วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การวิเคราะห์งบการเงิน




ความหมายของการวิเคราะห์งบการเงินการวิเคราะห์งบการเงิน คือ กระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการใดกิจการหนึ่งจากงบการเงินของกิจการนั้น พร้อมทั้งนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการตัดสินใจ
การวิเคราะห์งบการเงินมีจุดประสงค์ 2 ประการดังนี้

1. การหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ
2. การนำข้อเท็จจริงที่ได้มาใช้ประกอบการตัดสินใจหรือเสนอแนะแนวทางการตัดสินใจ


กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์งบการเงิน

1. เจ้าหนี้ หมายถึง บุคคลภายนอกที่ให้กิจการกู้เงินมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เจ้าหนี้จะวิเคราะห์งบการเงินของลูกหนี้เพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ความสามารถในการหากำไรและลักษณะการได้มาและการใช้ไปของเงินทุน
2. ผู้ลงทุนทั่วไป หมายถึง ผู้ที่มีเงินออมและพร้อมที่จะลงทุนในธุรกิจ จะวิเคราะห์ความสามารถในการหากำไรทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน
3. ผู้บริหาร มีหน้าที่และต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการจึงต้องการการวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อพิจารณาถึงปัญหาและโอกาสของกิจการสำหรับการกำหนดแผนดำเนินการต่อไป
4. หน่วยงานรัฐบาล วิเคราะห์งบการเงินเพื่อได้ข้อมูลที่จะนำมาประกอบการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคและประเทศโดยส่วนรวม
5. นักวิชาการ วิเคราะห์งบการเงินของกิจการ เพื่อนำมาศึกษาและให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนจัดทำข้อมูลที่สำคัญ ๆ เพื่อการศึกษาและงานวิจัยซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่วงการศึกษา และวงการธุรกิจ

การวิเคราะห์งบการเงินมีจุดมุ่งหมายพอสรุปดังนี้

1. เพื่อเป็นเครื่องมือกลั่นกรองเบื้องต้นสำหรับการตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน
2. เป็นเครื่องมือช่วยพยากรณ์ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานในอนาคตและการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบต่าง ๆ 3. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยปัญหาในการบริหารงาน ฐานะการเงินและปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
4. เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละฝ่าย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงินมี 5 ประเภท ดังนี้
1. การวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis)
2. การวิเคราะห์งบการเงินโดยวิธีแนวนอน (Horizontal Analysis)
3. การวิเคราะห์งบการเงินโดยวิธีแนวตั้ง (Vertical Analysis)
4. การวิเคราะห์งบการเงินโดยวิธีแนวโน้ม (Trend Analysis)
5. การวิเคราะห์โดยจัดทำงบกระแสเงินสด (Cash Flow Analysis)

1. การวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) อัตราส่วนทางการเงินเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบโดยการนำรายการที่ปรากฏในงบการเงินสำหรับระยะเวลาหนึ่งมาสัมพันธ์กันในรูปสัดส่วนหรืออัตราร้อยละ การนำอัตราส่วนมาแปลความและใช้ประโยชน์โดยการเปรียบเทียบมี 3 วิธี คือ
1. เปรียบเทียบกับอัตราส่วนมาตรฐานหรืออัตราส่วนเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เป็นอัตราส่วนที่จัดทำขึ้นจากข้อมูลของอุตสาหกรรมประเภทนั้นเป็นส่วนรวม เมื่อเปรียบเทียบกับกิจการภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน การเปรียบเทียบเช่นนี้เราถือตัวเลขที่ปรากฏในอัตราส่วนมาตรฐานเป็นจุดตัดสิน (Cut off Point)
2. เปรียบเทียบกับอัตราส่วนของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน การเปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทที่จะนำมาเปรียบเทียบกันนั้นจะต้องเป็นบริษัทที่มีขนาดใกล้เคียงกันและต้องเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
3. เปรียบเทียบอัตราส่วนของบริษัทเดียวกันในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น ข้อมูลปีปัจจุบันกับอดีตจะทำให้ทราบถึงแนวโน้มในปัจจุบันว่ามีการบริหารงานดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีที่แล้วอย่างไร และทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตได้
อัตราส่วนทางการเงินแบ่งออกได้ 5 ประเภท คือ

1. อัตราส่วนวัดสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) เป็นอัตราส่วนใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น หรือวัดสภาพคล่องของกิจการ
1.1 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) เป็นอัตราส่วนใช้วัดสภาพคล่องของกิจการแสดงความสามารถที่กิจการนำสินทรัพย์หมุนเวียนไปชำระหนี้สินหมุนเวียนได้กี่เท่า และสามารถชำระได้ทันเวลาหรือไม่
Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน = .......... เท่า
ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า ณ วันที่วิเคราะห์งบการเงิน กิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน นั่นคือ เมื่อกิจการจ่ายชำระหนี้สินระยะสั้นแล้ว ยังมีสินทรัพย์หมุนเวียนเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งบอกให้ทราบว่าธุรกิจมีสภาพคล่องสูงหรือต่ำ
1.2 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio or Acid-test Ratio)เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดสภาพคล่องของกิจการอีกประเภทหนึ่งแสดงความสามารถที่กิจการจะนำสินทรัพย์หมุนเวียนที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว มาจ่ายชำระหนี้สินระยะสั้นได้ทันเวลาหรือไม่
Quick Ratio or Acid-test Ratio =[เงินสด+เงินลงทุนระยะสั้น+ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ]-สินค้าคงคลัง/หนี้สินหมุนเวียน = …….เท่า
ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า ณ วันที่วิเคราะห์งบการเงิน กิจการมีสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วเป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน เพื่อจะใช้ชำระหนี้สินหมุนเวียนได้ทันเวลาหรือไม่

2. อัตราส่วนวัดประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ (Activity Ratio) เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ของกิจการ อัตราส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบระหว่างยอดขายกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ของกิจการ
2.1 อัตราส่วนหมุนเวียนของลูกหนี้ (Receivables Turnover)
อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ = ยอดขายเชื่อ/ ลูกหนี้เฉลี่ย =……ครั้ง
ลูกหนี้เฉลี่ย = [ลูกหนี้การค้าต้นงวด + ลูกหนี้การค้าปลายงวด]/2
ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า ช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์ ธุรกิจขายสินค้าเป็นเงินเชื่อและสามารถเรียกเก็บหนี้ได้กี่ครั้ง ถ้าอัตราส่วนการหมุนเวียนของลูกหนี้สูงยิ่งดี แสดงว่า ในช่วงที่วิเคราะห์ธุรกิจมีการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ และเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้เร็ว คือลูกหนี้ของกิจการมีความคล่องตัวสูง ระยะเวลาในการเก็บหนี้ถัวเฉลี่ย
(Average Collection Period) = จำนวนวันในหนึ่งปี =…….วัน อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า ในช่วงเวลาการวิเคราะห์ กิจการสามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ใช้เวลากี่วัน จำนวนวันที่ใช้ในการเก็บเงินจากลูกหนี้ยิ่งน้อยวันยิ่งดี ถ้าจำนวนวันมากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหนี้สูญ
2.2 อัตราการหมุนเวียนของสินค้า (Inventory Turnover)
อัตราการหมุนเวียนของสินค้า = ต้นทุนขาย/สินค้าคงเหลือเฉลี่ย =…….ครั้ง
สินค้าคงเหลือเฉลี่ย = (สินค้าคงเหลือต้นงวด + สินค้าคงเหลือปลายงวด)/ 2
ผลลัพธ์จากการคำนวณอัตราการหมุนเวียนของสินค้าบอกให้ทราบว่าธุรกิจได้ขายสินค้าจนกระทั่งเก็บเงินได้มีจำนวนกี่ครั้ง ถ้าอัตราการหมุนเวียนของสินค้า มีจำนวนมากครั้ง แสดงถึงประสิทธิภาพด้านการขายอยู่ในเกณฑ์ดีและสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้ขายสินค้าได้เร็ว ระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้า (Average Day Inventory in Stock) ระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้า = จำนวนวันใน 1 ปี =……วัน อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า การวิเคราะห์เงินทุนที่ได้ลงทุนในสินค้านั้นกว่าจะเปลี่ยนสภาพเป็นลูกหนี้หรือเงินสดใช้เวลากี่วัน
2.3 อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover)
อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม = ยอดขาย/สินค้าคงเหลือเฉลี่ย =…..ครั้งสินค้าคงเหลือเฉลี่ย
อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ใด ๆ เช่น ที่ดิน, อาคารและอุปกรณ์ สำนักงาน เป็นต้น
อัตรา การหมุนเวียนของสินทรัพย์............ = ยอดขาย =…..ครั้ง สินทรัพย์..........เฉลี่ย ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า ความสามารถของกิจการในการใช้สินทรัพย์นั้น ๆ มีประสิทธิภาพเพียงใด

3. อัตราส่วนวัดสภาพหนี้สิน (Leverage Ratio) เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการก่อหนี้ของกิจการ
3.1 อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวม (Debt Ratio)
อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวม = หนี้สินรวม/สินทรัพย์รวม =……..% ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่ากิจการมีการกู้ยืมเงินมาลงทุนเป็นอัตราร้อยละเท่าไรของสินทรัพย์รวมฝ่ายเจ้าหนี้จะพอใจในอัตราส่วนที่ปานกลางจนถึงต่ำ แสดงว่ากิจการมีสินทรัพย์รวมมากกว่าหนี้สินรวม ฝ่ายเจ้าของกิจการ จะพอใจในอัตราส่วนที่สูงเนื่องจาก
1. เจ้าของกิจการหลีกเลี่ยงการเพิ่มทุนของกิจการ 2. เป็นการนำเงินของเจ้าหนี้มาลงทุนซึ่งมีต้นทุนต่ำ 3. เป็นการลดความเสี่ยงในเงินลงทุนของเจ้าของกิจการ
3.2 อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio)
อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = หนี้สินรวม/ส่วนของผู้ถือหุ้น =……เท่า ผลลัพธ์ที่ได้บอกให้ทราบว่าธุรกิจมีแหล่งที่มาของเงินทุนจากหนี้สินเป็นกี่เท่าของผู้ถือหุ้น
3.3 อัตราส่วนวัดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Time Interest Earned or Interest Coverage Ratio)
แสดงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยTime Interest Earned = กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้/ ดอกเบี้ยจ่าย =…….เท่าผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า กิจการมีผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีเงินได้เป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยจ่าย แสดงถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและแสดงให้เห็นว่ากิจการจะต้องทำกำไรเท่าใด จึงจะเพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ย

3.4 อัตราส่วนวัดความสามารถในการจ่ายค่าใช้จ่ายประจำทางการเงิน (Fixed Charge Coverage Ratio) ค่าใช้จ่ายประจำทางการเงิน คือ ดอกเบี้ยจ่าย ค่าเช่าระยะยาว และจ่ายเงินกองทุนจม (Sinking Fund) ซึ่งเงินกองทุนจมจ่ายจากกำไรหลังหักภาษีต้องปรับปรุงโดยหาร (1 – อัตราภาษี) เพื่อเป็นกำไรก่อนหักภาษีอัตราส่วนวัดความสามารถในการจ่ายค่าใช้จ่ายประจำทางการเงิน = กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ =……เท่า ดอกเบี้ย+ค่าเช่า+ เงินกองทุนจม (1 – อัตราภาษีเงินได้) ผลลัพธ์ที่ได้บอกให้ทราบว่ากิจการมีกำไรเพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายประจำทางการเงินได้เพียงใด
4. อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratios) เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. กำไรที่เปรียบเทียบกับยอดขาย ได้แก่

4.1 อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เป็นอัตราส่วนที่แสดงว่าขาย 100 บาท ได้กำไรขั้นต้นเท่าไร
อัตรากำไรขั้นต้น = กำไรขั้นต้น/ ยอดขายสุทธิ × 100 =……………..% ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่ากิจการมีกำไรขั้นต้นเป็นร้อยละเท่าใดของยอดขาย อัตราส่วนนี้ยิ่งสูงยิ่งดีแสดงความสามารถในการทำกำไรขั้นต้น

4.2 อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นอัตราส่วนที่แสดงว่าขาย 100 บาท มีกำไรสุทธิเท่าไร
อัตรากำไรสุทธิ = กำไรสุทธิหลังภาษี/ยอดขายสุทธิ× 100 =……………% ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า กิจการมีกำไรสุทธิเป็นร้อยละเท่าไรของยอดขาย อัตราส่วนนี้ยิ่งสูงยิ่งดีแสดงความสามารถในการทำกำไรสุทธิ

2. กำไรที่เปรียบเทียบกับเงินลงทุนในสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้น ได้แก่
4.3 อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (Return on Total Asset หรือ ROB) แสดงให้เห็นถึง ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์รวมที่กิจการมีอยู่ว่าก่อให้เกิดผลตอบแทนในรูปกำไรให้กับธุรกิจมากหรือน้อยอย่างไร บางครั้งเรียกอัตราส่วนนี้ว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment หรือ ROI)
อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม = กำไรสุทธิหลังภาษี/ สินทรัพย์รวม × 100 = ………%
ผลลัพธ์ที่ได้แสดงว่ากิจการใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพเพียงใด หรืออาจเป็นที่สินทรัพย์ใช้ประโยชน์ได้น้อยเนื่องจากเสื่อมคุณภาพ ถ้าอัตราส่วนนี้สูง แสดงว่ากิจการใช้สินทรัพย์แล้วก่อให้เกิดกำไรสูง ถ้าอัตราส่วนนี้ต่ำ แสดงว่ากิจการใช้สินทรัพย์แล้วก่อให้เกิดกำไรน้อย
อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน = กำไรสุทธิหลังภาษี × ยอดขาย สินทรัพย์รวม = กำไรสุทธิหลังภาษี สินทรัพย์รวม
4.4 อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity)หรือ ROE
เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้ผู้ถือหุ้นทราบว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากน้อยเพียงใด
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = กำไรสุทธิหลังภาษี/ส่วนของถือหุ้น × 100 =……% ผลลัพธ์ที่ได้แสดงว่ากิจการนำส่วนของผู้ถือหุ้นมาลงทุนแล้วก่อให้เกิดกำไรมากน้อยเพียงใด

5. อัตรากำไรสำหรับผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ
5.1 อัตรากำไรต่อหุ้น (Earning per Share)
อัตรากำไรต่อหุ้น = กำไรสุทธิ - เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิ = .............บาท/หุ้นสามัญ
จำนวนหุ้นสามัญ ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ 1 หุ้น ผู้ถือหุ้นจะได้กำไรกี่บาท ถ้านำกำไรต่อหุ้นของกิจการมาเปรียบเทียบกับกำไรต่อหุ้นของกิจการในอดีตจะสามารถบอกถึงแนวโน้มการหากำไรของกิจการได้ว่า มีความสามารถในการหากำไรต่อหุ้นดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไรหรืออาจจะนำกำไรต่อหุ้นของกิจการมาเปรียบเทียบกับกำไรต่อหุ้นของกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีขนาดเท่ากันก็สามารถบอกได้ว่า ธุรกิจใดมีความสามารถในการหากำไรดีกว่ากัน

5.2 อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้น (Price – Earning Ratio or P/E Ratio)
P/E Ratio = ราคาตลาดต่อหุ้นของหุ้นสามัญ กำไรต่อหุ้น ผลลัพธ์แสดงว่าเพื่อให้ได้กำไร 1 บาทต่อหุ้น ผู้ลงทุนจะต้องลงทุนเท่าใด หรือราคาตลาดเป็นกี่เท่าของกำไรต่อหุ้น ถ้า P/E Ratio สูง แสดงว่านักลงทุนยินดีลงทุน ซื้อหุ้นในราคาตลาดสูงเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น สะท้อนว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นในความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของกิจการ
5.3 อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) อัตราการจ่ายเงินปันผล = เงินปันผลต่อหุ้น × 100 = ………..% กำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ = เงินปันผล กำไรสุทธิ ผลลัพธ์บอกให้ทราบว่า ธุรกิจมีนโยบายจ่ายเงินปันผลคิดเป็นร้อยละเท่าไรของกำไรสุทธิ และเก็บเป็นกำไรสะสมจำนวนเท่าใด 5.4 อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล = เงินปันผลต่อหุ้น × 100 = ………% ราคาตลาดต่อหุ้น อัตราส่วนนี้แสดงถึงร้อยละของเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเมื่อลงทุนซื้อหุ้นสามัญ ณ ราคาตลาดขณะนั้น

2. การวิเคราะห์งบการเงินโดยวิธีแนวนอน (Horizontal Analysis) การวิเคราะห์วิธีนี้เป็นการเปรียบเทียบเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงของรายการในงบการเงินแต่ละรายการ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะแสดงในรูปของจำนวนเงิน และอัตราร้อยละ วัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์เพื่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของรายการในงบการเงินทุกรายการ ผลที่ได้รับจะนำไปหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธุรกิจ
3. การวิเคราะห์งบการเงินโดยวิธีแนวตั้ง (Vertical Analysis) หรือ Common Size Statement เป็นการวิเคราะห์งบการเงิน โดยย่อส่วนตัวเลขรายการในงบการเงินแต่ละรายการให้เป็นค่าร้อยละ เรียกว่า Common Size Statement การวิเคราะห์รายการในงบดุล ให้คิดเป็นร้อยละของสินทรัพย์รวม หรือร้อยละของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ส่วนการวิเคราะห์รายการในงบกำไรขาดทุน ให้คิดเป็นร้อยละของยอดขายสุทธิ การวิเคราะห์วิธีนี้ถ้านำงบการเงินมาวิเคราะห์เพียงปีเดียวก็จะทราบเพียงโครงสร้างของงบการเงินเฉพาะปีนั้น ถ้าวิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบงบการเงินตั้ง 2 ปีขึ้นไป ก็จะทราบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างงบการเงินของบริษัทในช่วงระยะเวลานั้นๆ และถ้าเปรียบเทียบกับงบการเงินของบริษัทคู่แข่งก็จะทราบถึงความแตกต่าง ด้านการลงทุน การจัดหาเงินทุน และความสามารถในการทำกำไร
4. การวิเคราะห์แนวโน้ม การวิเคราะห์วิธีแนวโน้มจะเป็นการวิเคราะห์งบการเงินตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปเพื่อให้เห็นอัตราการเติบโตของธุรกิจนำไปสู่การวางแผนและตัดสินใจระยะยาว การวิเคราะห์วิธีแนมโน้มจะกำหนดให้ปีใดปีหนึ่งเป็นปีฐาน โดยทั่วไปนิยมให้ปีแรกของการวิเคราะห์เป็นปีฐานและให้มีค่าเท่ากับ 100 % ตัวเลขที่ได้เป็นอัตราร้อยละ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารายการใดในงบมีแนวโน้มสูงขึ้น รายการใดคงที่และรายการใดมีแนวโน้มลดลง
5. งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) เงินสดเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีความสำคัญมากในธุรกิจ ถ้าผู้บริหารมีความสามารถในการจัดการเงินสดจะทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าผู้บริหารจัดการ เงินสดไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก และอาจก่อให้เกิดความเสียหายถึงขั้นล้มละลายได้ ผู้วิเคราะห์งบการเงินจึงให้ความสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของรายการเงินสด เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุที่จะทำให้เงินสดเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารทางการเงินจึงได้จัดทำรายการการเงินที่แสดงแหล่งที่มาและแหล่งใช้ไปของ เงินสด โดยเรียกรายการนั้นว่างบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารที่จะใช้ประเมินผลการดำเนินงานตลอดจนประเมินความสามารถของธุรกิจในการจ่ายเงินปันผล ดอกเบี้ย และเงินกู้ ในอดีตธุรกิจจะจัดทำงบกระแสเงินสดแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะทางการเงิน 3 รูปแบบ ซึ่งแต่ละบริษัทมักเลือกใช้รูปแบบไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 25 ให้จัดทำงบกระแสเงินสด เพียงรูปแบบเดียวให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้ความหมายของงบกระแสเงินสดดังนี้ งบกระแสเงินสด คือรายงานการเงินที่แสดงแหล่งที่มาและแหล่งใช้ไปของเงินสดในระหว่างงวดบัญชีที่กำลังพิจารณา แสดงให้ทราบว่าธุรกิจได้เงินสดมาจากแหล่งใดและใช้เงินสดอย่างไร ผลต่างของเงินสดที่ได้มาทั้งหมดกับเงินสดที่ใช้ไปทั้งหมดตลอดงวดจะต้องเท่ากับเงินสดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในงวดบัญชีนั้น ประโยชน์ของงบกระแสเงินสด
1. ทำให้ทราบแหล่งที่มาและแหล่งใช้ไปของเงินสด เช่น งบกระแสเงินสดจะแสดงให้ทราบว่าบริษัทได้เงินมาจากส่วนของผู้ถือหุ้นหรือจากการกู้ยืม และบริษัทนำเงินที่ได้มาไปลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนหรือสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนมากน้อยเท่าไร
2. การจัดทำงบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะทางการเงินในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้ยากต่อการเปรียบเทียบ ดังนั้นการใช้งบกระแสเงินสดตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 25 จะทำให้สามารถเปรียบเทียบงบแต่ละบริษัทได้ง่ายและทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
3. สามารถนำข้อมูลของงบกระแสเงินสดในอดีตมาใช้ในการวางแผนทางการเงินในอนาคต
4. ทำให้ทราบสภาพคล่องของบริษัท การทำธุรกิจโดยปกติ การเปลี่ยนแปลงของเงินสดแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. กระแสเงินสดรับ (Cash Inflows)กระแสเงินสดรับทำให้เงินสดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุ 4 ประการ ดังนี้
1.1 จากการดำเนินงาน ในการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจจะได้รับเงินมาจากการขายสินค้าและบริการ
1.2 จากการขายสินทรัพย์ เมื่อมีการขายสินทรัพย์ เงินสดจะเพิ่มขึ้นและสินทรัพย์จะลดลง
1.3 จากการกู้ยืม การกู้ยืมทำให้เงินสดเพิ่มขึ้นและหนี้สินเพิ่มขึ้น
1.4 จากส่วนของผู้ถือหุ้น เมื่อนำหุ้นทุนออกมาขายจะทำให้ได้รับเงินสดและส่วนของผู้ถือหุ้นก็เพิ่มขึ้น
2. กระแสเงินสดจ่าย (Cash Outflows)กระแสเงินสดจ่ายทำให้เงินสดลดลง ซึ่งมีสาเหตุ 5 ประการ ดังนี้
2.1 จากการดำเนินงาน ในการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจจ่ายเงินสดเพื่อซื้อสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
2.2 ซื้อสินทรัพย์ การซื้อสินทรัพย์ทำให้เงินสดลง และสินทรัพย์เพิ่มขึ้น
2.3 ชำระหนี้ การจ่ายเงินสดชำระหนี้ ทำให้หนี้สินลดลงและเงินสดลดลง
2.4 จากส่วนของผู้ถือหุ้น ธุรกิจต้องการลดจำนวนหุ้นสามัญให้น้อยลงจึงใช้วิธีซื้อหุ้นกลับคืนมีผลกำไรทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงและเงินสดลดลง
2.5 การจ่ายเงินปันผล ทำให้เงินสดลดลงกระแสเงินสดรับและจ่ายจะจำแนกตามประเภทของกิจกรรมในงบกระแสเงินสดตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 25 ได้ดังนี้
1. กิจกรรมดำเนินงาน2. กิจกรรมลงทุน3. กิจกรรมจัดหาเงิน 1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities)กิจกรรมดำเนินงาน หมายถึง กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ของกิจการ และกิจการอื่นที่มิใช่กิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน หรือเป็นกิจกรรมการดำเนินงานโดยปกติของกิจการ โดยจะเกี่ยวข้องกับการขายสินค้าและการให้บริการ รวมถึงรายการค้าทุกรายการที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของกิจการ กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน สามารถาจัดทำได้ 2 วิธี คือ
1. วิธีทางตรง (Direct Method) แสดงกระแสเงินสดรับและเงินสดจ่ายตามลักษณะหน้าที่หลักที่เกิดขึ้นของทั้ง 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมการดำเนินงาน กิจกรรมการลงทุนและกิจกรรมการจัดหาเงิน ซึ่งทราบได้จากการบันทึกรายการบัญชีของหน่วยงานหรือการเปลี่ยนแปลงรายการ ในงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินด้วยผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรายการใน งบแสดงฐานะการเงิน
2. วิธีทางอ้อม (Indirect Method) แสดงด้วยการตั้งยอดรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมตามปกติ ปรับด้วย ผลกระทบของรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดและรายการค้างรับ ค้างจ่ายของเงินสดรับและเงินสดจ่ายในอดีตหรือในอนาคตจะได้กระแสเงินสดจาก กิจกรรมการดำเนินงาน ส่วนรายการรับ - จ่ายเงินสดจากกิจกรรมการลงทุนหรือกิจกรรมการจัดหาเงินแสดงเช่นเดียวกับวิธีทางตรงรายการที่จะนำมาปรับปรุงกำไรสุทธิให้เป็นกำไรสุทธิตามเกณฑ์เงินสดในการจัดทำกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานมีดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ภาษีรอการตัดบัญชี การตัดมูลค่าสูญสิ้น การตัดบัญชีค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
2. การตัดบัญชีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นกู้ และส่วนเกินมูลค่าหุ้นกู้
3. การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อรายได้หรือค่าใช้จ่ายในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี เช่น ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เป็นต้น
4. การเปลี่ยนแปลงในบัญชีหนี้สินหมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อรายได้หรือ ค่าใช้จ่ายในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี เช่น เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น
5. รายการอื่น ซึ่งกระทบกับเงินสดอันเกิดจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน เช่น กำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนและกำไรหรือขาดทุนจากกการไถ่ถอนหุ้นกู้กระแสเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน ได้แก่- เงินสดรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ- รับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า- เงินสดรับอื่น ๆ เช่น รายได้ค่าเช่า รายได้ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยรับ และรายได้ค่านายหน้า เป็นต้น กระแสเงินสดจ่ายจากกิจกรรมดำเนินงาน ได้แก่- ซื้อวัตถุดิบหรือซื้อสินค้า- จ่ายให้เจ้าหนี้ค่าซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ- จ่ายเงินเดือนพนักงาน- ดอกเบี้ยจ่าย และค่าภาษีต่าง ๆ 2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Investing Activities) กิจกรรมลงทุน หมายถึง การซื้อและจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่น ซึ่งไม่รวมอยู่ในรายการเทียบเท่าเงินสด หรือเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการลงทุนที่เกิดจากการซื้อหรือการขายสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนและสินทรัพย์อื่น และการลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่น กระแสเงินสดรับจากกิจกรรมลงทุน ได้แก่- เงินสดที่ได้รับจากการขายเงินลงทุนระยะสั้น, เงินลงทุนระยะยาว, ที่ดิน, อาคารและอุปกรณ์, สินทรัพย์ไม่มีตัวตน และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น ๆ กระแสเงินสดจ่ายจากกิจกรรมลงทุน ได้แก่ - เงินสดจ่ายซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น ๆ - ซื้อหลักทรัพย์ของกิจการอื่น เช่น เงินลงทุนระยะสั้น เงินลงทุนระยะยาว และหุ้นของบริษัทอื่น 3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Activities)กิจกรรมจัดหาเงิน หมายถึง กิจกรรมที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนาดและองค์ประกอบของส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้สินของกิจการ หรือเป็นกิจกรรมการจัดหาเงินที่เกี่ยวข้องกับส่วนของผู้ถือหุ้น หนี้สินระยะยาวและหนี้สินระยะสั้นบางรายการการกู้ยืมเงินและการชำระคืนเงินกู้ยืมรวมทั้งการได้รับและชำระคืนแหล่งเงินทุนอื่นเนื่องจากหนี้สินระยะยาว กระแสเงินสดรับจากกิจกรรมจัดหาเงิน ได้แก่ - การออกหุ้นทุน เช่น ออกหุ้นสามัญ - การออกหุ้นกู้ ตั๋วเงินจ่าย การกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว กระแสเงินสดจ่ายจากกิจกรรมจัดหาเงิน ได้แก่ - จ่ายซื้อหุ้นทุนกลับคืน - จ่ายชำระเงินกู้ยืม - จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น การจัดทำงบกระแสเงินสด สามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีทางตรง (Direct Method) และวิธีทางอ้อม (Indirect Method) ซึ่งกิจการส่วนใหญ่นิยมจัดทำงบกระแสเงินสดวิธีทางอ้อมเพราะเป็นวิธีสะดวกและรวดเร็ว แหล่งที่มาของข้อมูลในการจัดทำงบกระแสเงินสด 1. งบดุลเปรียบเทียบ 2. งบกำไรขาดทุนปีปัจจุบัน 3. ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการที่เกิดขึ้นในระหว่างปี ขั้นตอนการจัดทำงบกระแสเงินสด 1. เตรียมข้อมูลและวิเคราะห์1.1 งบดุลเปรียบเทียบ นำรายการต่างๆ ในงบดุลมาเปรียบเทียบเพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น วิเคราะห์ถึงสาเหตุของเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่อกระแสเงินสด ดังตารางตัวอย่าง1.2 งบกำไรขาดทุนปีปัจจุบัน ข้อมูลจากงบกำไรขาดทุน ทำให้ทราบรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามปกติของกิจการ เช่น การขายสินค้า การซื้อสินค้า การจ่ายค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เป็นต้น ทำให้ทราบกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายจากกิจกรรมเนินงาน สำหรับการจัดทำงบกระแสเงินสดวิธีทางอ้อม วิธีนี้นำสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามปกติของกิจการ และรายได้หรือค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสดไปปรับปรุงกำไรสุทธิเปลี่ยนจากเกณฑ์คงค้างเป็นเกณฑ์เงินสด สรุปได้ว่าดังตารางแสดงการปรับรายการกำไรสุทธิให้เป็นเกณฑ์เงินสด1.3 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการที่เกิดขึ้นในระหว่างปี1.3.1 กำไรสะสมที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากกำไรสุทธิหักด้วยเงินปันผลจ่าย ในงบกระแสเงินสดจะใช้กำไรสะสมในการหาเงินปันผลจ่าย ซึ่งเงินปันผลจ่ายอยู่ในกิจกรรมจัดหาเงินกำไรสะสมปลายปี = กำไรสะสมต้นปี + กำไรสุทธิ - เงินปันผลจ่ายเงินปันผลจ่าย = กำไรสะสมต้นปี + กำไรสุทธิ - กำไรสะสมปลายปีเงินปันผลจ่าย = กำไรสุทธิ - ผลต่างของกำไรสะสม 1.3.2 การเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ถาวรค่าเสื่อมราคาสะสมที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการคิดค่าเสื่อมราคาประจำปีDr ค่าเสื่อมราคา อยู่ในงบกำไรขาดทุนCr ค่าเสื่อมราคาสะสม อยู่ในงบดุล หากไม่มีรายการอื่นมาเกี่ยวข้อง จำนวนค่าเสื่อมราคาสะสมที่เพิ่มขึ้นจะต้องเท่ากับค่าเสื่อมราคาประจำปีที่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุนพอดี แต่ถ้ากรณีผลต่างของค่าเสื่อมราคาสะสมในงบดุล ไม่เท่ากับค่าเสื่อมราคาในงบกำไรขาดทุนแสดงว่าอาจมีการซื้อหรือขายสินทรัพย์ถาวรในงวดบัญชีนี้ ดังนั้นจึงต้องหาการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ถาวรใหม่ ใช้สูตรต่อไปนี้ สินทรัพย์ถาวรสุทธิปลายงวด XX บวก ค่าเสื่อมราคา XX XX หัก สินทรัพย์ถาวรต้นงวด XX การเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ถาวร XX ถ้าผลลัพธ์ที่ได้เป็นบวกแสดงว่ามีการซื้อสินทรัพย์ถาวร จึงเป็นเงินสดจ่าย ถ้าผลลัพธ์ที่ได้ติดลบ แสดงว่าขายสินทรัพย์ถาวรจึงเป็นเงินสดรับ 2. จำแนกรายการเข้ากิจกรรมหลัก 3 กิจกรรมในงบกระแสเงินสด แนวทางเบื้องต้นในการพิจารณาจัดสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นเข้ากิจกรรม สรุปได้ดังนี้ กิจกรรมดำเนินงาน - สินทรัพย์หมุนเวียน (ยกเว้น เงินสดและเงินลงทุน ระยะสั้น)กิจกรรมลงทุน - หนี้สินหมุนเวียน (ยกเว้น ตั๋วเงินจ่ายและเงินกู้ ระยะสั้น)กิจกรรมลงทุน - เงินลงทุนระยะสั้น - เงินลงทุนระยะยาว - ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ - สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นกิจกรรมจัดหาเงิน - หนี้สิน ได้แก่ ตั๋วเงินจ่าย เงินกู้ระยะสั้น เงินกู้ ระยะยาวและหุ้นกู้ เป็นต้น - ส่วนของผู้ถือหุ้น - เงินปันผลจ่าย

ไม่มีความคิดเห็น: