วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วยคำนำหน้านาม "นางสาว" ของหญิงที่เคยสมรสมาแล้ว


ฮู้บ่หญิงที่เคยสมรสแล้วสามารถใช้ “นางสาว” ได้

โดย โกศล บุญคง

วันนี้เล่าเรื่องกฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่ คือการที่ให้สิทธิผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชายอีกสักครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยผลักดันให้ ผู้หญิงสามารถข่มขืนผู้ชายได้ เท่าเทียมกับที่ผู้ชายเคยข่มขืนผู้หญิงอยู่ฝ่ายเดียวมานานแสนนาน คือตามพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 ได้แก้ไขถ้อยคำประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 276 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ.......ต้องระวางโทษจำคุก....” ซึ่งแต่เดิมบัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตน...”โดยในกฎหมายใหม่ตัดคำว่า “หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตน”ออกไป ใช้คำว่า “ผู้อื่น” แทนและมาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามต้องระวางโทษจำคุก....” ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วนะว่าผู้หญิงสามารถมีความผิดฐานข่มขืนผู้ชายได้จริงๆ ไม่ได้โม้ตามสำนวนของคุณสมรักษ์เค้า และต่อไปนี้การที่ผู้ชายข่มขืนภรรยาตนเองก็เป็นความผิดถ้าภรรยาไม่ยินยอมเพียงแต่ว่าถ้าคู่สามีภรรยายังตกลงปลงใจจะอยู่ร่วมใช้ชีวิตคู่กันต่อไปก็ให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ตามมาตรา 276 วรรคท้าย ขอเตือนคุณผู้ชายทั้งหลายพึงระวังไว้ด้วย เอาละพูดเรื่องสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายมาเสียยืดยาว มาวกเข้าเรื่องการที่ผู้หญิงหม้าย หรือที่ทางภาคอีสานบ้านเฮาเรียกว่า “แม่ห้าง” สามารถขอใช้คำนำหน้านามว่านางสาวได้กันเลยดีกว่า ด้วย พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะทำให้หญิงซึ่งแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถที่จะเลือกใช้ 'นาง 'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ และหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือประมาณวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จึงขอให้ร้องเพลงรออีกสักนิดหนึ่งนะจ๊ะอย่าทำเป็นใจร้อนไป
สำหรับท่านผู้ชายที่อาจจะรู้สึกแปลกๆ หรือท่านสุภาพสตรีบางท่านที่รู้สึกยังไม่คุ้นชินกับการกลับไปเป็นสาวอีกครั้งหนึ่ง ก็มาทราบเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้กันสักนิดหนึ่ง คือว่า โดยที่การใช้คำนำหน้านามของหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วต้องใช้คำนำหน้านามว่า'นาง'คำเดียว โดยมิอาจเลือกได้ตามความสมัครใจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อหญิงดังกล่าวในการดำรงชีวิตประจำวันอาทิ การประกอบอาชีพ การศึกษาของบุตร และการทำนิติกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้การใช้คำนำหน้านามในลักษณะดังกล่าวของหญิงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ สมควรกำหนดให้หญิงมีทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจซึ่งเป็นการสอดคล้องกับการเลือกใช้นามสกุลตามกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล

สำหรับรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้มีดังนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑'

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบการใช้คำนำหน้านามหญิงเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”

มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง' หรือ 'นางสาว'ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามตามพระราชบัญญัตินี้

ไม่มีความคิดเห็น: