วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ยางพันธุ์ใหม่ "RRIT 408"

ยางพันธุ์ใหม่ "RRIT 408" ผลงานวิจัยล่าสุดของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จุดเด่น ปลูกง่าย โตไว ให้ปริมาณน้ำยางสูง เฉลี่ย 352 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มากกว่า RRIM 600 ถึงร้อยละ 62 ค่อนข้างต้านทานต่อใบร่วงไฟทอฟธอรา,ใบจุดก้างปลา ต้านทานปานกลางต่อราแป้ง,ใบจุดคอลเลโทตริกัม, โรคเส้นดำ และราสีชมพู ที่สำคัญ ทนความแห้งแล้งได้ดี ต้านทานลม ปานกลาง เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน เปิดตัวแล้วในงาน "111 ปีแห่งการเรียนรู้ยางพาราไทย" โดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

"ในวันงานเราจะแจกกิ่งพันธุ์ยาง RRIT 408 นี้ด้วย โดยจะแจกคนละ 3 กิ่ง เฉพาะผู้ประกอบการผลิตกิ่งตาขาย เพื่อให้นำไปทดลองติดตาดู เพราะคนกลุ่มนี้จะชำนาญการติดตาอยู่แล้ว คือในวันนั้นเราตั้งใจจะเปิดตัวยางพันธุ์ RRIT 408 นี้ด้วย"

สุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เผยถึงกล้ายางพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่เป็นผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยยางที่จะนำมาเปิดตัวในวันงาน "111 ปีแห่งการเรียนรู้ยางพาราไทย" ซึ่งยางพันธุ์นี้กรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยยางใช้เวลากว่า 25 ปีในการทดสอบสายพันธุ์ที่ผ่านแปลงทดลองตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเปิดกรีดและขณะนี้ได้เปิดกรีดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ แปลงทดลองของศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ซึ่งผลผลิตน้ำยางดีมาก และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่ปลูกในภาคอีสานต่อไป เนื่องจากยางพาราสายพันธุ์นี้ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สำคัญสามารถทนความแห้งแล้งได้ดีกว่าพันธุ์อื่น

สุจินต์ ระบุอีกว่า สำหรับการเลือกพันธุ์ยางปลูกในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน เพราะยางแต่ละพันธุ์มีความเหมาะสมต่างกัน ในพื้นที่ปลูกที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกยางเดิมในภาคใต้และภาคตะวันออก หรือพื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคอีสาน เหนือและกลาง ซึ่งเจ้าของสวนยางจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยางหรือเนื้อไม้ หรือทั้งน้ำยางและเนื้อไม้เพื่อจะได้เลือกพันธุ์ยางได้ถูกต้องและได้ผลตอบแทนตามที่หวัง

"บางครั้งระดับน้ำในดินมีผลต่อการทำงานของรากยางด้วย อย่างพันธุ์ RRIT 251 และอาร์อาร์ไอเอ็ม (RRIM) 600 ไม่เหมาะที่จะปลูกในแปลงที่มีระดับน้ำใต้ดินตื้น แต่บางพันธุ์สามารถปลูกได้ดีเช่น บีพีเอ็ม (BPM) 24 หรืออย่างโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา ยางพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม (RRIM) 600 มักจะมีปัญหา แต่พันธุ์พีบี (PB) 255 กลับมีความต้านทานได้ดีกว่า แม้ผลผลิตน้ำยางจะน้อยกว่าอาร์อาร์ไอเอ็ม (RRIM) 600 ก็ตาม"

จากอดีตจนปัจจุบันมียางหลายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยยางส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้ปลูกหรือเจ้าของสวนยางว่าจะเน้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำยางเป็นหลัก หรือพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้เป็นหลัก หรือพันธุ์ที่ให้ทั้งน้ำยางและเนื้อไม้ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะเหมาะกับพื้นที่ปลูกที่แตกต่างกันไปด้วย

"พันธุ์ยาง RRIT408 นี่ เราใช้เวลาในการปรับปรุงพันธุ์นานถึง 25 ปี โดยพัฒนามาจากพันธุ์ฉะเชิงเทรา 50 หรือ RRIT402 หลังได้ต้นพันธุ์มาแล้วก็ต้องทดลองปลูกในแปลงทดลอง ก็ประมาณ 15 ปี กว่าจะโตเปิดกรีดได้ก็ใช้เวลาอีก 6 ปีรวมแล้วก็ 25 ปีเต็ม ต้องบอกก่อนว่าการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ยางนั้นไม่เหมือนพืชชนิดอื่น เพราะต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าจะได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี จึงจะเห็นผล" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยางกล่าวย้ำ

ยางพันธุ์ "RRIT408" นับเป็นอีกก้าวของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรในการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ยางพาราให้มีคุณภาพดี ก่อนจะนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป

ข้อมูลจาก "สุรัตน์ อัตตะ" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น: