วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ระวังโรคเปลือกแห้งในยางเปิดกรีด


ราคายางพาราพุ่งขึ้นสูงเกินกว่ากิโลกรัมละ100 บาท อีกครั้งครับ เกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางเปิดกรีดอยู่ในขณะนี้คิดง่าย ๆ เลยครับ มีสวนยางเปิดกรีด 20 ไร่ คิดผลผลิต ไร่ละ 2.5 กก./วัน เท่ากับวันละ 50 กก./วัน กก.ละ 90 บาท มีรายได้วันละ 4,500 บาท ถ้ามีสวนยางเปิดกรีด 40 ไร่ ก็คูณด้วย 2 รายได้วันละ 9,000 บาท เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย เป็นค่าปุ๋ยบำรุง ค่าแรงการกรีดยาง และการทำยางแผ่นดิบ พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง อย่าเพลิดเพลินกับราคายางจนลืมว่าต้นยางต้องใช้ระบบเปิดกรีดวันเว้นวัน ต้นยางอาจจะเป็นโรคเปลือกแห้งตายเสียก่อนเวลาอันควรนะครับ

มี่มา : สาร สกย.พิษณุโลก

น้ำในดินหลังการทำสวนยางพารา ที่ตะพงใน จ.ระยอง


ผู้วิจัย : พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล, วารินทร์ จิระสุขทวีกุล

จากการใช้ soil moisture plot ค้นหาการใช้น้ำของสวนยางพาราที่มีขนาดอายุต่าง ๆ กันโดยเปรียบเทียบกับพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณ บ้านตะพงใน อ.เมือง จ.ระยอง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2530 ถึงเดือนธันวาคม 2531 ปรากฏผลดังต่อไปนี้ คือ อินทรียวัตถุที่เกิดขึ้นจากการสลายตัวของซากเศษเหลือของใบและกิ่งยางพารา ช่วยให้รากยางเจริญเติบโตได้ดีในผิวดิน ดินมีความพรุนมากขึ้นและระบบการระบายน้ำของพื้นที่ก็ดีขึ้นด้วย แม้ว่าน้ำในดินจะมีการสูญเสียไปบ้างในขณะที่ยางพารายังมีขนาดเล็กอยู่ แต่หลังจากที่ยางพาราปกคลุมพื้นที่ได้หมดแล้ว เรือนยอดและซากเศษเหลือที่ผิวดินจะช่วยรักษาความชุ่มชื้น ของดินได้ดีขึ้น และเมื่อยางอายุมากขึ้น ไม้พื้นล่างที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังมีส่วนช่วยในการรักษาความเย็น ความชื้น และก่อให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำภายในสวนให้กลายเป็นหยดน้ำตกลงสู่พื้นดิน เพิ่มความชื้นและน้ำให้กับดินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อากาศมีความชื้นสูง เช่นจังหวัดระยองนี้

ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนยางพารา ที่มีพืชเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันในลักษณะที่คล้ายคลึงกับป่า ธรรมชาติเป็นไม้พื้นล่าง ทั้งนี้นอกจากจะเป็นรายได้ต่อประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการปรับปรุงระบบการระบาย น้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่มากขึ้นอีกด้วย ที่มา : http://www.forest.go.th/Research/watershade/abstracts/wst51.htm

ชื่อวิทยานิพนธ์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพาราในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2546


ชื่อนิสิต นายวาริท วงศ์ทองคณะกรรมการที่ปรึกษา อ. ไพศาล สุกใส ผศ. นพพร ด่านสกุล

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2546 โดยมุ่งศึกษาปัจจัยการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ลักษณะการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลเอกสาร ข้อมูลภาคสนาม โดยการสัมภาษณ์ การสังเกต พร้อมทั้งถ่ายภาพประกอบ แล้วเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพาราที่สำคัญ คือ ประชากรซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น สุขภาพอนามัยดีขึ้น มีรายได้รายจ่ายสูงขึ้น และมีค่านิยมไม่ส่งเสริมให้บุตรหลายประกอบอาชีพทำสวนยางพารา แต่จะมีความต้องการที่จะให้ไปประกอบอาชีพรับราชการ ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับเสื่อมลงเปลี่ยนจากการทำสวนยางพาราแบบป่ายางพึ่งพาธรรมชาติ ประมาณ พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2510 ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2510 ได้เปลี่ยนมาเป็นการทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นการค้า มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในทุกขั้นตอนการทำสวนยางพาราลักษณะการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ประมาณปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2510 ในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการทำสวนยางพาราแบบป่ายางพึ่งพาธรรมชาติ มีความเชื่อเกี่ยวกับคติพื้นบ้านในเรื่องการทำสวนยางพารา เช่น เชื่อในเรื่องเจ้าที่ ฤกษ์ยาม เป็นต้น โดยอาศัยเทคโนโลยีแบบธรรมชาติ สิ่งจำเป็นพื้นฐาน พบว่า ชาวสวนยางพาราไม่มีหลักฐานการถือครองที่ดินโดยการจับจองที่ดิน พันธุ์ยางพาราจะเป็นพันธุ์พื้นเมือง อาศัยแรงงานจากสมาชิกในครอบครัว ส่วนแหล่งน้ำอาศัยน้ำฝน แหล่งน้ำตามธรรมชาติ การใช้ทุน การลงทุนที่เป็นตัวเงินยังมีน้อย มีกระบวนการทำสวนยางพาราที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2510 ได้เริ่มเปลี่ยนเป็นการทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นการค้า พึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในด้านความเชื่อที่เป็นคติพื้นบ้าน เช่น ความเชื่อเรื่อง เจ้าที่ กฤษ์ยาม เป็นต้น มีน้อยลง ในด้านสิ่งจำเป็นพื้นฐาน พบว่า ชาวสวนยางมีหนังสือรับรองสิทธิ์ในที่ดิน มีการใช้พันธุ์ยาพาราที่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์โดยอาศัยหลักวิชาการเพื่อสนองความต้องการของตลาด อาศัยแรงงานจากภายนอก มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ใช้เงินทุนและอุปกรณ์สมัยใหม่ในการทำสวนยางพารา มีกระบวนการทำสวนยางพาราที่อาศัยเทคโนโลยีและหลักวิชาการมากขึ้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ประมาณปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2510 ชาวสวนยางพาราทำสวนยางพาราแบบป่ายางพึ่งพาธรรมชาติ มีลักษณะครอบครัวขยายใช้แรงงานในครอบครัว ความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกและองค์กรที่เกี่ยวข้องน้อย สภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2510 ชาวสวนยางพาราได้เริ่มเปลี่ยนมาทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวมุ่งเน้นการค้าพึ่งพาเทคโนโลยี มีการจ้างแรงงาน ลักษณะครอบครัวเป็น
แบบครอบครัวเดี่ยว ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีน้อยลง ความสัมพันธ์กับบุคคลมีมากขึ้น สภาพสิ่งแวดล้อมเริ่มเสื่อมลง ชาวสวนยางพาราใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น และขยายพื้นที่ในการทำสวนยางพาราให้พื้นที่ป่าลดน้อยลง อันส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

วิธีการปลูกพืชคลุมซีรูเลียม


เมล็ดถั่วซีรูเลียมเก็บที่อำเภอหนองบัวแดง
ต้นกล้าเพาะในถุงอายุ ๒๐ วัน



ข้อดี การปลูกพืชคลุมซีรูเลียม
ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้มากเนื่องจากพืชคลุมชนิดนี้เมื่อปลูกขึ้นแล้วจะช่วยควบคุมวัชพืชไม่ให้เกิดขึ้น ในฤดูแล้งก็ไม่ตายจึงไม่จำเป็นต้องไถสวนยางอีก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไถสวนยางได้มากปกติสวนยางโดยทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำเป็นจะต้องไถสวนยางเพื่อปราบวัชพืช อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี จนกว่าสวนยางจะเปิดกรีดได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 1,800 - 2,000 บาทต่อไร่ (คิดค่าจ้างไถครั้งละ 150 บาท/ไร่) แต่ถ้าเราปลูกพืชคลุมซีรูเลียมก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้ ต้นยางจะเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วกว่ากำหนด และให้น้ำยางมากกว่าสวนยางที่ไม่ปลูกพืชคลุมเนื่องจากสวนยางที่ปลูกพืชคลุมดินจะมีเศษซากของพืชคลุมช่วยเพิ่มธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ช่วยปรับสภาพดินให้กับดิน ดินจะโปร่ง

วิธีการปลูกและข้อเสนอแนะ
เมล็ดพืชคลุมชนิดนี้ในระยะแรกจะเจริญ เติบโตค่อนข้างช้า อาจจะเจริญเติบโตสู้วัชพืชไม่ได้จึงจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ให้ดี ควรจะไถพรวนและฉีดยาและคุมวัชพืชด้วยก่อนการปลูกพืชคลุม
แช่เมล็ดพืชคลุมด้วยน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 75 องศาเซลเซียส เวลา 12- 24 ชั่วโมง เทน้ำที่แช่ทิ้งแล้วห่อผ้าให้เมล็ดหมาดๆ แล้วจึงคลุกกับปุ๋ยหินฟอสเฟต(0-3-0) นำไปปลูกต้นฤดูฝน และควรปลูกให้หมดในแต่ละครั้ง แต่ถ้าใช้วิธีเพาะชำในถุงเพาะชำขนาด 2x4 นิ้ว ไว้ก่อนนำไปปลูกสามารถคัดเลือกเฉพาะเมล็ดที่อมน้ำและเปลือกนิ่มแล้ว โดยสังเกตได้จากเมล็ดมีขนาดพองโตขึ้นมาก นำไปหยอดในถุงชำ ถุงละ 2-3 เมล็ด ส่วนเมล็ดที่ยังแข็งอยู่ เรานำไปแช่น้ำอุ่นซ้ำโดยวิธีเดิมอีกรอบ จะได้เมล็ดพร้อมปลูกเพิ่มอีกมาก และเป็นการเพาะเมล็ดที่คุ้มค่ากับราคาเมล็ดที่ซื้อมาในราคาแพงอีกด้วย
ควรปลูกพืชคลุมห่างจากแถวยาง 2 เมตร ขึ้นไป และปลูกพืชคลุมเพียง 2-3 แถวโดยการปลูกเป็นหลุมห่างกันหลุมละ 50-75 เซนติเมตร ลึก 1-2 นิ้ว ใช้เมล็ดซีรูเลียม 2-3 เมล็ด/หลุม การปลูกตามวิธีนี้เมล็ดพืชคลุม 1 กิโลกรัมสามารถปลูกในสวนยางได้ประมาณ 4-5 ไร่
เมล็ดพืชคลุม ซีรูเลียม ราคากิโลกรัมละประมาณ 300 -450 บาท สามารถสอบถามจากสมาชิกที่ร่วมโครงการปลูกซีรูเลียมแล้วประสบผลสำเร็จ เช่นศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดชัยภูมิ โทร. ๐-๔๔๘๑-๓๓๑๔ หรือ ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดสุโขทัย เป็นต้น


ระยะในการวางแถวปลูก
แถวต้นยาง



x----------------------------------- 7 เมตร ------ --------------------------x


x---2 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม.----x ปลูกพืชคลุม 2-3 แถว
x---2 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม.----x
x --2 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม.----x


x----------------------------------- 7 เมตร ---------------------------------x
*************************************************************************

ตามมก.ไปปลูกยางที่"บ้านม่วงคำ" แหล่งเรียนรู้นอกตำราเด็กพะเยา



ตามมก.ไปปลูกยางที่"บ้านม่วงคำ" แหล่งเรียนรู้นอกตำราเด็กพะเยา

ในอดีตเกือบจะเป็นโรงเรียนร้าง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดยการนำของ ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกสิกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี มก.ในขณะนั้น สำหรับโรงเรียนบ้านม่วงคำ
ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว จ.พะเยา สังกัดสำนักงานพื้นที่การศึกษาพะเยา เขต 1 ที่วันนี้กลายเป็นโรงเรียนดีเด่นระดับภาคในแง่สื่อการเรียนการสอนยอดเยี่ยมและการมีส่วนร่วมของชุมชน จนมีผู้สนใจมาศึกษาดูงานไม่เว้นแต่ละวัน
"ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้จะพาไปเยี่ยมชมโครงการปลูกยางพาราสาธิตและปลูกพืชคลุมซีรูเลียม ของศูนย์เรียนรู้ชุมชนโรงเรียนบ้านม่วงคำ โดยความร่วมกับของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อบต.ห้วยแก้ว หนึ่งในกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่


เป็นโครงการที่เกิดจากความคิดริเริ่มของ ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกสิกิจ ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังเป็นสนใจของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้
โครงการปลูกยางพาราสาธิตและปลูกพืชคลุมซีรูเลียม ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ ริมถนนสายพะเยา-ป่าแดด บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12 ตรงปากทางเข้าโรงเรียนบ้านม่วงคำ ซึ่ง อ.วิทยา ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านม่วงคำ เล่าว่า เดิมทีตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ ต่อมามีชาวบ้านขุดหน้าดินไปขาย ทำให้เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่ จึงหารือกับ อ.อนุพร (สุวรรณวาจกสิกิจ) และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน
"ที่จริงตรงนี้เป็นที่สาธารณะของชุมชน โรงเรียนเป็นคนดูแล แต่ก่อนมีการขุดลูกรังไปขาย ผมเห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและเยาวชน จึงทำโครงการปลูกยางพาราสาธิตและพืชคลุมซีรูเลียมขึ้นมา โดยมีนักเรียนเป็นผู้ดูแลรักษา เพิ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ องคมนตรีนายอำพล เสนาณรงค์ มาเป็นประธาน" ผอ.โรงเรียนบ้านม่วงคำเผยที่มาโครงการ บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษนั้น จะได้แบ่งพื้นที่สำหรับปลูกยางพารา 6 ไร่ ส่วนอีก 1 ไร่เศษ ซึ่งเป็นบ่อลูกรังเก่าจะขุดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 6-7 เมตร ไว้สำหรับการเลี้ยงปลา รดต้นกล้ายางพารา ตลอดจนไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งในช่วงหน้าแล้งทุกปีชาวบ้านที่นี่จะขาดแคลนน้ำเพื่อใช้สำหรับการบริโภคและอุปโภคอย่างมาก
ผศ.อนุพร ในฐานะที่ปรึกษาโครงการกล่าวนำคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยี่ยมชมกิจกรรมของโรงเรียนว่า เครือข่ายวิทยุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยุ มก.) ที่ตนกำกับดูแลอยู่นั้นได้ร่วมกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องการสร้างโรงเรียนแห่งนี้ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายสีเขียวที่เน้นฝึกทักษะด้านไอทีและอาชีพทางการเกษตร
"ทางวิทยุ มก.อยากจะสร้างโครงการโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายสีเขียว มีระบบการเรียนการสอนลักษณะเดียวกับโรงเรียนสาธิต คือให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ โดยครูเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่คอยให้คำชี้แนะ เป้าหมายต้องเป็นโรงเรียนในชนบทห่างไกลความเจริญ ไม่มีความพร้อม นักเรียนมีปัญหา ตอนนั้นมีหลายโรงที่ส่งเข้ามาให้คัดเลือก ในที่สุดเราก็เลือกโรงเรียนบ้านม่วงคำ" ผศ.อนุพรย้อนอดีตให้ฟัง


สำหรับโรงเรียนต้นแบบนั้น นอกจากจะมีการสร้างฐานการเรียนรู้ให้นักเรียนด้วยระบบไอทีแล้ว ยังเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะอย่าลืมว่าพ่อแม่ของเด็กมีอาชีพทางด้านการเกษตร ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับด้านการเกษตร จำเป็นต้องมี แต่ต้องเป็นเกษตรสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ มีไอเดียใหม่ๆ และสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
ขณะที่ สายันต์ เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวเสริมว่าโครงการปลูกยางพาราสาธิตและผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคลุมซีรูเลียมแห่งนี้ เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เกษตรกรและเยาวชนในพื้นที่ได้นำความรู้ทางด้านวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาใช้ตามรูปแบบแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนด้านการจัดการให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ระบบนิเวศของชุมชน
"แนวทางหนึ่งคือการปลูกสร้างสวนยางพาราสาธิตให้นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการตำบลแห่งการเรียนรู้มาประชุมร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันในด้านการปลูกบำรุงรักษาสวนยาง การผลิตเมล็ดพืชคลุมซีรูเลียม จนพัฒนาเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่มีสมาชิกของชุมชนร่วมกันอาศัยโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง" ผอ.สกย.แจงรายละเอียดในฐานะหน่วยงานของรัฐที่เข้ามามีส่วนร่วม โครงการปลูกยางพาราสาธิตและปลูกพืชคลุมซีรูเลียมโรงเรียนบ้านม่วงคำ ไม่เพียงเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนักเรียนเท่านั้น ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้ปกครองพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังมาแรงขณะนี้อีกด้วย
ที่มา : สุรัตน์ อัตตะ "คมชัดลึก"

ย้อนอดีตสี่ปีก่อนของสกย.กับการปลูกซีรูเลียม


สกย.เสริมรายได้ในสวนยางอีสานด้วยการปลูกพืชคลุมดินซีรูเลียม
น.ส.ผ่องเพ็ญ สัมมาพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( สกย.) เปิดเผยว่า สกย. มี นโยบายเสริมรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ในภาคต ะวันออก เฉียงเหนือ ด้วย การปลูกพืชคลุมดิน ซีรูเลียมเนื่องจาก เล็งเห็นว่าพืชคลุมดิน "ซีรูเลียม" เป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่ มีความสำคัญ ต่อ การอนุรักษ์ผืนดิน เป็นพืชที่มีอนาคต มี ตลาดรับซื้อ ทั้งใน และ ต่างประเทศสามารถนำไป ปลูกคลุมพื้นที่เพื่อยังประโยชน์ต่อผืนดินนานับประการ เมล็ดพันธุ์ ซีรูเลียมขายได้ถึง กิโลกรัมละ 200-400 บาท สกย.จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ปลูกพืชคลุมดินซีรูเลียมในสวนยางและพื้นที่ว่างนอกแปลงสวนยางเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายเนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เปรียบกว่าภาคอื่นเพราะมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการติดดอก และออกฝัก และ สกย.พร้อมรับซื้อเมล็ดไปแจกจ่าย ให้เจ้าของสวนยาง รายอื่น ๆ ไม่น้อยกว่าปีละ 3,000 กิโลกรัม จึงอยากแนะนำ ให้ชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หันมาปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวยางหรือพื้นที่ว่าง เพราะเจ้าของสวนยางจะ ได้รับประโยชน์ ทั้งในแง่ ของความอุดมสมบูรณ์ของดิน และ เพิ่มรายได้ให้กับผู้ปลูกนายสณฑ์ธง แข่งขันดี หัวหน้า สกย.จ. บุรีรัมย์กล่าวว่า ขณะนี้ สกย. ได้ทำโครงการนำร่อง แปลงขยายพันธุ์ เมล็ดพืชคลุมซีรูเลียม ที่ อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่รวม 100 ไร่ หลังจากเกษตรกรทดลองปลูก พืชคลุมซีรูเลียมในแปลงดังกล่าว ปรากฏว่า มีการติดเมล็ดเป็นจำนวนมาก เกษตรกร จึงได้นำ เมล็ด ซีรูเลียมจำนวนหนึ่งมาจำหน่ายให้สกย.จ.บุรีรัมย์ รับซื้อไว้ ในอัตรากิโลกรัมละ 300 บาท เมื่อรับซื้อแล้ว จะนำเมล็ดพันธุ์ ดังกล่าวไปให้ สกย.ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 6 แห่ง นำไปจ่าย ให้เกษตรกรในความดูแลของ สกย. กระจาย ปลูกครอบคลุมพื้นที่ทางภาคนี้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน ได้รับความสนใจ จากเกษตรกร ทั้งใน จ.บุรีรัมย์และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานมาก เพราะทำรายได้แก่เกษตรกร ที่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเป็นอย่างดี เกษตรกรรายใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม ติดต่อสอบถามได้ที่ สกย. ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกแห่ง คือ ที่ สกย. จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น และ หนองคาย ทุกวันเวลาราชการ


ที่มา : http://www.rubber.co.th/