วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปลูกยางพารา ปลูกป่า ปลูกชีวิต




ปลูกยางพารา ปลูกป่า ปลูกชีวิต
โดยอนุกูล ทองมี
พืชก็ต้องมีสังคมพืช ไม้ต่างเรือนยอดกันต้องการแสงแดด แร่ธาตุอาหารต่างกัน และไม้ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เรียกว่าเป็นการปลูกป่าแต่เป็นการปลูกป่ายางพารา ฟื้นให้ดินมีชีวิต ฟื้นเศรษฐกิจให้ครอบครัว เป็นความยั่งยืนที่น่าเรียนรู้ในยามที่ยางพาราแพงทั้งต้นทั้งน้ำยาง
ปกติในหนึ่งสัปดาห์ผมจะมีผู้เฒ่าหรือผู้อาวุโสวัย 75 ปีที่เป็นที่เคารพนับถือกันแวะเวียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำ ท่านเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาในความคิดผม อดีตเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดพัทลุง(สจ.)เขตอำเภอเขาชัยสน และท่านรอบรู้หลายอย่างเช่นเรื่อง การเมือง การเกษตรโดยเฉพาะเรื่องยางพารา ทั้งพันธ์ยาง การปลูก การแปรรูปยางแผ่นรมควัน และการตลาดของยางพารา เวลานั่งคุยกันบางครั้งผมต้องตะโกนเพราะสังขารมันอยู่นานแล้ว หูมันไม่ค่อยได้ยิน ท่านบอกว่ายมบาลส่งจดหมายมาเตือนแล้ว และเกือบทุกครั้งผมจะบันทึกเรื่องราวไว้ในแผนที่ความคิด วันนี้ผมขอถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในพุงของ "น้าหนิด" คือ คุณสนิท ณ พัทลุง กัลยาณมิตรผู้สูงวัยของผม

การปลูกยางพาราเท่าที่คุยกับน้าหนิดนั้นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือลักษณะดิน ต้องมีน้ำมันดินหรือที่เรียกว่าอินทรีย์สารหรือฮิวมัส ส่วนใหญ่ที่อำเภอตะโหมดบริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดจะเป็นป่าใหญ่หรือป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธ์ไม้ พันธ์สัตว์ และดินชั้นล่างถัดจากหน้าดินเป็นดินลูกรังสีแดงสด ดินลักษณะนี้เหมาะกับการปลูกยางพาราหลายพันธ์เช่น 600 พันธ์ 24 พันธ์พีบี ฯ (เรียกกันในภาษาถิ่นใต้) และอีกอย่างการปลูกยางพาราทางใต้ไม่ต้องรดน้ำ ฝนตกบ่อยมาก
การปลูกพืชคลุมดินจำพวกพืชตระกูลถั่วน้าหนิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น ได้ปุ๋ยโดยไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องออกแรงใส่ แต่อาจจะต้องเข้าไปดูแลบ่อยขึ้นเพราะเถาพืชคลุมจะเลื้อยพันต้นยางอ่อน อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง แต่เดี๋ยวนี้เขานิยมปุ๋ยเคมีมากว่าเพราะง่ายต่อการใส่และก่อนใส่ปุ๋ยก็ฉีดยาฆ่าหญ้าลูกเดียวไม่ต้องยั้ง ผลก็คือดินไม่มีชีวิตตายถาวร ที่ผมสนใจมากก็คือน้าหนิดว่าต้นยางพารา ต้นต้องได้ขนาดวงรอบ 60 เซนติเมตรขึ้น ไปถึงกรีดได้ ดี ใบต้องมากรากแก้วต้องลึกและรากฝอยที่โผล่พ้นดินต้องเยอะ ถึงน้ำยางจะข้นและได้มากต่อวัน ผมก็ไม่ค่อยเชื่อตามไปดูที่สวนน้าหนิด นำยางออกมากจนล้น จอกเบอร์ 1 ถ้าให้ดีต้องตัดวันเว้นวันและต้องคัดเลือกคนตัดที่มีฝีมือด้วย
พอไปถึงบ้านน้าหนิดท่านก็หยิบสมุดเก่าๆให้ผมดูปรากฏว่าเป็นตัวเลขน้ำหนักน้ำยางในแต่ละสวนที่บันทึกไว้อย่างละเอียดทุกวันเป็นเวลาหลายปี เพื่อเอาไว้ดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักน้ำยางและการเปลี่ยนแปลงราคาในแต่ละวัน ผมทึ่งมากจึงไม่แปลกเลยที่น้าหนิดจะรู้เรื่องกลไกตลาดยางด้วย เป็นกระบวนการของงานวิจัยอย่างหนึ่งของน้าหนิดที่มีความรู้เดิมแค่ ป.4
ผมคุยเรื่องยางพารากับน้าหนิดบ่อยครั้ง พอดีมีที่ดินนาว่างอยู่แปลงหนึ่งก็ชวนกันไปดู และเริ่มปลูกตามวิธีที่ได้ ลปรร.กับน้าหนิดคิดว่าน่าจะได้ผล โดยหลักๆ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าวัชพืช ปลูกกล้วยน้ำว้าแซมระหว่างต้นยางเพื่อเพิ่มความชื้นให้ดินและปลูกพืชคลุมเพิ่มปุ๋ยที่ไม่ต้องซื้อไม่ต้องใส่ อาจจะมีไม้เนื้อแข็งโตเร็วประเภทสะเดาช้าง กระถินเทพา หรือต้นตำเสา ฯ หรือไม้ไผ่ป่าด้วยก็น่าจะดี ไม้ไผ่ก็ได้ขายลำ ขายหน่อ ไม้อื่นๆ สัก 20 ปี ก็ได้เอาไว้ทำบ้านให้ลูก ๆ ส่วนกล้วยได้ขายก่อนเสริมรายได้ และเป็นอาหารเสริมด้วยโดยมีแนวคิด ว่า พืชก็ต้องมีสังคมพืช ไม้ต่างเรือนยอดกันต้องการแสงแดด แร่ธาตุอาหารต่างกัน และไม้ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เรียกว่าเป็นการปลูกป่าแต่เป็นการปลูกป่ายางพารา ฟื้นให้ดินมีชีวิต ฟื้นเศรษฐกิจให้ครอบครัว เป็นความยั่งยืนที่น่าเรียนรู้ในยามที่ยางพาราแพงทั้งต้นทั้งน้ำยาง

อ้างอิงที่มา : http://gotoknow.org/blog/hroy45/37723

ไม่มีความคิดเห็น: