วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2551

การจัดการสวนยางที่เหมาะสม



การจัดการสวนยางที่เหมาะสม

การปลูกสร้างสวนยางให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากเกษตรกรต้องคำนึงถึงพื้นที่ และพันธุ์ยางที่เหมาะสมแล้ว เกษตรกรมีความจำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ที่นอกจากจะส่งผลให้ต้นยางเจริญเติบโตเป็นต้นยางที่สมบูรณ์แข็งแรง เปิดกรีดได้เร็ว และมีความต้านทานต่อโรคต่างๆ ได้ดีแล้ว

ยังทำให้ต้นยางให้ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุของการให้น้ำยาง และมีอายุการให้น้ำยางนาน ซึ่งเกษตรกรสามารถจะปฏิบัติได้ และจะปฏิบัติอย่างไร
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำว่า การจัดการสวนยางให้ถูกต้องและเหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การปลูกยางประสบผลสำเร็จ โดยหลังจากปลูกยางแล้ว เกษตรกรจะต้องมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีแรก ที่แสงแดดมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชเป็นอย่างมาก ทำให้มีวัชพืชขึ้นหนาแน่นอย่างรวดเร็วในระหว่างแถวยางส่งผลให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ในระยะ 2 ปีแรก ควรใส่ปุ๋ยบำรุงแต่น้อยและใส่บ่อยครั้ง (ปีละ 3 ครั้ง) นอกจากนี้เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้พื้นที่ในระหว่างแถวยางว่างเปล่า หากไม่มีการปลูกพืชแซมหรือพืชร่วม ก็ควรปลูกพืชตระกลูถั่ว ทั้งนี้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและป้องกันการชะล้างผิวหน้าดิน หากเกษตรกรไม่สามารถกระทำได้ ก็ควรปล่อยให้มีวัชพืชปกคลุมผิวดินบ้างแต่ควรตัดให้ต่ำ ซึ่งเป็นการดีกว่าปล่อยให้พื้นดินโล่งเตียน ส่วนในช่วงแล้งต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้ต้นยางอ่อนรอดตาย และป้องกันไฟไหม้สวนยางเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. การปลูกซ่อม หลังจากปลูกยางเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกซ่อมต้นยางที่ตายทันทีภายใน 1 เดือนซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน ส่วนการปลูกซ่อมครั้งต่อไปจะต้องให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนหลังจากปลูกซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอและเปอร์เซ็นต์รอดตายสูง การปลูกซ่อมควรใช้ต้นยางชำถุงขนาด 1 – 2 ฉัตร หากปลูกซ่อมไม่ทันในปีแรก สามารถปลูกซ่อมได้ในปีที่ 2 ช่วงต้นฤดูฝน เกษตรกรควรใช้ยางชำถุงที่มีขนาดใกล้เคียงกันซึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้าและต้องเร่งปุ๋ยบ้างตามสมควร แต่หากต้นยางที่ปลูกมีอายุมากกว่า 2 ปีแล้ว ก็ไม่ควรปลูกซ่อมเพราะต้นยางจะเจริญเติบโตไม่ทันกัน

2. การตัดแต่งกิ่งและการสร้างทรงพุ่ม การตัดแต่งกิ่งบริเวณลำต้นในช่วงยางอ่อน เป็นการเตรียมพื้นที่บริเวณลำต้นให้มีพื้นที่กรีดยางสูงเหมาะที่จะใช้กรีดยางได้ไม่น้อยกว่า 20 ปี เพราะพื้นที่กรีดยางบริเวณลำต้นต้องปราศจากกิ่งก้านและปุ่มปมทำให้กรีดยางได้ง่าย นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ทรงพุ่มให้มากขึ้น การสังเคราะห์แสงเพื่อปรุงอาหารจึงมากขึ้น มีผลให้ต้นยางเจริญเติบโตเร็วขึ้น และขนาดลำต้นเพิ่มขึ้น ในการตัดแต่งกิ่งเกษตรกรควรปฏิบัติ ดังนี้ ไม่ตัดแต่งกิ่งในช่วงฤดูแล้ง ควรตัดกิ่งต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ควรตัดกิ่งให้เริ่มตั้งแต่อายุ 1-2 ปี หลังจากปลูก จนกระทั่งความสูงลำต้นประมาณ 2 เมตร และควรตัดกิ่งขณะที่ยังอ่อนอยู่ ตัดกิ่งแขนงให้ชิดลำต้นด้วยกรรไกรสำหรับตัดแต่งกิ่งที่คมและสะอาด โดยตัดในระดับต่ำกว่า 2 เมตร อย่าโน้มลำต้นลงมาเพื่อตัดแต่งกิ่ง เพราะจะทำให้ลำต้นหักและเปลือกแตก หลังตัดควรทาปูนขาว หรือปูนแดงหรือสีตรงรอยตัด ควรตัดกิ่งแขนงให้เหลือ 2-3 กิ่งในทิศทางที่สมดุลกัน

3. การคลุมโคน การป้องกันรอยไหม้จากแสงแดดและการป้องกันไฟไหม้สวนยางในฤดูแล้ง ในช่วงปลายฤดูฝน เกษตรกรควรเตรียมการเพื่อให้ต้นยางรอดตาย เฉพาะอย่างยิ่งต้นยางที่เพิ่งปลูกใหม่ โดยก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้งประมาณ 1 เดือน เกษตรกรควรใช้ฟางข้าว เศษซากพืช วัชพืช ซากพืชคลุมหรือหญ้าคาคลุมรอบโคนต้นยางเป็นวงกลม รัศมีรอบโคนต้นประมาณ 1 เมตร หนาประมาณ 10 เซนติเมตร ห่างจากโคนต้นยางประมาณ 1 ฝ่ามือ แต่หากเกษตรกรมีแรงงานและมีเศษซากพืชจำนวนมาก ควรคลุมให้คลอดทั้งแถวยางจากโคนต้นยางแผ่คลุมพื้นที่ออกไปข้างละ 1 เมตร การคลุมโคนจะช่วยเก็บรักษาความชื้นไว้ได้ดีขึ้น ช่วยให้ต้นยางรอดตายและเจริญเติบโตดีขึ้น และยังช่วยป้องกันวัชพืชขึ้นในแถวยางในกรณีที่ใช้วัสดุคลุมตลอดทั้งแถวยางอีกด้วย ขณะเดียวกันต้นยางที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดดบริเวณโคนต้น ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นถูกแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกัน ดังนั้นต้นยางที่มีอายุ 1-2 ปี เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งเกษตรกรควรใช้ปูนขาว 1 ส่วนละลายน้ำ 2 ส่วนหมักค้างคืนไว้ แล้วนำมาทาบริเวณโคนต้นสูงจากพื้นดิน 1 เมตร เพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดด นอกจากนี้ก่อนเข้าสู่ช่วงแล้งเกษตรกรควรทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวนยางเพื่อป้องกันไฟลุกลามมาจากสวนข้างเคียง โดยการไถ หรือขุดถากวัชพืชออกเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตรรอบบริเวณสวน และกำจัดวัชพืชในแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร เพื่อป้องกันไฟไหม้ที่เกิดจากภายในสวน กรณีที่ต้นยางถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง ให้ใช้ปูนขาวละลายน้ำอัตรา 1 ต่อ 1 หมักค้างคืนไว้ แล้วนำมาทาลำต้นเพื่อลดความรุนแรง แต่หากต้นยางได้รับความเสียหายมากกว่าร้อยละ 40 ของทั้งสวน เกษตรกรควรปลูกใหม่ดีกว่า

4. การป้องกันกำจัดวัชพืช วัชพืชที่ขึ้นในแถวยางเป็นปัญหาใหญ่ในสวนยางอ่อนที่มีอายุระหว่าง 1-3 ปี หากมีจำนวนมากจะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ควรตัดวัชพืชที่ขึ้นในแถวยางโดยตัดให้ต่ำ และควรทำก่อนที่วัชพืชจะออกดอกเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ หรืออาจใช้วัสดุคลุมที่หาไว้ง่าย เช่น เปลือกถั่ว ฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ คุลมโคนต้นยางเฉพาะต้นหรือตลอดแถวเว้นระยะพอควรไม่ชิดโคนต้นยาง หรือปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วในแนวยาง เช่น คาโลโปโกเนียม เซนโตรซีมา เพอราเรียและซีรูเลียม ปลูกห่างจากแถวยางประมาณ 2 เมตร แต่หากมีวัชพืชมาก จำเป็นต้องใช้สารเคมี เกษตรควรควรใช้อย่างปลอดภัยตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น หญ้าคาป้องกันกำจัดด้วยไกลโฟเซตหรือราวด์อัพ อัตรา 750-1,000 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อไร่ อัตราที่ใช้แล้วแต่ความหนาแน่นของวัชพืช สำหรับวัชพืชทั่วไปและวัชพืชอายุน้อย ใช้พาราควอต หรือกรัมม็อกโซนอัตรา 400 มิลลิลิตรผสมน้ำ 50 ลิตรต่อไร่ ส่วนวัชพืชประเภทใบแคบใช้ไกลโฟเสทหรือราวด์อัพ อัตรา 200 มิลลิลิตรผสมน้ำ 50 ลิตรต่อไร่ การใช้สารเคมีควรผสมน้ำสะอาดและใช้เครื่องพ่นชนิดที่ทำจากอลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง สแตนเลส หรือพลาสติกเท่านั้น ระวังอย่างให้สารเคมีสัมผัสส่วนยอดหรือส่วนที่มีสีเขียวของพืชปลูก

5. การปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วในสวนยาง พืชคลุมดินที่ปลูกในสวนยาง ได้แก่ คาโลโปเนียม เพอราเรีย เซ็น โตรซีมา และซีรูเลียม พืชคลุมแต่ละชนิดมีลักษณะการเจริญเติบโตแตกต่างกัน จึงควรปลูกหลายชนิดรวมกันและและเปอร์เซ็นต์ความงอกจะเสื่อมลงตามลำดับหากเก็บเมล็ดไว้เป็นเวลานาน การปลูกพืชคลุมดินจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินเฉพาะอย่างยิ่ง เพิ่มอินทรียวัตถุในดินและปรับปรุงโครงสร้างของดินเพิ่มธาตุไนไตรโจนในดิน สามารถควบคุมวัชพืชส่งผลให้ต้นยางเจริญเติบโต เปิดกรีดได้เร็วขึ้น ทำให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น และป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวยาง ควรปลูกต้นฤดูฝน โดยปลูกหลังจากปลูกยางหรือหลังจากปลูกพืชแซมยาง สำหรับยางอายุ 3 ปี เมื่อเลิกปลูกพืชแซมแล้วควรปลูกพืชคุลมดินซีรูเลียม เนื่องจากซีรูเลียมทนทานต่อสภาพร่มเงา และสภาพแห้งแล้วได้ดี เพื่อให้พืชคลุมดินเจริญเติบโตได้หนาแน่นและคลุมพื้นที่ได้รวดเร็วขึ้น เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในแถวยางก่อนปลูกโดยการไถพรวนดินหรือปลูกพืชคลุมดิน โดยไม่ต้องไถพรวนซึ่งต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีมี 2 ประเภท คือสารเคมีประเภทก่อนวัชพืชงอกและประเภทหลังวัชพืชงอก หรือใช้วิธีทางกายภาพ เช่นใช้แรงงานขุด หรือใช้รถแทรกเตอร์ลากขอนไม้ทับลงบนพืชคลุมดินเพื่อให้วัชพืชล้อมลงเปิดโอกาสให้พืชคลุมดินเจริญได้ดี แต่เกษตรกรควรใช้วิธีผสมผสานทั้งวิธีทางกายภาพและใช้สารเคมีเพราะสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีและประหยัดค่าใช้จ่าย การใส่ปุ๋ยพืชคลุมดิน ได้แก่ปุ๋ยหินฟอสเฟต ซึ่งเป็นอาหารหลักของพืชคลุมดิน เมื่อพืชคลุมดินอายุ 2 เดือน 5 เดือน และ 9 เดือนหลังปลูก หว่านปุ๋ยหินฟอสเฟตในบริเวณแถวพืชคลุมดิน อัตรา 15,30 และ 30 กิโลกรัมต่อไปตามลำดับ และใส่ต่อไปปีละครั้งอัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่
นายสุขุม กล่าวในตอนท้ายว่าเกษตรกรมีความจำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องเหมาะสมและสม่ำเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยางอ่อนที่ต้นยางยังมีระบบรากไม่สมบูรณ์และลึกพอที่จะดูดน้ำในระดับลึกได้ เป็นผลให้เกิดตายจากยอดในฤดูแล้ง ด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ข้างต้น ทั้งนี้เพื่อให้ต้นยางรอดตายและเจริญเติบโตเป็นปกติ ตลอดจนมีการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าเกษตรกรจะเป็นเจ้าของสวนยางที่มีต้นยางเจริญเติบโต สมบูรณ์ แข็งแรง เปิดกรีดได้เร็ว มีความต้านทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี และให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอเป็นเวลานานตลอดอายุของการให้น้ำยาง เกษตรกรและผู้สนใจสามารถขอข้อมูลและคำแนะนำได้ที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-7557-8 หรือศูนย์วิจัยยาง ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตและสำนักตลาดกลางยางพารม กรมวิชาการเกษตร ตามจังหวัดต่างๆ ได้ทุกวัน ในเวลาราชการ หรือดูข้อมูลทางวิชาการ ถามปัญหาทางหน้าเว็บบอร์ด และติดตามราคายางที่ www.rubberthai.com Call center 1174
ที่มา : http://www.rubberthai.com/

ไม่มีความคิดเห็น: