วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

การปลูกยางในลาว


"เฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา" ทูตพาณิชย์ไทยในลาว ฟันธงอนาคตลาวเศรษฐกิจลาวสดใส หลังเส้นทาง R3 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีหน้า แนะนักธุรกิจไทยหาลู่ทางเข้าลงทุน หลังพบจีนและเวียดนาม กำลังก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าสำคัญของลาวแทนไทย
นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส.ป.ป.ลาวมานานกว่า 3 ปี ระบุว่า ในอดีตส.ป.ป.ลาวค้าขาย มีไทยเป็นคู่ค้าหลัก เพราะลาวไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่เมื่อมีการเชื่อมโยงถนนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ทำให้ลาวมีช่องทางที่จะทำการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่นๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ที่มุ่งเข้ามาลงทุนในลาวมากขึ้น
"วันนี้จีน มีการสนับสนุนด้านงบประมาณ ให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาลาวไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ประเทศจีนปีละไม่ต่ำกว่า 100 คน เมื่อนักศึกษาเหล่านี้เรียนจบแล้ว ก็กลับมาทำงานให้นักลงทุนจีนที่ประเทศลาว เป็นการสร้างคอนเนคชั่น"
ขณะที่ประเทศไทย แม้จะมีโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรลาวปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ฯลฯ แต่พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างยางพารา และข้าว กลับไม่ส่งเสริมให้ลาวปลูก เพราะเกรงว่าอนาคตลาวจะกลายเป็นคู่แข่งของไทย ซึ่งน่าจะเป็นมุมมองที่ผิด ต่างจากจีนและเวียดนาม ที่เข้าไปส่งเสริมการปลูกยางพาราในลาวอย่างเต็มที่

ทิศทาง การปลูกยางในประเทศไทย
การปลูกยางในประเทศไทยไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานที่แน่นอน แต่คาดว่าน่าจะเริ่มมีการปลูกในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2442-2444 ซึ่งพระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี หรือ คอซิมบี้ ณ ระนอง เจ้าเมืองตรังในขณะนั้น ได้นำเมล็ดยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก ซึ่งชาวบ้านเรียกต้นยางชุดแรกนี้ว่า "ต้นยางเทศา" และต่อมาได้มีการขยายพันธ์ยางมาปลูกในบริเวณจังหวัดตรัง และนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2454 ได้มีการนำพันธุ์ยางมาปลูกในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยหลวงราชไมตรี หรือ ปูม ปุณศรี เป็นผู้นำพันธุ์ยางมาปลูก และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้มีการขยายพันธุ์ปลูกยางพารา ไปทั่วทั้ง 14 จังหวัด ในภาคใต้ และ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังมีการขยายพันธุ์ยางมาปลูกในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ยางพาราก็กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และมีการผลิตเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ยางพาราประเภทยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา สามารถทำรายได้การส่งออกเป็นอันดับสองของประเทศ ยางพาราจึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และมีการส่งออกยางธรรมชาติมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ส่งผลให้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างมูลค่าถึงปีละ 250,000 ล้านบาท พื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศประมาณ 14.3 ล้านไร่ คาดปีนี้จะผลิตยางธรรมชาติได้ถึง 3.123 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 5.86 ที่ผลิตได้ 3.02 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2551 มูลค่าส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และพื้นที่ที่มีการปลูกยางส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก และกำลังจะมีการขยายการปลูกเพิ่มขึ้นไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกยางทั่วประเทศมีทั้งหมด 55.1 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกจริง มีประมาณ14.3 ล้านไร่เท่านั้น
ตลาดส่งออกยางธรรมชาติที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีและอียู คาดว่าทิศทางการส่งออกยางพาราของไทยปีนี้ จะมีแนวโน้มที่ดีจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ปัจจุบันความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกมีปริมาณ 8 ล้านตันและมีอัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติในปี 2551 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.97 ล้านตัน ปริมาณความต้องการใช้ประมาณ 9.6 ล้านตัน โดยจีน อินเดียและสหรัฐฯยังคงเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ยางมากที่สุด