วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การจัดการสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม

จากการเปิดเผยของ คุณสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ว่า ยางพาราที่ปลูกในสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่นา ดินทราย ดินลูกรัง หน้าดินตื้น ดินปลวก จะมีผลทำให้ต้นยางเจริญเติบโตช้า ไม่ต้านทานโรคและให้ผลผลิตต่ำ และยังอาจมีผลกระทบตามมาจากภัยธรรมชาติได้อีกด้วย ดังนั้น ในการตัดสินใจปลูกยาง เกษตรกรควรพิจารณาหลักเกณฑ์สำหรับปลูกยางพาราให้เหมาะสม ได้แก่ การเลือกพื้นที่ปลูก พันธุ์ยางที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีการจัดการสวนยางที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้ต้นยางสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถทนต่อสภาวะที่เกิดขึ้นจากความแห้งแล้งและภัยธรรมชาติอื่นๆ ได้ แต่หากเกษตรกรได้ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ต้นยางรอดตายได้ในระดับหนึ่ง แต่เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คุณอารักษ์ จันทุมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้ให้แนวทางในการจัดการสวนยางเพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

สวนยางในสภาพพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่นา น้ำท่วมขัง และพื้นที่นาดอนพื้นที่ราบลุ่ม หรือพื้นที่นา

เป็นพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงหรือระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน น้ำจะซึมผ่านลงไปได้ยาก ทำให้เกิดการไหลบ่า หรือการขังน้ำผิวหน้าดิน พื้นที่เหล่านี้มีการระบายน้ำไม่ดี สภาพน้ำท่วมขังทำให้รากยางขาดก๊าซออกซิเจน ส่งผลกระทบต่อต้นยาง ทำให้ลำต้นแคระแกร็น โคนต้นโต แตกพุ่มเตี้ย และใบเหลืองซีดคล้ายๆ อาการขาดธาตุไนโตรเจน บางครั้งอาจพบปลายยอดแห้งตาย การจัดการสวนยางที่ปลูกในที่ลุ่ม แนะนำให้ทำทางระบายน้ำออกจากแปลงให้พ้นระดับรากของต้นยาง หรือไถยกร่อง อย่างไรก็ตาม การยกร่องจะช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตในช่วง 3-4 ปีแรก แต่หลังจากนั้นต้นยางจะชะงักการเจริญเติบโต การจัดการสวนยางในสภาพพื้นที่ดังกล่าวนี้ แม้ช่วยให้ต้นยางรอดตาย แต่ก็แคระแกร็น เจริญเติบโตช้าและให้ผลผลิตต่ำ ส่วนพื้นที่นาดอน เป็นพื้นที่ระบายน้ำไม่ดี จำเป็นต้องระบายน้ำออกจากแปลงยางในช่วงที่ฝนตกชุก หรือมีน้ำขัง แต่พื้นที่นาดอนบางแห่งสามารถปลูกยางได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน โดยสามารถสังเกตสีของดิน หากเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี สีของดินจะมีลักษณะสม่ำเสมอ มีสีพื้นเป็นสีเดียวกันตลอดความลึก เช่น มีสีแดง สีเหลืองปนแดง หรือสีน้ำตาลปนเหลือง ต้นยางสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่หากเป็นพื้นที่ระบายน้ำเลว น้ำที่ขังอยู่ตามช่องว่างของดินจะเกิดจุดสีประ ทำให้ดินมี 2 สี โดยสีหนึ่งปรากฏเป็นจุดกระจายอยู่บนสีพื้นอีกสีหนึ่ง มองเห็นชัดเจน เช่น จุดประสีเหลือง สีเทา หรือสังเกตได้จากพืชที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในที่มีการระบายน้ำเลว เช่น ต้นกก หญ้าลิเภา แห้วหมู หรือลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มถึงลูกคลื่นลอนลาด มีความลาดชันเล็กน้อย และมีระดับน้ำใต้ดินตื้น ซึ่งเป็นลักษณะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกยางสวนยาง

ในสภาพดินทราย ดินทราย เป็นลักษณะของดินไม่อุ้มน้ำ

ไม่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้ เมื่ออากาศแห้งแล้งจัดเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้ดินบริเวณรอบๆ รากต้นยางขาดน้ำ เป็นสาเหตุทำให้ต้นยางตายจากยอดได้ โดยใบอ่อนจะเริ่มเหี่ยวและแห้งจากปลายกิ่งหรือปลายยอด ลุกลามลงมาหาส่วนโคนทีละน้อย และแห้งตายตลอดต้น เปลือกล่อนออกจากเนื้อไม้ มีเชื้อราสีดำหรือสีขาวเกิดขึ้นบริเวณเปลือกด้านใน ดินทรายเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การจัดการสวนยางในดินทราย จึงควรปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น มีความร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เกษตรกรควรผลิตเองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว เศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษพืช มูลสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างคุ้มค่า ต้องทิ้งให้ย่อยสลายโดยสมบูรณ์เสียก่อน แล้วจึงนำมาใส่บริเวณทรงพุ่มของใบยางเช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยเคมี ในอัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี ถ้าต้นยางยังเล็ก ให้ใส่รอบต้นหรือเป็นแถบ 2 ข้างลำต้น ถ้ายางเปิดกรีดแล้ว ให้ใส่ระหว่างแถว โดยคลุกเคล้ากับดินก่อนใส่ปุ๋ยเคมี ประมาณ 15-20 วัน เพื่อปรับสภาพดินต้นยางที่ตายจากยอด และอาการค่อยๆ ลุกลามลงมาที่โคนต้นทีละน้อย แก้ไขโดยตัดส่วนที่แห้งทิ้ง โดยตัดต่ำลงมาถึงส่วนที่ยังเขียวอยู่ แต่ถ้าอาการตายจากยอดยังลุกลามอยู่ จำเป็นต้องตัดหลายๆ ครั้ง โดยทยอยตัดต่ำลงมาเรื่อยๆ แล้วทาบาดแผลที่ตัดด้วยสีน้ำมัน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ พร้อมกับแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ต้นยางตายจากยอดให้มีสภาพดีขึ้น เช่น รดน้ำ พรวนดินรอบโคนต้นยางกรณีหน้าดินจับตัวเป็นแผ่นแข็ง เป็นสาเหตุทำให้น้ำซึมลงลำบาก (แต่หากต้นยางอายุมากกว่า 3 ปี ไม่ควรพรวนดินรอบโคนต้น เพราะกระทบกระเทือนระบบราก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต) ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น เพิ่มอินทรียวัตถุ ทำให้ดินโปร่ง มีการระบายน้ำดีและใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้น การดูแลรักษาสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง จะช่วยป้องกันการเกิดอาการตายจากยอดได้ เฉพาะอย่างยิ่ง ต้นยางในช่วง 2 ปีแรกหลังจากปลูก โดยใช้เศษพืชคลุมดินรอบโคนต้น ซึ่งจะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ได้ในช่วงฤดูแล้ง และทาปูนขาวหรือสีน้ำมันบริเวณโคนต้นเพื่อป้องกันลำต้นไหม้จากแสงแดด

สวนยางในสภาพดินลูกรัง และหน้าดินตื้น

ดินลูกรังในประเทศไทยเป็นดินที่มีปัญหาในการทำเกษตรกรรมชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นดินตื้น มีชั้นลูกรังหรือเศษหินกรวดเกิดขึ้นเป็นชั้นหนาและแน่น จนเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช และพบในความลึก 50 เซนติเมตร จากผิวดิน เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่อุ้มน้ำ การระบายน้ำไม่ดี มีการชะล้างพังทลายของดินสูง และเกิดการกัดกร่อนผิวหน้าดินในบริเวณที่มีความลาดชันสูง กล่าวโดยทั่วไป ดินลูกรังและดินตื้น เป็นดินที่มีศักยภาพในการเกษตรต่ำ เพราะภายใต้ชั้นลูกรังลงไปมักเป็นชั้นดินเหนียว เป็นอุปสรรคต่อการเจริญของรากพืช ต้นยางที่ปลูกในดินลักษณะเช่นนี้ จะพบว่าในช่วง 1-3 ปีแรก เจริญเติบโตดี หลังจากนั้น ต้นยางจะชะงักการเจริญเติบโต ขอบใบแห้งและตายในฤดูแล้ง เพราะต้นยางไม่สามารถใช้น้ำในระดับรากแขนงได้ และหากช่วงแล้งยาวนาน จะมีผลทำให้ต้นยางตายจากยอด การแก้ไขเบื้องต้นคือ การตัดยอดเพื่อให้ต้นยางแตกกิ่งขึ้นมาใหม่ ซึ่งช่วยให้ต้นยางไม่ตาย แต่ก็ไม่ค่อยโต ควรใช้ประโยชน์ของดินลูกรังในการปลูกพืชไร่หรือพืชรากตื้นชนิดอื่นจะดีกว่า เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวไร่ ถั่วชนิดต่างๆ โดยต้องมีหน้าดินหนาประมาณ 20 เซนติเมตร ขึ้นไป มีการระบายน้ำดีหรือดีปานกลาง ไม่มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน หรือทำเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำนา ปลูกไม้ยืนต้นประเภทไม้โตเร็วบางชนิดกรณีชั้นลูกรังไม่จับกันแน่นนัก เพื่อเป็นพื้นที่ป่าหรือใช้ประโยชน์ เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น ยูคาลิปตัส มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ มะขาม น้อยหน่า มะขามเทศ นุ่น สะเดา ขี้เหล็กบ้าน แต่ต้องปรับปรุงหลุมปลูกด้วยหน้าดินร่วมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อย่างไรก็ดี ดินลูกรังที่พบในบริเวณที่มีฝนตกมากกว่า 1,600 มิลลิเมตร ต่อปี เช่น ในแหล่งปลูกยางเดิมทางภาคใต้และภาคตะวันออก สามารถปลูกยางได้ดี ส่วนดินลูกรังที่พบในบริเวณที่มีฝนตกมากกว่า 1,400 มิลลิเมตร ต่อปี สามารถปลูกยางได้ โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านเหนือ และด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2550)

สวนยางในสภาพดินปลวกดินปลวก

เป็นดินที่มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวเกาะยึดกันเองและเกาะยึดกับสารอื่นได้ดีมาก จึงไม่ร่วนซุย แต่เหนียวเหนอะหนะและพองตัวเมื่อเปียก แต่เมื่อแห้งเนื้อดินจับกันเป็นก้อนแข็งแกร่ง การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า และรากยางชอนไชเพื่อดูดน้ำและธาตุอาหารได้ยาก ประกอบกับดินจับตัวเป็นก้อน เมื่ออยู่ในสภาพแห้งแล้งอาจเป็นสาเหตุทำให้รากยางขาด โดยเฉพาะรากฝอย ทำให้ต้นยางอ่อนแอ ชะงักการเจริญเติบโตและตายได้ ขณะนี้ยังไม่มีวิธีแก้ไขต้นยางที่ปลูกในดินปลวกให้เจริญเติบโตได้แม้มีความพยายามแก้ไข และปรับหลุมปลูกให้กว้าง ยาว และลึกมากขึ้น แล้วปรับปรุงดินในหลุมปลูกด้วยหน้าดินร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแล้วก็ตาม แต่ต้นยางที่เพิ่งปลูกก็ยังตายเช่นเดิมอย่างไรก็ตาม การมีปลวกสร้างรังบริเวณโคนต้น ก็ทำความเสียหายแก่ต้นยางได้ ซึ่งพบทั้งปลวกที่กินไม้แห้งและต้นยางสด แม้ปลวกบางชนิดจะไม่กินต้นยางสด แต่การสร้างรังบริเวณโคนต้น ก็ทำให้ดินเป็นโพรง เมื่อมีลมพัดทำให้ต้นยางโค่นล้มเสียหายได้ จึงควรป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีที่เป็นของเหลวราดรอบๆ โคนต้นที่พบปลวกและต้นข้างเคียง ต้นละ 1-2 ลิตร โดยขุดดินเป็นร่องแคบๆ รอบโคนต้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีซึมขยายออกทางด้านข้างมากเกินไป ได้แก่ คาร์โบซัลแฟน(carbosulfan) 20%EC เช่น พอสซ์ อัตรา 40-80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโปรนิล (fipronil) 5% SC เช่น แอสเซ็นต์ อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร คุณสุขุม กล่าวในตอนท้ายว่า ก่อนที่เกษตรกรจะตัดสินใจปลูกยาง ควรสำรวจสภาพพื้นที่และสภาพดินเสียก่อนว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ ซึ่งควรมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,250 มิลลิเมตร ต่อปี และมีจำนวนวันฝนตก 120-150 วัน ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง เพราะหากปลูกยางไปแล้วและมาแก้ไขปัญหาในภายหลัง ย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันเป็นการเพิ่มต้นทุน เพราะบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ บางปัญหาสามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการเสียเวลาและอาจไม่คุ้มค่า ดังนั้น เกษตรกรจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจปลูกยาง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอคำแนะนำ หรือขอรับเอกสารคำแนะนำต่างๆ ได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-1576 หรือศูนย์วิจัยยาง และสำนักงานตลาดกลางยางพารา กรมวิชาการเกษตรจังหวัดต่างๆ ได้แก่ หนองคาย บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ทั้งนี้ เพื่อเกษตรกรของเราสามารถปลูกยางให้เจริญเติบโตได้ดี ประสบผลสำเร็จ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นพลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุดหน้าต่อไป


อ้างอิงที่มา : นายสุขุม วงษ์เอก,สถาบันวิจัยาง

ไม่มีความคิดเห็น: