วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อากาศร้อนจัด แล้งยาว ยางอีสานตายเพียบต้องทบทวนแนวทางในการส่งเสริมการปลูกยางในภาคอีสานให้รัดกุม






เริ่มจากตายยอดและยืนต้นตายในที่สุด


โดยปกติแล้วคำแนะนำการปลูกยางพารา แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่ควรน้อยกว่า 1,400 มิลลิเมตร/ปี และจำนวนฝนตกประมาณ 120-150 วัน/ปี ซึ่งถือเป็นปริมาณของฝนที่เหมาะสมต่อการปลูกยางพารา หากมีปริมาณน้ำฝนในระดับต่ำ จะมีผลกระทบต่อการปลูกสร้างสวนยางในช่วงปีแรก ทำให้อัตราการรอดตายต่ำ ต้นยางเกิดแผลไหม้เนื่องจากแสงแดด การเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อย และอาจมีการระบาดของโรคราแป้งและโรคใบจุดนูน ดังนั้นควรเลือกปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม และดูแลรักษาอย่างดี ดังนั้น หากปลูกยางในที่ที่มีปริมาณน้ำดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการให้น้ำแต่หากเกิดสภาพแห้งแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางปลูกใหม่และยางที่มีอายุ 1-3 ปี แสดงอาการขาดน้ำ เช่น เหี่ยวเฉา หากเจ้าของสวนยังสามารถให้น้ำได้ก็เป็นการดีกับต้นยางที่ช่วยประคับประคองให้ผ่านช่วงแล้งไปได้ ลดการปลูกซ่อมในฤดูต่อไป หากไม่สามารถให้น้ำได้ ก็แนะนำให้ใช้เศษพืชมาคลุมโคนต้นยาง ตั้งแต่ปลายฤดูฝน เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดินให้ยาวนาน














สวนยางอายุ ๕ ปีที่ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต ต้องตัดต้นทิ้งจำนวนมาก

แต่ในช่วงที่ฤดูแล้งยาวนานในปี ๒๕๕๓ นี้ ทุกภาคส่วนของประเทศไทยร้อนตับแตก อุณหภูมิสูงขึ้นถึง ๔๒ องศาเซลเซียส มาพร้อมกับกระแสการรณรงค์ลดปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่สำคัญที่เราต้องย้อนกลับไปคิดคือยางพาราเป็นพืชที่ก่อกำเนิดจากแถบอเมริกาใต้ และจะเจริญเติบโตได้ดีบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ที่เส้นละติจูดไม่เกิน ๑๐ องศาลิบดา เหนือและใต้เท่านั้น แต่ความต้องการมนุษย์ย่อมไม่มีขีดจำกัดจึงนำไปปลูกในเขตที่สูง และไม่ใช่เขตร้อนชื้นที่ต้นยางพาราได้กำเนิดมา ทำให้นึกถึงประกาศกระทรวงเกษตรฯ ฉบับที่ ๘ ที่ห้ามมิให้ปลูกยางพาราในเขต ๖จังหวัดในภาคอีสานกล่าวคือ ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา และอำเภออะไรอีกอำเภอหนึ่งจำไม่ได้แล้ว เริ่มแสดงมนต์ขลังออกมาเมื่อยางพาราอายุได้ ๕-๖ ปี ของโครงการล้านไร่และที่เกษตรกรปลูกเองเริ่มแสดงอาการแห้งที่ปลายใบยอดๆ เหมือนน้ำร้อนลวก ใบอ่อนเหี่ยวจนสลัดใบทิ้งหมดเป็นการทิ้งใบรอบสองนอกจากการผลัดใบตามปกติ เริ่มตายจากยอดลงมา(die back) เมื่อขาดน้ำมากขึ้นก็ตายลงรุกลามมาสู่กิ่งล่าง ตามโคนต้นเริ่มมีน้ำยางไหลและแตกเป็นปล้อง นั้นหมายถึงว่าถึงขั้นรุนแรงไม่สามารถเยียวยาได้แล้ว ก็จะยืนต้นตาย ก่งงอเข้าหาลำต้นเหมือนกับถูกไฟไหม้ในที่สุด วิธีการแก้ก็ให้อ่านข้อแนะนำของอาจารย์อารักษ์ จันทุมาดังต่อไปนี้ครับ



สวนที่เกษตรกรปลูกเองอายุ ๖ ปียืนต้นตายเกือบหมดแปลงที่อ.เทพสถิต






สวนยางในสภาพดินทราย

ดินทราย เป็นลักษณะของดินไม่อุ้มน้ำ ไม่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้ เมื่ออากาศแห้งแล้งจัดเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้ดินบริเวณรอบๆ รากต้นยางขาดน้ำ เป็นสาเหตุทำให้ต้นยางตายจากยอดได้ โดยใบอ่อนจะเริ่มเหี่ยวและแห้งจากปลายกิ่งหรือปลายยอด ลุกลามลงมาหาส่วนโคนทีละน้อย และแห้งตายตลอดต้น เปลือกล่อนออกจากเนื้อไม้ มีเชื้อราสีดำหรือสีขาวเกิดขึ้นบริเวณเปลือกด้านใน ดินทรายเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การจัดการสวนยางในดินทราย จึงควรปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น มีความร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เกษตรกรควรผลิตเองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว เศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษพืช มูลสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างคุ้มค่า ต้องทิ้งให้ย่อยสลายโดยสมบูรณ์เสียก่อน แล้วจึงนำมาใส่บริเวณทรงพุ่มของใบยางเช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยเคมี ในอัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี ถ้าต้นยางยังเล็ก ให้ใส่รอบต้นหรือเป็นแถบ 2 ข้างลำต้น ถ้ายางเปิดกรีดแล้ว ให้ใส่ระหว่างแถว โดยคลุกเคล้ากับดินก่อนใส่ปุ๋ยเคมี ประมาณ 15-20 วัน เพื่อปรับสภาพดินต้นยางที่ตายจากยอด และอาการค่อยๆ ลุกลามลงมาที่โคนต้นทีละน้อย แก้ไขโดยตัดส่วนที่แห้งทิ้ง โดยตัดต่ำลงมาถึงส่วนที่ยังเขียวอยู่ แต่ถ้าอาการตายจากยอดยังลุกลามอยู่ จำเป็นต้องตัดหลายๆ ครั้ง โดยทยอยตัดต่ำลงมาเรื่อยๆ แล้วทาบาดแผลที่ตัดด้วยสีน้ำมัน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ พร้อมกับแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ต้นยางตายจากยอดให้มีสภาพดีขึ้น เช่น รดน้ำ พรวนดินรอบโคนต้นยางกรณีหน้าดินจับตัวเป็นแผ่นแข็ง เป็นสาเหตุทำให้น้ำซึมลงลำบาก (แต่หากต้นยางอายุมากกว่า 3 ปี ไม่ควรพรวนดินรอบโคนต้น เพราะกระทบกระเทือนระบบราก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต) ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น เพิ่มอินทรียวัตถุ ทำให้ดินโปร่ง มีการระบายน้ำดีและใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้น การดูแลรักษาสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง จะช่วยป้องกันการเกิดอาการตายจากยอดได้ เฉพาะอย่างยิ่ง ต้นยางในช่วง 2 ปีแรกหลังจากปลูก โดยใช้เศษพืชคลุมดินรอบโคนต้น ซึ่งจะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ได้ในช่วงฤดูแล้ง และทาปูนขาวหรือสีน้ำมันบริเวณโคนต้นเพื่อป้องกันลำต้นไหม้จากแสงแดด
ตัดต้นแล้วเริ่มแตกกิ่งขนาดเล็กออกมา




สรุปแลวตามความคิดของข้าพเจ้า ใครปลูกยางในที่เก็บน้ำไม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ลูกรัง ดินทรายจัด หรือเป็นดินดานอยู่ใต้ดินระดับ ๑ เมตร จะต้องสร้างระบบนิเวศน์ให้เหมาะกับถิ่นกำเนิดเดิมของยางพารามากที่สุด คือมีความชื้นและสามารถมีน้ำหล่อเลี้ยงในฤดูแล้งอย่างเพียงพอเท่านั้น คงหนีไม่พ้น การปลูกพืชคลุมดินและเดินระบบน้ำหยดควบคู่กันไปด้วย นอกจากนั้นต้องมีการปลูกพืชแซมเช่นกล้วยและสัปปะรดเพื่อรักษาหน้าดิน และควรเว้นไม้ป่าไว้บ้างเพื่อสร้างสมดุลเรื่องความร่มรื่นและป้องกันลมแรงที่ทำให้ต้นยางโค่นล้มหรือกิ่งหัก เป็นความโชคร้ายที่การตายจากขาดน้ำมาเกิดกับต้นยางที่อายุเกือบเปิดกรีดได้แล้วกลับมาตายอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น สูญเสียเงินทุน แรงกายและแรงใจมากมายจริงๆ ไม่เฉพาะยางพาราดูขนาดผู้ปลูกชะอมปลอดสารพิษที่บ้านโพธิ์รังนกที่ปลูกส่งประเทศญี่ปุ่นวันละ ๒๐๐ กิโลกรัม เมื่อคลองชลประทานไม่มีน้ำชะอมยืนต้นตายต้องถูกปรับที่ส่งชะอมส่งออกไม่ได้ถึง ๒๐๐ บาทต่อกิโลกรัม หนักเอาการเหมือนกัน





สภาพที่ต้นยางตายทั้งแถวซึ่งขนาดลำต้น ๔๗ เซนติเมตรแล้ว




อ้างอิงที่มา : ขอขอบคุณคำแนะนำจากอาจารย์อารักษ์ จันทุมา ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง







ไม่มีความคิดเห็น: