วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เชิญชมต้นหม่อนยักษ์แห่งทุ่งลุยลาย



ต้นหม่อนยักษ์แห่งทุ่งลุยลาย




ประวัติของหม่อนไหม
เมื่อ 5,000 ปี ก่อน มนุษย์ยังไม่รู้จักประโยชน์ของต้นหม่อนและตัวไหม ตราบจนกระทั่งเมื่อ 4,500 ปี หนังสือจีนโบราณฉบับหนึ่งชื่อ ไคเภ็ก กล่าวว่า พระนางง่วนฮุย พระมเหสีของพระเจ้าอึ้งตี่ หรืออิ้งตี่ ได้เสด็จสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นตัวหนอนหลายตัวเกาะอยู่ที่ต้นหม่อน ต่อมาทรงเห็นตัวหนอนชักใยพันรอบตัว จึงหยิบมาพิจารณา เมื่อดึงออกมาจะเป็นเส้น ๆ มีความเหนียวดี พระนางทรงพระดำริว่าถ้านำมาทำเป็นผืนแพร เนื้อคงจะดีกว่าปอและป่านที่ใช้ทำเครื่องนุ่งห่มมาแต่ก่อน เมื่อพระนางสามารถเลี้ยงไหมควบเส้นไหมทอเป็นผืนสำเร็จตั้งแต่กาลครั้งนั้น และได้รับการถวายพระฉายาว่า “นางพญาแห่งการหัตกรรมไหม” ตั้งแต่นั้นมา การทำไหมก็แพร่กระจายไปตามตำบลต่าง ๆ ในประเทศจีนก่อนที่จะแพร่กระจายไปสู่นานาประเทศ ในอดีตกาล การปลูกหม่อนก็มุ่งเน้นที่จะนำใบหม่อนไปเลี้ยงไหมเพียงอย่างเดียว การเลี้ยงไหมก็มุ่งเน้นที่จะได้รังไหม ก่อนนำไปสาวเป็นเส้นเพื่อใช้ทอผ้าไหม แม้การเลี้ยงไหมจะพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมมานานแล้วก็ตาม กิจกรรมหลักก็คือ การได้เส้นไหมเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการนำส่วนต่าง ๆ ของต้นหม่อนเส้นใยไหม หนอนไหม หรือแม้กระทั่งดักแด้ไหม ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันเมื่อวิทยาการด้านต่าง ๆ เจริญมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เริ่มพัฒนาการใช้ประโยชน์จากหม่อนและไหม เพื่อให้มีคุณค่าและศักยภาพในการให้ประโยชน์มากขึ้นและกว้างขวางขึ้น


หม่อน (mulberry)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus spp. เป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้พุ่ม อยู่ในวงศ์ Maraceae เช่นเดียวกับปอสา ขนุนและโพธิ์ เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญของพืชในวงศ์นี้ คือ มียางมีขนที่ใบ (บางพันธุ์อาจมีน้อยมาก) มีเส้นใย ใบมีรูปร่างแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นแฉกและไม่เป็นแฉก หม่อนแต่ละพันธุ์จะมีเพียงเพศเดียว ไม่เพศผู้ก็เพศเมีย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พบดอกทั้ง 2 เพศ อยู่ในต้นเดียวกัน หม่อนที่มีดอกเพศเมียจะมีเมล็ดสำหรับขยายพันธุ์แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากจะได้ต้นที่ไม่เหมือนพันธุ์เดิม เพราะมีการผสมข้ามพันธุ์ จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำท่อนพันธุ์ หม่อนสามารถเจริญได้ดีตั้งแต่เขตอบอุ่นจนถึงเขตร้อน ประโยชน์ของหม่อนมีหลากหลายประการด้วยกัน
แตวันนี้จะพาท่านมาชมต้นหม่อนยักษ์ที่บ้านหนองเชียงรอดใต้ หมู่ 7 ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ทางขึ้นเขื่อนจุฬาภรณ์นั้นเอง ท่านจะมองเห็นต้นหม่อนยักษ์ ยืนตระหง่านอยู่ข้างทางจนหลายท่านอาจไม่เชื่อว่าเป็นต้นหม่อนจริงๆ แต่พอท่านลงไปดูใบใกล้ๆ ก็จะทราบว่าเป็นต้นหม่อนจริงๆ เชิญมาแวะชมกันได้นะครับ สันนิษฐานว่า คงจะเป็นหม่อนพันธุ์ป่าที่งอกขึ้นตามธรรมชาติซึ่งยังไม่มีใครทราบประวัติที่แน่นอน ตำบลนี้หลายท่านคงเคยได้ยินจากเพลงลูกทุ่งร้อง โด่งดังสามารถร้องตามกันได้ทั่วเมืองคือเย็นจิตร พรเทวี นั่นเอง เดี๋ยวนี้คนทุ่งลุยลายพบอาชีพใหม่ที่สร้างความมั่นคงในความเป็นอยู่ได้นั่นคือการปลูกยางพาราจนเขียวขจีไปทั้งสองข้างทางแล้ว อยากมาเยี่ยมชมขอข้อมูลเพิ่มเติมมาทางคนเขียนบล็อกนี้ได้ครับ

อ้างอิง : “ ประโยชน์ของหม่อน” http://www.moac.go.th/builder/mu/index.php?page=414&clicksub=414&sub=124

ไม่มีความคิดเห็น: