วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2551

สถานการณ์ยางของไทย



สถานการณ์ยางของไทย

ข้อมูลทั่วไป
ยางพารา ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของโลก ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในปี 2549 มีจำนวนมากถึง 9.19 ล้านตัน เปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีย้อนหลัง คือปี 2540 ที่ผลิตได้ 6.46 ล้านตันแล้วจะเห็นได้ว่าการผลิตยางธรรมชาติของโลกในช่วงระหว่างปี 2540 – 2549 ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.68 ต่อปี ต่ำกว่าการขยายตัวของความต้องการใช้เล็กน้อย ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในอนาคตคาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ (ร้อยละ2) ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่ปลูกยางในเกือบทุกภูมิภาคและทุกประเทศทั้งในประเทศที่เคยเป็นแหล่งปลูกยางเดิมและประเทศปลูกยางใหม่ ส่วนความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกในปี 2549 มีจำนวน 8.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2540 ที่ใช้จำนวน 6.46 ล้านตันจะเห็นว่าการใช้ยางธรรมชาติในช่วงระหว่างปี 2540 – 2549 ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.97 ต่อปีแนวโน้มการขยายตัวของการใช้ยางธรรมชาติของโลกในอนาคตคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อไปในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 2 – 3 ต่อปี

สถานการณ์การผลิตและการส่งออกยางของไทย

การผลิต
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยปี 2550 มีจำนวนประมาณ 14.3 ล้านไร่ เนื่องจากการขยายตัวของพื้นที่ปลูกยางใหม่ในประเทศ จากนโยบายที่รัฐบาลได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกยางในเขตปลูกยางใหม่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1 ล้านไร่ ส่งผลทำให้ปัจจุบันผลผลิตยางโดยรวมประมาณ 3.123 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 5.86 % คิดเป็น 3.02 ล้านตัน เนื่องจากเนื้อที่กรีดยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องจากการปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่ในปี 2550 มีประมาณ 283 กก./ไร่ โดยเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ ยกเว้นจังหวัดฉะเชิงเทรา ชุมพร สุราษฏร์ธานี พังงา พัทลุง สตูล และตรัง ที่มีเนื้อที่กรีดยางลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี

การตลาดและการส่งออก
ปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติของไทยในปี 2550 รวมทั้งสิ้น 2,966,128 ตัน คิดเป็นมูลค่า 194,356.37 ล้านบาท และในปี 2551 คาดว่ามูลค่าส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลการส่งออกในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันได้ส่งออกไปแล้วกว่าไตรมาศแรกของปี 2551 มีการส่งออกแล้วจำนวน 285,172 ตัน มูลค่าประมาณ 20,591.73 ล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกยางธรรมชาติที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีและอียู ขณะเดียวกัน แนวโน้มจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ทั้งใน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ส่งผลยางธรรมชาติในตลาดโลกจะมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าไทยยังครองความเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกยางในตลาดโลกท่ามกลางภาวะแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

โอกาสในการขยายกำลังการผลิตยางของไทย
1. การขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม
จากการประเมินศักยภาพการผลิตยางของพื้นที่ในภาคต่างๆของไทย ใช้วีการหาค่าดัชนีความเหมาะสมของพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลทางปัจจัยภูมิอากาศ และปัจจัยทางดิน ทั้งทางกายภาพและเคมีดิน นำมาหาความสัมพันธ์กับผลผลิตยาง สามารถจัดแบ่งระดับศักยภาพการผลิตยางได้ คือ
พื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพื้นที่ที่สามารถเปิดกรีดยางได้ในเวลา 7 ปีและให้ผลผลิตมากกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี
พื้นที่ที่มีขีดจำกัด (Marginal Area) เป็นพื้นที่ที่สามารถเปิดกรีดยางได้ในเวลา 8 ปีหรือช้ากว่าและให้ผลผลิตน้อยกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี
ทั้งนี้ จากการประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตยางของไทย พบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตยางสามารถผลิตยางได้มากกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีจำนวน 15.08 ล้านไร่ และพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตยางน้อยกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีจำนวน 29.56 ล้านไร่

2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Yield Improvement)
ปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพการผลิตยาง นอกจากความเหมาะสมของพื้นที่แล้ว ยังขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการผลิต เช่น พันธุ์ยาง การจัดการสวนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใส่ปุ๋ยและการกรีดยาง การเพิ่มผลผลิตของยางไทยสามารถทำได้โดยไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูกใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรทั้งประเทศเพียง 284 กิโลกรัม/ไร่/ปี เปรียบเทียบกับผลผลิตจากงานทดลอง ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 329 กิโลกรัม/ไร่/ปี แสดงให้เห็นว่าไทยยังสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตยางให้สูงขึ้นอีกได้ โดยการส่งเสริมและเกษตรกรชาวสวนยางใช้เทคโนโลยีการผลิตยางที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้นได้

แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ยางและผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ
ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมยาง เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตยาง อันดับหนึ่งของโลก จึงมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปเบื้องต้น ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้ได้ รวมทั้งพัฒนาการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางในชั้นปลาย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ยางที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้มีการเพิ่มการผลิตและสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ได้โดยมีเป้าหมายเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศเป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่มีการใช้เพียงร้อยละ 11 ของผลผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 3.2 – 3.4 แสนตัน/ปี ทั้งนี้ ในปี 2551 คาดว่าจะมีการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมในประเทศประมาณ 0.359 ล้านตัน โดยจะเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 4% เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางส่วนใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น มีการขยายฐานการผลิตในไทยมากขึ้น ประกอบด้วย
1. ยางยานพาหนะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของประเทศในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 43,583 ล้านบาท แต่ก็มีการนำเข้า 5,155 ล้านบาท ได้แก่ ล้อรถยนต์ ล้อเครื่องบิน ล้อรถจักรยายนต์ ล้อรถจักรยาน และล้อรถอื่นๆ ทั้งยางนอกและยางใน รวมถึงยางอะไหล่รถยนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มนี้มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบเกือบร้อยละ 50 โดยใช้ประมาณ ปีละ 158,883 ตัน
2. ยางยืดและยางรัดของ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางธรรมชาติจำนวนมากในส่วนผสม ยางยืดใช้ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ ส่วนยางรัดของก็ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันใช้ยางธรรมชาติในการผลิตถึงปีละ 90,561 ตัน หรือร้อยละ 28.22
3. ถุงมือยางทางการแพทย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกรองจากยางยานพาหนะ ปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 27,288 ล้านบาท แต่มีการนำเข้ามูลค่าถึง 671 ล้านบาท ถุงมือยางที่ผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย ถุงมือตรวจโรค และถุงมือผ่าตัด สำหรับวัตถุดิบยางธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตถุงมือยาง เป็นน้ำยางข้น มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติปีละ 57,120 ตัน ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ17.80 ของปริมาณการใช้ยางทั้งหมด
4. รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา รองเท้ายางและพื้นรองเท้าที่ทำจากยางธรรมชาติรวมทั้งอุปกรณ์กีฬาบางชนิด มีส่วนผสมที่เป็นยางธรรมชาติและผลิตในประเทศไทยปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย ในปี 2549 ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตประมาณ 8,492 ตัน
5. สายพานลำเลียง ใช้งานในการลำเลียงของหนักชนิดต่างๆ มีขนาดตั้งแต่ 2-3 นิ้ว ไปจนถึง 1.5 เมตร ผลิตภัณฑ์ยางกลุ่มนี้มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก โดยในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 1,057 ล้านบาท และนำเข้า 1,620 ล้านบาท ในการผลิตสายพานใช้ยางปีละประมาณ 1,318 ตัน เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 1,3,5 และยางแท่ง STR XL, 20
6. ผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางข้น ปี 2549 มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติ 364 ตัน ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ มีโรงงานผลิต 12 โรง
7. สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ จะใช้วัสดุจำพวกยางและนำเข้าจากต่างประเทศ ให้ความรู้สึกในการปฏิบัติงานเหมือนของจริง ยางพาราสามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการสอน การฝึกปฏิบัติงานได้เป็นอย่างเช่นกันโดยเฉพาะ
ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางฟองน้ำ เช่น โมเดล ร่างกายมนุษย์, สัตว์ แขนเทียมสำหรับฝึกทางการแพทย์ เป็นต้น กรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนให้มีการฝึกอบรม การผลิตผลิตภัณฑ์ยางแก่ผู้สนใจทุกปี ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถนำไปผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว
8. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม
8.1 ยางรองคอสะพาน (Elastomeric Bearings for Bridges) หรือแผ่นยางรองคอสะพาน (Rubber Bridge Bearigs) แบ่งตามชนิดของยางที่ใช้ผลิตเป็น 2 ประเภท คือ ยางรองคอสะพาน ทำจากยางสังเคราะห์ Polychloroprene, (CR) or Neoprene และทำจากยางธรรมชาติ (Natural Rubber, NR) ซึ่งทั้ง 2 ประเภท มีทั้งแบบแผ่นยางล้วน (Plain) และแบบที่มีวัสดุเสริมแรง (Laminated) สำหรับการเลือกใช้ยางตามประเภท ชนิด และแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดมาตรฐานของผู้ออกแบบและ / หรือของผู้ก่อสร้าง
8.2 แผ่นยางกันน้ำซึม (Water Stop) ทำหน้าที่เหมือนปะเก็นของงานคอนกรีต ใช้ป้องกันการขยายตัว หรือ หดตัวของคอนกรีต เพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมหรือผ่านได้ ในงานก่อสร้างทั่วไป เช่น คอนกรีต คานสะพาน อาคารชั้นใต้ดิน ดาดฟ้า เป็นต้น รวมทั้งงานก่อสร้างที่โครงสร้างต้องสัมผัสกับน้ำตลอดเวลา เช่น แท้งค์น้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย สระว่ายน้ำ คลองส่งน้ำ เขื่อนและฝาย เป็นต้น
8.3 ยางกันชนหรือกันกระแทก (Rubber of Rubber Bumper) ใช้เป็นเครื่องป้องกันการเฉี่ยวหรือการกระแทกของเรือ หรือรถเมื่อเข้าจอดเทียบท่า ใช้วัตถุดิบผลิตได้ทั้งยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์
8.4 ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต (Rubber Hose for Joint of Rubber Sealant) มีลักษณะเป็นท่อยางขนาดเล็กมีรูกลางตลอดความยาว ใช้อุดรอยต่อด้านล่างของคอนกรีตของสะพาน หรือรอยต่อระหว่างคานสะพานกันตอม่อของสะพานก่อนการหยอดยางมะตอย วัตถุดิบที่ใช้ผลิตทั้งจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ แต่มักมีการกำหนดให้ใช้ยางสังเคราะห์
8.5 บล็อกยางปูพื้น (Rubber Block) ใช้ปูพื้นแทนอิฐบล็อกคอนกรีต บล็อกยางมีข้อได้เปรียบบล็อกคอนกรีตคือเบากว่า ผิวมีสปริง ยืดหยุ่นได้เวลาลื่นล้มจึงไม่บาดเจ็บมากและไม่เป็นแผล ส่วนใหญ่มักผลิตจากยางธรรมชาติผสมกับยางรีเคลมธรรมชาติหรือสังเคราะห์ ปัจจุบันยังไม่ค่อยนิยมใช้ยางบล็อกปูพื้นเพราะราคาค่อนข้างสูงกว่าบล็อกคอนกรีต
8.6 แผ่นยางปูอ่างเก็บน้ำ (Rubber Water Confine) เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่สามารถใช้ยางธรรมชาติปูรองสระ เพื่อเก็บกักน้ำบนผิวดินที่เก็บน้ำไม่ได้ เช่น ดินปนทราย ดินลูกรัง โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2529 และสามารถพัฒนาได้กว้างขวาง ได้แก่ ใช้เก็บกักน้ำสำหรับเกษตรกร ใช้งานในสนามกอล์ฟและรีสอร์ท ใช้ในงานชลประทาน บ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ โดยทั่วไปวัตถุดิบที่ใช้ในการปูสระกักเก็บน้ำสามารถใช้เป็นยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ หรือ พลาสติก หรือผ้าใบเคลือบยาง
8.7 ฝายยาง (Rubber Dam) หรือเขื่อนยางส่วนใหญ่ผลิตจากยางสังเคราะห์แต่ผู้ผลิตให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการเคลือบชั้นนอกของตัวฝายยางด้วยยางสังเคราะห์ และภายในใช้ยางธรรมชาติแต่ความเป็นไปได้นี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใช้อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจของผู้ผลิตภายในประเทศ เพราะมีผู้ใช้จำกัดเพียงกรมชลประทานและมีราคาสูง แต่ข้อดีของฝายยางธรรมชาติ คือสามารถปรับระดับความสูงของฝายได้ตามความเหมาะสมของระดับน้ำ ซึ่งสามารถลดแรงกระแทกจากน้ำหลากและช่วยระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมล้มตลิ่ง อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดน้ำล้นหน้าฝาย ป้องกันตะกอนทราย ตกตะกอนหน้าฝายได้ นอกจากนี้ในฝายที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำจะสามารถป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่อยู่อาศัยอีกทั้งฝายยางยังทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำเค็มได้ดีกว่าบานประตูระบายน้ำที่ทำด้วยเหล็ก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาสูตรผลิตแผ่นฝายยางโดยการใช้ยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ EPEM และทดลองติดตั้งฝายยางเมื่อปี 2537
8.8 แผ่นยางปูพื้น (Rubber Floor Mat) ส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ ใช้ปูพื้นหรือทางเดินบนอาคารโรงงาน สำนักงาน สนามบินใช้ได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดเอียง เพื่อป้องกันการลื่น และลดเสียงที่เกิดจากการเดิน หรือการกระแทก
9. การใช้ยางพาราผสมยางมะตอยทำผิวถนน ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งมีความสำคัญและมีการขยายตัวมาก โดยเฉพาะถนนเป็นปัจจัยหลักของการคมนาคมและมักพบปัญหาถนนเกิดการชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ การปรับปรุงสมบัติของยางมะตอยให้ใช้ในงานทางให้ดีขึ้น และถนนมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยใช้ยางพาราผสมยางมะตอยในอัตราร้อยละ 5 ทำให้ยางมะตอยมีความแข็งมากขึ้นมีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ถนนที่ราดยางมะตอยผสมยางพาราจะมีความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น และมีการเกิดร่องล้อน้อยกว่าการใช้ยางมะตอยปกติ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาและเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ
***************************************************


ที่มา : สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง,เอกสารประกอบวันยางพาราแห่งชาติ ปี 2551 ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี.

ไม่มีความคิดเห็น: