วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ตามมก.ไปปลูกยางที่"บ้านม่วงคำ" แหล่งเรียนรู้นอกตำราเด็กพะเยา



ตามมก.ไปปลูกยางที่"บ้านม่วงคำ" แหล่งเรียนรู้นอกตำราเด็กพะเยา

ในอดีตเกือบจะเป็นโรงเรียนร้าง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดยการนำของ ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกสิกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี มก.ในขณะนั้น สำหรับโรงเรียนบ้านม่วงคำ
ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว จ.พะเยา สังกัดสำนักงานพื้นที่การศึกษาพะเยา เขต 1 ที่วันนี้กลายเป็นโรงเรียนดีเด่นระดับภาคในแง่สื่อการเรียนการสอนยอดเยี่ยมและการมีส่วนร่วมของชุมชน จนมีผู้สนใจมาศึกษาดูงานไม่เว้นแต่ละวัน
"ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้จะพาไปเยี่ยมชมโครงการปลูกยางพาราสาธิตและปลูกพืชคลุมซีรูเลียม ของศูนย์เรียนรู้ชุมชนโรงเรียนบ้านม่วงคำ โดยความร่วมกับของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อบต.ห้วยแก้ว หนึ่งในกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่


เป็นโครงการที่เกิดจากความคิดริเริ่มของ ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกสิกิจ ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังเป็นสนใจของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้
โครงการปลูกยางพาราสาธิตและปลูกพืชคลุมซีรูเลียม ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ ริมถนนสายพะเยา-ป่าแดด บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12 ตรงปากทางเข้าโรงเรียนบ้านม่วงคำ ซึ่ง อ.วิทยา ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านม่วงคำ เล่าว่า เดิมทีตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ ต่อมามีชาวบ้านขุดหน้าดินไปขาย ทำให้เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่ จึงหารือกับ อ.อนุพร (สุวรรณวาจกสิกิจ) และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน
"ที่จริงตรงนี้เป็นที่สาธารณะของชุมชน โรงเรียนเป็นคนดูแล แต่ก่อนมีการขุดลูกรังไปขาย ผมเห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและเยาวชน จึงทำโครงการปลูกยางพาราสาธิตและพืชคลุมซีรูเลียมขึ้นมา โดยมีนักเรียนเป็นผู้ดูแลรักษา เพิ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ องคมนตรีนายอำพล เสนาณรงค์ มาเป็นประธาน" ผอ.โรงเรียนบ้านม่วงคำเผยที่มาโครงการ บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษนั้น จะได้แบ่งพื้นที่สำหรับปลูกยางพารา 6 ไร่ ส่วนอีก 1 ไร่เศษ ซึ่งเป็นบ่อลูกรังเก่าจะขุดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 6-7 เมตร ไว้สำหรับการเลี้ยงปลา รดต้นกล้ายางพารา ตลอดจนไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งในช่วงหน้าแล้งทุกปีชาวบ้านที่นี่จะขาดแคลนน้ำเพื่อใช้สำหรับการบริโภคและอุปโภคอย่างมาก
ผศ.อนุพร ในฐานะที่ปรึกษาโครงการกล่าวนำคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยี่ยมชมกิจกรรมของโรงเรียนว่า เครือข่ายวิทยุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยุ มก.) ที่ตนกำกับดูแลอยู่นั้นได้ร่วมกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องการสร้างโรงเรียนแห่งนี้ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายสีเขียวที่เน้นฝึกทักษะด้านไอทีและอาชีพทางการเกษตร
"ทางวิทยุ มก.อยากจะสร้างโครงการโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายสีเขียว มีระบบการเรียนการสอนลักษณะเดียวกับโรงเรียนสาธิต คือให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ โดยครูเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่คอยให้คำชี้แนะ เป้าหมายต้องเป็นโรงเรียนในชนบทห่างไกลความเจริญ ไม่มีความพร้อม นักเรียนมีปัญหา ตอนนั้นมีหลายโรงที่ส่งเข้ามาให้คัดเลือก ในที่สุดเราก็เลือกโรงเรียนบ้านม่วงคำ" ผศ.อนุพรย้อนอดีตให้ฟัง


สำหรับโรงเรียนต้นแบบนั้น นอกจากจะมีการสร้างฐานการเรียนรู้ให้นักเรียนด้วยระบบไอทีแล้ว ยังเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะอย่าลืมว่าพ่อแม่ของเด็กมีอาชีพทางด้านการเกษตร ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับด้านการเกษตร จำเป็นต้องมี แต่ต้องเป็นเกษตรสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ มีไอเดียใหม่ๆ และสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
ขณะที่ สายันต์ เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวเสริมว่าโครงการปลูกยางพาราสาธิตและผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคลุมซีรูเลียมแห่งนี้ เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เกษตรกรและเยาวชนในพื้นที่ได้นำความรู้ทางด้านวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาใช้ตามรูปแบบแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนด้านการจัดการให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ระบบนิเวศของชุมชน
"แนวทางหนึ่งคือการปลูกสร้างสวนยางพาราสาธิตให้นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการตำบลแห่งการเรียนรู้มาประชุมร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันในด้านการปลูกบำรุงรักษาสวนยาง การผลิตเมล็ดพืชคลุมซีรูเลียม จนพัฒนาเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่มีสมาชิกของชุมชนร่วมกันอาศัยโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง" ผอ.สกย.แจงรายละเอียดในฐานะหน่วยงานของรัฐที่เข้ามามีส่วนร่วม โครงการปลูกยางพาราสาธิตและปลูกพืชคลุมซีรูเลียมโรงเรียนบ้านม่วงคำ ไม่เพียงเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนักเรียนเท่านั้น ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้ปกครองพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังมาแรงขณะนี้อีกด้วย
ที่มา : สุรัตน์ อัตตะ "คมชัดลึก"

ไม่มีความคิดเห็น: