วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ตะกูยักษ์ปลูกแล้วรวยจริงหรือ? หรือแค่เพียงสร้างกระแสปั่นราคาต้นกล้า


ตะกูยักษ์ปลูกแล้วรวยจริงหรือ? หรือแค่เพียงสร้างกระแสปั่นราคาต้นกล้า


เมื่อวันก่อนเกษตรกรชาวสวนยางจากอำเภอเทพสถิตโทร.มาถามความคิดเห็นเพราะว่าบิดากำลังจะเซ็นสัญญาปลูกตะกูยักษ์อยู่เลยขอพูดถึงตะกูยักษือีกสักรอบหนึ่งคงยังไม่เบื่อ เหตุที่กระแสปัญหาปัญหาโลกร้อน พัดระบือไปทั่วทุกมุมโลก ตามยุค Globalizationและความเจริญก้าวหน้าของ IT และไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใช้สอยได้ในเมืองไทยและทั่วโลกได้ประสบปัญหาการขาดแคลนอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการตัดไม้ธรรมชาติเพื่อนำมาสนองความต้องการ ในการใช้ประโยชน์จากไม้ของมนุษย์โดยไม่ได้มีการปลูกไม้ขึ้นมาทดแทนกันอย่างจริงจัง และถึงมีการปลูกก็ไม่สามารถเจริญ เติบโตได้ทันกับความต้องการใช้ไม้ของมนุษย์ หลายประเทศได้มีการห้ามตัดไม้ ธรรมชาติเพื่อนำมาใช้งาน เช่น ประเทศไทยมีการออกกฏหมาย ห้ามตัดไม้ในปี พศ. 2532 สมัยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประสาสน์นั่นเองคิดว่าหลายท่านคงจำได้ บางท่านให้ฉายาว่ารัฐมนตรีป่าลั่น สำหรับในต่างประเทศ หลายๆประเทศได้ออกกฏหมายห้ามตัดไม้มานานหลายสิบปี ซึ่งทางออกของการแก้ปัญหา คือการปลูกไม้ขึ้นเองเพื่อใช้งาน เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไม้ได้ทันเวลา หลายประเทศจึงศึกษาและเสาะแสวงหา พันธุ์ไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตได้ดี เหมาะกับภูมิประเทศและสภาพอากาศในพื้นที่ประเทศนั้นๆ โดยเนื้อไม้สามารถสนองความต้องการทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นในประเทศไทย ถ้าเราไม่หาทางออกไว้แต่เนิ่นๆ เชื่อว่าในอนาคตไทยต้องเจอวิกฤติการขาดแคลนไม้เศรษฐกิจอย่างรุนแรงอย่างแน่นอนจากตัวเลขการนำเข้าไม้จากต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาท และปัจจุบันการผลิตไม้เพื่อใช้แปรรูปในเมืองไทยมีเพียงไม้ยางพาราแปรรูปเท่านั้นที่มีปริมาณในตลาด ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการตัดโค่นยางพาราที่หมดอายุที่เอาผลผลิตน้ำยางจากต้นแล้วคืออายุประมาณ 20-25 ปี แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่พอเพียงเมื่อเทียบกับตัวเลขการนำเข้าในแต่ละปี ทำให้จำนวนไม้ ที่ต้องแปรรูปเพื่อป้อนตลาดนั้นชะลอตัวและมีปริมาณลดลง โรงงานผู้ผลิตเครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทย ที่เคยใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนส่งออก จึงต้องทำข้อตกลงนำเข้าไม้หลากชนิดจากต่างประเทศแทน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนไม้ ถ้ากล่าวถึงไม้ชนิดอื่น เช่นไม้ยมหอมที่เคยฮือฮาเมื่อหลายปีก่อนก็หวังเมื่อสิบปีจะหยิบเงินล้าน ก็มาพบว่ามีปัญหาหนอนกินยอดอย่างรุนแรงทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ หลายท่านคงเห็นได้จากที่เคยมีเกษตรกรทางภาคอีสานนำไม้บางชนิดเป็นไม้เฉพาะถิ่น เช่นสะเดาช้าง เป็นไม้แถบทางใต้ เมื่อนำมาปลูกในเขตอื่นก็จะโตได้ไม่ดีเท่าภาคใต้ ไม้ที่ปลูกบางชนิดเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศเหมาะที่จะปลูกในสภาพอากาศหนาวเย็นไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้ดีในไทย บางท่านก็เคยเสียเงินซื้อต้นกล้าเช่นเพาโลเนีย เมื่อปลูกในภาคอีสานใบจะแห้งกรอบและเจริญเติบโตช้า
ส่วนตะกูยักษ์ก็เริ่มสร้างกระแสอย่างรุนแรงในช่วงนี้ ยังไม่เห็นภาครัฐได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด สร้างความสับสนแก่ประชาชนที่ยังรับข้อมูลข่าวสาร หลายด้าน ทั่งผู้จัดจำหน่ายต้นกล้า ก็บอกว่ามีสัญญา ซื้อคืน ในราคาต้นละประมาณ ๕,๐๐๐ บาท จึงขอให้ประชาชนได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ ประเภทต้องอ่านคำเตื่อนเหมือนการลงทุนในหุ้นว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญานก่อนตัดสินใจลงทุน” และพึงคำนึงว่าไม่มีสิ่งใดได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องลงทุน

ไม่มีความคิดเห็น: