วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ปัญหาราคายางตกต่ำ



มูลเหตุของปัญหา
· สหรัฐอเมริกา ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจาก “ฟองสบู่แตก” เกิดขาดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ เกิดการว่างงาน การลงทุนลดลง โรงงานลดปริมาณการผลิต การจับจ่ายใช้สอยลดลง ซึ่งจะค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก สหรัฐฯเป็นประเทศใหญ่ ขนาดของการค้าขายกับต่างประเทศมีมากมายมหาศาลทั่วโลกทั้งในฐานะผู้ส่งออกและนำเข้า ( ไทยส่งออกไปสหรัฐฯมากที่สุด ) ปัญหานี้จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก เหมือนคลื่นยักษ์ซึนามิ
· อุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นคาดว่าจะลดลงประมาณ 10-15% และคาดว่าจะเกิดกับอุตสาหกรรมยางในภูมิภาคอื่นด้วยเนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางเกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกและสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองผู้คนจะลดความเสี่ยงด้วยการชะลอการซื้อไปก่อน ดังนั้นปริมาณความต้องการใช้ยางธรรมชาติจึงลดลง ( อุปสงค์ลดลง ) และราคาน้ำมันก็ลดลงเช่นกันจึงเป็นแรงบวกให้ราคายางลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนตุลาคม 2551- ( จะรู้สึกว่าราคายางลงเร็วและแรงเพราะเมื่อก่อนราคายางขึ้นไปสูงเกินจริงเนื่องจากนักเกร็งกำไรผละจากการเกร็งกำไรในตลาดเงิน และตลาดทุน เข้าไปเกร็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ( commodity market ) โดยเฉพาะยาง และน้ำมันกันอย่างหนัก ราคายางจึงวิ่งขึ้นไปแตะที่100 บาทเศษ เมื่อการเก็งกำไรดังกล่าวคลายตัว ราคายางก็เริ่มปรับตัวลดลงและลดลงมากขึ้นอีกเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยดังที่กล่าวมาข้างต้น ...ดังนั้นจึงเกิดเร็วและแรง
ข้อเท็จจริง
· ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯที่เกิดคราวนี้กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว
· ปัญหาเศรษฐกิจเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วจึงเป็นไปตามธรรมชาติ/วัฏจักร และเหตุปัจจัย ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ที่จะอยู่กับมันมาแล้วในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านบทเรียนทางสาขาเศรษฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังช่วยกันแก้ไขอยู่
· การลดปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมยางโลกเป็นเหตุการณ์ใช้ช่วงนี้(ไม่รู้จะเป็นต่อไปอีกนานเท่าใด...อยู่ที่ว่า “ ความมั่นใจจะเกิดมีเหมือนเดิมได้เร็ว หรือช้าแค่ไหน” ) ซึ่งความต้องการที่หายไปดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าโรงงานอุตสาหกรรมยางต่างๆในโลกที่ลงทุนไปอย่างมากเป็น100-10,000 ล้านบาทจะมลายหายไปด้วย.ก็เปล่า ? โรงงานก็ยังคงอยู่ เมื่อคำสั่งซื้อสินค้าลดลง โรงงานจึงต้องลดปริมาณการผลิตลง..ดังนั้นภาวการณ์เช่นนี้จึงเป็นเพียงการรอเวลาให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเช่นอดีต..... แล้วทำการผลิตเช่นเดิมต่อไป เพราะ “คน” ไม่เคยหมดความต้องการ....และความอยาก โดยเฉพาะความหรูหราและความสะดวกสบาย.....และยางก็ยังคงเป็นตัวชี้วัดความศิวิไลซ์ของโลก ต่อไปในอนาคต
· ภาคการผลิตระดับต้นน้ำที่เป็นสวนยางและครัวเรือนได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอนเนื่องจากราคายางตกต่ำทำให้รายได้ลดลง แต่ราคาที่เป็นอยู่วันนี้ ( 16 ตุลาคม 2551 ) ก็ยังสูงเป็นสองเท่าของราคายางในช่วงที่ประเทศไทยเจอ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เพราะช่วงนั้นราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อกิโลกรัม ก็เคยผ่านกันมาแล้ว วันนี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นประมาณ35 - 40 บาท ( วันนี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการใดออกมาแจ้งว่าเป็นราคาเท่าใด ...) ดังนั้นเมื่อเหตุเกิดแล้วก็ต้องทำใจและยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งจะหนักจะเบาเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับวิถีการผลิตและวิถีการใช้ชีวิตของเจ้าของสวนยางและแรงงานกรีดยางแต่ละคน ว่าเป็นอย่างไร
“ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรในยามนี้ควรผลิตและดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นดีที่สุด ”

โอกาสและความหวัง
· เจ้าของสวนยาง แรงงานกรีดยางและทุกภาคส่วนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกครั้งนี้และปรับตัวให้ได้โดยเร็ว
· ล่าสุด รมว.กษ.กำลังพิจารณาว่าควรจะใช้กลไกบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศ ( ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม ) ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้าว่าเป็นไรหลังจากมีการหารือกับประเทศต่างๆเหล่านี้แล้ว ? ชั้นนี้แปลว่ารัฐบาลเข้ามาดูแลปัญหาราคาอย่างตกต่ำอย่างใกล้ชิดแล้ว ซึ่งหากมีนโยบายการแก้ไขปัญหาอย่างไร สกย./สกย.จ.นครราชสีมาก็พร้อมปฏิบัติทันที แต่ช่วงนี้ราคาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาด ซึ่งมีทั้งขึ้นและลง จึงขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย สกย.จ.นครราชสีมา “ศูนย์บริการชาวสวนยาง ” จะเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสาร
สรุป รัฐบาลดูแลเอาใจใส่ สกย.พร้อมปฏิบัติ
· เจ้าของสวนยางและแรงงานกรีดยางควรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนการผลิตไปสู่เกษตรกรรมทางเลือกและเกษตรอินทรีย์ ด้วยการยอมรับและเข้าใจปัญหาร่วมกันและช่วยเหลือเอื้อเฟือกันมากขึ้นกว่าเดิม

แนวปฏิบัติที่ควรทำสำหรับเจ้าของสวนยาง
· ลด/งดใช้ปุ๋ยเคมีโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทน และใช้วัสดุคลุมดินบริเวณโค่นต้นยางคำแนะนำของพนักงาน
· ใช้แรงงานของตนเองในการทำงานในสวนให้มากขึ้นกว่าเดิม
· งดการกรีดยางหากทำได้ โดยเฉพาะสวนยางที่กรีดต้นยางขนาดเล็กกว่า 45ซม. ( tapping holiday ) ซึ่งจะทำให้ต้นยางได้พักตัว และมีความสมบูรณ์มากขึ้น น้ำยางก็จะได้มากขึ้นเมื่อกรีดครั้งใหม่ในช่วงที่ราคายางสูงขึ้นกว่านี้ การงดกรีดพร้อมกันทำให้ผลผลิตยางในตลาดลดลง หากมีมากพอจะสามารถเป็นแรงต้านการลดลงของราคาได้ จึงควรทำเป็นกลุ่มๆทุกระดับ
· หากยังจำเป็นต้องกรีดยางต่อและไม่สามารถงดกรีดได้ โดยเฉพาะหากขายเป็นน้ำยางสด ควรงดขาย เพราะราคาน้ำยางสดลดลงมากและบางพื้นที่พ่อค้าไม่รับซื้อเพราะต้องการลดความเสี่ยงเนื่องจากความผันผวนด้านราคา จึงควรหันไปทำเป็นยางแผ่นชั้นดีและเก็บรักษาไว้ในโรงเรือนที่เหมาะสมให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ หากเห็นว่าราคายางเหมาะสมจึงค่อยขาย และควรขายผ่านกลุ่ม/สหกรณ์ฯเป็นดีที่สุด ในยามนี้ “สามัคคีคือพลัง” การชะลอการขายทำให้ผลผลิตยางในตลาดลดลงและช่วยผลักดันให้ราคายางเข้าจุดที่เหมาะสมได้

เรียน ห.สวป,ผอ.ศปจ.ชัยภูมิและพนักงานภาคสนามทุกคน

เอกสารฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อให้ใช้เป็นกรอบการทำความเข้าใจกับเกษตรกรชาวสวนยางใน 2 วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
2. เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความหวังและมีกำลังใจในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค

สุรพล มุละดา
ผอ.สกย.จ.นม.

ไม่มีความคิดเห็น: