วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คุณมีความเห็นอย่างไรกับแนวคิด ดึงซาอุฯ ทำนาในไทย เปิดทางต่างชาติสูบทรัพยากร

โพสต์ทูเดย์ — รุมสวดแนวคิด ดึงซาอุฯ ทำนาในไทย เปิดทางต่างชาติสูบทรัพยากร
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยและไม่สมควรอย่างยิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาทำธุรกิจข้าวหรือลงทุนทำนาในประเทศไทย ผอ.ไบโอไทย กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเท่ากับเป็นการนำนักลงทุนต่างชาติมาใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านอาหาร“ขณะนี้ชาวนา 40% ต้องเช่าที่นาสำหรับการทำนา แค่นายทุนในประเทศก็มีการแย่งใช้ที่ดินอยู่แล้ว หากมีการลงทุนจากต่างประเทศยิ่งเป็นการกดดันแย่งชิงทรัพยากรที่ดินจากชาวนาตัวเล็กๆ เข้าไปใหญ่” นายวิฑูรย์ กล่าวนายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่น่าอดสูและเป็นการตบหน้าตัวเอง เพราะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการทำนาและปลูกข้าวของประเทศไทย“เป็นเรื่องไร้สาระ คิดแต่จะสร้างภาพ เพราะความจริงประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ปลูกข้าว พันธุ์ข้าว ชาวนา และเทคโนโลยี แต่ไม่มีใครใส่ใจที่จะพัฒนาทั้งระบบอย่างจริงจัง เมื่อมีปัญหาก็มุ่งแทรกแซงราคาเป็นหลัก” นายปราโมทย์ กล่าวนายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในแง่ของกฎหมาย หากกลุ่มทุนซาอุดีอาระเบียถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มทุนไทยสัด ส่วนเกิน 50% ไม่สามารถประกอบกิจการทำนาในประเทศไทยได้ เพราะผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า อาชีพทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย จึงไม่เคยคิดว่าจะมีใครไปดึงต่างชาติมาทำ เรื่องนี้ต้องไปถามนายประภัตร โพธสุธน ว่าคิดอะไรอยู่ เพราะท่านก็อยู่ในแวดวงอาชีพนี้มาทั้งชีวิต ย่อมรู้ดีว่าทำได้หรือไม่
*************************
ที่มา : www.oknation.net/blog/canthai

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คำถามจากเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง


คำถามจากเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง


ดร. พิศมัย จันทุมา
ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา อ. สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 24160 โทร 038-136255-6
E-mail: pisamaichantuma@hotmail.com
----------------------------
การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง รุ่น ที่ 1 วันที่ 25มกราคม 2551 : ปัญหาที่พบจากประสบการณ์การทำงานของ (6 เดือน)

1. พื้นที่ปลูกยางและดิน
1.ปรับปรุงดินปลวกอย่างไร ให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ (สก.ย.จ.สุรินทร์)
ตอบ ดินปลวก มีเนื้อดินเป็นดินเหนียว ไม่เหมาะสมกับการปลูกยาง ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว
2.ยางอายุ 2-3 ปี โดนน้ำท่วม 1-2 สัปดาห์ มีวิธีดูแลอย่างไร (สก.ย.จ.อุดรธานี)
ตอบ ระบายน้ำออก
3.ดินมีแร่ยิปซัม ทำให้ต้นยางตายจากยอด มีวิธีแก้ไขอย่างไร (สก.ย.จ.พิจิตร)
ตอบ แร่ยิปซัม มีธาตุ CaSO4 .4H2O เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำได้ Ca(OH)2 และกรดแก่ H2SO4 ดินที่มีแร่ยิปซัมมากทำให้สมดุลของธาตุอาหารเป็นประโยชน์ต่อต้นยางน้อยลง ผลกระทบ คือ ต้นยางขาดแร่ธาตุบางอย่าง ต้นยางแคระแกรนและอาจจะตายได้
4.พื้นที่ปลูกยางเป็นที่ราบลุ่ม หรือที่นา ควรมีวิธีการจัดการอย่างไร รวมทั้งเกิดผลดีผลเสียกับต้นยางอย่างไร (สก.ย.จ.พิษณุโลก)
ตอบ ระบายน้ำออก ต้นยางแคระแกรนไม่โต โดยเฉพาะพันธุ์ RRIM 600

2. ยางชำถุงและวัสดุขยายพันธุ์
1.การใช้เมล็ดพันธุ์ RRIM 600 เป็นต้นตอ (Stock) และติดตาด้วยยางพันธุ์ RRIM 600 มีผลทำให้พันธุกรรมด้อยลงหรือไม่ เสนอให้เอาเมล็ดจากพันธุ์ยางชั้น 3 เป็น Stock และติดตาด้วยยางพันธุ์ดี ชั้น 1 (สก.ย. จ.พะเยา)
ตอบ เมล็ดพันธุ์ RRIM 600 มีโรคชนิดหนึ่งเรียกว่า Yellow disease ต้น ใบ เหลือง เป็นลักษณะที่อ่อนแอทางพันธุกรรม แนวความคิดที่จะเอาเมล็ดจากพันธุ์ยางชั้น 3 เป็น Stock เป็นความคิดที่ดี แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์และต้องใช้พื้นที่มากพอสมควรจึงจะผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอต่อปริมาณการใช้ในประเทศ

2.การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว
ตอบ การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก้าวหน้าถึงขั้นผลิตเป็นต้นพันธุ์นำไปปลูกในแปลงยางและกรีดไปแล้ว ลักษณะต่างๆ ทางด้านลำต้นโตดีกว่าต้นยางติดตา เพราะไม่มีอิทธิพลของต้น stock ที่มีต่อ scion แต่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีข้อจำกัดหลายอย่าง ส่วนที่นำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือส่วนของ เยื่อหุ้มชั้นในของเมล็ดยาง (inner integument) จากฝักอ่อนอายุ 8-10 สัปดาห์ มีโครโมโซม 2n คือมีลักษณะเหมือนต้นแม่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อประสบความสำเร็จ จากการพัฒนาของ somatic embryo เป็นต้นอ่อน นำไปเลี้ยงอนุบาลในเรือนเพาะชำจนกระทั่งนำไปปลูกในแปลงยาง ประสบความสำเร็จประมาณ 5 พันธุ์ ได้แก่ BPM 24, PB 260, PB 311, RRII 105 และ RRIM 600 สำหรับพันธุ์อื่นๆ ประสบความสำเร็จน้อยกว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในปัจจุบันยังเหมาะสมกับการวิจัยเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ยางมากกว่าการผลิตเพื่อการค้ายังซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการเพิ่มปริมาณการผลิต ระยะเวลาและต้นทุนการผลิต ในอนาคตน่าจะมีการพัฒนาผลิตเพื่อการค้าต่อไป

3. การตัดแต่งกิ่งยาง
1.ยางปลูกปี 2548 ต้นสูงชะลูดไม่แตกกิ่งเกิดจากอะไร วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดทำอย่างไร (สก.ย. จ.บุรีรัมย์)
ตอบ ต้นยางสูงชะลูดไม่แตกกิ่ง เป็นลักษณะประจำพันธุ์ ของพันธุ์ RRIM 600 จะสร้างทรงพุ่ม ในต้นฤดูฝนปีที่ 3 (ยางอายุ 2 ปี กว่าๆ) การตัดแต่งกิ่งควรตัดกิ่งที่อยู่ระดับต่ำกว่า 2.5 เมตร ไม่ต้องไปควั่นต้นหรือรวบใบเพื่อสร้างทรงพุ่ม
จากที่พบมาข้อเสียของการควั่นต้น เกษตรกรที่นำไปใช้ไม่มีอุปกรณ์ในการควั่นต้น มีการประยุกต์ใช้มีดบางหรือมีดคัตเตอร์ เทคนิคในการควั่นต้นไม่ดี ที่ตรวจสวนยางเกษตร พบปัญหาเกษตรกรใช้มีดควั่นเป็นรอยรอบๆ ลำต้น บาดลึกถึงเนื้อไม้ ทำให้บริเวณที่ควั่นต้นมีสภาพเหมือนโดนตอนกิ่ง คือท่อน้าท่ออาหารถูกตัด ทำให้ลำต้นบริเวณเหนือรอยควั่นโตกว่าบริเวณใต้รอยควั่น เนื่องจากธาตุอาหารไม่สามารถเคลื่อนย้ายจากข้างบนลงมาข้างล่างได้ บริเวณใต้รอยควั่นต้นจะกิ่วทำให้ยอดหักเสียหัก ข้อระวังอีกอย่างคือ การควั่นที่ระดับ 2.0-2.5 เมตร ควรให้เกษตรกรใช้เก้าอี้หรือบันได เพราะบางรายใช้วิธีโน้มกิ่งลงมา ทำให้ต้นหักได้เนื่องจากไม่มีความชำนาญเหมือนเจ้าหน้าที่ที่ไปสาธิตให้ดู
การรวบใบบริเวณยอดเพื่อสร้างทรงพุ่ม เจ้าหน้าที่แนะนำให้ใช้ยางรัดหรือยางวง เพื่อว่ายางจะเปื่อยขาดโดยอัตโนมัติ แต่เกษตรกรกลัวว่าใช้ยางวงไม่ได้ผลเพราะขาดเร็ว จึงหันไปใช้การเหลาไม้ไผ่เป็นตอก เส้นบางๆ รัดแทน ตอกไม้ไผ่มีความเหนียวและทนทานไม่ขาดง่าย ๆ จึงทำให้ใบยางยอดกุด นี่คือข้อควรระวัง เพื่อไม่เกิดความเสียหายกับสวนยาง ดังนั้นการปล่อยให้ยางสร้างทรงพุ่มโดยธรรมชาติน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ระดับต่ำกว่า 2.5 เมตร
2.เกษตรกรตัดแต่งกิ่งเหลือโคนกิ่งไว้ 1 ซม. ทำให้ผิวต้นไม่เรียบ จะเกิดผลเสียหรือไม่
(สก.ย. จ.พะเยา)
ตอบ การตัดแต่งกิ่งที่อยู่ระดับต่ำกว่า 2.5 เมตร ควรใช้เลื่อยตัดกิ่งกรณีกิ่งขนาดใหญ่ให้ชิดลำต้น กิ่งใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ขึ้นไป เพื่อไม่ให้มีปัญหาปุ่มปม สำหรับกิ่งขนาดเล็กใช้มีดคมตัดกิ่งเล็กให้ชิดลำต้น หากตัดกิ่งไม่ชิดลำต้นก็ไม่น่าห่วงเพราะกิ่งจะแห้งงและหลุดออกไปโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความสะดวกและป้องกันการเข้าใจผิดควรแนะนำให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งชิดลำต้น
3.ผลดีผลเสียของการเด็ด/ตัดยอดยาง เพื่อสร้างทรงพุ่ม (สก.ย. จ.พะเยา)
ตอบ การเด็ดยอดจะมียอดใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ทรงพุ่มใหญ่และหนัก กิ่งและต้นฉีกขาดและหักโค่นได้เมื่อมีพายุ และบริเวณยอดยางจะเป็นแอ่ง เมื่อฝนตกทำให้มีน้ำขัง อาจเกิดการเน่าได้
4.ยางอายุ 3 ปี โดนแอบตัดฟันต้นทั้งสวน (10ไร่) ควรแก้ไขอย่างไร ระหว่างการปล่อยให้แตกกิ่งใหม่ กับปลูกยางใหม่ อย่างไหนดีกว่ากัน (สก.ย.จ.เลย)
ตอบ อยู่ที่ระดับความสูงของต้นที่โดนตัด หากปล่อยให้ต้นเดิมเจริญเติบโตต่อไป ต้องแน่ใจว่ากิ่งใหม่ที่เจริญขึ้นมาเป็นยางพันธุ์ดีไม่ใช่พันธุ์ดั้งเดิม เลี้ยงกิ่งที่สมบูรณ์ 1 กิ่ง ให้เป็นลำต้นต่อไป ส่วนกิ่งเล็กที่เหลือให้ทยอยตัดทิ้ง ต้นตอของยางอายุ 3 ปี มีอาหารสะสมมากกว่า จึงทำให้ต้นยางเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการไถตอยางทิ้งแล้วปลูกใหม่ สำหรับระดับความสูงของต้นเดิมควรจะสูงเท่าไหร่ ให้พิจารณาพื้นที่หน้ากรีดยางด้วย หากรอยตัดอยู่ที่ระดับความสูง 0.5-1.0 เมตร รอยแตกต้นใหม่ ทำให้ต้นไม่ตรงบิดเบี้ยว การกรีดยางทำได้ลำบาก น่าจะตัดต้นที่โดนฟันให้อยู่ที่ระดับความสูงไม่เกิน 20 ซม. เพื่อที่ต้นเจริญขึ้นมาใหม่ มีลำต้นตรง
5.เกษตรกรตัดยอดต้นยางอายุ 3-4 ปีที่ระดับ1.50 เมตร เพื่อให้ต้นโตและเปิดกรีดยางอายุ 3 ปี เพื่อขายขี้ยาง และพออายุ 7 ปี จึงเปลี่ยนมากรีดเพื่อทำยางแผ่น (สก.ย. จ.พะเยา)
ตอบ การเจริญเติบโตของต้นยางเล็กก่อนเปิดกรีด มีขนาดเส้นรอบลำต้นเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 7 ซม. (ยางอายุ 7 ปี จึงจะเปิดกรีดได้ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และการดูแลรักษา) กรณีนี้แสดงว่ากรีดยางลำต้นเล็กมาก ต่ำกว่า 30 ซม. รอยกรีดสั้นถึงแม้นว่าจะแบ่งกรีดครึ่งลำต้น และความหนาเปลือกบาง จำนวนท่อน้ำยางมีจำนวนน้อย ผลผลิตย่อมต่ำ และหลังเปิดกรีดยางแล้วต้นยางมีอัตราการเพิ่มขนาดลำต้น 2 ซม./ปี นั่นคือ ต้นยางเมื่ออายุ 7 ปี มีขนาดเส้นรอบลำต้น 36 ซม. คนกรีดยางต้องมีความชำนาญที่สุดถึงจะกรีดยางไม่บาดหน้ายางเพราะเปลือกบางมาก ต้นโทรมและสิ้นเปลืองเปลือกมาก ผลผลิตต่ำ กรีดไม่ถึงปี เกิดอาการเปลือกแห้ง ยางอายุไม่ถึง 15 ปี ต้องโค่นทิ้ง ทางแก้ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางต้องมีแนวทางในการควบคุมไม่ให้เกษตรกรมักง่ายโดยคิดว่าเมื่อกรีดยางหมดหน้ากรีดก็ขอทุนสงเคราะห์ปลูกใหม่แทนได้ ไม่อย่างนั้นปัญหาการกรีดยางต้นเล็กและกรีดถี่จะคงอยู่ตลอดไป

4. การดูแลรักษาในช่วงฤดูแล้ง
1.การดูแลยางเล็กในช่วงฤดูแล้ง นอกจากการคลุมโคนและทาปูนขาว มีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ และสถาบันวิจัยยางได้ทำงานวิจัยด้านนี้บ้างไหม (สก.ย.จ.เลย)
ตอบ เป็นคำตอบที่วิทยากรไม่อยากตอบเลย เพราะเชื่อว่าเด็กที่จบระดับปริญญามีความพร้อมในการหาข้อมูลข่าวสารได้สะดวกรวดเร็ว การดูแลยางเล็กในช่วงฤดูแล้ง ใช้วิธีการคลุมโคน ทาปูนขาว หรือปลูกพืชแซมยางบางชนิด เช่น กล้วย นอกจากช่วยบังร่มเงาแล้วยังช่วยรักษาความชื้นของดิน
อย่างไรก็ตาม วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาอาจจะใช้ได้ผลกับสถานที่หนึ่งแต่ไม่เหมาะกับสถานที่อื่น เช่น การคลุมโคน ใช้กับยางในแถบจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ไม่ได้เลย ในสภาพสวนยางโล่งเตียนเนื่องจากถากหรือตัดหญ้ามาคลุมโคนต้นยาง ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องไฟ แต่ปรากฏว่ามีสะเก็ดไฟปลิวมาติดหญ้าที่คลุมรอบต้นยาง ทำให้ต้นยางโดนไฟไหม้ได้รับความเสียหาย ดังนั้นแนวทางแก้ไขในพื้นที่ดังกล่าวคือ ไม่ควรคลุมโคนต้นยาง ควรเลือกใช้วิธีอื่น

2.ยางอายุ 1-3 ปี ควรมีการดูแลอย่างไรไม่ให้ยางผลัดใบ (สก.ย.จ.ลำปาง)
ตอบ ธรรมชาติของยาง การผลัดใบเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ความแห้งแล้งทำให้ผลัดใบยางเร็วกว่าสภาพความชื้นสูง และลักษณะเฉพาะประจำพันธุ์ยาง ยางบางพันธุ์ผลัดใบเร็ว-ช้า ไม่เหมือนกัน ทำให้ได้เปรียบไม่เป็นโรคราแป้ง
3.ใช้สีน้ำมันแทนปูนขาวทาต้นยาง มียางตาย 3-4 ต้น มีวิธีแก้ไขอย่างไร
ตอบ ปูนขาวและสีน้ำมันช่วยลดความเสียหายของเซลล์บริเวณลำต้นที่โดนแสงแดดแต่ไม่ได้ป้องกันไม่ให้ยางตายได้ ดังนั้นในสภาพแห้งแล้งมากๆ จึงมียางตายในช่วงฤดูแล้ง

5. การออกดอกติดผลของยาง
1.ยางเล็กออกดอกติดผล มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตยางหรือไม่ (สก.ย.จ.น่าน )
ตอบ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตแน่ เพราะอาหารในต้นยางแทนที่จะถูกใช้เพื่อการเจริญเติบโต ต้องถูกแย่งไปใช้เพื่อการออกดอกติดผล แต่เนื่องจากยางพาราเป็นพืชอายุยาว ดังนั้นผลกระทบดังกล่าวจะเกิดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ 1-2 ปี จึงไม่น่ามีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาวและผลผลิตยาง แก้ไขได้โดยการบำรุงรักษา ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำและกำจัดวัชพืช เป็นต้น

6. ปุ๋ย
1.สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ภาค จ.บุรีรัมย์ เกษตรกรปลูกยางในนาดอน
ควรใช้ปุ๋ยสูตรไหน (สก.ย.จ.บุรีรัมย์)
ตอบ ขณะนี้มีปุ๋ยสูตรเดียวที่เหมะสมในพื้นที่เขตปลูกยางใหม่ คือ สูตร 20-10-12

7. ไฟไหม้สวนยาง
1.ยางโดนไฟไหม้ นอกจากการทาปูนขาวแล้ว มีวิธีอื่นหรือไม่ โดยไม่ต้องปลูกยางใหม่
(สก.ย.จ.เลย)
2.ต้นยางโดนไฟไหม้ ควรตัดต้นสูงประมาณ 0.5-1 เมตร หรือปลูกใหม่อย่างไหนดีกว่ากัน
(สก.ย.จ.น่าน)
ตอบ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไฟไหม้และความเสียหายกับต้นยาง หากต้นยางโดนไฟไหม้ไม่รุนแรง หลังจากไฟไหม้ควรรีบรักษา โดยใช้สีน้ำมันทาบริเวณแผล เพื่อป้องกันปลวกกัดกินและเข้าทำลาย หรือใช้ปูนขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1:1 แช่น้ำค้างไว้ 1 คืน ทาบริเวณที่เกิดแผลทั้งหมด
สำหรับต้นยางโดนไฟไหม้มากแต่ไม่ตาย มีการแตกแขนงบริเวณลำต้น ตัดต้นเดิมทิ้ง รอให้ต้นยางแตกกิ่งขึ้นมาใหม่ (พันธุ์ดี) ให้ตัดแต่งแล้วเลือกกิ่งที่สมบูรณ์เอาไว้จำนวน 1 กิ่ง เพื่อเลี้ยงไว้เป็นต้นกรีดต่อไป กรณีที่ต้นยางได้รับความเสียหายจากไฟเกินร้อยละ 40 ของทั้งสวน ควรปลูกใหม่
8. โรคและศัตรูยาง และอาการผิดปกติของยาง
1.ยางเป็นโรค แสดงภาพใบเหลืองแห้งตาย ยางอายุ 1 ปี (สก.ย.จ.เชียงใหม่)
ตอบ จากภาพที่ให้ดู น่าจะเป็นอาการต้นยางกระทบแล้ง
2.โรครากสีน้ำตาล พบในยางเล็ก ผิวบริเวณรากลอกเป็นแผ่น เหมือนกำมะหยี่ มีสีน้ำตาล อยากทราบวิธีป้องกันรักษา (สก.ย.จ.เลย)
ตอบ ให้ตรวจดูว่ามีระดับน้ำใต้ดินสูงหรือไม่ น่าจะเป็นอาการของยางที่มีน้ำใต้ดินมาก ส่วนโรครากสีน้ำตาลไม่น่าจะใช่
3.ปัญหาการป้องกันตัวตุ่น เกษตรกรใช้ลูกเหม็นฝังรอบๆ โคนต้นยาง แต้ต้นยางยังตาย
(สก.ย.จ.เลย)
ตอบ มีวิธีการกำจัดตัวตุ่นหลายๆ วิธีที่เกษตรกรใช้อยู่ แต่ก็ไม่มีการยืนยันว่าวิธีไหนได้ผลที่สุด เพราะไม่เห็นซากตัวตุ่น ทราบแต่ว่าต้นยางเสียหายลดลง สักพักก็กลับมากทำลายต้นยางใหม่
4.ต้นยางอายุ 2 ปี เปลือกตกสะเก็ด เป็นขุยเล็กๆ สีดำ
ตอบ มีหลายสาเหตุ ได้แก่ สภาพแห้งแล้ง หรือต้นยางได้รับความเสียหายจากลูกเห็บ
5.สวนยางและสวนยูคาลิปตัสที่อยู่ติดกัน ทำให้ต้นยางที่อยู่ใกล้ 2 แถว ที่อยู่ติดกับยูคาลิปตัสเจริญเติบโตไม่ดี มีวิธีการแก้ไขอย่างไร (สก.ย.จ.บุรีรัมย์)
ตอบ ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดต้นยูคาลิปตัสกับยาง ใกล้เคียงกันหรือไม่ หากมีขนาดไม่ต่างกันมากให้ใช้รถไถไถตัดรากยูคาลิปตัสเพื่อไม่ให้เข้ามารบกวนต้นยาง ทั้งนี้ระยะห่างระหว่างพืช 2 ชนิด ไม่น้อยกว่า 7 เมตร แต่ถ้ายูคาลิปตัสมีขนาดใหญ่มาก ต้นยางแถวริมนอกมักไม่โต
6.ยางอายุ 1-2 ปี ในช่วงปลายฤดูฝน เกิดอาการไหม้บริเวณโคนคอดิน มีวิธีการแก้ไขอย่างไร
(สก.ย.จ.บุรีรัมย์)
ตอบ ต้นยางที่ปลูกในเขตแห้งแล้ง มักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดด ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อส่วนนั้นรับแสงแดดเป็นเวลาติดต่อกันจนเซลล์เนื้อเยื่อเสียหาย ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ เกิดอาการแห้งเป็นรอยแผลขนาดต่างๆ กัน การป้องกัน เมื่อเข้าช่วงฤดูแล้ง ควรใช้ปูนขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 1 ส่วน หมักแช่ทิ้งค้างคืน ทาตั้งแต่บริเวณโคนต้นส่วนที่เป็นสีน้ำตาลและสีน้ำตาลปนเขียวเพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดด หรือใช้วิธีการคลุมโคนโดยไม่ให้เศษซากพืชคลุมชิดต้นยาง หากในพื้นที่ใดที่สามารถปลูกกล้วยแซมในระหว่างแถวยางได้ยิ่งดีเพราะกล้วยช่วยเก็บรักษาความชื้นของดินและช่วยบังแดดให้กับต้นยาง กรณีเกิดรอยแผลไหม้ขึ้นแล้ว ให้แก้ไขโดยใช้สีน้ำมันทาปิดทับไว้เพื่อป้องกันรอยแผลขยายเป็นวงกว้างและต้นยางอาจตายกลับ
7.ยางมีอาการตายจากยอด และเป็นโรคเส้นดำกับยางเปิดกรีด มีวิธีแก้ไขอย่างไร
(สก.ย.จ.พะเยา)
ตอบ ยางเปิดกรีดแสดงอาการตายจากยอด มีหลายสาเหตุ ข้อสังเกตง่าย ๆ ว่าอาการเกิดขึ้นบริเวณไหน คาคบ ปลายยอด เพราะหลายครั้งที่พบเกิดเนื่องยางต้นยางโดนฟ้าผ่าตาย ช่วงฟ้าผ่าใหม่ๆ ไม่ตาย ถัดจากนั้น 2-3 เดือน ต้นยางจึงแสดงอาการ ควรสืบประวัติเพิ่มเติมจากเจ้าของสวนเพื่อประกอบคำวินิจฉัย
สำหรับโรคเส้นดำ หลีกเลี่ยงการกรีดยางในช่วงฤดูฝน ที่มีการระบาดของโรค ถ้าพบอาการที่หน้ากรีด ให้เฉือนส่วนที่เป็นโรคออกก่อน แล้วทาแผลด้วยสารเคมี เมทาแลกซิล 35% SD 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นหรือทาหน้ากรีดยาง ทุกสัปดาห์ อย่างน้อย 4 ครั้ง

9. การกรีดยางและผลผลิต
1.ยางปลูกปี 2544 พร้อมเปิดกรีด ควรเปิดกรีดยางเดือนไหน ต้นหรือปลายฤดูฝน (สก.ย.จ.พะเยา)
ตอบ ยึดขนาดของต้นยางเป็นหลัก หากต้นฤดูฝนต้นยางยังเล็กอยู่ ก็สามารถเลื่อนไปเปิดกรีดในช่วงปลายฤดูฝนได้ แต่ยางปี 2544 ลำต้นไม่น่าจะได้ขนาด
2.ข้อดี ข้อเสียของการกรีดยางแบบ 2 หน้า
ตอบ ระบบกรีด 2 รอยกรีด เป็นการกรีดที่แต่ละรอยกรีดโดนกรีดทุก 4 วัน แต่ชาวสวนได้กรีดยางแบบกรีดวันเว้นวัน ข้อดี 1. ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะหน้ากรีดยางมีเวลาพัก 72 ชั่วโมง เพื่อสร้างน้ำยางชดเชย 2. รอยกรีด 2 รอยกรีด อยู่ห่างกัน 70 ซม. ไม่มีปัญหาในเรื่องการแก่งแย่งวัตถุดิบในการสร้างน้ำยาง ข้อเสีย 1. เกษตรกรยังเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการกรีดทุกวันเพียงแต่สลับหน้ากรีด แก้ไขโดยเร่งประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการกรีดที่ถูกต้อง
3.สีของน้ำยาง แตกต่างกันตามฤดูกาล ฤดูแล้ง (ยางผลัดใบ) น้ำยางมีสีขาวนวล
แต่ฤดูหนาวน้ำยางมีสีคล้ำ (สก.ย.จ.พิจิตร)
ตอบ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ที่น้ำและความชื้นมีอิทธิพลต่อสีของน้ำยาง
4.ทำอย่างไรให้ต้นยางเจริญเติบโต สามารถเปิดกรีดเร็วขึ้น การเลี้ยงเนื้อเยื่อช่วยให้ยาง
โตเร็วขึ้นหรือไม่ ( สก.ย.จ.พิจิตร )
ตอบ ต้นยางจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีการเจริญเติบโตดี เพราะไม่มีอิทธิพลของ stock-scion เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อประสบความสำเร็จเป็นบางพันธุ์ ต้องใช้เวลาวิจัยต่อไปสักระยะ
5.เกษตรกรเปิดกรีดยางต้นเล็ก มีผลกระทบต่อผลผลิตอย่างไร ( กทม. )
ตอบ การกรีดยางต้นยางเล็ก ทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจาก 1. ต้นยางไม่สมบูรณ์ 2. ความยาวของรอยกรีดสั้น 3. เปลือกบาง มีท่อน้ำยางน้อย 4. โอกาสกรีดบาดหน้ากรีดมีมาก 5. หมดหน้ากรีดเร็ว และอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง
6.เราจะแนะนำเกษตรกรอย่างไร ไม่ให้เปิดกรีดต้นยางขนาดเล็ก (สก.ย.จ.พะเยา )
ตอบ การเปลี่ยนทัศนคติของคนต้องค่อยเป็นคอยไป ปัจจุบันเป็นยุดข่าวสาร ใครมีข้อมูลมากคนนั้นย่อมเหนือกว่าผู้อื่น พยายามแสดงข้อมูลตัวเลขที่ได้จากการวิจัย มากกว่าคำบอกเล่าที่ใช้ความรู้สึก ระยะแรกถ้าเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว อย่าพึ่งท้อถอยก่อน เกษตรกรอาจจะมองว่าเป็นเจ้าหน้าที่สก.ย.มือใหม่ เหมือนหมอจบใหม่ แต่หากได้มีการค้นคว้าและเก็บบันทึกข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์พูดกันด้วยตัวเลข มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ไม่นานเราจะเป็นผู้รู้จริง
7.ระบบกรีดที่ดีที่สุดของ จ.เชียงราย ที่มีสภาพอากาศเย็นและแล้งมานาน ควรแนะนำระบบกรีดอะไรที่ทำให้กรีดได้นานที่สุด (สก.ย.จ.เชียงราย )
ตอบ อากาศเย็นทำให้น้ำยางไหลยาวนาน บางครั้งหยุดไหลเวลา 14.00-15.00 น. เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง ทางแก้คือ หันมากรีดยางช่วงเช้า 05.00-06.00 น. แทนเพื่อลดเวลาในการไหลลง สำหรับสภาพแห้งแล้งมีอิทธิพลกับต้นยางมากเพราะน้ำเป็นองค์ประกอบหลักของน้ำยาง (60-70%) การกรีดยางติดต่อกัน 2 วัน หยุดกรีด 1 วัน จึงเป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งที่ต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งมาก เป็นงานที่ยากแต่ท้าทายสำหรับคนรุ่นหลัง ลองเปลี่ยนกลยุทธการทำงาน จากการให้ทุนสงเคราะห์ปลูกใหม่เมื่อหน้ายางเสียหาย เป็นให้ทุนสงเคราะห์ก็ต่อเมื่อเกษตรกรดูแลรักษาสวนยางดี ทำให้ต้นยางโตดีได้ขนาดเปิดกรีด และกรีดยางเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 20 ปี ให้รางวัลแก่คนทำความดี แนวทางนี้น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระจายจำนวนเกษตรกรที่ขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกสร้างสวนยางมากขึ้น
8.เทคโนโลยีการเอาน้ำยางออกจากต้นยาง มีวิธีการอื่นหรือไม่ เช่น การใช้แก๊ส
(สก.ย.จ.เชียงราย )
ตอบ มีทั้งวิธีกรีดสั้น คือ ลดความยาวของรอยกรีดลง สั้นที่สุด ประมาณ 4-5 ซม. และวิธีการใช้เข็มเจาะ แต่เนื่องจากวิธีดังกล่าวมีรอยแผลสั้นและเล็กจึงทำให้น้ำยางหยุดไหลเร็ว หรืออุดตันเร็ว ได้ผลผลิตต่ำ จึงนำแก๊สมาช่วยในการเร่งน้ำยางให้สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้เข็มเจาะและขนาดรอยกรีดสั้น ให้ผลผลิตต่ำ มีผลงานวิจัยที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรายืนยัน วิธีการดังกล่าวจึงเลิกใช้ไปแล้ว ปัจจุบันบริษัทเอกชนได้ขยายความยาวของรอยกรีดเป็น หนึ่งในสี่ของลำต้น (ประมาณ 10 ซม.) และหนึ่งในสามของลำต้น เพื่อผลผลิตให้สูงขึ้นคุ้มค่ากับต้นทุนในการติดตั้งอุปกรณ์และแก๊ส ต้นละ 60-70 บาท/ต้น แต่อย่างไรการใช้แก๊สเหมาะสมกับต้นยางก่อนโค่น (2-3 ปี ก่อนโค่น) เท่านั้น เพราะทำให้ต้นยางทรุดโทรมและผลผลิตเพิ่มในอัตราที่สูงเฉพาะปีแรกที่ใช้เท่านั้น ปีต่อไปอัตราการเพิ่มของผลผลิตลดลง ขอให้เจ้าหน้าที่สก.ย.ช่วยดูแลไม่ให้การใช้แก๊สขยายไปในสวนยางในเขตยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เพราะในเขตดังกล่าวมีปริมาณน้ำฝนและความชื้นในดินต่ำกว่าในเขตภาคใต้ หากเป็นสวนยางแก่ใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง 2.5% และกรีดปกติการสามารถเพิ่มผลผลิตน้ำยางได้พอๆ กับการใช้แก๊ส แต่ต้นทุนต่ำกว่า

10. อาการเปลือกแห้ง
1.อาการเปลือกแห้งของยาง เกิดจากสาเหตุอะไร ต้นยางเปิดกรีดใหม่ (สก.ย.จ.บุรีรัมย์ )
ตอบ อาการเปลือกแห้งต้นยางพบทั้งก่อนเปิดกรีดและหลังเปิดกรีดยางแล้ว เกิดจากหลายสาเหตุมาก เป็นความผิดปกติทางสรีรวิทยาของต้นยาง โดยมีสภาพแวดล้อมมีส่วนร่วม เช่นในเขตแห้งแล้ง แบ่งเป็น 2 ลักษณะ 1. อาการอาการเปลือกแตก เปลือกร่อน พบมากทั้งในยางที่ยังไม่เปิดกรีดและต้นยางที่พึ่งเปิดกรีด 1-2 ปี จากงานวิจัยของสถาบัน IRD ของฝรั่งเศส เป็นอาการที่เกิดจากโคนต้น (บริเวณรอยต่อของ stock-scion) แล้วลามขึ้นมาข้างบน เรียกว่า “Tapped Bark Necrosis (TBN)” อาการดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ 1. ความชื้นในดิน 2. การอัดแน่นของดิน ซึ่งเกิดจากการใช้รถไถ เหยียบทับ เรียกว่า hard pan 3. ระบบรากของต้นพันธุ์ที่ใช้เป็น stock เป็นต้น ข้อสรุปดังกล่าวได้จากการทดลองแถบทวีปอัฟริกา เช่น ประเทศไอวอรีโคต์ หรือปัจจุบันปลี่ยนเป็นประเทศโคว์ดิวัวร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในประเทศไทย เปรียบเทียบระหว่าง 2 สถานที่ ที่จ. ขอนแก่นและบุรีรัมย์ ที่บุรีรัมย์ พบปัญหาต้นยางที่เริ่มเปิดกรีดในปีที่ 2 มีอัตราการเพิ่มของการเกิดอาการเปลือกแห้งปีละ 10% 2. อาการเปลือกแห้ง TPD:Tapped panel dryness เกิดบริเวณหน้ากรีดแล้วลามลงไปสู่บริเวณโคนต้น เกิดหลังจากกรีดยางแล้ว มีหลายสาเหตุ ได้แก่ 1. พันธุ์ยาง 2. ระบบกรีด ส่วนมากเกษตรกรกรีด 2 วัน หยุดวัน ระบบกรีดนี้อาจไม่เหมาะสมกับต้นยางในเขตแห้งแล้ง เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำและความชื้นดิน ในขณะที่เขตภาคใต้สามารถใช้ระบบกรีดถี่ได้มากกว่านี้ ต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งน้อยกว่าในเขตแห้งแล้ง หากพบต้นยางที่แสดงอาการเปลือกแห้งให้หยุดกรีดยางอย่างน้อย 6 เดือน
2.การป้องกันอาการเปลือกแห้งของยาง ใช้ พด.2 ฉีดพ่นบริเวณเปลือกยางได้หรือไม่ และควรจะฉีดพ่นช่วงไหนดี (สก.ย.จ.อุดรธานี )
ตอบ พด. 2 คล้ายกับปุ๋ยน้ำ ถ้าพิจารณาสรีรวิทยาและกายวิภาคของยางหรือพืชทั่ว ๆ ไป จะดูดสารอาหารและน้ำทางรากและทางใบ การฉีดพ่นบริเวณเปลือกสารเหล่าอาจซึมเข้าไปได้เพียงเล็กน้อยโดยผ่านบริเวณช่องว่างระหว่างเซลล์พืช พด. 2 จึงไม่น่าจะช่วยบำรุงรักษาเปลือกยางให้หายจากอาการเปลือกแห้งได้ การที่ต้นยางหายจากอาการเปลือกแห้งสันนิษฐานว่าเกิดจาก การพักกรีดต้นยางระหว่างการรักษา

11. ความรู้ที่ต้องการทราบ
1.อยากรู้งานวิจัยทางด้านยางพาราใหม่ๆ (สก.ย.จ.อุดรธานี)
ตอบ หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และทำหนังสือขอเอกสารวิชาการจากสถาบันวิจัยยาง
การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง รุ่น ที่ 2 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551

ยางก่อนเปิดกรีด
1. สภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมในการปลูกยาง
1. ยางอายุ 1-3 ปี เจริญเติบโตดี พอปีที่ 3 ยางชะงักการเจริญเติบโต พื้นดินบางแห่งมีหินชั้นล่าง (สก.ย.นครพนม)
2. ต้นยางมีขนาดเล็ก เจริญเติบโตไม่ได้ตามขนาดมาตรฐาน การใส่ปุ๋ยไม่ถูกสูตร และปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (สกย.อุบลราชธานี)
3. ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ดินนา ดินลูกรัง ทราย มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง (สก.ย. บึงกาฬ)
4. พื้นที่ไม่เหมาะสม ยางตายในช่วงฤดูแล้ง (สกย.ชัยภูมิ)
5. พื้นที่เหมาะสมมีน้อย (สกย.บึงกาฬ)

ตอบ ปัญหาที่พบมากในเขตปลูกยางใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ คือ การเลือกสภาพพื้นที่ปลูก ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จในการปลูกยางและการเจริญเติบโตของต้นยาง ดังนั้น การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับยางพารา จึงมีความสำคัญ คือ สภาพเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนดินเหนียว เป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขังและระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกมากว่า 1 เมตร เป็นต้น และเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ อย่างน้อย 1,250 มม./ปีและมีจำนวนวันฝนตกไม่น้อยกว่า 120-150 วัน/ปี

2. การตัดแต่งกิ่ง
1. เกษตรกรเด็ดยอดยางอายุ 2 ปี เชื่อว่าถ้ากิ่งมากจะได้น้ำยางมาก (สก.ย. มุกดาหาร)
2. ยางอายุ 2 ปี ไม่แตกกิ่ง ออกดอก ประมาณ 10% ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยางหรือไม่ (สก.ย.อุบลราชธานี)

ตอบ ยางพันธุ์ RRIM 600 มีลักษณะประจำพันธุ์อย่างหนึ่ง คือ แตกทรงพุ่มช้า แต่เมื่อเข้าฤดูฝนในปีที่ 3 ยางพันธุ์นี้จะแตกทรงพุ่มโดยอัตโนมัติ การตัดแต่งกิ่งควรตัดริดกิ่งที่อยู่ระดับต่ำกว่า 2.5 เมตรออก และไม่ควรเด็ดยอดเพื่อสร้างทรงพุ่ม ถึงแม้ว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้ต้นยางโตทางลำต้นเร็ว แต่การเด็ดยอดจะมียอดใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ทรงพุ่มใหญ่และหนัก กิ่งและต้นฉีกขาดและหักโค่นได้เมื่อมีพายุ และบริเวณยอดยางจะเป็นแอ่ง เมื่อฝนตกทำให้มีน้ำขัง อาจเกิดการเน่าได้

3. ยางอายุ 4 ปี โดนตัดยอดมีทางแก้ไขอย่างไร (สก.ย.นครพนม)
ตอบ เลี้ยงกิ่งหลัก 1 กิ่ง ไว้ ในขณะเดียวกันตัดกิ่งเล็กออกไป

3. ปุ๋ยยางอ่อน
1. ปุ๋ยสูตร 20-10-12 หายาก เกษตรกรในเขตนี้ใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ใช้ 2 ปีแรก คิดว่าต้นยางโตดี (สก.ย. ฉะเชิงเทรา)
ตอบ ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ที่ทำให้ต้นยางโตดีกว่าเพราะมี ธาตุไนโตรเจนหรือยูเรียมากกว่า จึงทำให้ดูเหมือนต้นยางโตดีกว่า โดยเฉพาะใบเขียวเข้ม แต่ปุ๋ยมีธาตุอาหารหลักอย่างอื่นน้อยกว่า คือ ฟอสฟอรัสและโปตัสเซียม และปุ๋ยสูตรนี้ราคาแพงกว่าสูตร 20-10-12 ประมาณกระสอบละ 100-150 บาท อย่างไรก็ตามปุ๋ยสูตรแนะนำในปี 2550 มีการซื้อขายค่อนข้างกว้างขวาง เพียงแต่บริษัทที่ผลิตปุ๋ยสูตรแนะนำไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่าปุ๋ยสูตร 25-7-7

2. ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทำให้ต้นยางออกลูกดก เปรียบเทียบกับ 20-10-12 จะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของยางหรือไม่ (สก.ย.สกลนคร)
3. ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทำให้ต้นยางโตพอๆ กับ 20-10-12 จะมีผลกระทบต่อผลผลิตยางหรือไม่ (สก.ย.สกลนคร)
ตอบ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งใบ ต้น ดอก และผล จึงพบว่าในแปลงยางที่ยางออกดอกและผลใส่ปุ๋ยสูตรนี้เป็นส่วนใหญ่ สำหรับผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตยาง ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทำให้ยางได้รับธาตุไนโตเจนน้อยกว่าปุ๋ยสูตรแนะนำ คือ ปุ๋ยยางเล็ก 20-10-12 ปุ๋ยสูตรยางใหญ่ 30-5-18 ข้อเสียของการใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 คือ ราคาแพง กระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตยางเพราะยางได้รับธาตุอาหารบางตัวมากไปกระตุ้นดอกและผล ทำให้อาหารถูกแบ่งเพื่อนำไปใช้ในการสร้างดอกและผล แทนการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของต้นและผลผลิตน้ำยาง

4. ปุ๋ยราคาแพง (สก.ย.บึงกาฬ)
5. ต้นยางขาดการบำรุง ไม่ใส่ปุ๋ย (สก.ย.ชัยภูมิ)
ตอบ ควรหาปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักมาใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมี สามารถช่วยลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยเคมีได้ 25 เปอร์เซ็นต์ ในยางเล็ก และลดการใช้ปุ๋ยในยางเปิดกรีด 50 เปอร์เซ็นต์
6. ยางอายุ 2 ปี มีอาการแผลไหม้ ตายเป็นหย่อมๆ ปุ๋ยขี้ไก่ที่ใส่ซื้อจากฟาร์ม (สก.ย.อำนาจเจริญ)
ตอบ ในฟาร์มใหญ่ๆ นิยมใช้โซดาไฟผสมน้ำราดล้างเล้าไก่เพื่อฆ่าเชื้อโรค โซดาไฟที่อยู่ในปุ๋ยขี้ไก่เมื่อได้ความชื้นจากดินจะปลดปล่อยความร้อนออกมา เป็นอันตรายกับต้นยาง มีอาการคล้ายแผลไหม้หรือตายได้ และโซดาไฟยังแย่งน้ำและความชื้นจากต้นยาง ทำให้ต้นยางขาดน้ำ สมดุลของธาตุอาหารเปลี่ยนแปลง ในสภาพแล้งจัดทำให้ยางตายมาก

7. ยางนอกโครงการปลูกปี 2547 ที่ อ. บ้านแพง ใบยางเหลือง ขอบใบไหม้ เกษตรกรฉีดยางกำจัดเชื้อรา ใช้ปุ๋ยชีวภาพ 2 ปี คิดว่าน่าจะเกิดจากการขาดธาตุอาหาร (สก.ย.นครพนม)
ตอบ ผู้ถามเข้าใจถูกต้องแล้ว

4. อาการผิดปกติของต้นยาง
1. ยางนอกโครงการฯ ต้นยางอายุ 2 ปี โคนต้นเปื่อยที่ระดับใต้ผิวดิน ใบเหลืองซีด ประมาณ 20 ต้น อยู่ริมแปลง กระจัดกระจาย และบางครั้งพบการตายจากยอดลงมา (สก.ย. อำนาจเจริญ)
2. บริเวณโคนต้นเปื่อยยุ่ยเป็นแผลเล็กๆ 100 ต้น จากพื้นที่ 6-7 ไร่ ดินทราย ที่ลุ่มเป็นหย่อมๆ (สก.ย. ยโสธร)
ตอบ ลักษณะอาการผิดปกติของต้นยางดังกล่าว พบมากในบริเวณที่มีน้ำใต้ดินตื้น

3. ยางตายจากยอดลงมา ควรจะแนะนำให้ตัดยอดก่อนยางตายให้แตกกิ่งใหม่ได้หรือไม่ ยางตายทุกฤดู 4-5 ต้น/ปี (สก.ย. บึงกาฬ)
4. ปัญหายางตายจากยอด สาเหตุมาจากเป็นชั้นหิน ยางตายไปประมาณ 1 ไร่
(สกย. ศรีสะเกษ)
ตอบ ในเขตดินชุดโพนพิสัย เนื้อดินเป็นดินลูกรังอัดแน่น หน้าดินตื้น ดินที่ศรีสะเกษ มีชั้นดินอัดแน่น อาการต้นยางตายจากยอดจะพบมากเมื่อยางอายุ มากกว่า 4 ปี การตัดยอดเพื่อให้ต้นยางแตกขึ้นมาใหม่ ช่วยให้ยางไม่ตายแต่ไม่ค่อยโต เกี่ยวกับระบบรากของยาง

5. ยางอายุ 1-2 ปี โดนแสงแดดไหม้ทางทิศตะวันตก ประมาณ 50% ที่ อ. ขุนหาญ
(สกย. ศรีสะเกษ)
6. ต้นยางเล็กเปลือกแห้งและแตก ในทิศตะวันตก (สก.ย.อุบลราชธานี)
7. ต้นยางเกิดอาการไหม้จากแสงแดด (สก.ย.ชัยภูมิ)
ตอบ อาการเปลือกไหม้พบมากในเขตแห้งแล้ง ป้องกันโดยใช้ปูนขาวผสมน้ำ อัตรา 1:1 แช่น้ำ 1 คืน ก่อนเพื่อให้ปูนขาวคายความร้อน ใช้ปูนขาวทาบริเวณลำต้น หากเกิดอาการไหม้ใช้สีน้ำมันหรือใช้ปูนขาวผสมน้ำทาทับ

8. ต้นยางปลูกปี 2547 เปลือกแตกมาก มีน้ำยางไหลมีวิธีการแก้ไขอย่างไร
(สก.ย.อุบลราชธานี)
9. ต้นยางอายุ 2-3 ปี เปลือกแตก 2-3 ซม. มีน้ำยางไหลมีวิธีการแก้ไขอย่างไร (สก.ย.บึงกาฬ)
10. ยางอายุ 4 ปี ยอดด้วน ใบแทงยอด ต้นมีสีดำ เปลือกแตกน้ำยางไหล เปลือกร่อน จำนวน 4 ต้น (สก.ย.นครราชสีมา)
11. ยาง 3-4 แปลง ต้นยางเปลือกแตก (สก.ย.นครพนม)
ตอบ อาการเปลือกยางแตกพบได้ทั้งในยางเล็กและยางเปิดกรีดแล้ว มีจำนวนต้นที่แสดงผิดปกติไม่มาก น่าจะเกิดจากหลายกรณี ได้แก่ สภาพแห้งแล้ง ความร้อนทำให้เซลล์พืชมีบาดแผลได้ หรือเกิดจากมีวัตถุเล็กๆ เช่น ลูกเห็บ ขนาดเล็กตกมาโดนต้นยาง ควรช่วยกันสังเกตหาสาเหตุ

12. ไฟไหม้สวนยาง (สก.ย.ชัยภูมิ)
ตอบ เน้นให้ชาวสวนยางช่วยกันเฝ้าระวัง ความเสียหายของต้นยางขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไฟไหม้ ถ้าเสียหายไม่มากให้รักษา แต่ถ้าเสียหายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ควรปลูกใหม่หากเกษตรกรยินยอมโค่น

13. ยางในปี 2550 ผลิใบก่อนกำหนด (สก.ย.นครพนม)
ตอบ พื้นที่ที่มีความชื้นหรือฝนตก ทำให้ยางผลิใบก่อนกำหนด

14. ผลกระทบต่อต้นยางในการนำยางตาสอยมาติดตา (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ หากแผ่นตาจากกิ่งตาสอยเป็นยางพันธุ์ดี ไม่น่ากังวลใจ ให้ตรวจสอบว่าเป็นยางพันธุ์ชั้น 1 หรือไม่

15. ยางอายุ น้อยกว่า 3 ปี มีการผลัดใบ (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ ธรรมชาติของยางที่ผลัดใบ

16. ยางอายุ 2-3 ปี ออกดอก คิดว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อการออกดอกของยาง (สก.ย.บึงกาฬ)
ตอบ ในสภาพแห้งแล้ง ทำให้ต้นยางขาดน้ำ เหมือนพืชอื่น ๆ เมื่อใกล้จะตายจะออกดอกติดผล (กรณีไม่มีอิทธิพลจากปุ๋ยเคมีที่ใส่ผิดสูตร)

17. ยางตาสอยมีผลทำให้ยางออกดอกอย่างไร (สก.ย.บึงกาฬ)
ตอบ แผ่นตาที่ได้จากต้นเจริญเติบโตและและออกดอกผสมพันธุ์ ย่อมมีฮอร์โมนที่ทำให้ต้นยางชำถุงออกดอกได้

18. ยางอายุ 1 ปี ไม่แทงยอด ยอดยางสั้นมาก ประมาณ 1 ซม. (สก.ย.สกลนคร)
ตอบ สภาพแห้งแล้งทำให้ยางแคระแกรน

19. ยางอายุ 2-3 ปี เปลือกตายบริเวณตาติดกับต้นเดิม 4-5 ซม. (สก.ย.สกลนคร)
ตอบ ช่วยตรวจสอบว่าเป็นอาการไหม้จากแสงแดดหรือไม่

5. พืชแซมยาง
1. ปลูกมันสำปะหลังแซมยาง ยางแคระแกรน (สก.ย. หนองคาย)
2. ปลูกพืชแซมยางถี่เกินไป 5-6 ร่อง ชิดแถวยางยางไม่โต (สก.ย.อุบลราชธานี)
3. ปลูกยางแซมมันสำปะหลัง (สก.ย.ชัยภูมิ)
ตอบ มันสำปะหลังปลูกร่วมกับยางพาราได้ แต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัด คือ 1. ระยะห่างระหว่างแถวยางกับพืชแซม อย่างน้อย 1.5-2.0 เมตร 2. ระยะระหว่างแถวยาง 7 เมตร ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 4-5 แถว และ ระยะระหว่างแถวยาง 6 เมตร ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 3-4 แถว

4. ต้นยางในโครงการปี 2547-48 ตายเกษตรกรปลูกยูคาลิปตัสแทน (สก.ย.สกลนคร)
ตอบ สภาพพื้นที่ตรงนั้นและพฤติกรรมของเจ้าของสวนยาง น่าจะเหมาะสมกับยูคาลิปตัสมากกว่า

5. ปลูกกล้วยแซมยาง ทำให้สวนยางชุ่มชื้น (สก.ย.ชัยภูมิ)
ตอบ การปลูกกล้วยแซมในระหว่างแถวยาง ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดิน และป้องกันการเกิดอาการไหม้จากแสงแดด

6. พืชแซมยาง เช่น ข้าวโพค ใส่ปุ๋ยยูเรีย ต้นยางสูงชะลูด จะทำให้ระยะเวลาเปิดกรีดต้นยางยืดออกไปหรือไม่ (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ ธาตุอาหารไม่สมดุลย์ถูกกระตุ้นให้เจริญทางความสูงมากกว่าขยายขนาดของลำต้น ผู้ถามน่าจะทราบคำตอบแล้ว ยางต้องการธาตุอาหารทุกตัว N P K

6. พันธุ์ยาง
1. ต้นยางพันธุ์ RRIM 600 ยอดดำ ที่จริงแล้วคือยางพันธุ์อะไร เหมาะสมหรือไม่ (สก.ย.สกลนคร)
ตอบ มีหลายแนวคิด 1. จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญด้านจำแนกพันธุ์ยาง คือ พันธุ์ RRIM 600 นั่นแหละ 2. หรืออาจเป็นยางพันธุ์อื่น เช่น พวกตระกูล PB ซึ่งเป็นพ่อ-แม่ของพันธุ์ RRIM 600 จึงดูลักษณะทางสัณฐานวิทยาใกล้เคียงกันมาก อย่างไรก็ตามไม่ควรซื้อเพราะต้นพันธุ์ราคาแพง

2. ยางชำถุงไม่ได้คุณภาพ เป็นยางปนทั้ง สว.ย. 251 และ RRIM 600 (สก.ย.นครพนม)
ตอบ ทั้ง 2 พันธุ์ เป็นยางพันธุ์ดีชั้นหนึ่ง จึงไม่น่าวิตกกังวล ที่น่ากังวลคือพันธุ์ปนที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากต้นพันธุ์ที่เจริญจากแผ่นตาตาย เหลือต้นที่เจริญจากต้นตอพื้นเมืองเดิม

3. พันธุ์ KT 311 ของนายขำ เป็นอย่างไร (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ เป็นพันธุ์ที่พยายามโฆกษณามาเกือบสิบปีแล้ว หากยางพันธุ์ดังกล่าวดีจริง แพร่กระจายแบบปากต่อปากแล้ว

4. พันธุ์ สว.ย. 251 เกิดอาการเปลือกแห้งมากน้อยเพียงใด (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ สรีรวิทยาของพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มักจะไม่ทนกับระบบกรีดถี่ การกรีดสองวันหยุดกรีดหนึ่งวันน่าจะไม่เหมาะสมกับยางพันธุ์นี้ ควรลดความถี่ของการกรีดยางเป็นกรีดวันว้นวัน
7. อื่น ๆ
1. เกษตรกรในจังหวัด เช่น ที่ อ. บ้านม่วงทำสวนยางแบบเลื่อนลอย (สก.ย.สกลนคร)
2. เกษตรกรขาดความรู้ (สก.ย.ชัยภูมิ)
ตอบ เกษตรกรยังขาดความรู้ทางด้านยางพารามากเนื่องจากเป็นพืชใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านนี้จะได้ช่วยเหลือเกษตรกร

ยางหลังเปิดกรีด
1. ยางเปิดกรีดต้นเล็ก
1. เกษตรกรเปิดกรีดยางเร็วกว่ากำหนด ลำต้นต่ำกว่าขนาดมาตรฐาน (สก.ย. บึงกาฬ)
2. ยางอายุ 10 ปี ขนาดเส้นรอบต้นเพียง 38 ซม. จะยึดขนาดเส้นรอบลำต้นหรืออายุยางเป็นหลักในการเปิดกรีด กรณีเช่นนี้จะทำอย่างไร (สก.ย.หนองบัวลำภู)
3. กรีดยางก่อนกำหนด ยางอายุ 4 ปี เส้นรอบลำต้น 35 ซม. แบ่งรอยกรีดครึ่งลำต้นและหนึ่งในสามของลำต้น (สก.ย. บึงกาฬ)
4. เกษตรกรกรีดยางต้นเล็ก ประวัติปลูกมันสำปะหลังติดต่อกันเป็นเวลานาน (สก.ย. บึงกาฬ)
5. เกษตรกรเปิดกรีดต้นยางก่อนกำหนด มักใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 (สก.ย.บึงกาฬ)
6. กรีดบาดหน้ายาง ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 (สก.ย.บึงกาฬ)
7. เปิดกรีดยางต้นเล็กหน้ากรีดยางเสียหาย อายุการกรีดสั้น (สก.ย. มุกดาหาร)
8. เกษตรกรเปิดกรีดที่ระดับต่ำโคนต้น (สก.ย. บึงกาฬ)
ตอบ ข้อเสียของการกรีดยางต้นเล็ก วิทยากรได้บรรยายไปแล้ว

2. การกรีดยางและการดูแลรักษา
1. เกษตรกรกรีดยางถี่ 2-3 วันเว้นหนึ่งวัน และมีปัญหาไม่ใส่ปุ๋ยเคมี อ้างว่าปุ๋ยราคาแพง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์แทน พื้นที่เฉลี่ย 5-20 ไร่ (สก.ย. หนองคาย)
ตอบ ทุกครั้งที่กรีดยาง ต้นยางต้องการธาตุอาหารเพื่อมาชดเชยการผลิตน้ำยาง

2. เกษตรกรคิดว่าต้นยางอายุ 7-8 ปี เปิดกรีดยางได้แล้ว การเร่งปุ๋ยช่วยให้ต้นยางโต อายุกับขนาดของต้นมีผลต่อผลผลิตยางและความหนาเปลือกหรือไม่ (สก.ย.อุบลราชธานี)
ตอบ ในสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ภาคใต้กรีดยางที่อายุ 5-6 ปี การเร่งให้ต้นยางเจริญเติบโตเร็ว โดยการใส่ปุ๋ยอย่างเดียวไม่น่าประสบความสำเร็จ เพราะประสิทธิภาพในการใช้ธาตุอาหารของต้นยางและน้ำ ความชื้นในดินช่วยในการเคลื่อนย้ายธาตุอาหาร ดังนั้นคิดว่าเกษตรกรน่าจะรดน้ำด้วยยางถึงโตดี สำหรับขนาดของต้นมีผลต่อผลผลิตยาง องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น คือ ความยาวของรอยกรีดยาง ความหนาของเปลือกยางเป็นส่วนที่มีท่อน้ำยางมาก ขึ้นอยู่กับว่าการเร่งการเจริญเติบโตของต้นยางเพิ่มทั้งน้ำและปุ๋ยหรือไม่ เพราะทั้งสองปัจจัยสำคัญต่อเซลล์พืช ดังนั้นความหนาเปลือกจึงสมบูรณ์เพียงพอในการกรีดยาง

3. ยางเปิดกรีด ใส่ปุ๋ยสูตร 30-5-18 หรือ 29-5-18 ใบมีขนาดเล็กลง ถามว่าพื้นที่ใบที่เล็กลงมีผลต่อผลผลิตหรือไม่ (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ ปุ๋ยมีธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยบำรุงต้นและใบยาง ปกติยางใหญ่ที่กรีดแล้วจะมีจำนวนใบมากขึ้น และขนาดของใบยางเล็กลง จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับปุ๋ยที่ใส่ ส่วนคำถามที่ว่าพื้นที่ใบที่เล็กลงมีผลต่อผลผลิตหรือไม่ อย่างที่บอกใบยางเล็กลง แต่ก็ชดเชยด้วยจำนวนใบที่มากขึ้น

4. การเกิดอาการเปลือกแห้ง
1. บริษัทเอกชนแนะให้เกษตรกรใช้ยาช่วยฟื้นฟูอาการเปลือกแห้งเช่น ปุ๋ยชีวภาพ (สก.ย. มุกดาหาร)
2. ต้นยางเปิดกรีดแล้ว กรีดยางไม่ได้มาตรฐาน ระบบกรีดกรีดถี่เกินไป กรีดสองวันหยุดวัน เกิดอาการโรคเปลือกแห้งน้ำยางไม่ไหล (สก.ย.อุบลราชธานี)
ตอบ ขนาดของยางต้นเล็ก ระบบกรีด ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความชื้นดิน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง การใช้ยาช่วยฟื้นฟูอาการเปลือกแห้ง เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทเอกชน ส่วนมากที่บอกว่าอาการเปลือกแห้งหาย เนื่องจากต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้งแบบไม่ถาวร ดังนั้นการหยุดพักกรีดช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือการเปลี่ยนรอยกรีดไปกรีดที่อื่น ทำให้ได้ผลผลิตน้ำยาง

5. การทำยางก้นถ้วย
1. ทำยางก้นถ้วยมาก ทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง (สก.ย.บึงกาฬ)
2. ยางเกิดอาการเปลือกแห้ง เกษตรกรใช้กรดฟอร์มิค 90% (สก.ย.นครพนม)
3. ทำยางก้นถ้วย มีปัญหาไอกรด คว่ำถ้วยกรดไหลจากถ้วยลงโคนต้น ทำให้ต้นยางเกิดอาการเปลือก (สก.ย.นครพนม)
4. ทำยางก้นถ้วย ใช้กรดซับฟูริด มีผลต่อต้นยางและคนอย่างไร (สก.ย.นครพนม)
5. ผลกระทบของน้ำกรด ในการทำยางก้นถ้วย (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ งานวิจัยของวิทยากรทุกการทดลองเก็บผลผลิตเป็นยางก้อนทุกครั้งกรีด โดยใช้กรดฟอร์มิดติดต่อกันมากกว่า 7 ปี จึงยืนยันว่าการทำยางก้นถ้วยไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ยางเกิดอาการเปลือกแห้ง แต่ในสวนยางของเกษตรกรเกิดปัญหาเนื่องจากใช้กรดซัลฟูริด เป็นกรดแก่ แม้แต่ไอกรดหรือน้ำซีรัมที่ราดโคนต้นยางเมื่อคว่ำถ้วยจึงมีผลกระทบกับต้นยางอย่างเห็นได้ชัด วิธีแก้ไขต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกษตรกรหันไปใช้กรดฟอร์มิค

6. โรคยาง
1. ยางอายุ 9-10 ปี เป็นโรคราสีชมพู ช่วงปลายฤดูฝน-ต้นหนาว (ตค.-พย.) พบบริเวณคาคบ ยอด ของต้นที่อยู่บริเวณกลางแปลงยาง คิดว่าลมไม่ถ่ายเท ได้แนะนำให้ขูดเปลือกบริเวณแผล หรือตัดแต่งกิ่งบริเวณคาคบ (สก.ย. บึงกาฬ)
ตอบ ถูกต้อง
7. การทำยางแผ่น
1. ดินที่ อ. ภูสิงห์ เนื้อดินเป็นดินทราย กลัวว่าอนาคตในการทำยางแผ่นจะมีปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ ทำยางก้นถ้วยเหมาะสมกับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำสะอาดในการทำยางแผ่น
8. ราคายาง
1. กังวลเรื่องราคายางในอนาคต อยากทราบว่า carbon credit ช่วยเพิ่มรายได้แก่เจ้าของสวนยางได้หรือไม่ (สก.ย. ศรีสะเกษ)
ตอบ ขณะนี้หลายๆ ประเทศช่วยกันรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน แต่ยังไม่สำเร็จเพราะประเทศมหาอำนาจ เช่น อเมริกา จีน ซึ่งผู้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมภาคี จึงยังไม่มีผลในการเพิ่มรายได้เจ้าของสวนยางในขณะนี้

7. อื่น ๆ
1. แรงงานกรีดยางในพื้นที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร ชาวสวนรายใหญ่มีปัญหาเรื่องการอบรมฝีมือการกรีดยาง (สก.ย. ฉะเชิงเทรา)
2. DCA คืออะไร เข้าใจว่ากรีดยางทุกวัน (สก.ย.นครพนม)
3. การกรีดยาง 2 หน้า อยากทราบรายละเอียด ผลกระทบกับต้นยาง งานวิจัยถึงไหนแล้ว (สก.ย.บึงกาฬ)
ตอบ บรรยายไปแล้ว
สรุป

การฝึกอบรม รุ่นที่ 1 วิทยากรมุ่งให้เจ้าหน้าที่ สก.ย.ใหม่ ถามคำถาม จึงมีคำถามน้อยกว่า รุ่นที่ 2 ที่มุ่งให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเล่าถึงปัญหาที่พบในการปฏิบัติงานทุกคน ปัญหาที่พบเป็นหลัก คือ เรื่องการบำรุงรักษาต้นยาง ได้แก่ การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การตัดแต่งกิ่งสร้างทรงพุ่ม การเกิดอาการผิดปกติของต้นยางทั้งเกิดจากเชื้อโรคและสภาพแวดล้อม เช่น ความเสียหายจากความแห้งแล้ง ลูกเห็บ ลม พายุ เป็นต้น ศัตรูพืช ได้แก่ ตัวตุ่น เพลี้ยหอย และหนอนทราย เป็นต้น การดูแลรักษาสวนยางในช่วงฤดูแล้ง การป้องกันไฟไหม้สวนยางและการรักษา เป็นต้น ควรที่ฝ่ายฝึกอบรมของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางที่จะเร่งจัดหลักสูตรและควรเป็นหลักสูตรระยะยาว 5-7 วัน เพราะในแต่ละกรณีมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ควรให้เวลาเจ้าหน้าที่ได้ศึกษารายละเอียดแต่ละประเด็นอย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยางต่อไป
สำหรับเจ้าหน้ากองทุนฯ ทื่เป็นน้องใหม่ เวลาไปหาเกษตรกรไม่ต้องอายที่ไม่สามารถตอบปัญหาเกษตรกรได้ ให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า ไม่มีใครที่รู้ไปทุกเรื่อง แต่ของให้น้องใหม่ทำหน้าที่สืบค้นข้อมูล หรือทำหน้าที่เหมือนเจ้าหน้าอนามัยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น อาการไหนทีรักษาได้ก็รักษาไป หากอาการไหนเป็นเรื่องเฉพาะก็ให้ส่งต่อให้นักวิชาการเกษตรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เกษตรกรจะพอใจมากหากเราแบ่งรับแบ่งสู้ว่าขอนำเอาปัญหาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แล้วจะกลับไปตอบข้อข้องใจต่อไป สิ่งที่น้องใหม่ควรทำคือ
1. การซักถามรายละเอียดของอาการ ดังนี้
คำถาม ต้นยางตายมากเป็นเพราะอะไร
ข้อมูลพื้นฐานของผู้ถาม ให้ซักถามว่า
- ยางตายกี่ต้น จากพื้นที่ปลูกยางกี่ไร่
- ปลูกยางเดือนไหน ยางอายุเท่าไหร่
- ยางตายนานแล้วหรือยัง ระบุเดือนเพื่อได้ทราบฤดูกาล
- สภาพพื้นที่ที่ยางตายดินเป็นแบบไหน มีลูกรังหรือติดกับจอมปลวกหรือไม่ หรือน้ำท่วมขัง - -- เกษตรกรเองเคยพยายามแก้ไขปัญหามาก่อนหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร
2. การตรวจสภาพแปลงยาง
- ชื่อ ที่อยู่ของผู้ถามและที่ตั้งสวน
- สภาพพื้นที่ และความสะอาดของสวนยาง จากสายตาของเจ้าหน้าที่
- การเจริญเติบโตของต้นยาง การการวัดจริง จำนวน 50-100 ต้น/สวน
3. การถ่ายภาพประกอบ เพราะจะช่วยให้มองเห็นภาพที่ชัดเจน หลาย ๆ มุม
- ภาพสภาพกว้างๆ ของแปลงยาง
- ภาพเจาะให้เห็นถึงอาการผิดปกติของต้นยาง
ขอให้ส่งรายละเอียดมาที่
พิศมัย จันทุมา
ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา อ. สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 24160 โทร 038-136255-6
หรือส่ง E-mail:
pisamaichantuma@hotmail.com โทร 081-8383591
ขณะนี้วิทยากรกำลังทำ Blogger เพื่อให้สมาชิกพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านยางพารา เสร็จเมื่อไหร่จะส่งข่าวอีกครั้ง

อนึ่งวิทยากรไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาวิชา แต่ที่ตอบคำถามได้เพราะใช้ความรู้ทั้งจากประสบการณ์ในการทำงานและการศึกษาค้นคว้า ที่วิทยากรไม่ยอมตอบปัญหาหลังจากถามคำถามเนื่องจากวิทยากรอยากให้ผู้ถามได้คิดหาคำตอบและศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเองก่อน วิธีการนี้วิทยากรใช้กับเกษตรกรค่อนข้างได้ผล บางครั้งได้ยินเกษตรกรถกปัญหาทางวิชาการถึงแม้จะในวงเหล้า แต่ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีว่า ต่อไปเกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ แล้วเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ล่ะปรับเปลี่ยนทัศนคติตัวเองแล้วหรือยัง
********************************************************************************

วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การปลูกพืชคลุมดินซีรูเลียมให้ประสบผลสำเร็จ




การปลูกพืชคลุมดินซีรูเลียมให้ประสบผลสำเร็จ


เรื่อง/ภาพ : โกศล บุญคง




การปลูกยางพารานั้นจะประสบผลสำเร็จได้นอกจากจะต้องมีการเตรียมพื้นที่ การใช้พันธุ์ยางที่ดี และต้องบำรุงรักษาสวนยางอย่างสม่ำเสมอแล้ว การกำจัดวัชพืชก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมากและใช้ต้นทุนในอัตราสูง โดยเฉพาะสวนยางพาราในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งการกำจัดวัชพืชจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากพบว่าตั้งแต่เริ่มปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ปลูกยางพาราไม่ประสบผลสำเร็จเพราะสวนยางได้รับความเสียหายจากการถูกไฟไหม้เป็นจำนวนมาก ส่วนสาเหตุเนื่องจากเกษตรกรปราบวัชพืชก่อนเข้าฤดูแล้งไม่ดี และทำทางป้องกันไฟแคบเกินไปหรือกวาดเศษใบไม้ไม่หมด การปราบวัชพืชจึงเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเพราะจะต้องทำทุกปีตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเปิดกรีด โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าราคาสารปราบวัชพืช ค่าน้ำมัน ตลอดจนค่าแรงงานได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก
ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ทำการเกษตรได้ผ่านการปลูกพืชไร่มาอย่างยาวนาน ไม่มีการคืนธาตุอาหารคืนกลับสู่ดินเลย อีกทั้งมีการใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไป มีการไถพรวนทุกฤดูปลูกทำให้หน้าดินมีการชะล้างสูง และดินเสียสภาพโครงสร้างทำให้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
การปลูกพืชคลุมดินในตระกูลถั่วในสวนยางพาราเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินซึ่งได้จากการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และจากการย่อยสลายตัวของเศษซากพืชคลุมเป็นอินทรีย์วัตถุ เหล่านี้ เป็นผลทำให้การทำสวนยางสามารถได้รับผลผลิตเร็วขึ้นกว่าปกติ ประมาณ 6-12 เดือน เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง เพราะพืชคลุมดินตระกูลถั่วมีประโยชน์มากมายหลายด้าน คือ ช่วยป้องกันการชะล้างและการพังทะลายของดิน ควบคุมวัชพืช และจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการปลูกพืชคลุมดินพันธุ์ "ซีรูเลียม" จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว เนื่องจากให้เศษซากสูงทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่จำเป็นต้องไถกลบในแต่ละปี ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้มาก อีกทั้งเมล็ดเป็นที่ต้องการของตลาดสามารถจำหน่ายได้ในราคา 300-400 บาทต่อกิโลกรัม การดูแลรักษาสวนก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นต้นยางเจริญเติบโตได้ดีกว่าการไม่ปลูกพืชคลุม

ชื่อวิทยาศาสตร์(Scientific name)
ถั่วคลุมดินซีรูเลียมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calopogonium caeruleum (Benth.) Sauvalle
ชื่อพ้อง(Synonyms)
Calopogonium coeruleum (Benth.) Sauvalle Calopogonium coeruleum (Benth.) Sauvalle var. glabrescens (Benth.) Malme Calopogonium sericeum (Benth.) Chodat & Hassler Calopogonium sericeum (Benth.) Chodat & Hassler var. villicalyx Chodat & Hassler
Stenolobium caeruleum Benth.



ชื่อสามัญ(Common names)
ถั่วซีรูเลียมมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นดังนี้ bejuco culebra, bejuco de lavar, calopog"nio-perene, canela-araquan, chorreque, cip¢-araquan, cip¢-de-macaco, feijao-bravo, feijao-de-macaco, feijaozinho-da-mata, haba de burro, cama dulce.

ถิ่นกำเนิดและการกระจายตัว
ถั่วซีรูเลียมมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง( Central America) แถบประเทศเม็กซิโก( Mexico) อินดีส์ตะวันตก( West Indies) เขตร้อนตะวันออกตอนใต้ของอเมริกา( tropical South America) ไปจนถึงตอนใต้ของบราซิล( southern Brazil) ต่อมาก็มีการปลูกในออสเตรเลีย และแถบเอเชียตอนใต้ เช่นมาเลเซียและประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ซีรูเลียม(Calopogonium cearuleum (Benth.) Sauvalle ) เป็นพืชคลุมตระกูลถั่ว ประเภทเถาเลื้อยอายุข้ามปี ขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศในดินร่วนทรายและดินเหนียว ยกเว้นบนที่สูงเนื่องจากอากาศหนาวจัด ใบจะแห้ง ดอกและใบจะร่วง ลำต้น เลื้อยบนดินมีขนเห็นไม่ชัด ราก รากที่งอกจากเมล็ดจะเป็นรากแก้ว ส่วนของลำต้นที่สำผัสกับผิวดินจะแตกรากใกล้ข้อใบ เป็นชนิดรากฝอยเกาะยึดผิวดิน ช่วยตรึงในโตรเจนจากอากาศ ดอก สีม่วง ใบ มีสีเขียว เป็นมันค่อนข้างหนาคล้ายใบโพธิ์ เมล็ด มีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา น้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมมี 28,000 เมล็ดเป็นพืชคลุมที่ทนต่อโรคแลแมลง ทนต่อสภาพร่มเงาและความแห้งแล้ง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของซีรูเลียม
ดิน(Soil)
ถั่วซีรูเลียมสามารถปรับตัวได้ดีในดินเกือบทุกประเภท และเติบโตได้ในระดับ pH
ของดินต่ำถึงระดับ 4.00
สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัส
และปูนได้ดีแม้ในดินที่มีสภาพเป็นกรดและไม่ตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ย (acid infertile soils)

ความชื้น(Humidity)
สามารถปรับตัวได้ในเขตร้อนชื้นที่มีระดับปริมาณน้ำฝน 1,000-3,000 มิลิเมตรต่อปี อีกทั้งยังทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีฝนตกน้อยถึงระดับ 700 มิลิเมตรต่อปีนั้นคือทนแล้งกว่า
C. mucunoides and Pueraria phaseoloides

อุณหภูมิ(Temperature)
เติบโตได้ในเขตร้อนชื้นที่มีระดับอุณหภูมิสูงสุด 25 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 18 องศาเซลเซียส ในตอนกลางวัน และจะมีข้อจำกัดในการเจริญเติบโตที่ระดับอุณหภูมิสูงสุด 35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส

แสง(Light)
ทนร่มเงาได้ดี แต่จะให้ผลผลิตเมื่อได้รับแสง 60-100 เปอร์เซ็นต์
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียม
การวางแผนกำหนดช่วงระยะเวลาในการปลูกที่เหมาะสมก็มีความสำคัญ เพราะว่าในเขตพื้นที่ปลูกยางใหม่ มีช่วงฤดูฝนเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ถ้าปลูกล่าช้าแล้วจะทำให้การเลื้อยของเถาถั่วไม่ทันที่จะคลุมได้เต็มพื้นที่ก็เข้าสู่ช่วงแล้งเสียก่อนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต สู้วัชพืชไม่ได้จากการทดลอง และศึกษาจากการปลูกในพื้นที่จริงของเกษตรกร สามารถกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกได้ดังนี้
ระยะการเพาะต้นกล้า ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน
ระยะการปลูก ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนสิงหาคม
ระยะเจริญเติบโต ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
ระยะเริ่มออกดอกและติดฝัก ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์
ระยะฝักแก่และเก็บเกี่ยว ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตโดยเฉพาะช่วงเวลาการติดดอก ในแต่ละปีอาจจะเลื่อนช้าออกไปหรือเร็วขึ้นได้ตามช่วงแสงที่ต้นถั่วได้รับในแต่ละวัน นั้นคือถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็แล้วแต่ความหนาวจะมาเยือนเร็วหรือไม่นั่นเอง

ตารางแสดงช่วงเวลาการเจริญเติบโตออกดอก และติดฝักของพืชคลุมซีรูเลียม
เพาะกล้า ปลูก เจริญเติบโต เริ่มออกดอก ติดฝัก ฝักแก่และเก็บเกี่ยว


เม.ย พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค.

ข้อดี การปลูกพืชคลุมซีรูเลียม
ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้มากเนื่องจากพืชคลุมชนิดนี้เมื่อปลูกขึ้นแล้วจะช่วยควบคุมวัชพืชไม่ให้เกิดขึ้น ในฤดูแล้งก็ไม่ตายจึงไม่จำเป็นต้องไถสวนยางอีก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไถสวนยางได้มากปกติสวนยางโดยทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำเป็นจะต้องไถสวนยางเพื่อปราบวัชพืช อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี จนกว่าสวนยางจะเปิดกรีดได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 1,800 - 2,000 บาทต่อไร่ (คิดค่าจ้างไถครั้งละ 150 บาท/ไร่) แต่ถ้าเราปลูกพืชคลุมซีรูเลียมก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้
ต้นยางจะเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วกว่ากำหนด และให้น้ำยางมากกว่าสวนยางที่ไม่ปลูกพืชคลุมเนื่องจากสวนยางที่ปลูกพืชคลุมดินจะมีเศษซากของพืชคลุมช่วยเพิ่มธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ช่วยปรับสภาพดินให้กับดิน ดินจะโปร่ง


วิธีการปลูกและข้อเสนอแนะ
เมล็ดพืชคลุมชนิดนี้ในระยะแรกจะเจริญ เติบโตค่อนข้างช้า อาจจะเจริญเติบโตสู้วัชพืชไม่ได้จึงจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ให้ดี ควรจะไถพรวนและฉีดยาและคุมวัชพืชด้วยก่อนการปลูกพืชคลุม
แช่เมล็ดพืชคลุมด้วยน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 75 องศาเซลเซียส เวลา 12- 24 ชั่วโมง เทน้ำที่แช่ทิ้งแล้วห่อผ้าให้เมล็ดหมาดๆ แล้วจึงคลุกกับปุ๋ยหินฟอสเฟต(0-3-0) นำไปปลูกต้นฤดูฝน และควรปลูกให้หมดในแต่ละครั้ง แต่ถ้าใช้วิธีเพาะชำในถุงเพาะชำขนาด 2x4 นิ้ว ไว้ก่อนนำไปปลูกสามารถคัดเลือกเฉพาะเมล็ดที่อมน้ำและเปลือกนิ่มแล้ว โดยสังเกตได้จากเมล็ดมีขนาดพองโตขึ้นมาก นำไปหยอดในถุงชำ ถุงละ 2-3 เมล็ด ส่วนเมล็ดที่ยังแข็งอยู่ เรานำไปแช่น้ำอุ่นซ้ำโดยวิธีเดิมอีกรอบ จะได้เมล็ดพร้อมปลูกเพิ่มอีกมาก และเป็นการเพาะเมล็ดที่คุ้มค่ากับราคาเมล็ดที่ซื้อมาในราคาแพงอีกด้วย
ควรปลูกพืชคลุมห่างจากแถวยาง 2 เมตร ขึ้นไป และปลูกพืชคลุมเพียง 2-3 แถวโดยการปลูกเป็นหลุมห่างกันหลุมละ 50-75 เซนติเมตร ลึก 1-2 นิ้ว ใช้เมล็ดซีรูเลียม 2-3 เมล็ด/หลุม การปลูกตามวิธีนี้เมล็ดพืชคลุม 1 กิโลกรัมสามารถปลูกในสวนยางได้ประมาณ 4-5 ไร่
เมล็ดพืชคลุม ซีรูเลียม ราคากิโลกรัมละประมาณ 300 -450 บาท สามารถสอบถามจากสมาชิกที่ร่วมโครงการปลูกซีรูเลียมแล้วประสบผลสำเร็จ เช่นศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดชัยภูมิ
โทร. ๐-๔๔๘๑-๓๓๑๔ หรือ ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดสุโขทัย เป็นต้น
ระยะในการวางแถวปลูก
แถวต้นยางx----------------------------------- 7 เมตร -----------------------------x
x----2 ม.---x 0 x----1.5 ม.----x 0 x---1.5 ม.---x 0 x----2 ม.-----x ปลูกพืชคลุม 2-3 แถว
x----2 ม.--x 0 x-----1.5 ม.----x 0 x---1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม.---x
x ---2 ม.--x 0 x-----1.5 ม.----x 0 x---1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม---x
x----------------------------------- 7 เมตร --------------------------------x


การตัดแต่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต

ไถตัดเถาถั่วที่เหี่ยวแห้งกลบเป็นปุ๋ยและเป็นการป้องกันเป็นเชื้อไฟในฤดูแล้ง โดยต้องไม่ไถให้ถูกบริเวณโคนต้นของถั่ว เพื่อต้นจะได้แตกแขนงเจริญเติบโตต่อไปในฤดูฝนที่มาถึง

เอกสารอ้างอิง :
Calopogonium caeruleum [URL: http : //www.tropicalforages.info/key/Forages/Media/Html/Calopogonium_caeruleum.htm]
พัชรินทร์ วณิชย์อนันตกุล,วิมลรัตน์ ศุกรินทร์,สุธาชีพ ศุภเกสรและเกริกชัย ธนรักษ์,รายงานวิจัยการบังคับการออกดอกและติดเมล็ดของพืชคลุมซีรูเลียมด้วยสารการเจริญเติบโตพืช [ URL : http ://www.doa.go.thweb-itclibrarylibararyplant_protect46677.pdf]
วิชิต สุวรรณปรีชา, “ซีรูเลียมพืชคลุมที่ทนแล้ง” เอกสารวิชาการแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง.

ว่าด้วยคำนำหน้านาม "นางสาว" ของหญิงที่เคยสมรสมาแล้ว


ฮู้บ่หญิงที่เคยสมรสแล้วสามารถใช้ “นางสาว” ได้

โดย โกศล บุญคง

วันนี้เล่าเรื่องกฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่ คือการที่ให้สิทธิผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชายอีกสักครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยผลักดันให้ ผู้หญิงสามารถข่มขืนผู้ชายได้ เท่าเทียมกับที่ผู้ชายเคยข่มขืนผู้หญิงอยู่ฝ่ายเดียวมานานแสนนาน คือตามพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 ได้แก้ไขถ้อยคำประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 276 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ.......ต้องระวางโทษจำคุก....” ซึ่งแต่เดิมบัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตน...”โดยในกฎหมายใหม่ตัดคำว่า “หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตน”ออกไป ใช้คำว่า “ผู้อื่น” แทนและมาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามต้องระวางโทษจำคุก....” ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วนะว่าผู้หญิงสามารถมีความผิดฐานข่มขืนผู้ชายได้จริงๆ ไม่ได้โม้ตามสำนวนของคุณสมรักษ์เค้า และต่อไปนี้การที่ผู้ชายข่มขืนภรรยาตนเองก็เป็นความผิดถ้าภรรยาไม่ยินยอมเพียงแต่ว่าถ้าคู่สามีภรรยายังตกลงปลงใจจะอยู่ร่วมใช้ชีวิตคู่กันต่อไปก็ให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ตามมาตรา 276 วรรคท้าย ขอเตือนคุณผู้ชายทั้งหลายพึงระวังไว้ด้วย เอาละพูดเรื่องสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายมาเสียยืดยาว มาวกเข้าเรื่องการที่ผู้หญิงหม้าย หรือที่ทางภาคอีสานบ้านเฮาเรียกว่า “แม่ห้าง” สามารถขอใช้คำนำหน้านามว่านางสาวได้กันเลยดีกว่า ด้วย พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะทำให้หญิงซึ่งแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถที่จะเลือกใช้ 'นาง 'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ และหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือประมาณวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จึงขอให้ร้องเพลงรออีกสักนิดหนึ่งนะจ๊ะอย่าทำเป็นใจร้อนไป
สำหรับท่านผู้ชายที่อาจจะรู้สึกแปลกๆ หรือท่านสุภาพสตรีบางท่านที่รู้สึกยังไม่คุ้นชินกับการกลับไปเป็นสาวอีกครั้งหนึ่ง ก็มาทราบเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้กันสักนิดหนึ่ง คือว่า โดยที่การใช้คำนำหน้านามของหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วต้องใช้คำนำหน้านามว่า'นาง'คำเดียว โดยมิอาจเลือกได้ตามความสมัครใจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อหญิงดังกล่าวในการดำรงชีวิตประจำวันอาทิ การประกอบอาชีพ การศึกษาของบุตร และการทำนิติกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้การใช้คำนำหน้านามในลักษณะดังกล่าวของหญิงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ สมควรกำหนดให้หญิงมีทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจซึ่งเป็นการสอดคล้องกับการเลือกใช้นามสกุลตามกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล

สำหรับรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้มีดังนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑'

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบการใช้คำนำหน้านามหญิงเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”

มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง' หรือ 'นางสาว'ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามตามพระราชบัญญัตินี้