วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ข่าวสัมมนาปุ๋ยสั่งตัดพัฒนาเกษตรไทย วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่ม.เกษตรฯ

ปุ๋ยสั่งตัดพัฒนาเกษตรไทย [27 พ.ค. 51 - 17:51]

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว...ผมเคยพูดถึง ปุ๋ยสั่งตัด อันเป็นศัพท์ที่ ศ.ดร. ทัศนีย์ อัตตะนันท์ อาจารย์ภาคปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา...ด้วยการเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จ ก็เสมือนกับใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยังไงๆมันก็ของโหล ไม่เหมือนกับการใส่เสื้อผ้าที่สั่งตัดซึ่ง ช่างจะตัดเย็บให้พอดิบพอดี ตรงไหนยื่นตรงไหนเว้า ใส่แล้วสบายๆและประหยัดไม่ต้องยัดซิลิโคนให้ต้องเต็มคัพเต็มเต้า (อันเดอร์แวร์)
สั่งตัด...คำนี้อีกความหมายหนึ่งคือ อะไรที่มันล้นมันเกินให้ตัดออก อย่างเช่นในเนื้อดิน ที่ทำการเกษตรนั้นมันมีธาตุที่มีคุณค่าต่อการเจริญเติบโตของต้นพืชมากน้อยแค่ไหน คือ ถ้ามันมีพอเพียงแล้วก็ไม่ต้องใส่ไม่ต้องเติมเข้าไป...จึง สั่งตัดออก อะไรเทือกนั้นทีนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดินแต่ละแหล่งนั้นมีความเข้มของธาตุที่ต้น พืชต้องการมากน้อยแค่ไหน หากจะให้เกษตรกรขุดดินขึ้นมาชิมดูก็คงไม่มีใคร จะปราชญ์เปรื่องทำเช่นนั้น ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันท์ ซึ่งท่านได้คลุกคลี อยู่กับศาสตร์นี้หลายทศวรรษ มีวิธีการพิสูจน์อย่างง่ายๆ (เพียง 5 นาทีก็รู้ผล)...ด้วย ศาสตร์ และ ความรู้ นี้...มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ สมาคมสื่อมวลชนเกษตร แห่งประเทศไทย มีความตระหนักจึงร่วมกัน จัดกิจกรรมถ่ายทอด ด้วยการจัดประชุมสัมมนา ขึ้น ณ ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคาร 50 ปี มก.ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 โดยให้ชื่อว่า ปุ๋ยสั่งตัดพัฒนาเกษตรไทยการ สัมมนาในครั้งนี้นำเอาวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ จริงๆมาถ่ายทอดความรู้ อย่าง อาจารย์ทัศนีย์ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ ศ.ดร.สันทัด โรจน์สุนทร การันตีด้วยตำแหน่งนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย คุณประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ถือว่าต้องอยู่กับปุ๋ยแน่นอนอีกท่านคือ คุณอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก.ซึ่งท่านได้ เอาวิธีการของปุ๋ยสั่งตัดให้สมาชิก ส.ป.ก.ทั่วราชอาณาจักรนำไปใช้.... แล้วได้ผลเป็นอย่างไรก็จะมาบอกกล่าวให้ได้ทราบกันและงานนี้ถือว่าได้รับความร่วมมือจริงๆ ขนาดครูที่เกษียณอายุราชการจาก มก.ไป 10 กว่าปีแล้วยังมาเป็นวิทยากรให้ อย่างเช่น ศ.ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน รศ.ดร.พีระเดช ทองอำไพ เมธีวิจัย คุณชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง ประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาปัญหาราคาปุ๋ย และ คุณเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย ก็มาร่วมด้วยตบท้ายด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ซึ่งกำลังเป๋เรื่องทำนาค้าข้าว จะมาบอกถึง นโยบายการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมี ที่ขาดแคลน และปิดการสัมมนา8 ชั่วโมงในการสัมมนาครั้งนี้จัดเป็น วิทยาทาน...แถมเอกสารกลับไปอ่านที่บ้าน ข้าวเที่ยง เครื่องดื่ม อาหารว่าง ทุกอย่างฟรี...สนใจจองที่นั่ง โทร. 0-2940-5425-6 เวลาราชการ ด่วนเพราะจำนวนจำกัด.
ดอกสะแบง “ไทยรัฐ”

เกษตรกรยุคใหม่ - สัมมนา "ปุ๋ยสั่งตัด"

ในยุคปุ๋ยแพงแบบวันนี้ ทำให้เกิดกระแสหลายอย่างขึ้นมา อย่างเช่น ความพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีไปจนถึงการผลักดันให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งเหมือนกับเค้กก้อนใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นและพยายามเข้ามาครองความเป็นเจ้าของ
จึงเป็นช่วงที่เอาผลงานต่างๆ ในอดีตมาปัดฝุ่นเสนอขายใหม่ มีทั้งแบบที่ล้าสมัยไปแล้วและใช้ใม่ได้ในยุคปัจจุบัน ไปจนถึงความเก่าที่ไม่ได้มีการพัฒนาต่อแล้วก็พยายามเอามาเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้บรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งหลายเคลิบเคลิ้มหลงเชื่อไปกับข้อมูลเหล่านั้น ในที่สุดผลที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรก็น่าจะเหมือนเดิม หรือหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
ความจริงเรื่องนี้จะไปว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นโดยตรงก็อาจไม่ค่อยยุติธรรมนัก เพราะว่าบรรดาหัวหน้าหน่วยงานเหล่านั้นไม่ได้เคยมองไว้ล่วงหน้าก่อนว่าควรดักรออนาคตอย่างไร จึงไม่ได้เตรียมการรับมือไว้เลย พอถึงเวลามีปัญหาเกิดขึ้นจึงต้องเอาของเก่ามาปัดฝุ่นขายอย่างที่เห็นกันอยู่ ดังนั้น ทางสมาคมสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวเกษตร จึงร่วมกันจัดงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ปุ๋ยสั่งตัด" พัฒนาเกษตรไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยใช้ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี ในวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายนนี้ ซึ่งเนื้อหาของการประชุมจะมุ่งสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด
เริ่มต้นจะบรรยายพิเศษ เรื่อง "นโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีขาดแคลนและมีราคาแพง" หลังจากนั้นมีการอภิปราย 2 เรื่อง คือ ความจำเป็นในการใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" มี ศ.ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านดินและปุ๋ยของเมืองไทย มาให้ความเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของปุ๋ยเคมี รวมทั้งคุณเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช ในฐานะนายกสมาคมค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย จะมาเล่าให้ฟังว่า มุมมองของนักธุกิจในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจปุ๋ยนั้นเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน คุณประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย จะมาบอกความรู้สึกว่าชาวนาจะได้ประโยชน์อะไร ส่วนผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรด้วยเช่นกัน ก็คงจะให้ความเห็นว่า ทำไมจึงต้องใช้ปุ๋ยแบบ “สั่งตัด” งานนี้มี คุณเปรม ณ สงขลา ซึ่งเป็นบรรณาธิการวารสารเคหะการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และสรุปการอภิปรายโดย ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการขยายผลเรื่องการใช้ปุ๋ยแบบสั่งตัด และที่สำคัญคือเป็นผู้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมา
ช่วงบ่ายจะมีอภิปรายอีกเรื่องหนึ่ง คือ การใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด” ในนาข้าว โดย ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ นักวิจัยต้นตำรับและศึกษาเรื่องนี้มานานจนได้ผลออกมาชัดเจน จะมาเล่าถึงประโยชน์ของ "ปุ๋ยสั่งตัด" พร้อมทั้งรับฟังมุมมองของผู้ที่นำผลงานวิจัยนี้ไปขยายลงในแปลงนาจริงจากคุณอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก. และคุณทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จะมาเล่าให้ฟังถึงผลที่ได้จากการขยายผล รวมถึงเชิญเกษตรกรตัวจริงที่นำผลงานเหล่านี้ไปปฏิบัติตามว่าได้ผลเป็นอย่างไร โดยมี อ.ถวิล สุวรรณมณี เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และ ดร.ประทีป ทำหน้าที่สรุปผลการอภิปรายอีกชั้นหนึ่ง
ใครที่สนใจและอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ปุ๋ยแบบ "สั่งตัด" ไปฟังกันได้ที่ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายนนี้ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย โทร.0-2940-5425-6 ครับ
พีระเดช ทองอำไพ
ที่มา : คม ชัด ลึก
ย้อนมาเล่าเรื่องการสัมมนาปุ๋ยสั่งตัด พัฒนาเกษตรไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งตอนแรกก็เข้าใจว่าหลายคนคงจะทราบความเป็นมาและเห็นประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยแบบนี้เป็นอย่างดี เพราะว่าได้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ในวงกว้าง รวมทั้งผมเองก็ได้เขียนเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยมาหลายครั้งแล้ว แต่ปรากฏว่าหลังจากได้พูดคุยกับหลายคน กลับกลายเป็นว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า การใช้ปุ๋ยแบบนี้ก็เหมือนเรื่องเดิมๆ ที่เคยทำกันมาแล้ว คือ เรื่องของการผลักดันให้มีการผสมปุ๋ยใช้เอง เพราะว่าจะประหยัดต้นทุนกว่า และได้สูตรปุ๋ยตามที่ต้องการ แสดงว่าความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของปุ๋ยสั่งตัดยังมีน้อยมาก และมองว่าเป็นการเอาของเก่ามาเล่าใหม่หรือปัดฝุ่นตั้งชื่อใหม่ให้ดูน่าสนใจขึ้น ความจริงแล้วเรื่องปุ๋ยสั่งตัด กับเรื่องการผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นคนละเรื่องกันเลยครับ
หลักการของการผสมปุ๋ยใช้เอง ก็คือว่า หาแม่ปุ๋ยที่ต้องการมา แล้วมีการคำนวณและผสมให้ได้สูตรตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการผสมปุ๋ย 15-15-15 ไว้ใช้เอง หรือสูตรอื่นๆ ก็ตาม โดยมีเป้าหมายหลักคือ จะได้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง และได้สูตรปุ๋ยตามที่ต้องการ แต่ความจริงแล้วในหลายกรณีการผสมปุ๋ยแบบนี้กลับมีต้นทุนสูงกว่าปุ๋ย 15-15-15 สำเร็จรูปที่วางขายตามตลาด ขึ้นอยู่กับว่าวัตถุดิบที่เอามาทำแม่ปุ๋ยนั้นเป็นอะไรและมาจากที่ใด แต่ว่าหากต้องการปุ๋ยที่มีสูตรแตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่มีขายเป็นสูตรสำเร็จตามท้องตลาด เช่น 12-9-15 อันนี้ต้องผสมขึ้นมาใช้เองแน่นอนครับ แต่คำถามก็คือว่า สูตร 12-9-15 มีที่มาจากไหน ตรงนี้ต่างหากที่ต้องทำความเข้าใจ
การเลือกว่าจะใช้ปุ๋ยสูตรอะไร ก็ต้องรู้ก่อนว่าในดินมีธาตุอะไรอยู่บ้าง และมีปริมาณมากน้อยเพียงใด และพืชที่เราปลูกอยู่นั้น มีความต้องการธาตุอาหารแต่ละอย่างมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญคือ ดินของตนเองมีคุณสมบัติอย่างไร ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การกำหนดว่าควรใส่ปุ๋ยอะไร ซึ่งความจริงแล้วถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นแทนที่จะเป็นสูตรปุ๋ย ก็อาจต้องพูดถึงความต้องการไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม แต่ละตัวเป็นอย่างไร คือพูดแยกกันเป็นตัวเดี่ยว ๆ ไม่ใช่สูตรผสมเสร็จอย่างที่เคยชินกัน แล้วจึงเลือกใส่ปุ๋ยตามนั้น
การที่จะรู้ว่าดินอย่างหนึ่งเมื่อปลูกข้าวแล้วควรให้ปุ๋ยอะไร เป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะต้องไปศึกษามาก่อนแล้วรวบรวมข้อมูลไว้ ส่วนเกษตรกรทำเพียงแค่ไปวิเคราะห์ดินในพื้นที่ของตัวเองว่ามีธาตุอะไรมากน้อยแค่ไหน แล้วก็เอามาเทียบกับตารางแนะนำ ก็จะรู้ว่าควรใส่ปุ๋ยอะไรในปริมาณมากน้อยแค่ไหน แต่หากเปลี่ยนเป็นข้าวโพดหรือเปลี่ยนเป็นดินที่อื่น คำแนะนำดังกล่าวก็ย่อมแตกต่างกันออกไป และขั้นสุดท้ายคือ ผสมปุ๋ยไว้ใช้เองตามสูตรที่ต้องการ หรือตามสูตรที่ได้จากคำแนะนำ
ดังนั้น การผสมปุ๋ยใช้เองจึงเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีการวิเคราะห์ดินและมีการศึกษามาก่อนอย่างละเอียดโดยนักวิชาการ การพิจารณาความต้องการใช้ปุ๋ยในดินแต่ละแห่งสำหรับพืชแต่ละอย่างก็เหมือนการวัดขนาดตัวเพื่อตัดเสื้อผ้าให้พอดีแก่ผู้ใส่ จึงเรียกว่าเป็นการให้ปุ๋ยแบบ "สั่งตัด" ซึ่งจะได้ขนาดตรงตามความต้องการ ส่วนการผสมปุ๋ยใช้เองก็เหมือนกับการตัดเสื้อผ้าให้ได้ขนาดที่วัดมาก่อน แต่หากเป็นการตัดโดยไม่มีการวัด ก็เหมือนการตัดเสื้อโหล เพื่อให้ใครเอาไปใช้ก็ได้ จึงมักไม่พอดีหรือไม่ได้ขนาด ซึ่งก็คงสู้วิธีการสั่งตัดไม่ได้ครับ
ที่มา : รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

ไม่มีความคิดเห็น: