วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แล้งกระหน่ำยางยืนตายซาก

ชาวสวนยางอีสานสุดเศร้าวิกฤติภัยแล้งและภาวะอากาศร้อนจัดส่งผลต้นยางยืนตายซากเป็นทิวแถว จังหวัดเลย เสียหายแล้วกว่า 60% นครพนมสวนยางของ "ศุภชัย โพธิ์สุ" รมช.เกษตรตายแล้วนับร้อยต้น กรมวิชาการเกษตรระบุสาเหตุชัดเกิดจากต้นยางขาดน้ำ
ภาวะราคายางที่พุ่งสูงขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี 2551 แม้จะลดลงช่วงต้นปี 2552 เล็กน้อยแต่ล่าสุดได้ปรับสูงขึ้นขณะนี้ทะลุกก.ละ 100 บาท เป็นความหวังของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแม้บางรายต้นยางจะยังไม่สามารถกรีดน้ำยางได้เพราะอายุเพิ่ง 4-5 ปี แต่พวกเขาหวังว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะสามารถกรีดยางและขายได้ราคาดี แต่ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นปีนี้ทำให้พวกเขาหมดความหวังเพราะอากาศที่แล้งและร้อนจัดทำให้ต้นยางที่ปลูกภายใต้โครงการยางล้านไร่ยืนตายซากเป็นจำนวนมาก

นายหล้า พรหมมาศ ประธานสหกรณ์สวนยางพาราผาน้อย จำกัด จังหวัดเลย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากภาวะความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัด ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหลายจังหวัด โดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์สวนยางพาราผาน้อย จำกัด ซึ่งมีสมาชิก 500 กว่าราย ส่วนพื้นที่ปลูกยังไม่ได้รวบรวมอย่างเป็นทางการ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้คือต้นยางพารายืนตายซาก เพราะอากาศร้อนจัดและขาดแคลนน้ำ
"พื้นที่ปลูกยางของสมาชิกสหกรณ์มีทั้งภายใต้โครงการยางล้านไร่ โครงการส่งเสริมปลูกของจังหวัด รวมถึงพื้นที่ที่สมาชิกปลูกเอง เฉพาะภายใต้โครงการยางล้านไร่มีประมาณ 2,570 ไร่ เวลานี้พื้นที่ปลูกทั้งหมดต้นยางยืนตายซากไปแล้วกว่า 60% ทำให้ชาวสวนยางต้องเดือดร้อนไปตามๆกัน เพราะไม่มีใครป้องกันไว้ล่วงหน้าเนื่องจากไม่คาดคิดว่าจะแห้งแล้งและร้อนจัดขนาดนี้ วันนี้ทุกคนได้แต่นั่งมองตากันปริบๆ จะไปซื้อน้ำมารดคงไม่คุ้มเพราะต้นยางอายุ 4-5 ปียังกรีดน้ำยางไม่ได้ ชาวสวนจึงยังไม่มีรายได้ และความหวังจะขายยางได้ราคาดีอีก 2-3 ปีข้างหน้าคงหมดหวังแล้วเพราะต้นยางตายไปมากแล้ว"นายหล้ากล่าวและว่า
ปีนี้นับได้ว่าเป็นปีที่แล้งสุดๆ เกษตรกรที่พอจะมีเงินบ้าง จะไปซื้อน้ำมารดสวนยางยังทำได้ลำบากเพราะน้ำในห้วย หนอง คลองบึงแห้งหมด สวนยางของผมประมาณ 300 ไร่ ต้องไปสูบน้ำระยะทาง 4-5 กิโลเมตรมาฉีดรดต้นยาง แต่เวลานี้ไม่มีน้ำให้สูบขึ้นมารดแล้ว
ขณะที่นายชนะวงศ์ สมมุติ ประธานกลุ่มขายยางบ้านโพนงาม จังหวัดเลย กล่าวว่า ปกติแล้วหลังเทศกาลสงกรานต์ชาวสวนยางจะสามารถกรีดน้ำยางได้ แต่เวลานี้ชาวสวนที่มีพื้นที่ปลูกบนที่สูงอากาศร้อนและแล้งกรีดยางไม่ได้เลยเพราะฝนไม่ตก ส่วนสวนยางที่ลุ่มพอกรีดได้บ้างและขายได้ราคาดียางแผ่นดิบกก.ละ 108 บาท ขณะเดียวกันบริเวณบ้านโพนงามมีปัญหาต้นยางยืนตายซากจำนวนมากเหมือนกัน

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)จังหวัดนครพนม กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จังหวัดนครพนม ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นเดียวกัน โดยมีพื้นที่ปลูกยางต้นยางขาดแคลนน้ำยืนตายซากจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพื้นที่สวนยางของนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสบกับต้นยางยืนตายซากเช่นเดียวกัน ซึ่งทางสำนักงานได้ประสานไปยังกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีความรู้ด้านวิชาการมาตรวจสอบสาเหตุต้นยางยืนตายซาก เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุหลักเกิดจากความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัด แม้ว่าต้นยางจะเกิดโรคราแป้งแต่ถ้ามีฝนตกลงมาโรคราแป้งจะหายไปได้ แต่เนื่องจากไม่มีฝนตกจึงทำให้ต้นยางตาย


นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยแล้ง โดยอำนาจของสกย.จะให้ความช่วยเหลือสำหรับต้นยางที่กรีดแล้ว 1 ปี จึงจะใช้เงินกองทุนสงเคราะห์สวนยางได้ ส่วนยางที่ยังไม่ได้กรีดนั้นอาจต้องใช้งบภัยธรรมชาติของกระทรวงเข้าไปช่วยเหลือ
แหล่งข่าวจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552-26 เมษายน 2553 มีพื้นที่ประสบภัยแล้งรวมทั้งสิ้น 60 จังหวัด หากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 พื้นที่ประสบภัยแล้งมากกว่าโดยปี 2552 ประสบภัยแล้ง 53 จังหวัด และหมู่บ้านประสบภัยแล้งมากกว่าถึง 8,018 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 584,366 ไร่ แยกเป็นพืชไร่ 377,264 ไร่ นาข้าว 73,897 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 133,205 ไร่



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,526 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
เลยแล้งจัดยางพารายืนต้นตายกว่า 4 หมื่นไร่

นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายธนวรรธน์ สวรรยาธิปัติ นายอำเภอเมืองเลย นายจรูญ พาณิช นายก อบต.น้ำสวย และเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองเลย ได้เดินทางไปตรวจสภาพปัญหาต้นยางตายจากภัยแล้งในเขตพื้นที่ ต.น้ำสวย อ.เมืองเลย เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า ขณะนี้สวนยางพาราที่ ต.น้ำสวย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10,000 กว่าไร่ ประสบภัยแล้งตายไปแล้ว 1,000 กว่าไร่ หรือคิดเป็น 10% ของพื้นที่การปลูกยางของ ต.น้ำสวย ส่วนในเขตพื้นที่ อ.เมืองเลยเสียหายร่วม 2 หมื่นไร่
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ไปที่แปลงยางพาราของ นายสด ถานาจร อายุ 81 ปี อยู่บ้านเลขที่ 74 หมู่ 10 ต.น้ำสวย ซึ่งพื้นที่ที่ปลูกยางพารา 20 กว่าไร่ แต่ได้รับความเสียหายแทบทั้งหมด โดยนายสด กล่าวว่า ต้นยางพาราของตนนั้นปลูกได้ 7 ปี และเริ่มกรีดในปีนี้เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ ธกส.ที่กู้ยืมมาทำ แต่มาประสบกับภัยแล้ง ฝนไม่ตกเลย ทำให้ต้นยางยืนต้นตายดังที่เห็น ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ ธกส.
"ส่วนที่เห็นต้นยางถูกตัด เนื่องจากได้รับการแนะนำจากทางเจ้าหน้าที่เกษตรในการแก้ปัญหาเพื่อให้ออกยอด ใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะฝนไม่ตกเลย และต้นยางตายไปเรื่อย รวมทั้งของชาวบ้านไร่ข้างเคียงด้วย"
ด้านนายพรศักดิ์ กล่าวว่า ยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจากผลกระทบฝนไม่ตกที่ได้รับรายงานทั้ง จังหวัดในขณะนี้ประมาณ 40,000 กว่าไร่ และที่ไม่ตายก็ไม่สามารถกรีดยางได้ ถ้าฝนไม่ตกต้นยางก็จะตายเพิ่ม การช่วยเหลือเบื้องต้นทางจังหวัดได้ประสานกับทาง อบต.ทำการจัดซื้อพันธุ์ยางพาราแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้นยางตาย เป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น และไห้ทางเกษตรเร่งทำการสำรวจความเสียหาย เพื่อรายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการช่วยเหลือเป็นการด่วนต่อไป

แหล่งข่าวอ้างอิง www.pinonlines.com/node/1150 เมื่อ 22 เมษายน, 2010 - 20:57

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อากาศร้อนจัด แล้งยาว ยางอีสานตายเพียบต้องทบทวนแนวทางในการส่งเสริมการปลูกยางในภาคอีสานให้รัดกุม






เริ่มจากตายยอดและยืนต้นตายในที่สุด


โดยปกติแล้วคำแนะนำการปลูกยางพารา แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่ควรน้อยกว่า 1,400 มิลลิเมตร/ปี และจำนวนฝนตกประมาณ 120-150 วัน/ปี ซึ่งถือเป็นปริมาณของฝนที่เหมาะสมต่อการปลูกยางพารา หากมีปริมาณน้ำฝนในระดับต่ำ จะมีผลกระทบต่อการปลูกสร้างสวนยางในช่วงปีแรก ทำให้อัตราการรอดตายต่ำ ต้นยางเกิดแผลไหม้เนื่องจากแสงแดด การเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อย และอาจมีการระบาดของโรคราแป้งและโรคใบจุดนูน ดังนั้นควรเลือกปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม และดูแลรักษาอย่างดี ดังนั้น หากปลูกยางในที่ที่มีปริมาณน้ำดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการให้น้ำแต่หากเกิดสภาพแห้งแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางปลูกใหม่และยางที่มีอายุ 1-3 ปี แสดงอาการขาดน้ำ เช่น เหี่ยวเฉา หากเจ้าของสวนยังสามารถให้น้ำได้ก็เป็นการดีกับต้นยางที่ช่วยประคับประคองให้ผ่านช่วงแล้งไปได้ ลดการปลูกซ่อมในฤดูต่อไป หากไม่สามารถให้น้ำได้ ก็แนะนำให้ใช้เศษพืชมาคลุมโคนต้นยาง ตั้งแต่ปลายฤดูฝน เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดินให้ยาวนาน














สวนยางอายุ ๕ ปีที่ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต ต้องตัดต้นทิ้งจำนวนมาก

แต่ในช่วงที่ฤดูแล้งยาวนานในปี ๒๕๕๓ นี้ ทุกภาคส่วนของประเทศไทยร้อนตับแตก อุณหภูมิสูงขึ้นถึง ๔๒ องศาเซลเซียส มาพร้อมกับกระแสการรณรงค์ลดปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่สำคัญที่เราต้องย้อนกลับไปคิดคือยางพาราเป็นพืชที่ก่อกำเนิดจากแถบอเมริกาใต้ และจะเจริญเติบโตได้ดีบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ที่เส้นละติจูดไม่เกิน ๑๐ องศาลิบดา เหนือและใต้เท่านั้น แต่ความต้องการมนุษย์ย่อมไม่มีขีดจำกัดจึงนำไปปลูกในเขตที่สูง และไม่ใช่เขตร้อนชื้นที่ต้นยางพาราได้กำเนิดมา ทำให้นึกถึงประกาศกระทรวงเกษตรฯ ฉบับที่ ๘ ที่ห้ามมิให้ปลูกยางพาราในเขต ๖จังหวัดในภาคอีสานกล่าวคือ ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา และอำเภออะไรอีกอำเภอหนึ่งจำไม่ได้แล้ว เริ่มแสดงมนต์ขลังออกมาเมื่อยางพาราอายุได้ ๕-๖ ปี ของโครงการล้านไร่และที่เกษตรกรปลูกเองเริ่มแสดงอาการแห้งที่ปลายใบยอดๆ เหมือนน้ำร้อนลวก ใบอ่อนเหี่ยวจนสลัดใบทิ้งหมดเป็นการทิ้งใบรอบสองนอกจากการผลัดใบตามปกติ เริ่มตายจากยอดลงมา(die back) เมื่อขาดน้ำมากขึ้นก็ตายลงรุกลามมาสู่กิ่งล่าง ตามโคนต้นเริ่มมีน้ำยางไหลและแตกเป็นปล้อง นั้นหมายถึงว่าถึงขั้นรุนแรงไม่สามารถเยียวยาได้แล้ว ก็จะยืนต้นตาย ก่งงอเข้าหาลำต้นเหมือนกับถูกไฟไหม้ในที่สุด วิธีการแก้ก็ให้อ่านข้อแนะนำของอาจารย์อารักษ์ จันทุมาดังต่อไปนี้ครับ



สวนที่เกษตรกรปลูกเองอายุ ๖ ปียืนต้นตายเกือบหมดแปลงที่อ.เทพสถิต






สวนยางในสภาพดินทราย

ดินทราย เป็นลักษณะของดินไม่อุ้มน้ำ ไม่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้ เมื่ออากาศแห้งแล้งจัดเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้ดินบริเวณรอบๆ รากต้นยางขาดน้ำ เป็นสาเหตุทำให้ต้นยางตายจากยอดได้ โดยใบอ่อนจะเริ่มเหี่ยวและแห้งจากปลายกิ่งหรือปลายยอด ลุกลามลงมาหาส่วนโคนทีละน้อย และแห้งตายตลอดต้น เปลือกล่อนออกจากเนื้อไม้ มีเชื้อราสีดำหรือสีขาวเกิดขึ้นบริเวณเปลือกด้านใน ดินทรายเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การจัดการสวนยางในดินทราย จึงควรปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น มีความร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เกษตรกรควรผลิตเองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว เศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษพืช มูลสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างคุ้มค่า ต้องทิ้งให้ย่อยสลายโดยสมบูรณ์เสียก่อน แล้วจึงนำมาใส่บริเวณทรงพุ่มของใบยางเช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยเคมี ในอัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี ถ้าต้นยางยังเล็ก ให้ใส่รอบต้นหรือเป็นแถบ 2 ข้างลำต้น ถ้ายางเปิดกรีดแล้ว ให้ใส่ระหว่างแถว โดยคลุกเคล้ากับดินก่อนใส่ปุ๋ยเคมี ประมาณ 15-20 วัน เพื่อปรับสภาพดินต้นยางที่ตายจากยอด และอาการค่อยๆ ลุกลามลงมาที่โคนต้นทีละน้อย แก้ไขโดยตัดส่วนที่แห้งทิ้ง โดยตัดต่ำลงมาถึงส่วนที่ยังเขียวอยู่ แต่ถ้าอาการตายจากยอดยังลุกลามอยู่ จำเป็นต้องตัดหลายๆ ครั้ง โดยทยอยตัดต่ำลงมาเรื่อยๆ แล้วทาบาดแผลที่ตัดด้วยสีน้ำมัน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ พร้อมกับแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ต้นยางตายจากยอดให้มีสภาพดีขึ้น เช่น รดน้ำ พรวนดินรอบโคนต้นยางกรณีหน้าดินจับตัวเป็นแผ่นแข็ง เป็นสาเหตุทำให้น้ำซึมลงลำบาก (แต่หากต้นยางอายุมากกว่า 3 ปี ไม่ควรพรวนดินรอบโคนต้น เพราะกระทบกระเทือนระบบราก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต) ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น เพิ่มอินทรียวัตถุ ทำให้ดินโปร่ง มีการระบายน้ำดีและใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้น การดูแลรักษาสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง จะช่วยป้องกันการเกิดอาการตายจากยอดได้ เฉพาะอย่างยิ่ง ต้นยางในช่วง 2 ปีแรกหลังจากปลูก โดยใช้เศษพืชคลุมดินรอบโคนต้น ซึ่งจะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ได้ในช่วงฤดูแล้ง และทาปูนขาวหรือสีน้ำมันบริเวณโคนต้นเพื่อป้องกันลำต้นไหม้จากแสงแดด
ตัดต้นแล้วเริ่มแตกกิ่งขนาดเล็กออกมา




สรุปแลวตามความคิดของข้าพเจ้า ใครปลูกยางในที่เก็บน้ำไม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ลูกรัง ดินทรายจัด หรือเป็นดินดานอยู่ใต้ดินระดับ ๑ เมตร จะต้องสร้างระบบนิเวศน์ให้เหมาะกับถิ่นกำเนิดเดิมของยางพารามากที่สุด คือมีความชื้นและสามารถมีน้ำหล่อเลี้ยงในฤดูแล้งอย่างเพียงพอเท่านั้น คงหนีไม่พ้น การปลูกพืชคลุมดินและเดินระบบน้ำหยดควบคู่กันไปด้วย นอกจากนั้นต้องมีการปลูกพืชแซมเช่นกล้วยและสัปปะรดเพื่อรักษาหน้าดิน และควรเว้นไม้ป่าไว้บ้างเพื่อสร้างสมดุลเรื่องความร่มรื่นและป้องกันลมแรงที่ทำให้ต้นยางโค่นล้มหรือกิ่งหัก เป็นความโชคร้ายที่การตายจากขาดน้ำมาเกิดกับต้นยางที่อายุเกือบเปิดกรีดได้แล้วกลับมาตายอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น สูญเสียเงินทุน แรงกายและแรงใจมากมายจริงๆ ไม่เฉพาะยางพาราดูขนาดผู้ปลูกชะอมปลอดสารพิษที่บ้านโพธิ์รังนกที่ปลูกส่งประเทศญี่ปุ่นวันละ ๒๐๐ กิโลกรัม เมื่อคลองชลประทานไม่มีน้ำชะอมยืนต้นตายต้องถูกปรับที่ส่งชะอมส่งออกไม่ได้ถึง ๒๐๐ บาทต่อกิโลกรัม หนักเอาการเหมือนกัน





สภาพที่ต้นยางตายทั้งแถวซึ่งขนาดลำต้น ๔๗ เซนติเมตรแล้ว




อ้างอิงที่มา : ขอขอบคุณคำแนะนำจากอาจารย์อารักษ์ จันทุมา ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง







การจัดการสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม

จากการเปิดเผยของ คุณสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ว่า ยางพาราที่ปลูกในสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่นา ดินทราย ดินลูกรัง หน้าดินตื้น ดินปลวก จะมีผลทำให้ต้นยางเจริญเติบโตช้า ไม่ต้านทานโรคและให้ผลผลิตต่ำ และยังอาจมีผลกระทบตามมาจากภัยธรรมชาติได้อีกด้วย ดังนั้น ในการตัดสินใจปลูกยาง เกษตรกรควรพิจารณาหลักเกณฑ์สำหรับปลูกยางพาราให้เหมาะสม ได้แก่ การเลือกพื้นที่ปลูก พันธุ์ยางที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีการจัดการสวนยางที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้ต้นยางสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถทนต่อสภาวะที่เกิดขึ้นจากความแห้งแล้งและภัยธรรมชาติอื่นๆ ได้ แต่หากเกษตรกรได้ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ต้นยางรอดตายได้ในระดับหนึ่ง แต่เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คุณอารักษ์ จันทุมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้ให้แนวทางในการจัดการสวนยางเพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

สวนยางในสภาพพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่นา น้ำท่วมขัง และพื้นที่นาดอนพื้นที่ราบลุ่ม หรือพื้นที่นา

เป็นพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงหรือระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน น้ำจะซึมผ่านลงไปได้ยาก ทำให้เกิดการไหลบ่า หรือการขังน้ำผิวหน้าดิน พื้นที่เหล่านี้มีการระบายน้ำไม่ดี สภาพน้ำท่วมขังทำให้รากยางขาดก๊าซออกซิเจน ส่งผลกระทบต่อต้นยาง ทำให้ลำต้นแคระแกร็น โคนต้นโต แตกพุ่มเตี้ย และใบเหลืองซีดคล้ายๆ อาการขาดธาตุไนโตรเจน บางครั้งอาจพบปลายยอดแห้งตาย การจัดการสวนยางที่ปลูกในที่ลุ่ม แนะนำให้ทำทางระบายน้ำออกจากแปลงให้พ้นระดับรากของต้นยาง หรือไถยกร่อง อย่างไรก็ตาม การยกร่องจะช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตในช่วง 3-4 ปีแรก แต่หลังจากนั้นต้นยางจะชะงักการเจริญเติบโต การจัดการสวนยางในสภาพพื้นที่ดังกล่าวนี้ แม้ช่วยให้ต้นยางรอดตาย แต่ก็แคระแกร็น เจริญเติบโตช้าและให้ผลผลิตต่ำ ส่วนพื้นที่นาดอน เป็นพื้นที่ระบายน้ำไม่ดี จำเป็นต้องระบายน้ำออกจากแปลงยางในช่วงที่ฝนตกชุก หรือมีน้ำขัง แต่พื้นที่นาดอนบางแห่งสามารถปลูกยางได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน โดยสามารถสังเกตสีของดิน หากเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี สีของดินจะมีลักษณะสม่ำเสมอ มีสีพื้นเป็นสีเดียวกันตลอดความลึก เช่น มีสีแดง สีเหลืองปนแดง หรือสีน้ำตาลปนเหลือง ต้นยางสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่หากเป็นพื้นที่ระบายน้ำเลว น้ำที่ขังอยู่ตามช่องว่างของดินจะเกิดจุดสีประ ทำให้ดินมี 2 สี โดยสีหนึ่งปรากฏเป็นจุดกระจายอยู่บนสีพื้นอีกสีหนึ่ง มองเห็นชัดเจน เช่น จุดประสีเหลือง สีเทา หรือสังเกตได้จากพืชที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในที่มีการระบายน้ำเลว เช่น ต้นกก หญ้าลิเภา แห้วหมู หรือลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มถึงลูกคลื่นลอนลาด มีความลาดชันเล็กน้อย และมีระดับน้ำใต้ดินตื้น ซึ่งเป็นลักษณะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกยางสวนยาง

ในสภาพดินทราย ดินทราย เป็นลักษณะของดินไม่อุ้มน้ำ

ไม่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้ เมื่ออากาศแห้งแล้งจัดเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้ดินบริเวณรอบๆ รากต้นยางขาดน้ำ เป็นสาเหตุทำให้ต้นยางตายจากยอดได้ โดยใบอ่อนจะเริ่มเหี่ยวและแห้งจากปลายกิ่งหรือปลายยอด ลุกลามลงมาหาส่วนโคนทีละน้อย และแห้งตายตลอดต้น เปลือกล่อนออกจากเนื้อไม้ มีเชื้อราสีดำหรือสีขาวเกิดขึ้นบริเวณเปลือกด้านใน ดินทรายเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การจัดการสวนยางในดินทราย จึงควรปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น มีความร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เกษตรกรควรผลิตเองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว เศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษพืช มูลสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างคุ้มค่า ต้องทิ้งให้ย่อยสลายโดยสมบูรณ์เสียก่อน แล้วจึงนำมาใส่บริเวณทรงพุ่มของใบยางเช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยเคมี ในอัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี ถ้าต้นยางยังเล็ก ให้ใส่รอบต้นหรือเป็นแถบ 2 ข้างลำต้น ถ้ายางเปิดกรีดแล้ว ให้ใส่ระหว่างแถว โดยคลุกเคล้ากับดินก่อนใส่ปุ๋ยเคมี ประมาณ 15-20 วัน เพื่อปรับสภาพดินต้นยางที่ตายจากยอด และอาการค่อยๆ ลุกลามลงมาที่โคนต้นทีละน้อย แก้ไขโดยตัดส่วนที่แห้งทิ้ง โดยตัดต่ำลงมาถึงส่วนที่ยังเขียวอยู่ แต่ถ้าอาการตายจากยอดยังลุกลามอยู่ จำเป็นต้องตัดหลายๆ ครั้ง โดยทยอยตัดต่ำลงมาเรื่อยๆ แล้วทาบาดแผลที่ตัดด้วยสีน้ำมัน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ พร้อมกับแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ต้นยางตายจากยอดให้มีสภาพดีขึ้น เช่น รดน้ำ พรวนดินรอบโคนต้นยางกรณีหน้าดินจับตัวเป็นแผ่นแข็ง เป็นสาเหตุทำให้น้ำซึมลงลำบาก (แต่หากต้นยางอายุมากกว่า 3 ปี ไม่ควรพรวนดินรอบโคนต้น เพราะกระทบกระเทือนระบบราก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต) ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น เพิ่มอินทรียวัตถุ ทำให้ดินโปร่ง มีการระบายน้ำดีและใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้น การดูแลรักษาสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง จะช่วยป้องกันการเกิดอาการตายจากยอดได้ เฉพาะอย่างยิ่ง ต้นยางในช่วง 2 ปีแรกหลังจากปลูก โดยใช้เศษพืชคลุมดินรอบโคนต้น ซึ่งจะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ได้ในช่วงฤดูแล้ง และทาปูนขาวหรือสีน้ำมันบริเวณโคนต้นเพื่อป้องกันลำต้นไหม้จากแสงแดด

สวนยางในสภาพดินลูกรัง และหน้าดินตื้น

ดินลูกรังในประเทศไทยเป็นดินที่มีปัญหาในการทำเกษตรกรรมชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นดินตื้น มีชั้นลูกรังหรือเศษหินกรวดเกิดขึ้นเป็นชั้นหนาและแน่น จนเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช และพบในความลึก 50 เซนติเมตร จากผิวดิน เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่อุ้มน้ำ การระบายน้ำไม่ดี มีการชะล้างพังทลายของดินสูง และเกิดการกัดกร่อนผิวหน้าดินในบริเวณที่มีความลาดชันสูง กล่าวโดยทั่วไป ดินลูกรังและดินตื้น เป็นดินที่มีศักยภาพในการเกษตรต่ำ เพราะภายใต้ชั้นลูกรังลงไปมักเป็นชั้นดินเหนียว เป็นอุปสรรคต่อการเจริญของรากพืช ต้นยางที่ปลูกในดินลักษณะเช่นนี้ จะพบว่าในช่วง 1-3 ปีแรก เจริญเติบโตดี หลังจากนั้น ต้นยางจะชะงักการเจริญเติบโต ขอบใบแห้งและตายในฤดูแล้ง เพราะต้นยางไม่สามารถใช้น้ำในระดับรากแขนงได้ และหากช่วงแล้งยาวนาน จะมีผลทำให้ต้นยางตายจากยอด การแก้ไขเบื้องต้นคือ การตัดยอดเพื่อให้ต้นยางแตกกิ่งขึ้นมาใหม่ ซึ่งช่วยให้ต้นยางไม่ตาย แต่ก็ไม่ค่อยโต ควรใช้ประโยชน์ของดินลูกรังในการปลูกพืชไร่หรือพืชรากตื้นชนิดอื่นจะดีกว่า เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวไร่ ถั่วชนิดต่างๆ โดยต้องมีหน้าดินหนาประมาณ 20 เซนติเมตร ขึ้นไป มีการระบายน้ำดีหรือดีปานกลาง ไม่มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน หรือทำเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำนา ปลูกไม้ยืนต้นประเภทไม้โตเร็วบางชนิดกรณีชั้นลูกรังไม่จับกันแน่นนัก เพื่อเป็นพื้นที่ป่าหรือใช้ประโยชน์ เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น ยูคาลิปตัส มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ มะขาม น้อยหน่า มะขามเทศ นุ่น สะเดา ขี้เหล็กบ้าน แต่ต้องปรับปรุงหลุมปลูกด้วยหน้าดินร่วมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อย่างไรก็ดี ดินลูกรังที่พบในบริเวณที่มีฝนตกมากกว่า 1,600 มิลลิเมตร ต่อปี เช่น ในแหล่งปลูกยางเดิมทางภาคใต้และภาคตะวันออก สามารถปลูกยางได้ดี ส่วนดินลูกรังที่พบในบริเวณที่มีฝนตกมากกว่า 1,400 มิลลิเมตร ต่อปี สามารถปลูกยางได้ โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านเหนือ และด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2550)

สวนยางในสภาพดินปลวกดินปลวก

เป็นดินที่มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวเกาะยึดกันเองและเกาะยึดกับสารอื่นได้ดีมาก จึงไม่ร่วนซุย แต่เหนียวเหนอะหนะและพองตัวเมื่อเปียก แต่เมื่อแห้งเนื้อดินจับกันเป็นก้อนแข็งแกร่ง การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า และรากยางชอนไชเพื่อดูดน้ำและธาตุอาหารได้ยาก ประกอบกับดินจับตัวเป็นก้อน เมื่ออยู่ในสภาพแห้งแล้งอาจเป็นสาเหตุทำให้รากยางขาด โดยเฉพาะรากฝอย ทำให้ต้นยางอ่อนแอ ชะงักการเจริญเติบโตและตายได้ ขณะนี้ยังไม่มีวิธีแก้ไขต้นยางที่ปลูกในดินปลวกให้เจริญเติบโตได้แม้มีความพยายามแก้ไข และปรับหลุมปลูกให้กว้าง ยาว และลึกมากขึ้น แล้วปรับปรุงดินในหลุมปลูกด้วยหน้าดินร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแล้วก็ตาม แต่ต้นยางที่เพิ่งปลูกก็ยังตายเช่นเดิมอย่างไรก็ตาม การมีปลวกสร้างรังบริเวณโคนต้น ก็ทำความเสียหายแก่ต้นยางได้ ซึ่งพบทั้งปลวกที่กินไม้แห้งและต้นยางสด แม้ปลวกบางชนิดจะไม่กินต้นยางสด แต่การสร้างรังบริเวณโคนต้น ก็ทำให้ดินเป็นโพรง เมื่อมีลมพัดทำให้ต้นยางโค่นล้มเสียหายได้ จึงควรป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีที่เป็นของเหลวราดรอบๆ โคนต้นที่พบปลวกและต้นข้างเคียง ต้นละ 1-2 ลิตร โดยขุดดินเป็นร่องแคบๆ รอบโคนต้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีซึมขยายออกทางด้านข้างมากเกินไป ได้แก่ คาร์โบซัลแฟน(carbosulfan) 20%EC เช่น พอสซ์ อัตรา 40-80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโปรนิล (fipronil) 5% SC เช่น แอสเซ็นต์ อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร คุณสุขุม กล่าวในตอนท้ายว่า ก่อนที่เกษตรกรจะตัดสินใจปลูกยาง ควรสำรวจสภาพพื้นที่และสภาพดินเสียก่อนว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ ซึ่งควรมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,250 มิลลิเมตร ต่อปี และมีจำนวนวันฝนตก 120-150 วัน ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง เพราะหากปลูกยางไปแล้วและมาแก้ไขปัญหาในภายหลัง ย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันเป็นการเพิ่มต้นทุน เพราะบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ บางปัญหาสามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการเสียเวลาและอาจไม่คุ้มค่า ดังนั้น เกษตรกรจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจปลูกยาง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอคำแนะนำ หรือขอรับเอกสารคำแนะนำต่างๆ ได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-1576 หรือศูนย์วิจัยยาง และสำนักงานตลาดกลางยางพารา กรมวิชาการเกษตรจังหวัดต่างๆ ได้แก่ หนองคาย บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ทั้งนี้ เพื่อเกษตรกรของเราสามารถปลูกยางให้เจริญเติบโตได้ดี ประสบผลสำเร็จ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นพลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุดหน้าต่อไป


อ้างอิงที่มา : นายสุขุม วงษ์เอก,สถาบันวิจัยาง

ปัญหาการปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม


วันนี้ขอนำข่าวเรื่องปัญหาการปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสมจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์มาเล่าสูกันฟังเพื่อจะได้นำไปบอกเล่าแก้ผู้ปลูกยางพาราทั่วประเทศได้ปรับตัวทันกับสภาวะโลกร้อนด้วย
นางนุชนารถ กังพิศดาร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง เปิดเผยว่า ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ลุ่มนาข้าว พื้นที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงหรือระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน พื้นที่มีชั้นดินดาน หรือดินที่มีชั้นกรวดอัดแน่น มีแผ่นหินแข็งระดับลึกจากผิวดินประมาณ 1 เมตร จะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของต้นยางหลังจากปีที่ 3 ทำให้ชะงักการเติบโต ขอบใบแห้ง ตายจากยอดและยืนต้นตายในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากรากแขนงไม่สามารถชอนไชดูดน้ำในฤดูแล้งได้
ดังนั้น เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงปลูกในพื้นที่เหล่านี้ โดยปลูกพืชล้มลุกหรือพืชที่มีระดับตากตื้นจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากต้นยางเป็นพืชที่ต้องการหน้าดินลึก และระบายน้ำได้ดี ส่วนต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่นาเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน ทำให้รากถูกจำกัดไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่ ในระยะ 1-3 ปีอาจเห็นว่าต้นยางเติบโตดี เนื่องจากระดับใต้ดินอยู่ตื้น ทำให้ต้นยางได้รับความชื้น แต่เมื่อโตขึ้นระบบรากถูกจำกัดและสภาพดินขาดออกซิเจน ทำให้ชะงักการเติบโต เปิดกรีดได้ช้า ต้นยางที่ปลูกในพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยไถพูนโคนเพื่อทำให้ระหว่างแถวเป็นร่องระบายน้ำได้ดี หรือขุดคูระบายน้ำให้ลึกกว่าระดับน้ำใต้ดิน จึงจะสามารถระบายน้ำได้ แต่ก็เพิ่มต้นทุนในการจัดการ
จากการสำรวจพื้นที่สวนยางเกษตรกร โดยศูนย์วิจัยยางหนองคาย ที่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ที่ประสบปัญหาต้นยางอายุ 2 ปี ใบเหลือง แคระแกร็น ในช่วงฤดูแล้งดินแห้งแข็ง และออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยดอกมีลักษณะเป็นกระจุกคล้ายช่อดอกสะเดา พบว่าเป็นสวนยางที่ปลูกโดยไม่ยกร่องเพื่อระบายน้ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ส่งผลให้ใบเหลืองและแคระแกร็น กรณีการออกดอกในช่วงดังกล่าวถือว่านอกฤดู ที่เป็นกระจุกเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง เมื่อเข้าฤดูฝนได้รับการใส่ปุ๋ยลักษณะดังกล่าวก็จะหายไป
น อกจากนี้ยังพบปัญหาการปลูกยางในพื้นที่นาเดิมที่ จ.พัทลุง ซึ่งไม่เหมาะสมเพราะระดับใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดินมาก โดยเฉพาะนาลุ่มที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงกว่า 50 ซม. ส่วนพื้นที่นาดอนระดับน้ำใต้ดินสูงประมาณ 50 ซม. ขณะที่ยางพาราหากให้ระดับน้ำพอเหมาะไม่ควรน้อยกว่า 1 เมตร จึงพบว่ายางที่ปลูกในพื้นที่นาดอนส่วนใหญ่จะยืนต้นตายเมื่ออายุไม่เกิน 7-10 ปี และพื้นที่นาลุ่มเมื่ออายุ 2-5 ปี ขึ้นอยู่กับการระบายน้ำออกจากสวนยาง
นางนุชนารถกล่าวว่า ปัญหาการปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ไขจะสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจึงควรแนะนำเกษตรกรขุดคูระบายน้ำออกจากแปลงให้ลึกว่าระดับน้ำใต้ดิน และใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับโครงสร้างของดินในร่วนซุย ก็จะช่วยให้ต้นยางรอดตายได้ หากเกษตรกรสนใจในรายละเอียดต่างๆ ขอคำแนะนำได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร 0-2579-1576 ต่อ 501, 522, 523 ศูนย์วิจัยยางหนองคาย 0-4242-1396, ฉะเชิงเทรา 0-3813-6225-6 สุราษฎร์ธานี 0-7727-0425-7, สงขลา 0-7421-2401-5.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อังคารที่ 8 ธันวาคม 2552 00:00:00 น. http://www.ryt9.com/s/tpd/853542