วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ย่อหลัก พรบ.ละเมิดของเจ้าหน้าที่

ย่อความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539


ก่อนที่จะทราบว่าความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีอะไรบ้าง เป็นอย่างไรนั้น อยากให้ทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่” และ “หน่วยงานของรัฐ” กันเสียก่อน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือ ผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด ส่วนคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

สำหรับเนื้อหาหลักของหัวข้อว่า “ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539” สรุปเป็นหัวข้อ ดังนี้

ความรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ แบ่งเป็น 2 กรณี

1. กรณีกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก
ก. กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง จะฟ้อง
เจ้าหน้าที่ไม่ได้
ข. มิใช่กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว
2. กรณีกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
ก. กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐต่อเมื่อได้กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำโดยจงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือประมาทเลินเล่อธรรมดา เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐ
ข. มิใช่กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัวเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดต่อหน่วยงานของรัฐเต็มจำนวนเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปที่ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ


หลักเกณฑ์ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ในกรณีกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
มีดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกฟ้องคดี โดยกำหนดให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง ห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่นั้นต้องรับผิดในละเมิด ในกรณีนี้ ผู้เสียหายต้องฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรง จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
2. เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเฉพาะกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น
และไม่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดที่เกิดขึ้นตามปกติเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่
3. เจ้าหน้าที่อาจไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวน หน่วยงานของรัฐที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายไปแล้ว ไม่จำต้องเรียกคืนจากเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โดยการใช้สิทธิเรียกคืนจากเจ้าหน้าที่นั้น ให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี หากหน่วยงานของรัฐมีส่วนบกพร่องหรือการละเมิดเกิดจากระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนความรับผิดดังกล่าวออกด้วย
4. ในกรณีละเมิดเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน ไม่ให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น เจ้าหน้าที่แต่ละคนรับผิดเฉพาะส่วนที่ตนได้กระทำละเมิดเท่านั้น

ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด สรุปได้ดังนี้

1. ในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในเรื่องส่วนตัว หรือ ในเรื่องที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายต้องฟ้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดเป็นส่วนตัว โดยฟ้องที่ศาลยุติธรรม จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
2. ในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ และละเมิดนั้นเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการที่เจ้าหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐที่ศาลปกครอง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
3. ในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ และละเมิดนั้นเกิดจากการกระทำอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐที่ศาลยุติธรรม จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ______________________________

ไม่มีความคิดเห็น: