วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการปลูกข้าวโพด โดยไม่ไถพรวนดินและใช้พืชคลุมดิน



ในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการปลูกข้าวโพด โดยไม่ไถพรวนดินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นผลดีในการอนุรักษ์ดินคือ สามารถลดการพังทลายของผิวหน้าดิน ลดแรงงาน และต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ถ้าการควบคุมวัชพืชในการปลูกพืชโดยไม่พรวนดินไม่ดีพอจะเกิดปัญหามากในระบบการปลูกพืชแบบนี้
การใช้ประโยชน์จากพืชคลุมดินทางการเกษตรด้านต่าง ๆ นั้นมีมานานแล้ว เช่น เพื่อลดการพังทลายของผิวดิน การปรับปรุงโครงสร้างดิน ตรึงไนโตรเจน และเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพและทางเคมีของดิน นอกจากนี้พืชคลุมดินหลายชนิดยังปลดปล่อยสารพิษที่สามารถควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืชโดยไม่เป็นพิษต่อพืชปลูก และต้นพืชคลุมผิวดินยังป้องกันเมล็ดวัชพืชไม่ให้งอกได้ด้วย ที่รู้จักกันดีและนิยมใช้ ได้แก่ ไมยราบไร้หนาม ถั่วแปบ ถั่วพร้า ถั่วนิ้วนางแดง ซึ่งพืชเหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วและมีชีวมวลสูงโดยเฉพาะไมยราบ
กรมพัฒนาที่ดินแนะนำให้ใช้ถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อดินเป็นทรายขาดความสมบูรณ์ ง่ายต่อการชะล้างพังทลายทำให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจต่ำ ประโยชน์ของถั่วพร้า นอกจากเป็นปุ๋ยพืชสดแล้วยังป้องกันกำจัดวัชพืชและใช้ฝักอ่อน ยอดอ่อน เป็นอาหารคนและสัตว์ได้ มีข้อดีคือปลูกง่าย ขึ้นได้ดีในดินทุกประเภทและทุกภูมิอากาศ ทนทานต่อโรคและแมลง น้ำหนักต้นสดประมาณ 7,000 กิโลกรัมต่อไร่
ในประเทศสหรัฐอเมริกาศึกษาการใช้พืชคลุมดินควบคุมวัชพืชในข้าวโพดที่ปลูกโดยไม่ไถพรวนดิน ได้แก่ rye และพืชตระกูลถั่ว 3 ชนิดคือ crimson clover, subterranean และ hairy vetch ซึ่งมีผลทำให้ biomass ของวัชพืชลดลงคล้ายคลึงกันอยู่ระหว่าง 19-95% ซึ่งน้อยกว่าการไม่ใช้พืชคลุม/ไถพรวนดิน การใช้ hairy vetch และไม่ใช่พืชคลุม/ไถพรวน จะมี biomass คล้ายคลึงกันในช่วงระหว่าง 0-49% ซึ่งน้อยกว่าการใช้ rye, crimson clover และ subterranean การใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชทั้งแบบก่อนงอกอย่างเดียว หรือแบบก่อนงอกและหลังงอกด้วย พบว่า biomass ของวัชพืชจะใกล้เคียงกันและผลผลิตข้าวโพดเฉลี่ยยังสูงที่สุดด้วยคือ สูงกว่าการไม่ใช้สารเคมี 16-100%
ในปัจจุบันเกษตรกรไทยที่ปลูกข้าวโพดจำนวนมาก นิยมใช้สารกำจัดวัชพืชกันแทบทุกรายอย่างน้อยที่สุดจำนวน 1 ครั้ง ซึ่งอาจจะใช้แบบก่อนงอก หรือแบบหลังงอก การใช้แบบงอกจะมีวัชพืชเกิดขึ้นใหม่ได้อีก ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องมีการกำจัดวัชพืชอีก 1 ครั้ง โดยอาจจะกำจัดด้วยจอบหรือใช้รถแทรกเตอร์เปิดระหว่างร่อง หรือแถวข้าวโพด หรือการใช้แบบหลังงอกเพียงครั้งเดียว หรือใช้แบบก่อนงอก แล้วใช้แบบหลังงอกหลังจากใช้แบบก่อนงอกประมาณ 1 เดือน
บางครั้งการใช้สารกำจัดวัชพืชเพียงครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องใช้ 2-3 ครั้ง จึงจะควบคุมวัชพืชได้ ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต หากมีการนำพืชคลุมดินมาใช้ร่วมกับการปลูกข้าวโพด โดยอาจจะปลูกก่อนข้าวโพดให้พืชคลุมเจริญเติบโตเต็มพื้นที่นั้น แล้วใช้สารกำจัดวัชพืชฆ่าพืชคลุมดิน เพื่อไม่ให้พืชคลุมเจริญแข่งขันกับข้าวโพด หรือปลูกในระหว่างแถวพร้อมกับข้าวโพด ไม่ให้มีช่องว่าง ทำให้วัชพืชไม่สามารถงอกขึ้นมาได้หรือขึ้นได้น้อย จะช่วยควบคุมวัชพืชได้ดีกว่าแปลงที่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ซึ่งมีช่องว่างและวัชพืชสามารถงอกได้มากกว่า
สดใส ช่างสลัก จากศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ และรังสิต สุวรรณเขตนิคม ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาการใช้พืชคลุมดินทดแทนสารเคมีควบคุมวัชพืชในการปลูกข้าวโพด โดยไม่ไถพรวน โดยใช้ถั่วแปบ ไมยราบ ถั่วพร้า ถั่วขอเมล็ดดำ และสารกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก ได้แก่ pendimenthalin อัตรา 800 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อไร่ สารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอก ได้แก่ fluacifopbutyl อัตรา 200 กรัมต่อไร่ ร่วมกับ formesafen อัตรา 100 กรัมต่อไร่ สารกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกแล้วตามด้วยแบบหลังงอก ก่อนงอกใช้ pendimethalin อัตรา 1.65 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ หลังงอกใช้ fluacifbo butyl อัตราสารออกฤทธิ์ต่อเฮกตาร์ 187.5 กรัม ร่วมกับ fomesafen อัตราสารออกฤทธิ์ 250 กรัมต่อเฮกตาร์ ในพืชคลุมและ 2, 4-D อัตรา 1,200 กรัมต่อเฮกตาร์ ในข้าวโพด
ผลการทดลองพบว่า ถั่วขอเมล็ดดำและถั่วพร้า สามารถเจริญเติบโตคลุมพื้นที่เร็วมากที่สุดภายใน 1 เดือน และมีน้ำหนักแห้งเฉลี่ยสูงสุด พืชคลุมดินทั้ง 4 ชนิด ช่วยลดปริมาณวัชพืชโดยเฉพาะวัชพืชพวกหญ้าได้ดีมากกว่าพวกกกและพวกใบกว้าง การใช้สารกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก และแบบก่อนงอก แล้วตามด้วยแบบหลังงอก สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีกว่าแบบหลังงอก โดยมีน้ำหนักแห้งน้อยกว่า
พืชคลุมดินทั้ง 4 ชนิด ให้ผลผลิตใกล้เคียงกันมาก สารกำจัดวัชพืชไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าวโพด รวมทั้งองค์ประกอบผลผลิตและความสูงต้นในช่วงการเจริญเติบโตระยะแรก แต่ระยะหลัง 6 สัปดาห์หลังปลูกถึงระยะเก็บเกี่ยว การใช้สารกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกมีความสูงน้อยที่สุด
ที่มา : http://www.ku.ac.th/e-magazine/october44/agri/plant.html

ไม่มีความคิดเห็น: