วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551


ชื่อวิทยานิพนธ์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพาราในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2546


ชื่อนิสิต นายวาริท วงศ์ทองคณะกรรมการที่ปรึกษา อ. ไพศาล สุกใส ผศ. นพพร ด่านสกุล

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2546 โดยมุ่งศึกษาปัจจัยการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ลักษณะการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลเอกสาร ข้อมูลภาคสนาม โดยการสัมภาษณ์ การสังเกต พร้อมทั้งถ่ายภาพประกอบ แล้วเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพาราที่สำคัญ คือ ประชากรซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น สุขภาพอนามัยดีขึ้น มีรายได้รายจ่ายสูงขึ้น และมีค่านิยมไม่ส่งเสริมให้บุตรหลายประกอบอาชีพทำสวนยางพารา แต่จะมีความต้องการที่จะให้ไปประกอบอาชีพรับราชการ ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับเสื่อมลงเปลี่ยนจากการทำสวนยางพาราแบบป่ายางพึ่งพาธรรมชาติ ประมาณ พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2510 ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2510 ได้เปลี่ยนมาเป็นการทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นการค้า มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในทุกขั้นตอนการทำสวนยางพาราลักษณะการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ประมาณปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2510 ในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการทำสวนยางพาราแบบป่ายางพึ่งพาธรรมชาติ มีความเชื่อเกี่ยวกับคติพื้นบ้านในเรื่องการทำสวนยางพารา เช่น เชื่อในเรื่องเจ้าที่ ฤกษ์ยาม เป็นต้น โดยอาศัยเทคโนโลยีแบบธรรมชาติ สิ่งจำเป็นพื้นฐาน พบว่า ชาวสวนยางพาราไม่มีหลักฐานการถือครองที่ดินโดยการจับจองที่ดิน พันธุ์ยางพาราจะเป็นพันธุ์พื้นเมือง อาศัยแรงงานจากสมาชิกในครอบครัว ส่วนแหล่งน้ำอาศัยน้ำฝน แหล่งน้ำตามธรรมชาติ การใช้ทุน การลงทุนที่เป็นตัวเงินยังมีน้อย มีกระบวนการทำสวนยางพาราที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2510 ได้เริ่มเปลี่ยนเป็นการทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นการค้า พึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในด้านความเชื่อที่เป็นคติพื้นบ้าน เช่น ความเชื่อเรื่อง เจ้าที่ กฤษ์ยาม เป็นต้น มีน้อยลง ในด้านสิ่งจำเป็นพื้นฐาน พบว่า ชาวสวนยางมีหนังสือรับรองสิทธิ์ในที่ดิน มีการใช้พันธุ์ยาพาราที่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์โดยอาศัยหลักวิชาการเพื่อสนองความต้องการของตลาด อาศัยแรงงานจากภายนอก มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ใช้เงินทุนและอุปกรณ์สมัยใหม่ในการทำสวนยางพารา มีกระบวนการทำสวนยางพาราที่อาศัยเทคโนโลยีและหลักวิชาการมากขึ้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำสวนยางพารา ประมาณปี พ.ศ. 2470 – พ.ศ. 2510 ชาวสวนยางพาราทำสวนยางพาราแบบป่ายางพึ่งพาธรรมชาติ มีลักษณะครอบครัวขยายใช้แรงงานในครอบครัว ความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกและองค์กรที่เกี่ยวข้องน้อย สภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2510 ชาวสวนยางพาราได้เริ่มเปลี่ยนมาทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวมุ่งเน้นการค้าพึ่งพาเทคโนโลยี มีการจ้างแรงงาน ลักษณะครอบครัวเป็น
แบบครอบครัวเดี่ยว ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีน้อยลง ความสัมพันธ์กับบุคคลมีมากขึ้น สภาพสิ่งแวดล้อมเริ่มเสื่อมลง ชาวสวนยางพาราใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น และขยายพื้นที่ในการทำสวนยางพาราให้พื้นที่ป่าลดน้อยลง อันส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ไม่มีความคิดเห็น: