วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โรคเส้นดำ



เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า เป็นโรคที่ทำอันตรายต่อหน้ากรีดยางมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่มีความชื้นสูง ทำให้เปลือกงอกใหม่เสียหายรุนแรงจนกรีดซ้ำหน้าเดิมไม่ได้ ต้นยางจึงให้ผลผลิตสั้นลงโดยอาจกรีดได้เพียง 8-16 ปีเท่านั้น
ลักษณะอาการ
จะปรากฏอาการเหนือรอยกรีด โดยในระยะแรกเปลือกจะซ้ำมีสีผิดปกติ ต่อมารอยช้ำจะเปลี่ยนเป็นรอยบุ๋มสีดำ ขยายตัวในแนวตั้ง ถ้าเฉือนเปลือกออกดูจะพบลายเส้นดำบนเนื้อไม้ อาการในขั้นรุนแรงจะทำให้เปลือกบริเวณนั้นปริและมีน้ำยางไหลตลอดเวลา เปลือกจะเน่าหลุดไปในที่สุด เปลือกงอกใหม่จะมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่า ทำให้กรีดยางต่อไปไม่ได้
การป้องกัน
1. อย่าเปิดหน้ายางหรือขึ้นหน้ายางใหม่ในระหว่างฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีฝนตก และอย่ากรีดลึกจนถึงเนื้อไม้เพราะจะทำให้หน้ายางเสียหาย โอกาสที่เชื้อจะเข้าทำลายมีมากขึ้น
2. ตัดแต่งกิ่งยางและปราบวัชพืชให้สวนยางโปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยให้หน้ายางแห้งเร็วขึ้น และเป็นการลดความรุนแรงของโรคได้
3. การกรีดยางในฤดูฝนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่มีโรคใบร่วงระบาด ควรทาหน้ายางด้วยสารเคมีชนิดเดียวกับที่ใช้รักษา
การรักษา
เมื่อพบหน้ากรีดยางเริ่มแสดงอาการให้ใช้สารเมตาแลคซิลอัตรา 7-14 กรัม (1/2 - 1ช้อนแกง) ต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมสารแผ่กระจายและจับติด จำนวน 2 ซี.ซี. (1 ช้อนชา) ใช้สารอย่างใดอย่างหนึ่งทาหน้ากรีดยางทุก 7 วัน ประมาณ 3-4 ครั้ง จะสามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้แต่ถ้าหากฝนตกชุกติดต่อกันควรทาสารเคมีต่อไปอีกจนกว่าโรคนี้จะหาย

ไม่มีความคิดเห็น: