค้ายาง เพื่อประโยชน์ต่อประเทศไทยให้มากที่สุด
ที่มา : www.rubberthai.com

วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2551

สถานการณ์ยางของไทย



สถานการณ์ยางของไทย

ข้อมูลทั่วไป
ยางพารา ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของโลก ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในปี 2549 มีจำนวนมากถึง 9.19 ล้านตัน เปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีย้อนหลัง คือปี 2540 ที่ผลิตได้ 6.46 ล้านตันแล้วจะเห็นได้ว่าการผลิตยางธรรมชาติของโลกในช่วงระหว่างปี 2540 – 2549 ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.68 ต่อปี ต่ำกว่าการขยายตัวของความต้องการใช้เล็กน้อย ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในอนาคตคาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ (ร้อยละ2) ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่ปลูกยางในเกือบทุกภูมิภาคและทุกประเทศทั้งในประเทศที่เคยเป็นแหล่งปลูกยางเดิมและประเทศปลูกยางใหม่ ส่วนความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกในปี 2549 มีจำนวน 8.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2540 ที่ใช้จำนวน 6.46 ล้านตันจะเห็นว่าการใช้ยางธรรมชาติในช่วงระหว่างปี 2540 – 2549 ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.97 ต่อปีแนวโน้มการขยายตัวของการใช้ยางธรรมชาติของโลกในอนาคตคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อไปในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 2 – 3 ต่อปี

สถานการณ์การผลิตและการส่งออกยางของไทย

การผลิต
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยปี 2550 มีจำนวนประมาณ 14.3 ล้านไร่ เนื่องจากการขยายตัวของพื้นที่ปลูกยางใหม่ในประเทศ จากนโยบายที่รัฐบาลได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกยางในเขตปลูกยางใหม่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1 ล้านไร่ ส่งผลทำให้ปัจจุบันผลผลิตยางโดยรวมประมาณ 3.123 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 5.86 % คิดเป็น 3.02 ล้านตัน เนื่องจากเนื้อที่กรีดยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องจากการปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่ในปี 2550 มีประมาณ 283 กก./ไร่ โดยเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ ยกเว้นจังหวัดฉะเชิงเทรา ชุมพร สุราษฏร์ธานี พังงา พัทลุง สตูล และตรัง ที่มีเนื้อที่กรีดยางลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี

การตลาดและการส่งออก
ปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติของไทยในปี 2550 รวมทั้งสิ้น 2,966,128 ตัน คิดเป็นมูลค่า 194,356.37 ล้านบาท และในปี 2551 คาดว่ามูลค่าส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลการส่งออกในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันได้ส่งออกไปแล้วกว่าไตรมาศแรกของปี 2551 มีการส่งออกแล้วจำนวน 285,172 ตัน มูลค่าประมาณ 20,591.73 ล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกยางธรรมชาติที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีและอียู ขณะเดียวกัน แนวโน้มจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ทั้งใน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ส่งผลยางธรรมชาติในตลาดโลกจะมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าไทยยังครองความเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกยางในตลาดโลกท่ามกลางภาวะแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

โอกาสในการขยายกำลังการผลิตยางของไทย
1. การขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม
จากการประเมินศักยภาพการผลิตยางของพื้นที่ในภาคต่างๆของไทย ใช้วีการหาค่าดัชนีความเหมาะสมของพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลทางปัจจัยภูมิอากาศ และปัจจัยทางดิน ทั้งทางกายภาพและเคมีดิน นำมาหาความสัมพันธ์กับผลผลิตยาง สามารถจัดแบ่งระดับศักยภาพการผลิตยางได้ คือ
พื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพื้นที่ที่สามารถเปิดกรีดยางได้ในเวลา 7 ปีและให้ผลผลิตมากกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี
พื้นที่ที่มีขีดจำกัด (Marginal Area) เป็นพื้นที่ที่สามารถเปิดกรีดยางได้ในเวลา 8 ปีหรือช้ากว่าและให้ผลผลิตน้อยกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี
ทั้งนี้ จากการประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตยางของไทย พบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตยางสามารถผลิตยางได้มากกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีจำนวน 15.08 ล้านไร่ และพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตยางน้อยกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีจำนวน 29.56 ล้านไร่

2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Yield Improvement)
ปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพการผลิตยาง นอกจากความเหมาะสมของพื้นที่แล้ว ยังขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการผลิต เช่น พันธุ์ยาง การจัดการสวนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใส่ปุ๋ยและการกรีดยาง การเพิ่มผลผลิตของยางไทยสามารถทำได้โดยไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูกใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรทั้งประเทศเพียง 284 กิโลกรัม/ไร่/ปี เปรียบเทียบกับผลผลิตจากงานทดลอง ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 329 กิโลกรัม/ไร่/ปี แสดงให้เห็นว่าไทยยังสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตยางให้สูงขึ้นอีกได้ โดยการส่งเสริมและเกษตรกรชาวสวนยางใช้เทคโนโลยีการผลิตยางที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้นได้

แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ยางและผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ
ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมยาง เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตยาง อันดับหนึ่งของโลก จึงมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปเบื้องต้น ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้ได้ รวมทั้งพัฒนาการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางในชั้นปลาย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ยางที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้มีการเพิ่มการผลิตและสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ได้โดยมีเป้าหมายเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศเป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่มีการใช้เพียงร้อยละ 11 ของผลผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 3.2 – 3.4 แสนตัน/ปี ทั้งนี้ ในปี 2551 คาดว่าจะมีการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมในประเทศประมาณ 0.359 ล้านตัน โดยจะเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 4% เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางส่วนใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น มีการขยายฐานการผลิตในไทยมากขึ้น ประกอบด้วย
1. ยางยานพาหนะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของประเทศในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 43,583 ล้านบาท แต่ก็มีการนำเข้า 5,155 ล้านบาท ได้แก่ ล้อรถยนต์ ล้อเครื่องบิน ล้อรถจักรยายนต์ ล้อรถจักรยาน และล้อรถอื่นๆ ทั้งยางนอกและยางใน รวมถึงยางอะไหล่รถยนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มนี้มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบเกือบร้อยละ 50 โดยใช้ประมาณ ปีละ 158,883 ตัน
2. ยางยืดและยางรัดของ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางธรรมชาติจำนวนมากในส่วนผสม ยางยืดใช้ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ ส่วนยางรัดของก็ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันใช้ยางธรรมชาติในการผลิตถึงปีละ 90,561 ตัน หรือร้อยละ 28.22
3. ถุงมือยางทางการแพทย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกรองจากยางยานพาหนะ ปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 27,288 ล้านบาท แต่มีการนำเข้ามูลค่าถึง 671 ล้านบาท ถุงมือยางที่ผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย ถุงมือตรวจโรค และถุงมือผ่าตัด สำหรับวัตถุดิบยางธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตถุงมือยาง เป็นน้ำยางข้น มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติปีละ 57,120 ตัน ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ17.80 ของปริมาณการใช้ยางทั้งหมด
4. รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา รองเท้ายางและพื้นรองเท้าที่ทำจากยางธรรมชาติรวมทั้งอุปกรณ์กีฬาบางชนิด มีส่วนผสมที่เป็นยางธรรมชาติและผลิตในประเทศไทยปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย ในปี 2549 ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตประมาณ 8,492 ตัน
5. สายพานลำเลียง ใช้งานในการลำเลียงของหนักชนิดต่างๆ มีขนาดตั้งแต่ 2-3 นิ้ว ไปจนถึง 1.5 เมตร ผลิตภัณฑ์ยางกลุ่มนี้มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก โดยในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 1,057 ล้านบาท และนำเข้า 1,620 ล้านบาท ในการผลิตสายพานใช้ยางปีละประมาณ 1,318 ตัน เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 1,3,5 และยางแท่ง STR XL, 20
6. ผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางข้น ปี 2549 มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติ 364 ตัน ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ มีโรงงานผลิต 12 โรง
7. สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ จะใช้วัสดุจำพวกยางและนำเข้าจากต่างประเทศ ให้ความรู้สึกในการปฏิบัติงานเหมือนของจริง ยางพาราสามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการสอน การฝึกปฏิบัติงานได้เป็นอย่างเช่นกันโดยเฉพาะ
ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางฟองน้ำ เช่น โมเดล ร่างกายมนุษย์, สัตว์ แขนเทียมสำหรับฝึกทางการแพทย์ เป็นต้น กรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนให้มีการฝึกอบรม การผลิตผลิตภัณฑ์ยางแก่ผู้สนใจทุกปี ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถนำไปผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว
8. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม
8.1 ยางรองคอสะพาน (Elastomeric Bearings for Bridges) หรือแผ่นยางรองคอสะพาน (Rubber Bridge Bearigs) แบ่งตามชนิดของยางที่ใช้ผลิตเป็น 2 ประเภท คือ ยางรองคอสะพาน ทำจากยางสังเคราะห์ Polychloroprene, (CR) or Neoprene และทำจากยางธรรมชาติ (Natural Rubber, NR) ซึ่งทั้ง 2 ประเภท มีทั้งแบบแผ่นยางล้วน (Plain) และแบบที่มีวัสดุเสริมแรง (Laminated) สำหรับการเลือกใช้ยางตามประเภท ชนิด และแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดมาตรฐานของผู้ออกแบบและ / หรือของผู้ก่อสร้าง
8.2 แผ่นยางกันน้ำซึม (Water Stop) ทำหน้าที่เหมือนปะเก็นของงานคอนกรีต ใช้ป้องกันการขยายตัว หรือ หดตัวของคอนกรีต เพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมหรือผ่านได้ ในงานก่อสร้างทั่วไป เช่น คอนกรีต คานสะพาน อาคารชั้นใต้ดิน ดาดฟ้า เป็นต้น รวมทั้งงานก่อสร้างที่โครงสร้างต้องสัมผัสกับน้ำตลอดเวลา เช่น แท้งค์น้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย สระว่ายน้ำ คลองส่งน้ำ เขื่อนและฝาย เป็นต้น
8.3 ยางกันชนหรือกันกระแทก (Rubber of Rubber Bumper) ใช้เป็นเครื่องป้องกันการเฉี่ยวหรือการกระแทกของเรือ หรือรถเมื่อเข้าจอดเทียบท่า ใช้วัตถุดิบผลิตได้ทั้งยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์
8.4 ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต (Rubber Hose for Joint of Rubber Sealant) มีลักษณะเป็นท่อยางขนาดเล็กมีรูกลางตลอดความยาว ใช้อุดรอยต่อด้านล่างของคอนกรีตของสะพาน หรือรอยต่อระหว่างคานสะพานกันตอม่อของสะพานก่อนการหยอดยางมะตอย วัตถุดิบที่ใช้ผลิตทั้งจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ แต่มักมีการกำหนดให้ใช้ยางสังเคราะห์
8.5 บล็อกยางปูพื้น (Rubber Block) ใช้ปูพื้นแทนอิฐบล็อกคอนกรีต บล็อกยางมีข้อได้เปรียบบล็อกคอนกรีตคือเบากว่า ผิวมีสปริง ยืดหยุ่นได้เวลาลื่นล้มจึงไม่บาดเจ็บมากและไม่เป็นแผล ส่วนใหญ่มักผลิตจากยางธรรมชาติผสมกับยางรีเคลมธรรมชาติหรือสังเคราะห์ ปัจจุบันยังไม่ค่อยนิยมใช้ยางบล็อกปูพื้นเพราะราคาค่อนข้างสูงกว่าบล็อกคอนกรีต
8.6 แผ่นยางปูอ่างเก็บน้ำ (Rubber Water Confine) เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่สามารถใช้ยางธรรมชาติปูรองสระ เพื่อเก็บกักน้ำบนผิวดินที่เก็บน้ำไม่ได้ เช่น ดินปนทราย ดินลูกรัง โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2529 และสามารถพัฒนาได้กว้างขวาง ได้แก่ ใช้เก็บกักน้ำสำหรับเกษตรกร ใช้งานในสนามกอล์ฟและรีสอร์ท ใช้ในงานชลประทาน บ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ โดยทั่วไปวัตถุดิบที่ใช้ในการปูสระกักเก็บน้ำสามารถใช้เป็นยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ หรือ พลาสติก หรือผ้าใบเคลือบยาง
8.7 ฝายยาง (Rubber Dam) หรือเขื่อนยางส่วนใหญ่ผลิตจากยางสังเคราะห์แต่ผู้ผลิตให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการเคลือบชั้นนอกของตัวฝายยางด้วยยางสังเคราะห์ และภายในใช้ยางธรรมชาติแต่ความเป็นไปได้นี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใช้อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจของผู้ผลิตภายในประเทศ เพราะมีผู้ใช้จำกัดเพียงกรมชลประทานและมีราคาสูง แต่ข้อดีของฝายยางธรรมชาติ คือสามารถปรับระดับความสูงของฝายได้ตามความเหมาะสมของระดับน้ำ ซึ่งสามารถลดแรงกระแทกจากน้ำหลากและช่วยระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมล้มตลิ่ง อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดน้ำล้นหน้าฝาย ป้องกันตะกอนทราย ตกตะกอนหน้าฝายได้ นอกจากนี้ในฝายที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำจะสามารถป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่อยู่อาศัยอีกทั้งฝายยางยังทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำเค็มได้ดีกว่าบานประตูระบายน้ำที่ทำด้วยเหล็ก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาสูตรผลิตแผ่นฝายยางโดยการใช้ยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ EPEM และทดลองติดตั้งฝายยางเมื่อปี 2537
8.8 แผ่นยางปูพื้น (Rubber Floor Mat) ส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ ใช้ปูพื้นหรือทางเดินบนอาคารโรงงาน สำนักงาน สนามบินใช้ได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดเอียง เพื่อป้องกันการลื่น และลดเสียงที่เกิดจากการเดิน หรือการกระแทก
9. การใช้ยางพาราผสมยางมะตอยทำผิวถนน ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งมีความสำคัญและมีการขยายตัวมาก โดยเฉพาะถนนเป็นปัจจัยหลักของการคมนาคมและมักพบปัญหาถนนเกิดการชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ การปรับปรุงสมบัติของยางมะตอยให้ใช้ในงานทางให้ดีขึ้น และถนนมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยใช้ยางพาราผสมยางมะตอยในอัตราร้อยละ 5 ทำให้ยางมะตอยมีความแข็งมากขึ้นมีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ถนนที่ราดยางมะตอยผสมยางพาราจะมีความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น และมีการเกิดร่องล้อน้อยกว่าการใช้ยางมะตอยปกติ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาและเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ
***************************************************


ที่มา : สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง,เอกสารประกอบวันยางพาราแห่งชาติ ปี 2551 ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี.

การเลี้ยงไส้เดือนดินและการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน


การเลี้ยงไส้เดือนดินและการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน
ปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของไส้เดือนดิน ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ อาหาร พี เอชไส้เดือนดินและการทำปุ๋ยหมัก พันธุ์ไส้เดือนดินที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก เช่น Eisenia fetida (the tiger worm) Lumbricidae Eisenia andrei (red tigerworm) Eudrilus eugemiae (african night crawler) Dendrobaena veneta, Perionyx excavatus Polyheretima elongata และ Lumbricus rubellus เศษซากอินทรียวัตถุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก เศษวัสดุเหลือใช้ทุกชนิดจากภาคการเกษตร อุตสาหกรรม หรือขยะอินทรีย์จากชุมชน มูลสัตว์ เช่น มูลม้า วัว หรือควาย วัสดุอื่นๆ เช่น ฟางข้าว ต้นกล้วย ผักตบชวา เปลือกข้าว และใบกระถิน การย่อยสลายขยะของไส้เดือนดิน ของไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยพันธุ์ฟีเรทธิมา พีกัวน่า (Pheretima peguana) และไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศพันธุ์แลมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rubellus) โดยใช้อัตราส่วนปริมาณไส้เดือนต่อปริมาณขยะเท่ากับ 1 : 2 กิโลกรัม (ไส้เดือนสายพันธุ์ไทย 1 กก. มี 1,200 ตัว ส่วนไส้เดือนสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 กก. มี 970 ตัว) พบว่า ไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศพันธุ์แลมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rubellus) มีความสามารถในการย่อยสลายขยะได้เร็วกว่าไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยพันธุ์ฟีเรทธิมา พีกัวน่า (Pheretima peguana) โดยใช้เวลาในย่อยสลายขยะน้อยกว่า 2 เท่าของไส้เดือนสายพันธุ์ไทย และไส้เดือนดินทั้งสองสายพันธุ์ใช้เวลาในการย่อยเศษผลไม้ได้รวดเร็วที่สุด และใช้เวลาในการย่อยเศษอาหารและ
เศษผักใกล้เคียงกัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเป็นพิษต่อไส้เดือนดิน ได้แก่ อัลดิคาร์ป เบนโนมิล บีเอชซี คาร์บาริล คาร์โบฟูราน คลอร์เดน เอนดริน เฮบตาคลอร์
มาลาไธออน พาราไธออน เป็นต้น รูปแบบที่เหมาะสมในการใช้ไส้เดือนดินกำจัดขยะ
1. การกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในระดับครัวเรือน (แบบหลังบ้าน)
2. การกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในระดับชุมชน (แบบโรงเรือน)การเตรียมโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน โรงเรือนกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ต้องมีหลังคากันฝนและพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่าง ในบริเวณบ่อเลี้ยงต้องมีตาข่ายปิดด้านบน หรือใช้ตาข่ายกั้นบริเวณด้านข้างรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือน บ่อเลี้ยงไส้เดือน กว้าง ประมาณ 1 เมตรความยาวแล้วแต่ต้องการ และมีความลึกไม่เกิน 0.5 เมตรจะใช้เป็นบ่อเลี้ยงที่ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก มูลไส้เดือนดินจากวัสดุอินทรีย์ได้ดีและสะดวกในการจัดการ บ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ควรก่อสร้างบริเวณด้านข้างโรงเรือนหรือด้านหลังโรงเรือนให้น้ำหมักจากบ่อเลี้ยงไส้เดือนไหล เข้าไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำหมักได้ง่าย ขนาดของบ่อเก็บน้ำหมักจะมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยงไส้เดือนตามความเหมาะสมของปริมาณ น้ำหมักที่ได้ การเตรียมวัสดุรองพื้นเพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน ใช้วัสดุอินทรีย์สด เป็นวัสดุรองพื้นหนาประมาณ 6 นิ้ว โดยเน้นส่วนที่เป็นผักสีเขียว วัชพืช ขยะสดโดยจะใช้ปุ๋ยคอกโรยบนหน้า ให้หนาประมาณ 2 นิ้ว โรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณ แล้วจึงให้ความชื้นเล็กน้อยประมาณ 20%ของน้ำหนักขยะสดหรือให้เปียกชุ่มแต่ไม่ให้มีน้ำ แช่ขังทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จะพบว่าเกิดขบวนการหมัก สังเกตได้โดยมีความร้อนที่สูงขึ้นทิ้งไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ความร้อนที่เกิดขึ้นจะ หายไปหรืออาจจะเร็วกว่านี้ ถ้ามีการหมักในกองที่มีความหนาน้อยกว่าที่กำหนดไว้ การหมักที่สมบูรณ์จะทำวัสดุมีสีเข้มจนเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะร่วนซุยไม่มีกลิ่นเหม็น การเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนดิน ในระยะเตรียมการจึงควรมีปริมาณไส้เดือนดินอย่างน้อย 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ ก็จะทำให้ปริมาณไส้เดือนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และทวีจำนวนมากขึ้นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปริมาณอาหารที่ให้ไส้เดือน โดยปกติไส้เดือนดินชอบอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง รวมถึงในดินที่มีปริมาณอินทรียวัตถุจำนวนมาก ไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย Pheretima peguana และ Pheretima posthuma จะกินอาหารเฉลี่ย 120-150 มก./น้ำหนักตัว 1 กรัมต่อวัน และ พบว่าไส้เดือนดินสายพันธุ์ Lumbricus rubellus และ Eisenia foetida จะกินอาหารประมาณ 240-300 กรัมต่อวัน ต่อน้ำหนักไส้เดือน 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวน 2 เท่าของอาหารไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย การให้อาหารที่เป็นเศษอินทรียวัตถุกับไส้เดือนดินในบ่อเลี้ยง นำขยะสดจากชุมชนมาแยกวัสดุที่ไม่ย่อยสลายเช่นถุงพลาสติกต่างๆ ออก ปริมาณขยะสดที่ควรเตรียมให้ไส้เดือนดิน ควรจะมีการเตรียมการหมักให้เริ่มบูดเสียก่อน นำมาใส่ในบ่อเลี้ยงไส้เดือนความหนาไม่เกิน 10 เซนติเมตร เนื่องจากถ้าหนามากกว่านี้ จะทำให้เกิดความร้อน การแยกไส้เดือนออกจากปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้แสงไฟไล่ ใช้ตะแกรงร่อนด้วยมือ ในกรณีที่มีมูลไส้เดือนปริมาณน้อย และใช้เครื่องร่อนขนาดใหญ่ ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยแยกไส้เดือนดินออกมาจากกองปุ๋ยหมักในกรณีที่มีปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในปริมาณมากปัญหาและการจัดการโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนดิน ความร้อน จัดการโดยควบคุมความหนาของขยะที่ให้ กลิ่น การจัดการสามารถใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนในบ่อ หรือใช้กากน้ำตาลรดก็สามารถกำจัดกลิ่นได้ บ่อเลี้ยงมีสภาพเป็นกรด แก้ไขได้โดยการใช้ปูนขาวโรยบางๆ บริเวณผิวดิน และรดน้ำตามเดือนละครั้ง แมลงศัตรูของไส้เดือนดิน เช่น เป็ด ไก่ นก พังพอน กบ หนู งู
By : http://www.maejoearthworm.org
********************************************************************************

การจัดการสวนยางที่เหมาะสม



การจัดการสวนยางที่เหมาะสม

การปลูกสร้างสวนยางให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากเกษตรกรต้องคำนึงถึงพื้นที่ และพันธุ์ยางที่เหมาะสมแล้ว เกษตรกรมีความจำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ที่นอกจากจะส่งผลให้ต้นยางเจริญเติบโตเป็นต้นยางที่สมบูรณ์แข็งแรง เปิดกรีดได้เร็ว และมีความต้านทานต่อโรคต่างๆ ได้ดีแล้ว

ยังทำให้ต้นยางให้ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุของการให้น้ำยาง และมีอายุการให้น้ำยางนาน ซึ่งเกษตรกรสามารถจะปฏิบัติได้ และจะปฏิบัติอย่างไร
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำว่า การจัดการสวนยางให้ถูกต้องและเหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การปลูกยางประสบผลสำเร็จ โดยหลังจากปลูกยางแล้ว เกษตรกรจะต้องมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีแรก ที่แสงแดดมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชเป็นอย่างมาก ทำให้มีวัชพืชขึ้นหนาแน่นอย่างรวดเร็วในระหว่างแถวยางส่งผลให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ในระยะ 2 ปีแรก ควรใส่ปุ๋ยบำรุงแต่น้อยและใส่บ่อยครั้ง (ปีละ 3 ครั้ง) นอกจากนี้เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้พื้นที่ในระหว่างแถวยางว่างเปล่า หากไม่มีการปลูกพืชแซมหรือพืชร่วม ก็ควรปลูกพืชตระกลูถั่ว ทั้งนี้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและป้องกันการชะล้างผิวหน้าดิน หากเกษตรกรไม่สามารถกระทำได้ ก็ควรปล่อยให้มีวัชพืชปกคลุมผิวดินบ้างแต่ควรตัดให้ต่ำ ซึ่งเป็นการดีกว่าปล่อยให้พื้นดินโล่งเตียน ส่วนในช่วงแล้งต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้ต้นยางอ่อนรอดตาย และป้องกันไฟไหม้สวนยางเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. การปลูกซ่อม หลังจากปลูกยางเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกซ่อมต้นยางที่ตายทันทีภายใน 1 เดือนซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน ส่วนการปลูกซ่อมครั้งต่อไปจะต้องให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนหลังจากปลูกซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอและเปอร์เซ็นต์รอดตายสูง การปลูกซ่อมควรใช้ต้นยางชำถุงขนาด 1 – 2 ฉัตร หากปลูกซ่อมไม่ทันในปีแรก สามารถปลูกซ่อมได้ในปีที่ 2 ช่วงต้นฤดูฝน เกษตรกรควรใช้ยางชำถุงที่มีขนาดใกล้เคียงกันซึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้าและต้องเร่งปุ๋ยบ้างตามสมควร แต่หากต้นยางที่ปลูกมีอายุมากกว่า 2 ปีแล้ว ก็ไม่ควรปลูกซ่อมเพราะต้นยางจะเจริญเติบโตไม่ทันกัน

2. การตัดแต่งกิ่งและการสร้างทรงพุ่ม การตัดแต่งกิ่งบริเวณลำต้นในช่วงยางอ่อน เป็นการเตรียมพื้นที่บริเวณลำต้นให้มีพื้นที่กรีดยางสูงเหมาะที่จะใช้กรีดยางได้ไม่น้อยกว่า 20 ปี เพราะพื้นที่กรีดยางบริเวณลำต้นต้องปราศจากกิ่งก้านและปุ่มปมทำให้กรีดยางได้ง่าย นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ทรงพุ่มให้มากขึ้น การสังเคราะห์แสงเพื่อปรุงอาหารจึงมากขึ้น มีผลให้ต้นยางเจริญเติบโตเร็วขึ้น และขนาดลำต้นเพิ่มขึ้น ในการตัดแต่งกิ่งเกษตรกรควรปฏิบัติ ดังนี้ ไม่ตัดแต่งกิ่งในช่วงฤดูแล้ง ควรตัดกิ่งต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ควรตัดกิ่งให้เริ่มตั้งแต่อายุ 1-2 ปี หลังจากปลูก จนกระทั่งความสูงลำต้นประมาณ 2 เมตร และควรตัดกิ่งขณะที่ยังอ่อนอยู่ ตัดกิ่งแขนงให้ชิดลำต้นด้วยกรรไกรสำหรับตัดแต่งกิ่งที่คมและสะอาด โดยตัดในระดับต่ำกว่า 2 เมตร อย่าโน้มลำต้นลงมาเพื่อตัดแต่งกิ่ง เพราะจะทำให้ลำต้นหักและเปลือกแตก หลังตัดควรทาปูนขาว หรือปูนแดงหรือสีตรงรอยตัด ควรตัดกิ่งแขนงให้เหลือ 2-3 กิ่งในทิศทางที่สมดุลกัน

3. การคลุมโคน การป้องกันรอยไหม้จากแสงแดดและการป้องกันไฟไหม้สวนยางในฤดูแล้ง ในช่วงปลายฤดูฝน เกษตรกรควรเตรียมการเพื่อให้ต้นยางรอดตาย เฉพาะอย่างยิ่งต้นยางที่เพิ่งปลูกใหม่ โดยก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้งประมาณ 1 เดือน เกษตรกรควรใช้ฟางข้าว เศษซากพืช วัชพืช ซากพืชคลุมหรือหญ้าคาคลุมรอบโคนต้นยางเป็นวงกลม รัศมีรอบโคนต้นประมาณ 1 เมตร หนาประมาณ 10 เซนติเมตร ห่างจากโคนต้นยางประมาณ 1 ฝ่ามือ แต่หากเกษตรกรมีแรงงานและมีเศษซากพืชจำนวนมาก ควรคลุมให้คลอดทั้งแถวยางจากโคนต้นยางแผ่คลุมพื้นที่ออกไปข้างละ 1 เมตร การคลุมโคนจะช่วยเก็บรักษาความชื้นไว้ได้ดีขึ้น ช่วยให้ต้นยางรอดตายและเจริญเติบโตดีขึ้น และยังช่วยป้องกันวัชพืชขึ้นในแถวยางในกรณีที่ใช้วัสดุคลุมตลอดทั้งแถวยางอีกด้วย ขณะเดียวกันต้นยางที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดดบริเวณโคนต้น ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นถูกแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกัน ดังนั้นต้นยางที่มีอายุ 1-2 ปี เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งเกษตรกรควรใช้ปูนขาว 1 ส่วนละลายน้ำ 2 ส่วนหมักค้างคืนไว้ แล้วนำมาทาบริเวณโคนต้นสูงจากพื้นดิน 1 เมตร เพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดด นอกจากนี้ก่อนเข้าสู่ช่วงแล้งเกษตรกรควรทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวนยางเพื่อป้องกันไฟลุกลามมาจากสวนข้างเคียง โดยการไถ หรือขุดถากวัชพืชออกเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตรรอบบริเวณสวน และกำจัดวัชพืชในแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร เพื่อป้องกันไฟไหม้ที่เกิดจากภายในสวน กรณีที่ต้นยางถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง ให้ใช้ปูนขาวละลายน้ำอัตรา 1 ต่อ 1 หมักค้างคืนไว้ แล้วนำมาทาลำต้นเพื่อลดความรุนแรง แต่หากต้นยางได้รับความเสียหายมากกว่าร้อยละ 40 ของทั้งสวน เกษตรกรควรปลูกใหม่ดีกว่า

4. การป้องกันกำจัดวัชพืช วัชพืชที่ขึ้นในแถวยางเป็นปัญหาใหญ่ในสวนยางอ่อนที่มีอายุระหว่าง 1-3 ปี หากมีจำนวนมากจะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ควรตัดวัชพืชที่ขึ้นในแถวยางโดยตัดให้ต่ำ และควรทำก่อนที่วัชพืชจะออกดอกเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ หรืออาจใช้วัสดุคลุมที่หาไว้ง่าย เช่น เปลือกถั่ว ฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ คุลมโคนต้นยางเฉพาะต้นหรือตลอดแถวเว้นระยะพอควรไม่ชิดโคนต้นยาง หรือปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วในแนวยาง เช่น คาโลโปโกเนียม เซนโตรซีมา เพอราเรียและซีรูเลียม ปลูกห่างจากแถวยางประมาณ 2 เมตร แต่หากมีวัชพืชมาก จำเป็นต้องใช้สารเคมี เกษตรควรควรใช้อย่างปลอดภัยตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น หญ้าคาป้องกันกำจัดด้วยไกลโฟเซตหรือราวด์อัพ อัตรา 750-1,000 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อไร่ อัตราที่ใช้แล้วแต่ความหนาแน่นของวัชพืช สำหรับวัชพืชทั่วไปและวัชพืชอายุน้อย ใช้พาราควอต หรือกรัมม็อกโซนอัตรา 400 มิลลิลิตรผสมน้ำ 50 ลิตรต่อไร่ ส่วนวัชพืชประเภทใบแคบใช้ไกลโฟเสทหรือราวด์อัพ อัตรา 200 มิลลิลิตรผสมน้ำ 50 ลิตรต่อไร่ การใช้สารเคมีควรผสมน้ำสะอาดและใช้เครื่องพ่นชนิดที่ทำจากอลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง สแตนเลส หรือพลาสติกเท่านั้น ระวังอย่างให้สารเคมีสัมผัสส่วนยอดหรือส่วนที่มีสีเขียวของพืชปลูก

5. การปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วในสวนยาง พืชคลุมดินที่ปลูกในสวนยาง ได้แก่ คาโลโปเนียม เพอราเรีย เซ็น โตรซีมา และซีรูเลียม พืชคลุมแต่ละชนิดมีลักษณะการเจริญเติบโตแตกต่างกัน จึงควรปลูกหลายชนิดรวมกันและและเปอร์เซ็นต์ความงอกจะเสื่อมลงตามลำดับหากเก็บเมล็ดไว้เป็นเวลานาน การปลูกพืชคลุมดินจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินเฉพาะอย่างยิ่ง เพิ่มอินทรียวัตถุในดินและปรับปรุงโครงสร้างของดินเพิ่มธาตุไนไตรโจนในดิน สามารถควบคุมวัชพืชส่งผลให้ต้นยางเจริญเติบโต เปิดกรีดได้เร็วขึ้น ทำให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น และป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวยาง ควรปลูกต้นฤดูฝน โดยปลูกหลังจากปลูกยางหรือหลังจากปลูกพืชแซมยาง สำหรับยางอายุ 3 ปี เมื่อเลิกปลูกพืชแซมแล้วควรปลูกพืชคุลมดินซีรูเลียม เนื่องจากซีรูเลียมทนทานต่อสภาพร่มเงา และสภาพแห้งแล้วได้ดี เพื่อให้พืชคลุมดินเจริญเติบโตได้หนาแน่นและคลุมพื้นที่ได้รวดเร็วขึ้น เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในแถวยางก่อนปลูกโดยการไถพรวนดินหรือปลูกพืชคลุมดิน โดยไม่ต้องไถพรวนซึ่งต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีมี 2 ประเภท คือสารเคมีประเภทก่อนวัชพืชงอกและประเภทหลังวัชพืชงอก หรือใช้วิธีทางกายภาพ เช่นใช้แรงงานขุด หรือใช้รถแทรกเตอร์ลากขอนไม้ทับลงบนพืชคลุมดินเพื่อให้วัชพืชล้อมลงเปิดโอกาสให้พืชคลุมดินเจริญได้ดี แต่เกษตรกรควรใช้วิธีผสมผสานทั้งวิธีทางกายภาพและใช้สารเคมีเพราะสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีและประหยัดค่าใช้จ่าย การใส่ปุ๋ยพืชคลุมดิน ได้แก่ปุ๋ยหินฟอสเฟต ซึ่งเป็นอาหารหลักของพืชคลุมดิน เมื่อพืชคลุมดินอายุ 2 เดือน 5 เดือน และ 9 เดือนหลังปลูก หว่านปุ๋ยหินฟอสเฟตในบริเวณแถวพืชคลุมดิน อัตรา 15,30 และ 30 กิโลกรัมต่อไปตามลำดับ และใส่ต่อไปปีละครั้งอัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่
นายสุขุม กล่าวในตอนท้ายว่าเกษตรกรมีความจำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องเหมาะสมและสม่ำเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยางอ่อนที่ต้นยางยังมีระบบรากไม่สมบูรณ์และลึกพอที่จะดูดน้ำในระดับลึกได้ เป็นผลให้เกิดตายจากยอดในฤดูแล้ง ด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ข้างต้น ทั้งนี้เพื่อให้ต้นยางรอดตายและเจริญเติบโตเป็นปกติ ตลอดจนมีการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าเกษตรกรจะเป็นเจ้าของสวนยางที่มีต้นยางเจริญเติบโต สมบูรณ์ แข็งแรง เปิดกรีดได้เร็ว มีความต้านทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี และให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอเป็นเวลานานตลอดอายุของการให้น้ำยาง เกษตรกรและผู้สนใจสามารถขอข้อมูลและคำแนะนำได้ที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-7557-8 หรือศูนย์วิจัยยาง ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตและสำนักตลาดกลางยางพารม กรมวิชาการเกษตร ตามจังหวัดต่างๆ ได้ทุกวัน ในเวลาราชการ หรือดูข้อมูลทางวิชาการ ถามปัญหาทางหน้าเว็บบอร์ด และติดตามราคายางที่ www.rubberthai.com Call center 1174
ที่มา : http://www.rubberthai.com/

กรณีศึกษา : ปัญหาดินเค็มกับการปลูกยางพารา




กรณีศึกษา : ปัญหาดินเค็มกับการปลูกยางพารา


เรื่อง/ภาพ โกศล บุญคง

1.ความสำคัญของปัญหาดินเค็ม
จากผลการศึกษาหัวข้อ “การศึกษาสถานการณ์ดินเค็ม-น้ำเค็มในปัจจุบันกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในพื้นที่ ผลกระทบท้ายเขื้อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ของเศกสรรค์ ยงวณิชย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ , วีระศักดิ์ จารุชัยนิวัฒน์ หมวดงบประมาณแผ่นดินด้วยทุนปีงบประมาณ 2548 มหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปได้ดังนี้ 1) ในปัจจุบันสถานการณ์ดินเค็ม น้ำเค็ม ในพื้นที่ศึกษามีความ และการกระจายตัวของพื้นที่ดินเค็มในปัจจุบันนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความแห้งแล้ง สูงขึ้น และมีการตัดต้นไม้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม 2)ปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชน คือ เมื่อปลูกพืชในบริเวณที่เป็นดินเค็มจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นพืชที่ปลูกเป็นหลัก จะไม่สามารถงอกงามได้ โดยข้าวที่เกิดในบริเวณนั้นจะมีเมล็ดลีบ ให้ผลผลิตไม่มากเท่าที่ควร และถ้าปัญหารุนแรงมาก เกิดภาวะดินเค็ม และความแห้งแล้ง ข้าวที่ปลูกในบริเวณนั้นจะตายไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3)ด้านความต้องการของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม และแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจนั้น สรุปได้ว่า ต้องการให้ขุดลอกหนองน้ำสาธารณะและลำห้วยเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อทำการเกษตรอย่างเพียงพอในทุกพื้นที่ ต้องการให้ดูแลราคาสินค้าเกษตรที่ผลิตในพื้นที่ให้มีการ ประกันราคา ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา บางพื้นที่ มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพภายในหมู่บ้านอยู่แล้ว เช่นกลุ่มทอผ้า ชาวบ้าน และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน ต้องการให้มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อให้คนในหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียงมีงานทำ ไม่อพยพแรงงานไปทำงานต่างถิ่น พร้อมทั้งเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร


2. เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ดินเค็ม

มีเกษตรกร 2 รายดำเนินการปลูกยางพาราในพื้นที่ดินเค็ม เมื่อ เดือนมิถุนายน 2551แล้วมาปรึกษาที่ สกย.จ.นครราชสีมา คือ
นางวรรณวิษา วันเดอร์ปลูค บ้านเลขที่ 14 ถนนหนองขาม ต.บัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โทร. 08-1207-4529
นางปราณี จีนชาวสวน บ้านเลขที่ 147 ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครชัยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ โทร. 0-2669-8774,08-9224-7956
ทั้งสองรายที่ตั้งสวนอยู่ที่ บ้านหนองคู หมู่ 1 ต.พะเนียง อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา
ได้ดำเนินการปลูกยางพาราในพื้นที่นาดอน เพราะเห็นว่ามีที่ดินอยู่แล้วไม่อยากไปหาซื้อที่ดินใหม่อีก จึงได้ไถปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นที่ราบ เอาคันนาออกและขุดหลุมปลูกยาง แม้จะทราบจากการพูดคุยจากชาวบ้านแถวนั้น บ้างแล้วว่าอาจจะมีปัญหาดินเค็ม เพราะสังเกตว่ามีเพียงต้นหญ้าบางชนิดที่ขึ้นปกคลุมอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนต้นไม้ขนาดลำต้นสูง ไม่มี แต่ได้รับคำยืนยันจากเกษตรกรว่าก็อยากลองสู้กันดูสักตั้งหนึ่ง จึงได้แนะนำให้ขุดดินตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเพื่อทราบคุณสมบัติเบื้องต้นของดินแต่ยังไม่ทราบผล
เกษตรกรปลูกยางแบ่งเป็นพื้นที่ 3 แปลงย่อย แต่อยู่ละแวกเดียวกันอยู่ไม่ห่างไกล กันมากนัก ปลูกไปทั้งหมด 70 ไร่
จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 พบว่าต้นยางแสดงอาการดังในภาพ
ต่อไปนี้

แปลงที่ 1. เป็นที่ต่ำไม่สามารถระบายน้ำออกได้หมด ความเค็มถูกน้ำดันขึ้นมาบริเวณผิวดินทำให้ต้นยางตายหมดทั้งแปลง เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่




การแก้ปัญหาของเกษตรกร ไถปรับพื้นที่ และซื้อหน้าดินจากแปลงข้างเคียงมาถมใหม่ เตรียมใส่ปุ๋ยคอกเพิ่ม

แปลงที่ 2. สภาพพื้นที่ไม่ต่ำมาก ระบายน้ำได้ และน้ำที่รดอาจมีความเข้มข้นของเกลือไม่มากนัก มีขอบใบแห้งที่ใบแก่ ฉัตรล่าง
ขอบใบแห้งยังแสดงอาการไม่มาก เฉพาะขอบบางด้านของใบ

ที่รอบแปลงยาง ได้ปลูกแก้วมังกรไว้ งามดี


แปลงที่ 3. มีสภาพพื้นที่สูงกว่าสองแปลงที่กล่าวมาแล้ว แต่การระบายน้ำออกยังด้อยกว่าแปลงที่ 2 มีอาการที่ขอบใบแก่บางฉัตร

ขอบใบแก่แห้งคล้ายน้ำร้อนลวก เพราะสะสมเกลือไว้มาก



คราบเกลือน้ำบ่อ จากบ่อที่ขุดลึก 5 เมตร ตักขึ้นมารดต้นมะนาวจะเห็นคราบเกลือชัดเจน
อย่างนี้ชิมดูก็รู้ว่าน้ำเค็ม
คุณเล็ก(วรรณวิษา วันเดอร์ปลูค) ดูอาการใบไหม้ของต้นยาง
อาการเริ่มไหม้จากขอบใบเข้ามา
วิธีการแก้ไข ของเกษตรกรเอาแกลบโรยระหว่าง แถวยางและโคนต้นบางส่วนเพื่อดูดซับความเค็ม ต้นยางจะแสดงอาการน้อยลง ได้ แนะนำให้ปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวยางเพื่อปรับปรุงสภาพดิน
แปลงของพี่ชายปลูกพร้อมกัน มิ.ย. 2551 ที่อำเภอบัวใหญ่อยู่ติดกับป่าไม่มีอาการจากดินเค็ม
แต่สภาพดินทรายจัด เหมือนกันกับที่โนนแดง

3.ผลของดินเค็มที่กระทบต่อพืช


ความเค็ม เกลือที่ปนอยู่ในนํ้าชลประทาน หรือมาจากนํ้าใต้ดินเค็มที่อยู่ตื้นใกล้ผิวดิน
ทําให้เกิดเกลือสะสมในดินบริเวณรากพืช เมื่อมีปริมาณมากขึ้นทําให้พืชไม่สามารถดึงนํ้าจากดินได้ตามปกติ เมื่อนํ้าที่จะนําไปใช้ได้ลดลง พืชก็จะมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง มีอาการคล้ายพืชขาดนํ้า เช่นเหี่ยว สีเขียวเข้มขึ้น ใบหนาขึ้น มีสารเคลือบใบ อาการที่แสดงออกมาขึ้นกับระยะการเจริญเติบโตของพืชมักจะสังเกตได้ชัดเจนในระยะต้นอ่อน แต่บางกรณีที่เกิดไม่รุนแรงก็ไม่เห็นอาการผิดปกติเหล่านี้ เนื่องจากมีอาการเหมือนกันหมดทั้งแปลงเกลือที่ทําให้เกิดปัญหาดินเค็ม

4.พืชบ่งชี้ว่ามีปัญหาดินเค็มใน จ.นครราชสีมา
บ้านกระเชา อ.ด่านขุนทด บริเวณนาเกลือ พบ Lindernia viatica ใบสีแดงอวบนํ้าใบสีเขียวไม้อวบนํ้า ผักปราบ (Murdanniab nudiflora) ในที่มีความชื้นมาก เทียนนา (Jussiaealinifloria) ผักเบี้ย (Portulaca spp.) หญ้าชันอากาศ (Panicum repens) หญ้าปล้อง (Echinochloaoryzoides) ผักเบี้ย ( Trienthema triqueta) ผักมิ (Bacopa monnieri)
บ้านสระจระเข้ อ.ด่านขุนทด บริ เวณนาเกลือ พบหนวดปลาดุก (Fimbristylis
miliacea) กก (Cyperus spp.) ผักปลาบ (Commelina spp.). Ludwigia hyssopifolia Tragusracemosus หญ้ารังนก (Chloris babata) หญ้ชันอากาศ (Panicum repens) ผักเบี้ยหิน(Trienthema triqueta) และหญ้าปากควาย (Dactylocenium aegyptum)
บ้านกุ่มพญา อ.ขามทะเลสอ พบขลู่ (Pluchea indica) Fimbristylis
semarangensis หญ้ากุกหมู (Fimbristylis monostachyos) ) ผักเบี้ยหิน (Trienthema triqueta)หญ้าชันอากาศ (Panicum repens) และหญ้าปากควาย (Dactylocenium aegyptum)
บ้านหนองแดง อ.ประทาย พบ Eragrostis elongate ผักขม (Amaranthus viridis)กระเมง (Eclipta prostrata) หิ่งเม่นฝอย (Crotalaria linifolia) Merremia tridenta และสร้อยนกเขา
(Synostema bacciformis)

5.สาเหตุของปัญหาดินเค็ม


1.การทำนาเกลือของชาวบ้าน โดยการขูดคราบเกลือมาละลายน้ำ แล้วต้มเพื่อทำเกลือสินเธาว์ขายเช่นในเขตจังหวัด นครราชสีมา อุดรธานี และสกลนคร น้ำเกลือแพร่เข้าไปในเขตนาข้าว เช่นอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

2. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเช่น การปลูกพืชไร่ มันสําปะหลัง ปอ ทําให้พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกทําลาย ปี 2541 พื้นที่ป่าไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงเหลือเพียง ล้านไร่ หรือ 25.3 เปอรืเซ็นตืของพื้นที่ทั้งประเทศ (กรมป่าไม้, 2541) เมื่อต้นไม้ที่เคยใช้นํ้าปริมาณมากถูกทําลาย สมดุลการใช้นํ้าในพื้นที่ก็เสียไป มีนํ้าส่วนเกินที่ไหลจาก เนินรับนํ้าไปเพิ่มเติมนํ้าใต้ดินเค็มในที่ลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่จ่ายนํ้าหรือพื้นที่ให้นํ้า ถูกยกระดับขึ้นมาใกล้ ผิวดินทําให้ที่ลุ่มซึ่งนาข้าวกลายเป็นดินเค็ม และความเค็มจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น พื้นที่ดินเค็ม อ.ขามทะเลสอ อ.ด่านขุนทด อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา
3. การใส่ปุ๋ยเคมีบ่อยและมากเกินไป

6. บทสรุปของเอกสารการแก้ปัญหาดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดิน
ในรายงานเอกสารเผยแพร่เรื่องการจัดการดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่าการแก้ปัญหาดินเค็ม ควรรู้ว่าดินเค็มบริเวณนั้นเกิดจากสาเหตุใด จะทําให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและครบวงจร คือมีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อไป การแก้ปัญหาดินเค็มเพื่อทําการเกษตรจะต้องลดความเค็มของดินลงด้วยวิธีการธรรมชาติโดยใช้นํ้ าฝนหรือใช้นํ้าชลประทานชะล้างเกลือ การปลูกพืชจําเป็นต้องเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินด้วยอินทรียวัตถุชนิดต่างๆ ที่หาได้ในพื้นที่ เช่น ปุ๋ยคอก แกลบปุ๋ยหมัก พืชปุ๋ยสด อาจใช้ยิบซัมคลุกเคล้ากับดินในกรณีเป็นดินเค็มโซดิก เลือกพืชชนิดและพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และระดับความเค็ม ปลูกพืชในระยะเวลาที่เหมาะสม มีการจัดการนํ้าที่เพียงพอกับความต้องการของพืชและสามารถควบคุมระดับนํ้าใต้ดินเค็มได้ ให้ปุ๋ยเคมีครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งเมื่อเก็บเกี่ยวพืชไปแล้วไม่ ปล่อยให้หน้าดินว่าง ควรมีการคลุมดินด้วยเศษพืชหรือปลูกพืชคลุมดินเพื่อลดการสะสมเกลือที่ชั้นดินบน กรณีที่ดินเค็มมากเลือกปลูกพืชที่ทนเค็มจัด อาจมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่สูง แต้ได้ช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นดิน


7. แนวทางแก้ไข

7.1 ติดตามผลอย่างใกล้ชิด แนะนำการปลูกพืชคลุมดินใช้พันธุ์เพอราเรียเพราะ
เมล็ดราคาไม่แพงเถาใหญ่ ดูและง่ายใบร่วงกลับสู่ดินมาก
7.2 เอาผลวิเคราะห์ดินมาประมวลเพื่อแนะนำเกษตรกรให้ตรงตามปัญหา
7.3 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ
7.4 เอาแกลบใส่รอบโคนต้นยางให้มากเพื่อดูดซับความเค็ม และไถยกร่องเพื่อหนีเกลือ

8.หนังสืออ้างอิง

กรมพัฒนาที่ดิน, “การจัดการดินเค็ม” : [URL : www.ldd.go.th/P_Technical03001_1
คู่มือปุ๋ยอินทรีย์(ฉบับนักวิชาการ) เอกสารวิชาการลำดับที่ : 20/2548 กรมวิชาการเกษตร.

ผู้บุกเบิกการปลูกยางพาราแห่งด่านขุนทด


ผู้บุกเบิกการปลูกยางพาราแห่งด่านขุนทด

เรื่อง/ภาพ โกศล บุญคง
นายสมศักดิ์ เลิศกิจลักษณ์ หรือเฮียเซ้ง

ที่มาของชื่ออำเภอด่านขุนทด แยกส่วนประกอบเป็น ๒ ส่วน คือ "ด่าน" และ "ขุนทด" การที่ได้ชื่อว่า "ด่าน" เพราะมีฐานะเป็นด่าน มีเขตติดต่อระหว่างอาณาจักรโคตรบูรณ์ และ อาณาจักรทวาราวดี มีผู้ดูแลปกครองด่านซึ่งสันนิษฐานว่าชื่อขุนศิริทศ ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อด่าน คือ ด่านขุนทดการก่อตั้ง เดิมอำเภอด่านขุนทดเป็นแขวงเมืองหนึ่งของอำเภอสันเทียะ (โนนไทย) และมีฐานะเป็นเพียงด่านแห่งหนึ่งโดยมีพระเสมารักษาเขต เป็นผู้ปกครองดูแล คอยเก็บส่วย อากร ส่งไปยังอำเภอสันเทียะ การปกครองหน้าด่านนี้ใช้วิธีการปกครองกันเองและเลือกผู้ปกครองเอง พุทธศักราช ๒๔๕๑ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าสถาปนาด่านขุนทดขึ้นเป็นอำเภอด่านขุนทด ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็น อำเภอบ้านหาญเพราะตั้งที่ทำการ ณ บริเวณบ้านหาญและเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพันชนะ จนถึง พุทธศักราช ๒๔๕๖ จึงเปลี่ยนมาเป็นอำเภอด่านขุนทดอีกครั้งหนึ่ง ในสภาพปัจจุบัน อำเภอด่านขุนทด แบ่งการปกครองเป็น ๑๙ ตำบล ๒๐๘ หมู่บ้าน มีสุขาภิบาล ๑ แห่ง คือ สุขาภิบาลด่านขุนทด

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ วัดบ้านไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดพิมาน จากตัวเมืองเดินทางตามถนนมิตรภาพ ถึงกิโลเมตรที่ ๒๓๗ แยกขวาผ่านอำเภอขามทะเลสอและบ้านหนองสรวงไปจนถึงอำเภอด่านขุนทด ระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร จากโรงพยาบาลด่านขุนทดใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๑๗ เป็นระยะทางอีกประมาณ ๑๑ กิโลเมตร วัดบ้านไร่เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเป็นสถานที่จำพรรษาของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ)
วกมาเข้าเรื่องอาชีพการเกษตรของเรา พบว่าด่านขุนทดมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง ๙๓๑.๔๐ มิลลิเมตร และมีจำนวนวันฝนตกเฉลี่ยเพียง ๘๐.๓๐ วันต่อปี โดยคิดตัวเลขสถิติ ๑๐ ปีย้อนหลัง(ข้อมูลของสถานีอุตุนิยมวิทยานครราชสีมาจากปี ๒๕๓๖ - ๒๕๔๕) นับว่าเป็นเขตแห้งแล้ง มากทีเดียว เกษตรกรส่วนใหญ่จะยึดอาชีพปลูกพืชไร่ คือมันสำปะหลัง ข้าวโพด และเลี้ยงวัว ท่ามกลางเปลวแดดอันแผดจ้าข้าพเจ้าขับรถผ่าน สี่แยกบ้านวังม่วงที่มีป้ายบอกตรงไปยังอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เดินทางไปได้ ๒๕ กิโลเมตร ถึงตลาดห้วยบง เลี้ยวขวาผ่านหมู่บ้านอีก ๓ หมู่บ้านก็จะถึงบ้านหินแตก แต่เดี๋ยวนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อให้ดูเป็นมงคลไม่แสดงถึงความแปลกแยกเหมือนก่อนโดยมีชื่อใหม่ว่าบ้านศิลาร่วม หมู่ ๔ ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา แทบไม่น่าเชื่อว่า จะพบกับสวนยางพาราอายุ ๒ ปี ที่เพิ่งไถกลบตอซังเข้าโพดหลังเก็บเกี่ยวเพราะเริ่มเข้าฤดูแล้งแล้ว พอขับผ่านเข้าไปกลางสวนยังพบกับต้นยาง ที่เปิดกรีดมาได้ ราว ๔ ปีแล้ว กำลังแตกไปอ่อนเขียวขจี ตัดกับพื้นที่รอบๆ ที่เหลือแต่ซังข้าวโพดสีน้ำตาลสุดลูกหูลูกตา นั้นคือสวนยางของ นายสมศักดิ์ เลิศกิจลักษณ์ หรือเฮียเซ้ง อายุ ๕๗ ปี เกษตรกรคนขยันของเรานั้นเอง เฮียเซ้งเป็นคนที่เกิดในตลาดอำเภอด่านขุนทด แต่ในวัยหนุ่มเฮียเซ้งเล่าให้ฟังว่า ได้ออกจากบ้านไปแสวงหาโชคลาภทางดินแดนด้ามขวานของประเทศไทยเพราะได้ยินข่าวว่า เป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ โดยไปรับเหมาทำโอ่งแก่ชาวบ้านตามโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล เริ่มต้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลังจากนั้นก็ตระเวนรับทำโอ่งไปอีกหลายจังหวัดเช่น ตรัง สตูล ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดยะลา จนเกือบทั่วทั้งภาคใต้ก็ว่าได้ ด้วยความที่เป็นคนอัธยาศัยดี อ่อนน้อมถ่อมตน เฮียเซ้งจึงได้รับความเมตตาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หางานมาให้อย่างสม่ำเสมอจนไดเงินเป็นกอบเป็นกำก้อนใหญ่ที่เดียว ด้วยความที่คร่ำหวอดอยู่กับหมู่บ้านในชนบทของท้องถิ่นภาคใต้หลายปี เฮียเซ้งจึงนำเงินก้อนหนึ่งกลับมาซื้อที่แปลงหนึ่งในเขตบ้านศิลาร่วม จำนวน ๘๐ ไร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ในราคาไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท และลงมือปลูกยางพาราครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๒ ในเนื้อที่ ประมาณ สวนยางที่เปิดกรีดแล้ว ๙๐๐ ต้น ๔๐ ไร่ เพราะจำได้ว่าหมดต้นยางไป ๓,๐๐๐ ต้น ปลูกระยะ ระหว่างต้น ๓ เมตร ระหว่างแถว ๗ เมตร แต่การบำรุงรักษาหลังจากปลูกแล้วแทบจะไม่ได้ทำเลยเนื่องจาก ประการที่หนึ่งยังไม่มั่นใจว่าต้นยางที่ปลูกลงไปจะให้น้ำยางเหมือนที่ทางภาคใต้ได้รับหรือไม่ ประการต่อมาปัญหาวัชพืชรุนแรงมากคนทางอีสานก็จะใช้วิธีการไถเพียงอย่างเดียว เฮียเซ้งก็เช่นกันไถชิดแถวยางทุก ๆ ปี แม้ยางจะโตแล้วก็ตาม ส่วนอีกประการหนึ่งคือนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่จำเป็นกว่าเสียก่อนเรื่องการใส่ปุ๋ยให้กับต้นยางไว้ลำดับหลังสุด แต่แม้จะเลี้ยงดูตามยะถากรรมสวนยางแปลงนี้ก็ยังเจริญเติบโตอย่างช้าๆ ไปตามกาลเวลาจนอายุยางได้ ๑๐ ปี แต่หาคนกรีดไม่ได้ ประกอบกับยังไม่แน่ใจว่าจะได้ผลผลิตน้ำยางมากแค่ใหนจึงตัดโค่นต้นยางไปเผาถ่านเสียเกือบ ๒๐ ไร่ คงเหลือต้นยางที่กรีดอยู่ในปัจจุบันเพียง ๙๐๐ ต้น ด้วยความบังเอิญที่เจอลูกน้องมาช่วยงานที่ในไร่ มีฝีมือกรีดยางเป็น จึงได้เปิดกรีดเมื่อปี ๒๕๔๖ แต่การกรีดจะไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปีเหมือนรายอื่นๆ ทั่วไปเพราะลูกน้องคนนี้จะทำงานหลายอย่างจะต้องหยุดการกรีดยางบ่อยๆ เช่นช่วงทำนาก็จะหยุดยางไปไถที่ดำนาเสร็จจึงกลับมากรีดต่อ ถึงกระนั้นก็ตาม เฮียเซ้งบอกว่าปี่ที่แล้วได้ ผลผลิตยางแผ่นดิบรวม ๒,๕๐๐ กิโลกรัม ไปขายที่บุรีรัมย์ได้ราคา ระหว่าง ๗๐-๘๐ บาท ขายได้เป็นเงินราว ๑๘๗,๕๐๐ บาท รายได้และค่าใช้จ่ายทุกอย่างแบ่งกับคนกรีดคนละครึ่งทุกรายการ
ช่วงที่ปลูกยางแปลงแรก ๔๐ ไร่แล้วเฮียเซ้งก็ยังรับจ้างทำโอ่งอยู่ในภาคใต้อยู่ถึง ๑๒ ปี จึงกลับมาทำไร่ ทำสวนอยู่ที่อำเภอด่านขุนทดบ้านเกิด โดยมาซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๑๐๐ ไร่ เมื่อเห็นว่าในเขตอำเภอด่านขุนทดปลูกยางให้น้ำยางแน่นอนแล้ว จึงปลูกเพิ่มอีก ๑,๐๐๐ ต้นในปี ๒๕๔๘ และ ๙,๐๐๐ ต้นในปี ๒๕๔๙ รวมทั้งหมดเป็นการปลูกเพิ่มอีก ๑๒๐ ไร่ ในระหว่างแถวยางปีที่แล้วได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ NK ๔๘ เต็มทั้งหมดเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อปลายฤดูฝนปี ๒๕๕๐ ได้ถึง ๑๐๐ ตัน ประกอบกับราคาข้าวโพดปีนี้ดี ได้กิโลกรัมละ ๘.๑๕ บาท จึงคิดเป็นเม็ดเงินที่เฮียเซ้งได้รับจากการขายข้าวโพด ๘๑๕,๐๐๐ บาท เมื่อถามถึงต้นทุนก็พบว่าเป็น ข้าวโพดที่ปลูกแซมยาง
ค่าใช้จ่ายมีรายละเอียดดังนี้
ค่าไถเตรียมดิน ไร่ละ ๓๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
เมล็ดพันธุ์ ๓ กิโลกรัมต่อไร่ ราคาเมล็ด ๑๐๐ บาทต่อกิโลกรัม เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
ค่ารถพร้อมเครื่องหยอดเมล็ด ๑๒๐ บาทต่อไร่ เป็นเงิน ๑๔,๔๐๐ บาท
ค่าทำรุ่น(ปราบวัชพืช)โดยใช้รถไถพรวน ๑ ครั้ง ๓๐๐ บาทต่อไร่ เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
ค่าปุ๋ยใส่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกใช้สูตร ๑๖-๘-๘ ใส่พร้อมหยอดเมล็ด อัตรา ๑๕ กิโลกรัมต่อไร่ และครั้งที่ ๒ เมื่อข้าวโพดอายุ ๒๑ วัน ใส่ยูเรียผสมกับสูตร ๑๖-๘-๘ ในอัตรายูเรีย ๔๐ กิโลกรัม และ สูตร ๑๖-๘-๘ ในอัตรา ๒๕ กิโลกรัมต่อไร่ คิดปุ๋ยราคา ๑๕ บาทต่อกิโลกรัม จึงคิดต้นทุนค่าปุ๋ยทั้งสิ้นในพื้นที่ ๑๒๐ ไร่ เป็นเงิน ๑๔๔,๐๐๐ บาท
ค่าแรงงานทั้งหมด คือใส่ปุ๋ย ปราบวัชพืช ๑๒๐ บาท/ไร่
เก็บเกี่ยว ๘๐๐ บาท/ไร่ ๑๒๐ ไร่ เป็นเงิน ๙๖,๐๐๐ บาท
ค่าขนส่งผลิตผล ๑๕ สตางค์/กิโลกรัม เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐บาท
ค่าจ้างสีเมล็ดข้าวโพด ๒๕ บาท/กิโลกรัม เป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท
รวมต้นทุนทั้งหมดเป็นเงิน ๔๐๒,๔๐๐ หักลบกลบหนี้แล้วยังมีกำไรถึง ๔๑๒,๖๐๐ บาท
ผลพลอยได้คือซังข้าวโพดและแกนข้าวโพดหลังจากสีเอาเมล็ดไปขายแล้วเอามาใช้เลี้ยงวัว ซึ่งมีอยู่จำนวน ๕๒ ตัว ทำคอกไว้ใกล้กับสวนยางนั้นเอง ส่วนมูลวัวก็นำมาทำปุ๋ยหมักโดยใช้เศษซังข้าวโพดนั้นเองโดยสลับชั้นกับมูลวัวแล้วใช้สาร พด.๑ เป็นตัวเร่งเพื่อใช้ใส่ต้นยางพารา กองปุ๋ยหมัก
ในช่วงที่ปุ๋ยราคาแพง นอกจากนั้นเฮียเซ้งยังทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เองอีกต่างหากโดย ซังข้าวโพดเก็บไว้เลี้ยงวัวและทำปุ๋ยหมักหาพาชนะไปให้คนเขาเทเศษเปลือกผัก ผลไม้ในตลาดสดรวมไว้ให้ และไปซื้อ ถังน้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลมา ในกิโลกรัมละ ๖.๕ บาท หมักเอาไว้ที่โรงเลี้ยงวัวนั้นแหละ ทิ้งไว้จนเวลาผ่านไป ๒-๓ เดือนเปิดดูมีกลิ่นหอม น้ำสีน้ำตาลเข้มก็ นำไปใช้ได้ ในปีนี้เฮียเซ้งยังเก็บเมล็ดพืชคลุมดินเพอราเรียที่ปลูกในระหว่างแถวยาง ได้อีก ๖๐ กิโลกรัม แต่พบปัญหาว่าค่าแรงเก็บเกี่ยวแพงเหลือเกินถ้าขายต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท ยังไม่คุ้มค่าแรงจ้างลูกน้องเก็บเลยยังไงก็ต้องฝากให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางนำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ในการส่งเสริมการปลูกพืชคลุมดินด้วย แต่อย่างไรก็ตามเฮียเซ้งบอกว่าจะเก็บไว้ปลูกเองเป็นการสานต่อโครงการธนาคารเมล็ดพืชคลุมดินของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครราชสีมาอีกแรงหนึ่งยังไงก็ขอให้กำลังใจเกษตรกรคนเก่งของเราให้สู้ต่อไป


หนังสืออ้างอิง :
ขอขอบคุณ นายสมศักด์ เลิศกิจลักษณ์ บ้านเลขที่ ๑๕๖-๑๕๘ หมู่ ๑๑ ตำบลด่านขุนทด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โทร. ๐-๔๔๓๘-๙๐๙๓, ๐๘-๙๐๖๗-๙๕๗๐ ผู้ให้ข้อมูล
เอกสารแนะนำเรื่อง ระบบเกษตรกรรมที่เหมาะสมในเขตน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต ๔ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ธันวาคม,๒๕๔๔) : ๕๐ หน้า.
อำเภอด่านขุนทด ,[URL] : http://www.koratcultural.com/thai/kongdee/database/aspboard_Question.asp?GID=53
สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครราชสีมา.

วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2551

ซีรูเลียม พืชคลุมดินที่ทนต่อความแห้งแล้ง


ซีรูเลียม พืชคลุมดินตระกูลถั่วที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง

โดย วิชิต สุวรรณปรีชา

ประโยชน์ของพืชคลุมดินการปลูกพืชคลุมดิน ระหว่างแถวยางพารา หรือพืชประธาน ก่อประโยชน์ นานับประการ อาทิ


1. ช่วยป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดิน

2. ช่วยควบคุมวัชพืช ทำให้ลดเวลา แรงงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืช

3. รักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน

4. เพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน จากความสามารถในการตรึงไนโตรเจนของ บักเตรีไรโซเบียมในปมราก และเศษซากพืชคลุม ซึ่งในช่วง 5 ปีแรก ปริมาณธาตุอาหารที่กลับคืนดิน ได้แก่ ไนโตรเจน ไร่ละ 30-56 กก.ฟอสฟอรัส ไร่ละ 3-4.5 กก.โปแตสเซียม ไร่ละ 14-21 กก.แมกนีเซียม ไร่ละ 2.5-4.5 กก.
5. เพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน


ลักษณะพันธุ์ซีรูเลียม
ลำต้น : เป็นเถาเลื้อย มีอายุหลายปี เถาแก่มีรากเป็นปุ่มเล็กๆ สีขาวเกือบทุกข้อ และงอกเป็นรากเมื่อ อยู่ชิดดินใบ : สีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบค่อนข้างหนา คล้ายใบโพธิ์ดอก : เป็นช่อสีม่วง เริ่มสร้างช่อดอกในเดือน ธันวาคมฝัก : สีน้ำตาลเข้ม ค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีเมล็ดฝักละ 2-9 เมล็ด

เมล็ด : มีผิวเรียบเป็นมัน สีเขียวอ่อน จนถึงน้ำตาล น้ำหนัก 1 กก. มีเมล็ดประมาณ 28,000 เมล็ด
การเจริญเติบโต : ขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงามาก ช่วงแรกจะเจริญเติบโตช้า แต่ต่อไป จะเจริญเติบโต และคลุมดินได้หนาแน่น และคงทนกว่าพืชคลุม ดินชนิดอื่น ทนทานต่อความ แห้งแล้งได้ดีโดยเฉพาะ ในท้องที่ ที่มีสภาพแห้งแล้ง และมีปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นบ่อย จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มาก

การขยายพันธุ์ : - ใช้เมล็ดปลูก- ใช้เถาปักชำ
การเตรียมเมล็ดพันธุ์เนื่องจากเมล็ดพืชคลุมซีรูเลียม มีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง น้ำหรือความชื้นซึ่งจำเป็น ต่อการงอก ของเมล็ด จะซึมผ่านเข้าไปในเมล็ดยาก หากไม่กระตุ้นให้เมล็ดงอกดีขึ้นก่อนนำไปปลูกอาจทำให้เมล็ดที่นำไปปลูกงอกน้อย กว่าที่ควรจะเป็น การกระตุ้นเมล็ดพืชคลุมซีรูเลียมก่อนนำไปปลูกมี 2 วิธี ได้แก่
1. แช่เมล็ดพันธุ์ในกรดซัลฟูริคเข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 นาน 30 นาที แล้วนำไปล้างน้ำฝึ่งให้แห้งหมาดๆ

2. แช่ในน้ำอุ่น (ผสมน้ำเดือด 2 ส่วนกับน้ำเย็น 1 ส่วน) นาน 12 ชั่วโมง แล้วน้ำเมล็ดไปผึ่งให้แห้งหมาดๆ
ทั้ง 2 วิธีที่กล่าวมา เมื่อผึ่งเมล็ดให้แห้งพอหมาดแล้ว ให้คลุกเมล็ดพันธุ์กับปุ๋ยหินฟอสเฟตก่อนแล้วจึงนำไปปลูก การเตรียมต้นพันธุ์แบบเถาปักชำเถาที่นำมาใช้ปักชำ ต้องเป็นเถาหนุ่ม ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป สังเกตได้จากที่ข้อจะมีปุ่มรากสีขาวหรือมีรากออกเล็กน้อย ตัดเถาท่อนละ 2 ข้อ ใส่ถุงพลาสติก และรัดปากให้แน่น เพื่อให้เถาสดไม่เหี่ยวเฉา ก่อนนำไปปักชำ การปักชำ อาจใช้วิธีปักชำในถุง หรือปักชำในแปลงเพาะชำก็ได้
การปักชำในถุง ใช้ถุงเพาะชำขนาด 2 นิ้ว X 4 นิ้ว กรอกดินผสมลงไปให้เต็ม รดน้ำให้ชุ่ม แล้วจัดเรียงเป็นแถวไว้รอปักชำต่อไป ดินผสมที่กล่าวข้างต้น ใช้ดินร่วน 1 ลูกบาศก์เมตร ผสมปุ๋ยหินฟอสเฟต ครึ่งกิโลกรัมคลุกเคล้าปุ๋ยและดิน ให้เข้ากันดีจากนั้นให้นำเถาที่เตรียมไว้ ปักชำในถุงให้ส่วนข้อจมอยู่ใต้ดิน 1-2 เซนติเมตร ถุงละ 3-4 ท่อนกดดินในถุงให้แน่นพอประมาณ จัดเรียงไว้ในที่ร่ม รดน้ำให้ชุ่ม และหมั่นรดน้ำอยู่เสมอ ตลอดจนปักซ่อมเถาที่ตาย ภายในเวลาประมาณ 1 เดือน เถาที่ปักชำจะแตกรากและแตกยอดแขนงประมาณ3-4 แขนง รอจนใบแก่ก็พร้อมนำไปปลูกลงแปลงได้
การปักชำในแปลงเพาะชำให้เตรียมแปลงเพาะชำในที่ร่ม ด้วยการใช้ขี้เถ้าแกลบ ยกแปลงปลูกกว้างประมาณ 1 เมตรหนาประมาณ 4-5 นิ้ว แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ปักชำเถาพันธุ์ ระยะห่างประมาณ 2 นิ้ว กดขี้เถ้าแกลบให้แน่นพอประมาณ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลรักษา เช่นเดียวกับการปักชำในถุง หากฤดูปักชำเป็นฤดูแล้ง อาจใช้ไม่ไผ่ทำโครงหลังคาแล้วใช้พลาสติกคลุม เพื่อช่วยให้แปลงเพาะชำมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอทั้งช่วยประหยัดเวลา และน้ำได้อีกด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับการเตรียมพันธุ์สำหรับใช้ปลูกในพื้นที่จำนวนมาก
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก : ต้นฤดูฝน เพื่อให้พืชคลุมเจริญเติบโต และเถามีความแข็งแรงเพียงพอก่อนเข้าฤดูแล้ง
วิธีการปลูก : พื้นที่ราบ ใช้เมล็ดหว่าน อัตราไร่ละ 1 กก. ลงไประหว่างแถวพืชประธาน เป็นแถว2-3 แถว แต่ละแถวห่างกัน 1 เมตร และห่างจากแถวพืชประธาน 2-3 เมตรพื้นที่ลาดเท ขุดหลุมลึก 2-3 นิ้ว เป็นแถวเหนือระดับขั้นบันได แล้วฝังกลบเมล็ดพืชคลุมให้มิดกรณีใช้เถาปลูก ให้ปลูกห่างกัน ประมาณ 50 เซนติเมตร
ข้อควรปฏิบัติในฤดูแล้ง : ควรทำแนวป้องไฟ กว้าง 8 เมตร รอบๆ สวน และตลบเถาพืชคลุมในระหว่างแถวพืชประธานให้ห่างจากพืชประธาน 1 เมตร
การบำรุงรักษาพืชคลุมเพื่อเร่งพืชคลุมให้เจริญเติบโตได้เร็ว สามารถคลุมพื้นที่ได้หนาแน่น ให้ใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟตหลังจากปลูกพืชคลุม 1-2 เดือน ในอัตราไร่ละ 15 กิโลกรัม และใส่ปุ๋ยบำรุงสูตร 15-15-15 ในอัตราไร่ละ 15 กิโลกรัม ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน
การเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชคลุมซีรูเลียมให้ผลผลิตครั้งแรกได้ภายหลังการปลูกไปแล้วประมาณ 1 ปี ฝักพืชคลุมที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวสังเกตได้จากสีของฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลวิธีเก็บเกี่ยวให้ใช้กรรไกรตัดฝักเมล็ดพืชคลุมออกจากต้น ไม่ควรใช้วิธีดึง หรือเด็ดออกจากต้นเพราะอาจทำให้เถาหักเสียหายได้ จากนั้นนำฝักที่เก็บได้ไปตากแดด เพื่อช่วยให้เมล็ดกะเทาะออกจากฝักได้ง่าย แต่ในปีแรกไม่ควรเก็บผลผลิตไปจำหน่ายทั้งหมด ควรปล่อยให้เมล็ดร่วงหล่นในแปลงบ้าง ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้พืชคลุมในแปลงหนาแน่นมากขึ้น