วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ปัญหาราคายางตกต่ำ



มูลเหตุของปัญหา
· สหรัฐอเมริกา ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจาก “ฟองสบู่แตก” เกิดขาดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ เกิดการว่างงาน การลงทุนลดลง โรงงานลดปริมาณการผลิต การจับจ่ายใช้สอยลดลง ซึ่งจะค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก สหรัฐฯเป็นประเทศใหญ่ ขนาดของการค้าขายกับต่างประเทศมีมากมายมหาศาลทั่วโลกทั้งในฐานะผู้ส่งออกและนำเข้า ( ไทยส่งออกไปสหรัฐฯมากที่สุด ) ปัญหานี้จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก เหมือนคลื่นยักษ์ซึนามิ
· อุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นคาดว่าจะลดลงประมาณ 10-15% และคาดว่าจะเกิดกับอุตสาหกรรมยางในภูมิภาคอื่นด้วยเนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางเกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกและสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองผู้คนจะลดความเสี่ยงด้วยการชะลอการซื้อไปก่อน ดังนั้นปริมาณความต้องการใช้ยางธรรมชาติจึงลดลง ( อุปสงค์ลดลง ) และราคาน้ำมันก็ลดลงเช่นกันจึงเป็นแรงบวกให้ราคายางลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนตุลาคม 2551- ( จะรู้สึกว่าราคายางลงเร็วและแรงเพราะเมื่อก่อนราคายางขึ้นไปสูงเกินจริงเนื่องจากนักเกร็งกำไรผละจากการเกร็งกำไรในตลาดเงิน และตลาดทุน เข้าไปเกร็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ( commodity market ) โดยเฉพาะยาง และน้ำมันกันอย่างหนัก ราคายางจึงวิ่งขึ้นไปแตะที่100 บาทเศษ เมื่อการเก็งกำไรดังกล่าวคลายตัว ราคายางก็เริ่มปรับตัวลดลงและลดลงมากขึ้นอีกเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยดังที่กล่าวมาข้างต้น ...ดังนั้นจึงเกิดเร็วและแรง
ข้อเท็จจริง
· ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯที่เกิดคราวนี้กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว
· ปัญหาเศรษฐกิจเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วจึงเป็นไปตามธรรมชาติ/วัฏจักร และเหตุปัจจัย ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ที่จะอยู่กับมันมาแล้วในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านบทเรียนทางสาขาเศรษฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังช่วยกันแก้ไขอยู่
· การลดปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมยางโลกเป็นเหตุการณ์ใช้ช่วงนี้(ไม่รู้จะเป็นต่อไปอีกนานเท่าใด...อยู่ที่ว่า “ ความมั่นใจจะเกิดมีเหมือนเดิมได้เร็ว หรือช้าแค่ไหน” ) ซึ่งความต้องการที่หายไปดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าโรงงานอุตสาหกรรมยางต่างๆในโลกที่ลงทุนไปอย่างมากเป็น100-10,000 ล้านบาทจะมลายหายไปด้วย.ก็เปล่า ? โรงงานก็ยังคงอยู่ เมื่อคำสั่งซื้อสินค้าลดลง โรงงานจึงต้องลดปริมาณการผลิตลง..ดังนั้นภาวการณ์เช่นนี้จึงเป็นเพียงการรอเวลาให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเช่นอดีต..... แล้วทำการผลิตเช่นเดิมต่อไป เพราะ “คน” ไม่เคยหมดความต้องการ....และความอยาก โดยเฉพาะความหรูหราและความสะดวกสบาย.....และยางก็ยังคงเป็นตัวชี้วัดความศิวิไลซ์ของโลก ต่อไปในอนาคต
· ภาคการผลิตระดับต้นน้ำที่เป็นสวนยางและครัวเรือนได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอนเนื่องจากราคายางตกต่ำทำให้รายได้ลดลง แต่ราคาที่เป็นอยู่วันนี้ ( 16 ตุลาคม 2551 ) ก็ยังสูงเป็นสองเท่าของราคายางในช่วงที่ประเทศไทยเจอ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เพราะช่วงนั้นราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อกิโลกรัม ก็เคยผ่านกันมาแล้ว วันนี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นประมาณ35 - 40 บาท ( วันนี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการใดออกมาแจ้งว่าเป็นราคาเท่าใด ...) ดังนั้นเมื่อเหตุเกิดแล้วก็ต้องทำใจและยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งจะหนักจะเบาเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับวิถีการผลิตและวิถีการใช้ชีวิตของเจ้าของสวนยางและแรงงานกรีดยางแต่ละคน ว่าเป็นอย่างไร
“ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรในยามนี้ควรผลิตและดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นดีที่สุด ”

โอกาสและความหวัง
· เจ้าของสวนยาง แรงงานกรีดยางและทุกภาคส่วนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกครั้งนี้และปรับตัวให้ได้โดยเร็ว
· ล่าสุด รมว.กษ.กำลังพิจารณาว่าควรจะใช้กลไกบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศ ( ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม ) ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้าว่าเป็นไรหลังจากมีการหารือกับประเทศต่างๆเหล่านี้แล้ว ? ชั้นนี้แปลว่ารัฐบาลเข้ามาดูแลปัญหาราคาอย่างตกต่ำอย่างใกล้ชิดแล้ว ซึ่งหากมีนโยบายการแก้ไขปัญหาอย่างไร สกย./สกย.จ.นครราชสีมาก็พร้อมปฏิบัติทันที แต่ช่วงนี้ราคาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาด ซึ่งมีทั้งขึ้นและลง จึงขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย สกย.จ.นครราชสีมา “ศูนย์บริการชาวสวนยาง ” จะเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสาร
สรุป รัฐบาลดูแลเอาใจใส่ สกย.พร้อมปฏิบัติ
· เจ้าของสวนยางและแรงงานกรีดยางควรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนการผลิตไปสู่เกษตรกรรมทางเลือกและเกษตรอินทรีย์ ด้วยการยอมรับและเข้าใจปัญหาร่วมกันและช่วยเหลือเอื้อเฟือกันมากขึ้นกว่าเดิม

แนวปฏิบัติที่ควรทำสำหรับเจ้าของสวนยาง
· ลด/งดใช้ปุ๋ยเคมีโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทน และใช้วัสดุคลุมดินบริเวณโค่นต้นยางคำแนะนำของพนักงาน
· ใช้แรงงานของตนเองในการทำงานในสวนให้มากขึ้นกว่าเดิม
· งดการกรีดยางหากทำได้ โดยเฉพาะสวนยางที่กรีดต้นยางขนาดเล็กกว่า 45ซม. ( tapping holiday ) ซึ่งจะทำให้ต้นยางได้พักตัว และมีความสมบูรณ์มากขึ้น น้ำยางก็จะได้มากขึ้นเมื่อกรีดครั้งใหม่ในช่วงที่ราคายางสูงขึ้นกว่านี้ การงดกรีดพร้อมกันทำให้ผลผลิตยางในตลาดลดลง หากมีมากพอจะสามารถเป็นแรงต้านการลดลงของราคาได้ จึงควรทำเป็นกลุ่มๆทุกระดับ
· หากยังจำเป็นต้องกรีดยางต่อและไม่สามารถงดกรีดได้ โดยเฉพาะหากขายเป็นน้ำยางสด ควรงดขาย เพราะราคาน้ำยางสดลดลงมากและบางพื้นที่พ่อค้าไม่รับซื้อเพราะต้องการลดความเสี่ยงเนื่องจากความผันผวนด้านราคา จึงควรหันไปทำเป็นยางแผ่นชั้นดีและเก็บรักษาไว้ในโรงเรือนที่เหมาะสมให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ หากเห็นว่าราคายางเหมาะสมจึงค่อยขาย และควรขายผ่านกลุ่ม/สหกรณ์ฯเป็นดีที่สุด ในยามนี้ “สามัคคีคือพลัง” การชะลอการขายทำให้ผลผลิตยางในตลาดลดลงและช่วยผลักดันให้ราคายางเข้าจุดที่เหมาะสมได้

เรียน ห.สวป,ผอ.ศปจ.ชัยภูมิและพนักงานภาคสนามทุกคน

เอกสารฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อให้ใช้เป็นกรอบการทำความเข้าใจกับเกษตรกรชาวสวนยางใน 2 วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
2. เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความหวังและมีกำลังใจในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค

สุรพล มุละดา
ผอ.สกย.จ.นม.

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ซับไพรม์-น้ำมันลามส่งออกยาง ราคาร่วงลูกค้าพลิ้วรับมอบสินค้า



วิกฤติซับไพรม์ผนวกราคาน้ำมันผันผวนทิศทางขาลง จ่อกระทบอุตสาหกรรมยางพาราไทย ลูกค้าใหม่ชะลอซื้อลูกค้าเก่าบิดพลิ้วรับมอบสินค้า แถมยื้อจ่ายเงิน ผู้ประกอบการเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด แต่ยันยังไม่กระทบถึงลูกค้าในประเทศและชาวสวนยาง
นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากวิกฤติซับไพรม์ กระทั่งกระทบถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เวลานี้ยังไม่กระทบอุตสาหกรรมส่งออกยางพาราของไทยโดยตรง แต่เริ่มส่งผลกระทบทางอ้อมแล้ว กล่าวคือไทยส่งออกยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยางรถยนต์ซึ่งปัจจุบันจะส่งไปยังประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือโรงงานยางรถยนต์ในจีนสต๊อกเต็ม เพราะสหรัฐฯชะลอซื้อ จึงทำให้ลูกค้าจากจีนชะลอสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยเข้าไปผลิตเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้โรงงานที่สั่งซื้อวัตถุดิบเข้าไปแล้วแต่ยังขายผลิตภัณฑ์ยางเช่นยางล้อไม่ได้ ก็จะยังไม่ชำระค่ายางแผ่นรมควัน ยางแท่งให้กับผู้ส่งออกของไทย มีการดึงเวลาจ่ายนานขึ้นเช่น 2-3 เดือน บางรายก็ขอลดราคาลงโดยอ้างว่าเวลานี้ราคายางลงแล้ว
"เวลานี้อุตสาหกรรมส่งออกยางของไทยเริ่มได้รับผลกระทบ 2 ด้านคือลูกค้าจากจีนชะลอซื้อวัตถุดิบเพราะสต๊อกยางรถยนต์เต็ม เนื่องจากสหรัฐฯชะลอซื้อยางรถยนต์จากจีน เพราะเศรษฐกิจในประเทศถดถอยกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง อีกด้านหนึ่ง เกิดจากราคาน้ำมันที่ผันผวนในทิศทางขาลง ทำให้ราคายางอ่อนตัวลง ผู้ซื้อจึงชะลอซื้อเพราะรอดูภาวะราคาว่าจะลงต่ำสุดเมื่อใด เมื่อราคายังผันผวนอยู่เขาก็จะยังไม่ซื้อ ส่วนคนที่ซื้อไปในราคาสูงขอลดราคาลงก็มี เท่ากับว่าราคายางเวลานี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของกำลังซื้อในอเมริกาและราคาน้ำมัน"นายหลักชัยกล่าวและว่า
ขณะนี้โรงงานยางรถยนต์ในจีนต้องลดกำลังการผลิตลงบางแห่งลดลงถึง 70% แล้ว เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ดี ขายของไม่ได้ เมื่อขายของไม่ออกก็ไม่อยากนำเงินสดมาชำระ จึงทำให้ผู้ส่งออกยางของไทยได้รับเงินช้า ผู้ซื้อบางรายไม่รับสินค้าเลยก็มี
อย่างไรก็ดีนายหลักชัยกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังไม่ได้กระทบถึงผู้ประกอบการในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าคนกลางหรือชาวสวนยาง โดยโรงงานยังมีการรับซื้อยางตามปกติส่วนราคาจะเป็นไปตามภาวะตลาด ดีมานด์ซัพพลาย แม้ว่าโรงงานจะได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อต่างประเทศล่าช้าแต่ยังไม่ถึงขั้นบิดพลิ้วหรือจ่ายเงินให้กับพ่อค้าคนกลางหรือชาวสวนล่าช้าแต่อย่างใด
แหล่งข่าวในวงการยางพาราอีกราย กล่าวเพิ่มเติมกรณีที่มีข่าวโรงงานยางขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จ่ายเงินให้กับพ่อค้าคนกลางช้ากว่าปกติโดยอ้างปัญหาขาดสภาพคล่อง ว่า ณ เวลานี้โรงงานขนาดใหญ่ยังไม่เกิดปัญหาดังกล่าว ส่วนกรณีที่โรงงานบางแห่งจ่ายเงินเร็วและให้ราคาสูง โรงงานประเภทนี้เป็นกลุ่มโรงงานที่พ่อค้าคนกลางจะต้องระมัดระวังมากกว่าโรงงานขนาดใหญ่ เพราะโดยปกติการซื้อวัตถุดิบโรงงานขนาดใหญ่จะไม่ซื้อราคาสูง จะซื้อตามราคาตลาด และจ่ายเงินตามกลไกการซื้อขาย เพราะหากโรงงานไม่จ่ายเงิน พ่อค้าคนกลางจะไม่มีเงินไปซื้อยางจากชาวสวน โรงงานจะไม่มีวัตถุดิบเข้ามา หากโรงงานใดซื้อราคาสูงและจ่ายเงินเร็วโรงงานประเภทนั้นน่ากลัวปัญหาสภาพคล่องทางการเงินมากกว่า
นายชนะวงศ์ สมมุติ ประธานกลุ่มขายยางบ้านโพนงาม จังหวัดเลย กล่าวว่าราคายางมีความผันผวนทิศทางขาลง โดยกลุ่มขายยางบ้านโพนงามจะมีการเปิดประมูลขายยางเดือนละ 1 ครั้ง การประมูลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กันยายน ยางแผ่นดิบอยู่ที่กก.ละ 92 บาท แต่ปัจจุบันยางที่ชาวสวนนำไปขายให้กับพ่อค้าขายได้กก.ละ 87 บาท พ่อค้าให้เหตุผลว่าเป็นไปตามราคาน้ำมัน

จาก.. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 2-4 ตุลาคม 2551

ศก.ใต้เผชิญวิกฤต "ลุงแซม" 1-2 ปี กูรูแนะรัฐจับตาใกล้ชิด-ภาคอุตฯต้องปรับตัวสู้


ช่วงนี้ราคาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำอย่างหนัก โดยฌฉพาะยางพาราเราจึงมาดูแนววิเคราะห์ของผู้รู้กันว่าสาเหตุมาจากอะไร

แบงก์ชาติระดมสมองผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งต่อเศรษฐกิจในภาคใต้ ชี้ราคาน้ำมันและวิกฤตซับไพรม์ปะทุในสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกปั่นป่วน และอัตราการแลกเปลี่ยนเงินผันผวน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาชี้ จีน อินเดีย บราซิล และรัสเซียเร่งพัฒนาประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีความต้องการยานยนต์สูง ทำให้ยางพารายังเป็นที่ต้องการและราคาสูง แต่วิกฤต Lehman ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างน้อย 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน แนะภาคอุตสาหกรรมปรับตัวรับวิกฤตสหรัฐฯ พร้อมจี้ภาครัฐลงมาดูแลและช่วยเหลือ
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ จัดสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2551 โดยมีการเสวนาทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภาคใต้ ในปี 2552 ที่ โรงแรมเจ.บี. หาดใหญ่ จ.สงขลา
ดร.นิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2551 ราคายางพาราได้ถีบตัวสูงขึ้นถึง กิโลกรัมละ 100 บาท แพงที่สุดในรอบ 2 ปี ทำให้เกษตรหันมาทำสวนยางกันมากขึ้น ซึ่งในปีหนึ่งมีการผลิตยางพารามากกว่า 10 ล้านตัน
ด้านราคาสินค้ายางพาราในตลาดล่วงหน้าปี 2551 เมื่อเทียบกัน 3 ตลาดคือ AFET ประเทศไทย, TOCOM เมืองโตเกียว และ SICOM ประเทศสิงคโปร์ ราคายางพารายังอยู่ในระดับเดียวกันทั้งปี ซึ่งราคายางพาราในตลาดล่วงหน้าเป็นราคาเดียวกันกับตลาดจริง เพื่อใช้ประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา รักษารายได้หรือต้นทุนในอนาคตด้วยตนเอง ขณะเดียวกันยังสามารถเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนแก่ผู้ที่ต้องการผลตอบแทน จากความผันผวนของราคายางพาราอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาและความต้องการใช้ยางพารานั้นขึ้นอยู่

1. วิกฤตเศรษฐกิจ มีผลกระทบทางด้าน Demand ของการใช้รถ

2. ราคาน้ำมัน จากที่ปัจจุบันนั้นราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการใช้ยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์มากขึ้น และประเทศผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ เช่นจีนได้หันมาปลูกยางพาราเพื่อรองรับการใช้ในอนาคต นอกเหนือจากพึ่งพาการนำเข้าเพียงอย่างเดียว

3. ค่าของเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนก็มีผลกระทบต่อราคายางด้วย
ด้านนายไชยยศ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่หลายประเทศมีการพัฒนาเพื่อให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น จีน, อินเดีย, บราซิล และรัสเซีย จีนนั้นพัฒนาด้านการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานทางการลงทุน เพื่อเชิญชวนให้ต่างประเทศเข้าไปร่วมลงทุนมากขึ้น ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ มีการขยายตัวอย่างมากเพื่อรองรับความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออก
“กองทุนต่างๆ ทั่วโลกมองเห็นช่องทางในการลงทุนในธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการที่น้ำมันปรับราคาสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของไทย คือ ราคาเครื่องอุปโปคบริโภคสูงขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น และการขนส่งปรับราคาเพิ่มขึ้น ด้านยางพาราก็ได้ปรับราคาจาก 40 บาท/กก. ขึ้นไปถึง 100 บาท/กก. กว่า 80% ของพื้นที่ที่ปลูกยางพาราของประเทศไทยอยู่ในภาคใต้ ส่งผลให้เศรษฐกิจใต้ดีตามไปด้วย” นายไชยยศ กล่าวต่อและว่า
อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินของโลกทำให้เกิดหลุมดำ มีการล่มสลายของสถาบันการเงินของโลกในสหรัฐฯ ทำให้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่เกิดวิกฤตทางการเงินของโลก จากที่การส่งออกของประเทศไทยมีสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำมันแพงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งราคาน้ำมันคาดว่าจะยังแกว่งตัวอยู่ในระดับที่สูง เพราะความต้องการน้ำมันดิบของโลกยังเพิ่มขึ้น จากปี 2550 ที่ใช้น้ำมันไป 85.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2551ใช้น้ำมันไป 86.3 ล้านบาร์เรล/วัน และนักวิชาการได้คาดการณ์ว่าในปี 2552 ความต้องการน้ำมันดิบของโลกจะอยู่ที่ 87.3 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้นในปัจจุบัน มีอยู่ 2 ปัจจัยคือ การเก็งกำไรและความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว รวมทั้งปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน คือ กำลังการกลั่นที่จำกัด, ค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อก, ค่าวางท่อจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งจำหน่าย และค่าขุดเจาะน้ำมันดิบ แต่สาเหตุที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันนั้นมีความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากการซื้อขายล่วงหน้าต่างกัน
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานการณ์พลังงานในปี 2551 (มกราคม –กรกฎาคม ) ครึ่งปีแรก ประเทศไทยใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่า 1.035 ล้านล้านบาท ปริมาณการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในประเทศ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งแบ่งเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ออกเป็น 2 ส่วนคือ ไฟฟ้า 60% และน้ำมัน 40%
สำหรับสถานการณ์ปิโตรเลียมของประเทศไทยในปี 2550 จะพึ่งพิงการนำเข้ามากที่สุด ถึง 61% และปิโตรเลียมในประเทศ 38.6% ซึ่งอยู่ในรูปของการจัดหาน้ำมันดิบ ยอดการจัดหารวม 1,592.5 พันบาร์เรล/วัน เมื่อผ่านโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติแล้ว ก็จะนำออกจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น ก๊าซหุงต้ม, น้ำมันเบนซิน, ดีเซล, ยางมะตอย, น้ำมันดิบส่งออก, ผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมรถยนต์ ฯลฯ รวมยอดจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 1,210.6 พันบาร์เรล/วัน และส่งออก 195.9 พันบาร์เรล/วัน
“ด้านผลกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลกต่อประเทศไทย หากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้น 0.20 บาท/ลิตร ส่วนผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนคือ ถ้าเงินบาทแข็งขึ้นลดลง 1 บาท/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศก็จะลดลง 0.80 บาท/ลิตร ทั้งนี้หากน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 5 เหรียญ ราคาน้ำมันในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น 1 บาท” นายชวลิตกล่าวต่อและว่า
ผลกระทบจากการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันสูง คือ ต้องจ่ายแพงขึ้นในขณะที่ปริมาณเท่าเดิม ขาดดุลการค้า และมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน (ลดค่าเงิน) มีความผันผวน คือ ต้นทุนของสินค้าสูง และศักยภาพในการแข่งขันของประเทศลดลง รวมทั้งการเสี่ยงต่อการขาดแคลนจึงต้องมีการสำรองน้ำมันไว้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับยุทธศาสตร์พลังงานไทยในปัจจุบันและปี 2552 นายชวลิต กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้กำหนดแนวทางแก้ไขจากผลกระทบการพึ่งพิงน้ำมันสูงไว้ คือ 1. กระจายโครงสร้างการใช้เชื้อเพลิงให้หลากหลาย เช่น หันมาใช้พลังงานถ่านหิน/ลิกไนต์, แก๊สโซฮอล์, ไบโอดีเซล, พลังงานลม/แสงแดด และก๊าซชีวภาพ 2. สำรองน้ำมันตามกฎหมาย 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในภาคขนส่ง ต้องมีการพัฒนาระบบราง ส่งเสริมรถประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานทดแทนNGV เอทานอลและไบโอดีเซล ส่วนในภาคอุตสาหกรรมควรส่งเสริมอุปกรณ์และอาคารประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานทดแทนน้ำมัน เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน 4. พัฒนาพลังงานทดแทน เพิ่มสัดส่วนจาก 0.5% ในปี 2545 เป็น 10.3% ในปี 2554 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย และส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซิน 91 มาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 ทั้งหมด รถยนต์ E20 30,000 คันในปี 2551 เพิ่มเป็น 150,000 คัน ในปี 2554 และสัดส่วนในการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลดลงเหลือร้อยละ 3 ของการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทั้งหมด ส่วนการผลิตเอทานอลมีปริมาณสูงพอจะขยายไปสู่ E85 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 45 ราย กำลังผลิตรวม 12 ล้านลิตร/วัน
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของไบโอดีเซล เป็นเชื้อเพลิงที่กลั่นมาจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งในปี 2551-2555 จะมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ถึง 2.5 ล้านไร่ ความต้องการ B100 ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2548 ที่มี 0.0007 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นมาในปี 2551 เป็น 1.20 ล้านลิตร/วัน และคาดว่าในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นถึง 3.14 ล้านลิตร/วัน ส่วนราคาการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลในไทยนั้น กำหนดจากราคาที่ประเทศมาเลเซียบวก 3 และราคาดีเซลหน้าโรงกลั่น 24 บาท การปรับตัวในระยะยาวคือ ต้องมีการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่ให้มากขึ้น
พลังงานทดแทนที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ คือ ก๊าซ NGV ซึ่งเป้าหมายการขยายการใช้รถ NGV คือ 1. มุ่งขยายรถโดยสารมวลชนในเขต กทม.และปริมณฑลทั้งหมด (แท็กซี่และรถเมล์) 2. มุ่งขยายรถโดยสารระหว่างจังหวัด และรถบรรทุกหัวลากทั่วทุกภูมิภาค
สำหรับ จ.สงขลา สนับสนุนให้มีการส่งต่อก๊าซ NGV จากส่วนกลางไปยังทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนทางภาคใต้นั้นท่อก๊าซจากส่วนกลางได้กระจายมาถึงแค่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ยังมาไม่ถึงสงขลาก็เพราะสถานีแม่ที่ อ. จะนะนั้นยังก่อสร้างไม่เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามหากโครงการส่งต่อท่อก๊าซ NGV ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดของไทยได้นั้น จะทำให้สถานีลูกได้ใช้ก๊าซ NGV กันอย่างทั่วถึงและไม่ขาดแคลนตึงตัวมากขึ้น จึงต้องดึงเงินไปหาแหล่งลงทุนใหม่ คิดว่าวิกฤตครั้งนี้น่าจะมีอยู่ 1-2 ปี ไม่น่าจะฟื้นตัวได้ง่าย
ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถใช้ต้นทุนได้ในราคาต่ำ คือ

1. เจาะตลาดใหม่เพื่อกระจายสินค้าให้มากที่สุด ตลาดใหญ่ๆเช่น จีน, อินเดีย, บราซิล และรัสเซีย

2. ด้านการผลิต การบริหารจัดการ ทำให้สินค้ามีคุณภาพดีสม่ำเสมอ สอดคล้องไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากลหรือให้ใกล้เคียงที่สุด และ 3. สามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด (5 M)
นอกจากผู้ประกอบการต้องพัฒนาและดำเนินการเองแล้ว ยังต้องการการสนับสนุนและการส่งเสริมจากรัฐบาลด้วย รวมถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มคุณภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจะเป็นแนวทางที่ทำให้องค์กรนั้นสามารถอยู่รอดต่อไปได้

แหล่งอ้างอิงจาก.. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2551

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"เตือนภัย รูปแบบกลโกง โบรกเกอร์เถื่อน"


"เตือนภัย รูปแบบกลโกง โบรกเกอร์เถื่อน"

ฉวยโอกาสตลาดเอเฟทรุ่ง พุ่งตามราคาสินค้าเกษตรทั่วโลก โบรกเกอร์เถื่อนผุด สร้างภาพน่าเชื่อถือ ล่อใจโดยให้กำไรง่าย ๆ ลูกค้าหลงเชื่อ ลงเงินไปเพิ่ม ก็บ๊ายบายหนี...

สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) ขอเตือนภัยถึงกลโกงของพวกมิจฉาชีพ สืบเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประชาชนที่สนใจ จะเข้ามาลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นจำนวนมากขึ้น แต่ประชาชนบางส่วนนั้น ยังขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีการที่จะเข้ามาทำการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่ถูกต้อง จึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพสร้างอุบายกลโกงต่าง ๆ หลอกล่อประชาชนว่า ตนเป็นบริษัทนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า (โบรกเกอร์) ที่ถูกต้อง แต่ความเป็นจริงเป็น โบรกเกอร์เถื่อน
โบรกเกอร์เถื่อนมักจะอ้างว่า บริษัทของตนสามารถทำการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ โดยลงทุนสร้างภาพบริษัทให้ดูน่าเชื่อถือ ใช้ข้อมูลการลงทุนที่สามารถหาได้ทั่วไป มาอ้างอิงให้ดูสมจริง และ จูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าปกติมาก เช่น 2 เท่าตัวของเงินลงทุน ซึ่งวิธีการหาลูกค้าก็มักจะเริ่มจาก คนรู้จัก และเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีฐานะดี เช่น พ่อค้า ข้าราชการ (มักจะเป็นตามหัวเมืองต่างจังหวัด) โดยหลอกให้ตายใจด้วยการให้กำไรง่าย ๆ มาก ๆ ในตอนแรก และชักชวนให้นำเงินมาลงทุนเพิ่มอีก หลังจากนั้น ก็วางอุบายในการให้หาลูกค้าเพิ่ม ด้วยการบอกปากต่อปาก เมื่อมีลูกค้านำเงินมาลงทุนสักระยะหนึ่ง ก็ปิดกิจการหนี ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก
สำนักงาน ก.ส.ล. จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่า ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) นั้น เป็นตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่จัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และปัจจุบันโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องมีจำนวน 9 บริษัท โดยท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อของโบรกเกอร์ และรายชื่อของเจ้าหน้าที่ติดต่อลูกค้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ก.ส.ล. แล้ว ได้ที่ www.aftc.or.th หรือที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2685-3250 ต่อ 207 (ในเวลาทำการ) และหากท่านพบเบาะแสหรือพบเห็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย โปรดแจ้งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ของท่านที่ enforcement@aftc.or.th หรือทางโทรสารหมายเลข 0-2685-3259
อย่าลืม ! โปรด “สอบถาม ก.ส.ล. ก่อน” ตัดสินใจซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อมั่นใจว่าไม่ซื้อขายกับโบรกเกอร์เถื่อน
เผยแพร่ในนาม สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวเผยแพร่ฉบับนี้ กรุณาติดต่อที่ศูนย์สารสนเทศและเสริมสร้างความรู้ โทร. 0-2685-3250 ต่อ 207 โทรสาร 0-2685-3259 หรือ http://www.aftc.or.th

ช่วยกันคิดนโยบายยางพาราไทยเมื่อไรจะก้าวถึง




ก.เกษตรฯ เพิ่มพื้นที่ปลูกยางภาคอีสาน 3 ล้านไร่ในปี 2555 รองรับการขยายตัวตลาดยาง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มพื้นที่ปลูกยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ล้านไร่ ในปี 2555 รองรับการขยายตัวตลาดยางทั้งในและต่างประเทศนายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการสัมนา การพัฒนาขีดความสามารถ การวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางว่า ขณะนี้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 83-85 บาทต่อกิโลกรัม มูลค่าการส่งออกรวมกว่า 3 แสนล้านบาท โดยประเทศไทยส่งออกในรูปวัตถุดิบยางสูงถึงร้อยละ 89 มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปเพียงร้อยละ 10 ขณะที่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปในประเทศสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสนับสนุนขยายตลาดผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศให้ได้ร้อยละ 20 ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าตลาดยางสูงถึง 1 แสนล้านบาท แทนการส่งออกในรูปวัตถุดิบที่มีมูลค่าต่ำกว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า จากความต้องการยางของตลาดทั้งในและต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ มีโครงการสนับสนุนพื้นที่ปลูกยางเพิ่ม โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้ 3 ล้านไร่ ภายในปี 2555 เพื่อรองรับการขยายตัวตลาดยางธรรมชาติทั้งในและต่างประเทศ


เมื่อปัจจุบันนี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มรวนเรตั้งแต่หนี้อสังหาริมทรัพย์เน่า มาจนถึงไฟแนนซ์ล้ม จนส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจเชิงมหภาคทั่วโลกหุ้นตกระนางตั่งแต่ดาวโจนส์ แนสแดกไม่เว้นที่แน่ ๆ คือหุ้นของจีน ทั้งเคราะห์ซ้ำเรื่อนมปนเปื้อนเมลามีนเข้าไปอีก ทำให้ตลาดยางพารารูดลงวันลถึง 2 บาทกว่า จึงขอให้พี่น้องชาวสวนยางอย่าได้ก่อหนี้ผูกพันเพิ่มและประคับประคองค่าใช้จ่ายให้พอตัว หาทางลดต้นทุนในการทำสวนยางลงโดยลดการใช้สารปราบวัชพืชและค่าปุ๋ยเคมีลง เพราะยังไม่แน่ว่าราคายางพาราจะดิดกลับมากิโลกรัมละหนึ่งร้อบบาทอีกเมื่อไร

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

โครงการยุวเกษตรกรชาวสวนยาง






โครงการยุวเกษตรกรชาวสวนยางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะปรับความเชื่อ ความเข้าใจ พฤติกรรมการประกอบอาชีพ และเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ เรื่องการดูแลรักษาสวนยาง และการขยายพันธุ์ยาง ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์ยางจังหวัดชัยภูมิจึงจัดโครงการอบรมยุวเกษตรกรชาวสวนยางและฝึกการขยายพันธุ์ยางให้แก่ยุวเกษตรกรชาวสวนยางรุ่นที่ 1 ขึ้นโดยมียุวเกษตรกรเข้ารับการอบรม จำนวน 43 คน อีกทั้งได้มีการจัดตั้งเป็น “กลุ่มยุวเกษตรกรชาวสวนยาง” ขึ้นในโรงเรียนบ้านลาดผักหนาม หมู่ 7 ตำบลซับสีทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เพื่อให้เด็กและเยาวชนร่วมกันเรียนรู้และดำเนินกิจกรรมการเกษตรตามความสนใจ จากการปฏิบัติจริง (Learning by doing) มีการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้แก่เด็กและเยาวชนในภาคเกษตร ทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม และการงานพื้นฐานอาชีพด้านเกษตรกรรม และเตรียมความพร้อมของยุวเกษตรกรเป็นเกษตรกรคลื่นลูกใหม่ที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจเกษตรในฟาร์มและเป็นพลังในการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยสืบไป และต่อไปถ้าหากยุวเกษตรกรชาวสวนยางท่านใดที่สนใจเข้าร่วมทำงานพัฒนาชุมชนชาวสวนยางร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดชัยภูมิ ก็ให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาสาสมัครยุวเกษตรกรชาวสวนยางได้ เบอร์โทรศัพท์ ๐-๔๔๘๑๓-๓๑๔โทรสาร ๐-๔๔๘๑-๓๓๔๘