วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552


พ่อบุ่น บุญบำรุง อดีตกำนันแหนบทองคำผู้สานฝันการเป็นเจ้าของสวนยางแปลงแรกของจังหวัดชัยภูมิ




โกศล บุญคง เรื่อง/ภาพ


พ่อบุ่น บุญบำรุง กับผู้เขียนในวันที่พูดคุยรำลึกเรื่องราวในอดีตถึงการปลูกยาง

แว่วเสียงเพลงที่ลำนำว่า “จากอีสานบ้านนามาอยู่กรุงจากแดนทุ่งลุยลาย ชัยภูมิบ้านเดิมถิ่นเกิดกาย บ่ได้หายจากจร.......” จากเสียงร้องของนักร้องลูกทุ่งเย็นจิตร พรเทวีซึ่งเป็นเพลงที่โด่งดังมากในอดีต หลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าแล้วบ้านทุ่งลุยลายนี้ ตั้งอยู่ที่ส่วนใหนของประเทศไทยกันแน่ เรามาทำความรู้จักกันเลย บ้านทุ่งลุยลายตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เส้นทางที่ออกจากบ้านห้วยยางตำบลห้วยยาง มุ่งตรงไปยังเขื่อนจุฬาภรณ์นั่นเอง เมื่อเดินทางผ่านหมู่บ้านทุ่งลุยลายเลยไปอีกเพียง ๑๒ กิโลเมตรเท่านั้น ก็จะถึงเขื่อนจุฬาภรณ์

ประวัติบ้านทุ่งลุยลาย

ในอดีตบ้านทุ่งลุยลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยความหลากหลายของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พ่อพรม บุญบำรุง ผู้ใหญ่บ้านคลองบอน อำเภอคอนสาร ได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่บ้านทุ่งลุยลายเป็นคนแรก พ่อพรมและลูกๆ ได้ก่อสร้างฝายกั้นน้ำ ๖ แห่ง ได้แก่ฝายซำปลากั้ง ห้วยยาง ร่องแว่ ร่องจาน ห้วยเดื่อ และซำปลากั้งน้อยเพื่อทำนาข้าว ช่วงแรกชาวบ้านจะมีอาชีพรับจ้างเลี้ยงควายให้คนคอนสาร(ไทคอนสาร) เพื่อแบ่งลูกกัน
ปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๖ ผู้คนเริ่มอพยพขึ้นมาอยู่อาศัยมากขึ้นมาจากบ้านคลองบอน บ้านาเกาะ บ้านห้วยยาง บ้านคอนสาร บ้านนาเขิน และบ้านนาอ้อม อีกประมาณ ๒๐ หลังคาเรือน ต่อมาจึงได้มีการตั้งหมู่บ้านขึ้นมีผู้ใหญ่บ้านรักษาการแทน(นายพรม บุญบำรุง) ขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของบ้านด้อแด้ ตำบลห้วยยาง มีการจัดทำทะเบียนบ้านอย่างเป็นทางการ พัฒนาถนนหนทางและปลูกบ้านอยู่อาศัยคนละ ๒ ไร่
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับการจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ และมีการสำรวจเพื่อจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่
ปีพ.ศ. ๒๕๐๙ สร้างโรงเรียนประชาบาลทุ่งลุยลาย และวัดทุ่งลุยลาย และในปีนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้ามาสำรวจป่าไม้เพื่อให้สัมปทานแก่โรงเลี่อยภูเขียว จึงได้มีการทำถนนเข้าไปตัดไม้บริเวณภูเขาทั้งหมดจนถึงทุ่งกะมัง เมื่อไม้ถูกตัดผู้คนก็อพยพขึ้นมาทำกินมากขึ้นอีก โดยมาจากจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครราชสีมา นครพนม และเพชรบูรณ์
ในปีเดียวกันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์ ได้สร้างถนนเพื่อนำเครื่องจักรเข้ามาเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ รัฐบาลได้ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ได้ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก
ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ รัฐบาลประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ครอบคลุมพื้นที่บ้านทุ่งลุยลาย บ้านทุ่งพระ และบ้านห้วยยาง เนื้อที่ประมาณ ๒๙๐,๐๐๐ ไร่ ได้มีการจับกุม และทำลายทรัพย์สินชาวบ้านจำนวนมาก
ต่อมาได้มีการจัดสรรที่ดินบ้านน้ำทิพย์ บ้านหนองชียงรอด บ้านมอตาเจ๊ก และบ้านหนองหญ้าโก้งให้กับชาวบ้านที่ถูกอพยพ และลูกจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยจัดที่ดินเป็นพื้นที่ทำกิน ๑๕ ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ๒ ไร่ ต่อครอบครัว แต่พื้นที่บางส่วนมีชาวบ้านครอบครองอยู่ก่อนแล้วชาวบ้านที่ถูกอพยพไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ จนทำให้ชาวบ้านได้ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้มีการยกเลิกคำสั่งอพยพชาวบ้านทุ่งลุยลาย
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้อพยพชาวบ้านออกไปยังพื้นที่รองรับ จำนวน ๒ แห่ง คือบ้านน้ำทิพย์ บ้านหนองเชียงรอด ของอำเภอคอนสาร บ้านอ่างทอง บ้านหนองขาม บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านวังขอนแดง บ้านซำจำปา และบ้านซำแดงของอำเภอสีชมพู โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง โดยการกล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมารัฐบาลได้มีนโยบายเมืองล้อมป่า จึงได้มีการผ่อนปรนมากขึ้น
ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ รัฐได้ใช้วิธีการปลูกป่าไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เมื่อต้นไม้โตขึ้นชาวบ้านก็ทำไร่ไม่ได้ ซึ่งเกิดในพื้นที่บริเวณป่าโคกโคกยาง ผาผึ้ง และดงซำเตย
ปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๓ กรมป่าไม้ได้เสนอโครงการเตรียมประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง และได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เกิดปัญหาทับซ้อนกับที่ดินทำกินของเกษตรกรในหมู่ ๑ หมู่ ๒ และหมู่ ๖
จากปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึงปัจจุบันได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างผู้แทนชาวบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐให้เดินสำรวจแนวเขตป่าให้ชัดเจน แต่การแก้ปัญหายังหาข้อยุติไม่ได้

สิ่งดลใจให้เกิดความฝันในการปลูกยางพารา

ก่อนเริ่มปลูกยางพาราพ่อบุ่น บุญบำรุง ยึดอาชีพทำไร่อ้อย ส่งในโควต้าของโรงงานน้ำตาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ต่อมาได้หันมาปลูกลำไย ลิ้นจี่และเป็นคนแรกที่นำพันธุ์มะขามหวานจากจังหวัดเพชรบูรณ์มาปลูกในบ้านทุ่งลุยลาย ในด้านการเป็นผู้นำ นายบุ่น บำรุง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่สองต่อจากนายพรม บุญบำรุงซึ่งเป็นพี่ชาย โดยเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๒๑ ต่อจากนั้นได้รับเลือกเป็นกำนันต่อ จนเกษียณเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต้นกำเนิดแห่งแนวคิดในการปลูกยางพาราเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ขณะดำรงตำแหน่งกำนันตำบลทุ่งลุยลายนั้น จังหวัดชัยภูมิได้จัดทัศนศึกษาโดยนำคณะกำนันผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบลไปดูงานการบริหารเทศบาลตำบลแสนสุข ซึ่งอยู่ในการบริหารของกำนันเป๊าะ(นายสมชาย คุณปลื้ม) คนดังแห่งภาคตะวันออกนั่นเอง ขณะที่ได้ฟังคำบรรยายจากกำนันเป๊าะ ตอนหนึ่งได้พูดถึงความมั่นคงในการปลูกสร้างพืชยืนต้นว่า “ถ้าพูดถึงการปลูกต้นไม้ทุกชนิด สู้ยางพาราไม่ได้ซักอย่าง อยากได้เงินก็กรีด ขี้เกียจก็หยุด ผลผลิตเก็บไว้นานก็ได้ พ่อค้ายิ่งชอบไม่เสียหายเหมือนไม้ผล” เมื่อกลับจากการดูงานก็คิดอยู่ในใจตลอดมาว่าจะต้องปลูกยางพาราให้ได้
อดีตกำนันบุ่นเล่าต่อว่า ช่วงนั้นช่างสิทธิ์(นายประสิทธิ์ จันทาทูม) ซึ่งเป็นลูกจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำงานเป็นช่างที่เขื่อนจุฬาภรณ์มาบอกว่าหลานของตนไปรับจ้างกรีดยางอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี นับว่าโอกาสของการได้ต้นยางมาปลูกได้เปิดทางให้แล้ว ตนจึงได้ไปชวนนายวิไล คำฉันท์ รวมเป็นสามคนเหมารถกระบะไปหาซื้อต้นยางชำถุงที่จังหวัดจันทบุรี ราคาต้นละ ๗.๕๐ บาท ได้ต้นยางมา ๑,๐๐๐ ต้น แบ่งกันสามคนได้คนละ ๓๐๐ กว่าต้น เพื่อได้ทดลองปลูกกันก่อนในปี พ.ศ. ๒๕๒๖











สวนยางแปลงแรก ปลูกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ จำนวน ๓๐๐ ต้น

การปลูกยางในช่วงแรกนี้จะวางแถวลงตามแนวลาดชันของพื้นที่ด้วยความที่ยังขาดความรู้ในการทำขั้นบันได และเห็นว่าเป็นการสะดวกในการปลูกพืชแซมประเภทข้าวโพด และถั่วแดง ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวบ้านแถบนี้ก็ยึดเป็นอาชีพกันอยู่แล้ว ระยะปลูกยางใช้ระยะระหว่างต้น ๓ เมตร ระหว่างแถว ๘ เมตรตามรูปแบบที่สอบถามมาจากจังหวัดจันทบุรี หลังจากปลูกไปแล้วสองปีสังเกตเห็นว่าต้นยางมีการเจริญเติบโตดี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงเหมารถไปซื้อต้นยางชำถุงมาปลูกเพิ่มอีก ๓,๐๐๐ ต้น ส่วนเพื่อนร่วมเดินทางในคราวแรกไม่ไปด้วยแล้วเพราะต้นยางของนายวิไล คำฉันท์ ปลูกไว้ในที่มีน้ำซับไม่บำรุงรักษาต้นยางตายหมด ส่วนของช่างสิทธิ์ถูกทิ้งให้อยู่ร่วมกับป่าปัจจุบันเหลืออยู่ ๕๐ ต้น อยู่ปากทางเข้าสวนกำนันบุ่นนั้นเองเอาพื้นที่ไปปลูกบ้านและต้นที่เหลือก็มีร่องรอยการกรีดอยู่เช่นกัน
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๖ วันที่รอคอยก็มาถึงคือต้นยางมีอายุถึง ๘ ปีแล้วได้ขนาดเปิดกรีดเพื่อเอาน้ำยางเสียที พ่อบุ่น บุญบำรุง และลูกๆ ก็ได้เหมารถกระบะเดินทางไปบ้านจันดี อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะสืบทราบมาว่าที่นี่มีอุปกรณ์ในการดรีดยางครบทุกชนิด จึงได้ซื้อถ้วยรับน้ำยางดินเผา ลิ้นยาง ลวดรัดต้นยาง จำนวน ๔,๐๐๐ ชุด มีดกรีดยาง เครื่องรีดยางชนิดรีดลื่นและชนิดรีดดอกอีกอย่างละหนึ่งตัว แต่ด้วยความที่ถ้วยรับน้ำยางดินเผา จำได้ว่าจะต้องวิ่งไปขนถึงสองเที่ยว เมื่อได้อุปกรณ์ในการเปิดกรีดยางครบถ้วนแล้ว ปัญหาใหญ่ที่รออยู่คือไม่มีใครในครอบครัวมีความรู้ความสามารถในการกรีดยางและการทำยางแผ่นเลย จึงได้ว่าจ้างคนกรีดยางมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน ๓ คน ซึ่งพ่อบุ่นจำชื่อไม่ได้แล้ว มารับจ้างกรีดยางและพร้อมกันนั้นให้ช่วยสอนลูกๆ ของพ่อบุ่นถึงวีธีการกรีดยางและสูตรในการทำยางแผ่นไปด้วยกัน ยางแผ่นดิบที่ได้ต้องจ้างเหมารถกระบะบรรทุกไปส่งขายที่จังหวัดระยองเพราะในพื้นที่ยังไม่มีแหล่งรับซื้อได้ราคาในช่วงนั้น ๑๗ บาทต่อกิโลกรัม









ภาพแสดง ถ้วยรับน้ำยางดินเผาที่ซื้อจากบ้านจันดี จังหวัดนครศรีธรรมราช



วันที่ได้มารู้จักกับ สกย.


จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๖ มีการออกข่าวการปลูกยางพาราของอดีตกำนันนายบุ่น บุญบำรุง แห่งบ้านทุ่งลุยลายเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ข่าวทราบถึงนายประสาน กถนานนท์ หัวหน้าแผนกพัฒนานิเทศเผยแพร่และประชาสัมพันธ์(ตำแหน่งในขณะนั้น) ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดของแก่น ซึ่งตอนนั้นมีเขตในการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางครอบคลุมถึง ๖ จังหวัดรวมถึงจังหวัดชัยภูมิด้วย ได้นำนางจำนูญ ฐิตะฐาน ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในขณะนั้น ไปตรวจเยี่ยม อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ สกย.ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่ ระยะที่ ๒ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ในเขตตำบลทุ่งลุยลาย และบ้านทิกแล้ง หมู่ ๖ ตำบลหนองโพนงาม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นต้นมาจนมาสิ้นสุดโครงการรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ พ่อบุ่นมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการชักชวนเกษตรกรให้เข่าร่วมโครงการกับ สกย. จนทำให้พื้นที่ทุ่งลุยลายที่เคยเป็นภูเขาหัวโล้นในหน้าแล้งเพราะปลูกแต่ข้าวโพด อ้อย และถั่วแดง เขียวชอุ่มไปด้วยสวนยางพาราในปัจจุบัน

รางวัลชีวิตและการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของพ่อบุ่น


พ่อบุ่น บุญบำรุง เป็นกำนันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จนเกษียณในตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ตั้งใจทำงานในหน้าที่จนได้รับรางวัลกำนันแหนบทองคำเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ปัจจุบันอายุ ๘๑ ปี ๖ เดือน แล้ว ยังมีสายตาดีมากอ่านหนังสือพิมพ์รายวันได้อย่างสบาย โดยฝากรถเร่ที่มาขายของในพื้นที่ซื้อมาให้ งานอื่นก็ไม่ได้ทำมากแล้วเห็นแต่เพียงแต่เก็บเอาแผ่นยางที่ผึ่งแดดแล้ว ขึ้นราวเก็บในโรงอบแผ่นยางก็ยังทำได้ เพียงแต่การได้ยินลดน้อยลงไปต้องคุยให้เสียงดังๆ จึงจะพูดได้เข้าใจกัน การดำเนินชีวิตตอนนี้ ใชัชีวิตอยู่กับยายฮี ภรรยาคู่ร่วมสุขร่วมทุกข์ เพียงสองคนในกระต๊อบกลางสวนใกล้ๆกับโรงเก็บแผ่นยางนั่นเอง ท่านบอกว่าแบ่งสวนยางให้ลูกๆ ไปหมดแล้วเก็บไว้กับตนเองยามชราเพียง ๒๐ ไร่เท่านั้น โดยให้บุตรชายเป็นคนกรีดและแบ่งครึ่งกันกับตนเอง สุขภาพยังแข็งแรงดี ถ้าทราบข่าวว่า สกย. มีกิจกรรมประชุมกับชาวบ้าน ท่านก็จะลงมาสมทบด้วยไม่เคยขาด










พ่อบุ่น กำลังนำยางแผ่นที่ผึ่งแดด จนสะเด็ดน้ำแล้วขึ้นแขวนในโรงอบ


หนังสืออ้างอิง

ขอขอบคุณ นายบุ่น บุญบำรุง บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๑ ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ๓๖๑๒๐ ผู้ให้ข้อมูล.
ศูนย์นิเวศชุมชนศึกษาและเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิ้ง,มูลนิธิเกษตรยั่งยืน,“กรณีศึกษาผลกระทบและปัญหาการปลูกยางพาราในพื้นที่ตำบลทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ”.[URL] : Http//http://www.sathai.org/. ๒๕๕๒.

ไม่มีความคิดเห็น: