วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2551

ปัญหาเรื่องยางแก้ไขได้โดยมาตรการทางกฎหมาย



ร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน ประเด็นเรื่องยางที่สามารถแก้ไขได้ โดยมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ของผู้ปลูก-ผู้ผลิต-ผู้ใช้
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า กรมวิชาการเกษตร ได้จัดประชุมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อหารือประเด็นเรื่องยางที่สามารถนำพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 มาใช้แก้ปัญหาได้ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยได้มีการปลูกยางมานานแล้ว และมีกฎหมายควบคุมยางมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ใช้กำกับดูแลเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรในการปลูกยาง ต่อภาคอุตสาหกรรมทำยาง ต่อการค้าทั้งการนำเข้าและส่งออกยาง และเพื่อบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมยางได้มีการปรับปรุงครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ. 2542 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการค้ายางของโลก อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดในโลก มีเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยางประมาณ 6,000,000 คน ในเกือบทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้และภาคตะวันออก ทั้งการผลิต อุตสาหกรรมและการค้ายางต่างก็มีประเด็นปัญหาและความต้องการแตกต่างกันออกไป จึงสมควรมีการปรึกษาหารือถึงประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขในแต่ละกลุ่มแต่ละเรื่อง เพื่อนำมาสู่การแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบอยู่ มากำหนดเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาได้ ก็จะทำให้กฎหมายมีประโยชน์สมบูรณ์ตาที่มุ่งหมายไว้
เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดให้มีการประชุมเรื่อง พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 : มาตรการกำกับดูแลและการบังคับใช้ขึ้นในวันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2551) ณ โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน พิจารณามาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยาง ที่ควรนำมาใช้กำกับดูแลยางทั้งระบบ
ในการประชุมได้เชิญผู้บริหารภาครัฐได้แก่ กรมวิชาการเกษตรโดยสถาบันวิจัยยาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต1-8 รวมทั้งภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย มาร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะประเด็นปัญหาในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับยางเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาแก้ไข เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง และผู้ค้ายาง เพื่อประโยชน์ต่อประเทศไทยให้มากที่สุด
ที่มา : www.rubberthai.com

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ก็ดีเหมือนกันเจ้าของสวนยางจะได้มีความมั่นคง