วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

แนวคำตอบข้อสอบวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

ให้ทำแบบทดสอบทุกข้อ ๆ ละ 25 คะแนน ภายในเวลา 3 ชั่วโมง ทดสอบวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2555 เวลา 13.00-16.00 น.(เพื่อความพร้อมในการสอบปลายภาคและปรับปรุงวิธีการเขียน ต้องส่งคำตอบทุกคน) ******************************************************************************* ข้อ 1. ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการชำระสะสางกฎหมายอย่างไร กฎหมายที่กล่าวนั้นมีความเป็นมาและมีความสำคัญอย่างใด ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่มีผู้เรียกกฎหมายนั้นว่าเป็นประมวลกฎหมาย อธิบายพอเข้าใจ (35 คะแนน) แนวคำตอบ -มูลเหตุของการชำระกฎหมายตราสามดวง กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในระยะแรกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นก็คือกฎหมายที่ใช้อยู่เมื่อครั้ง กรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยความจำ และการคัดลอกมาตามเอกสารที่หลงเหลือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงทำการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ โดยอาศัยมูลอำนาจอธิปไตยของ พระองค์เองบ้าง อาศัยหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน ฟังคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บ้างจนกระทั่งได้เกิดคดีขึ้นคดีหนึ่งและมีการทูลเกล้าฯถวายฎีกา คดีที่เกิดขึ้นนี้แม้เป็นคดีฟ้องหย่าของชาวบ้านธรรมดา แต่ที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย ก็คือผลจากคดีนี้เป็นต้นเหตุให้นำมา ซึ่งการชำระสะสางกฎหมายในสมัยนั้น เป็นคดีที่อำแดงป้อม ฟ้องหย่านายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ทั้งๆ ที่ตนได้ทำชู้ กับ นายราชาอรรถ และศาลได้พิพากษาให้หย่าได้ตามที่อำแดงป้อมฟ้อง โดยอาศัยการพิจารณาคดีตามบทกฎหมาย ที่มีความว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้” เมื่อผลของคดีเป็นเช่นนี้ นายบุญศรีจึงได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกา ต่อพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเห็นด้วยกับฎีกาว่าคำพิพากษาของศาลนั้น ขัดหลักความยุติธรรม ทรงสงสัยว่าการพิจารณาพิพากษาคดีจะถูกต้องตรงตามตัวฉบับกฎหมายหรือไม่ จึงมีพระบรมราชโองการ ให้เทียบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ศาลใช้กับฉบับที่หอหลวงและที่ห้องเครื่อง แต่ก็ปรากฏ ข้อความที่ตรงกัน เมื่อเป็นดังนี้ จึงทรงมีพระราชดำริว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสม อาจมีความคลาดเคลื่อนจากการคัดลอก สมควรที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายใหม่ เหมือนการสังคายนา พระไตรปิฎกจากคดีอำแดงป้อมดังกล่าวข้างต้น ได้แสดงให้เห็นหลักกฎหมายสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่ว่าแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามไม่มีพระราชอำนาจที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ตามอำเภอใจ ในคดีนี้แม้จะทรงเห็นว่าคำตัดสินนั้นไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม อันอาจเนื่องมาจากการคัดลอกกฎหมายมาผิด ก็ชอบที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายให้กลับไปสู่ความถูกต้องเหมือนการสังคายนาพระไตรปิฎก ดังพระราชปรารภที่ว่า “ให้กรรมการชำระพระราชกำหนดบทพระอายการ อันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกถ้วน ตามบาฬีและเนื้อความ มิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกัน ได้จัดเป็นหมวด เป็นเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงอุตสาห ทรงชำระดัดแปลง ซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้”กฎหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่รัดังนั้นฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายในรัชกาลที่ ๑ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่า แล้วรวบรวม เป็นประมวลกฎหมายขึ้นเมื่อ จุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๗ โปรดให้เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกสามชุด แต่ละชุดประทับตรา ๓ ดวง คือ ตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้ว ไว้ทุกเล่มเก็บไว้ ณ ห้องเครื่องชุดหนึ่ง หอหลวงชุดหนึ่ง และศาลหลวงอีกชุดหนึ่ง เมื่อครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ม.เอร์ แลงกาต์ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศส เป็นผู้ชำระกฎหมายตราสามดวงใหม่นั้น ได้สันนิษฐานว่าหนังสือฉบับหลวงชุดหนึ่งเป็นสมุดไทย ๔๑ เล่ม ฉะนั้น กฎหมายฉบับหลวงมีตราสามดวงซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น จึงมี ๓ เล่ม ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๗๙ เล่ม เก็บไว้ที่กระทรวงยุติธรรม ๓๗ เล่ม หอสมุดแห่งชาติ ๔๒ เล่ม ส่วนอีก ๔๔ เล่ม ไม่ทราบว่า ขาดหายไปด้วยประการใด จากฉบับหลวง ตราสามดวง ๓ ชุด ดังกล่าวแล้ว ความสำคัญของกฎหมายตราสามดวงกฎหมายตราสามดวง กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะเป็นกฎหมายของนักกฎหมาย (Juristenrecht) กล่าวคือ กฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ของกฎหมายตราสามดวงโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพระธรรมศาสตร์ ที่มีลักษณะทั่วไปและมีฐานะสูงกว่าจารีตประเพณี มีการจัดระบบกฎหมายที่เป็นระบบและมีการใช้เหตุผลของนักกฎหมายปรุงแต่ง กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะที่เป็นกฎหมายธรรมชาติ ทุกคนแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่มีการบัญญัติโดยแท้ บทกฎหมายใหม่นี้จึงเป็นผลงานของ นักกฎหมาย อันได้แก่ ศาลและพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นนักกฎหมายด้วย ไม่ใช่กฎหมาย ที่บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผลทางเทคนิค โดยกระบวนการนิติบัญญัติอย่างปัจจุบัน มีความนับถือตัวบทกฎหมาย เชื่อว่าไม่มีใครสามารถแก้กฎหมายได้เพราะกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่คนสร้างขึ้น แม้แต่กษัตริย์ก็แก้ไม่ได้ หากเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสมจะใช้การชำระสะสางไม่ใช่ยกร่างขึ้นใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม ไม่ใช่ประมวลกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านเพราะเป็นที่รวมของบทกฎหมายที่ปรุงแต่งโดยนักกฎหมายและจารีตประเพณีที่สำคัญเท่านั้น การเรียกว่าประมวลกฎหมายตราสามดวงนั้นเป็นเพียงการใช้คำว่าประมวลเพื่อยกย่องเท่านั้นเป็นกฎหมายที่ใช้เป็นคู่มือในการชี้ขาดตัดสินคดีเพราะเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาพิพากษาคดี และใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นหลัก ไม่ใช่กฎหมายที่เขียนขึ้นในลักษณะตำรากฎหมาย บางครั้งมีผู้เรียกกฎหมายตราสามดวงว่าเป็น ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตจำนวน ๑๑ คน นำตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มาชำระ และปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายต่างๆ ให้มีความยุติธรรมและเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ชำระขึ้น และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๓๔๗* นอกจากจะนำกฎหมายเก่าที่ใช้กันในสมัยอยุธยามาชำระแล้ว ก็ยังได้ตรากฎหมายใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่ากฎหมายตราสามดวงยังไม่อาจถือเป็นประมวลกฎหมายได้เพราะยังไม่ได้จัดหมวดหมู่กฎหมายอย่างชัดเจนเพียงพอประมวลกฎหมาย คือ กฎหมายซึ่งรวมบทกฎหมายต่าง ๆ ในเรื่องเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน และได้จัดให้มีการบัญญัติอย่างเป็นระบบ มีการจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย และมีข้อความท้าวถึงซึ่งกันและกัน ซึ่งประมวลกฎหมายฉบับแรกของประแทศไทย ก็คือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งนับได้ว่าเป็นประมวลกฎหมายอาญาที่ทันสมัยมากในขณะนั้น เพราะได้นำหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศต่างๆมาพิจารณาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของไทยอันเป็นการยกระดับประเทศขึ้นสู่ระดับอารยประเทศ ประเทศไทยใช้กฎหมายตราสามดวงเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งไทยต้องเผชิญกับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในพ.ศ. ๒๓๙๘ และทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันกับชาติตะวันตกอื่นๆ ชาติตะวันตกเหล่านั้นมีระบบกฎหมายที่แตกต่างไปจากกฎหมายของไทย และมองว่ากฎหมายไทยป่าเถื่อน จึงเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากไทย เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทยและศาลไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องเร่งรีบปฏิรูปกฎหมาย และการศาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก เพื่อไทยจะได้เอกราชทางกฎหมายและการศาลคืนมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระกฎหมาย และจัดทำประมวลกฎหมายใหม่ขึ้น การชำระและการร่างกฎหมายใหม่นั้นได้กระทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะๆเมื่อกฎหมายลักษณะใดเสร็จ ก็ประกาศใช้ไปพลางๆ ก่อน จนใน พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงประกาศใช้กฎหมายใหม่ได้ครบทุกลักษณะ และกฎหมายตราสามดวงก็ได้ยกเลิกไปในที่สุด ข้อ 2. อธิบายโดยสังเขปถึงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่ศึกษามาจากวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยว่ามีกี่อย่าง อะไรบ้าง ยกตัวอย่างประกอบอย่างน้อย 2 ประการ (35 คะแนน) แนวคำตอบ แนวคิดและวิวัฒนาการในการออกเอกสารสิทธิที่ดินของประเทศไทย 1. ประวัติความเป็นมาของการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไปและให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะและที่ชายทะเล ที่ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างยิ่ง ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกๆ วัน ขณะที่พื้นดินมีอยู่เท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม เนื่องจากภัยธรรมชาติและการทำลายของมนุษย์ รัฐจึงต้องมีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินเพื่อเป็น การรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินแก่เจ้าของ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการโต้แย้งสิทธิในที่ดินและเป็น หลักทรัพย์สำหรับเจ้าของที่ดินนั้น ซึ่งรับรองสิทธิหรือการออกเอกสารสิทธิที่ดินมีวิวัฒนาการมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนถึงปัจจุบันตามลำดับดังต่อไปนี้ 1.1 สมัยกรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง (ระหว่าง พ.ศ.1820 - 1860) พระองค์ทรงปกครองบ้านเมือง ในรูปบิดาปกครองบุตร ทรงดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจเกี่ยวกับการทำประโยชน์ในที่ดิน โดยให้พลเมืองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้ได้พืชผลมาเป็นปัจจัยในการบริโภคและอุปโภคพอควรแก่ระดับการครองชีพในสมัยนั้น เมื่อราษฎรเข้าบุกเบิกหักร้างถางพงในที่ดินจนเพาะปลูกได้ผลประโยชน์แล้วก็โปรดให้ที่ดินนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ออกแรงออกทุนไปดังปรากฏในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ว่า “ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชมสร้างป่าหมาก ป่าพลู ทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลาย ในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้าง ได้ไว้แก่มัน” เมื่อเจ้าของที่ดินตายลงก็ยอมรับรองให้ทายาทบุตรหลานสืบมรดกตกทอดต่อกันไป ดังข้อความในศิลาจารึกว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแลล้มตายหายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อ เสื้อคำมัน ช้าง ขอลูกเมียเยียข้าม ไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมากป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น” (100 ปี กรมที่ดิน, 2543, หน้า 1) 1.2 สมัยกรุงศรีอยุธยา 1.2.1 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง ทรงมีพระบรมราชโองการให้ขุนเกษ ตราธิบดี เสนาบดีกรมนาร่างกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จที่เกี่ยวกับที่ไร่ ที่นา เรือกสวน เมื่อ พ.ศ.1903 ดังนี้ บทที่ 35 มาตรา 33 “ถ้าผู้ใดโก่นสร้างเลิกรั้งที่ไร่นาเรือกสวนนั้นให้ไปบอกแก่ เสนานายระวาง นายอากรไปดูที่ไร่นาเรือกสวนที่โก่นสร้างนั้นให้รู้มากแลน้อยให้เสนานายระวาง นายอากร เขียนโฉนดให้ไว้แก่ผู้เลิกรั้งโก่นสร้างนั้นให้รู้ว่าผู้นั้นอยู่บ้านนั้นโก่นสร้างเลิกรั้งตำบล นั้นขึ้นในปีนั้นเท่านั้นไว้เป็นสำคัญ ถ้าแลผู้ใดลักลอบโก่นสร้างเลิกรั้งทำตามอำเภอใจตนเอง มิได้ บอกเสนานายระวาง นายอากร จับได้ก็ดี มีผู้ร้องฟ้องพิจารณาเป็นสัจไซร้ ให้ลงโทษ 6 สถาน” บทที่ 42 “ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามหาดิลกนพรัตน์ราชธานี บุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่จะได้เป็นที่ราษฎรหา มิได้ และมีพิพาทแก่กันดังนี้ เพราะมันอยู่แล้ว มันละที่บ้านที่สวนมันเสียและมีผู้หนึ่งเข้ามาอยู่แล ล้อมทำไว้เป็นคำนับแต่มันหากไปราชภารกิจสุขทุกข์ประการใดๆ ก็ดี มันกลับมาแล้วมันจะเข้าอยู่ เล่าไซร้ ให้คืนให้มันอยู่เพราะมันมิได้ซัดที่นั้นเสีย ถ้ามันซัดที่เสียช้านานถึง 9 ปี 10 ปี ไซร้ ให้แขวง จัดให้ราษฎรซึ่งหาที่มิได้นั้นอยู่ อย่าให้ที่นั้นเปล่าเป็นทำเลเสีย อนึ่ง ถ้าที่นั้นมันปลูกต้นไม้อัญมณี อันมีผลไว้ให้ผู้อยู่ให้ค่าต้นไม้นั้น ถ้ามันพูนเป็นโคกไว้ให้บำเหน็จซึ่งมันพูนนั้นโดยควร (ส่วนที่นั้น มิให้ซื้อขายแก่กันเลย)....” บทที่ 43 “ถ้าที่นอกเมืองหลวงอันเป็นแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยาใช่ที่ราษฎรอย่าให้ ซื้อขายแก่กันอย่าไว้ให้เป็นทำเลเปล่าแลให้นายบ้าน นายอำเภอ ร้อยแขวงและนายอากรจัดคนเข้าอยู่ในที่นั้น อนึ่ง ที่นอกเมืองทำรุดอยู่นานก็ดีและมันผู้หนึ่งล้อมเอาที่นั้นเป็นไร่เป็นสวนมัน มันได้ปลูกต้นไม้สรรพอัญมณีที่นั้นไว้ให้ลดอากรไว้แก่มันปีหนึ่ง พันกว่านั้นเป็นอากรหลวงแล” ตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ 3 บทดังกล่าว สรุปหลักการใหญ่ๆ ได้ว่า - โฉนดตามกฎหมายเบ็ดเสร็จเป็นใบอนุญาตที่นายเสนาระวาง นายอากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เขียนใบอนุญาตโฉนดให้ผู้ขอที่ดินยึดถือไว้เป็นคู่มือสำหรับที่ มิได้หมายความว่าผู้ถือโฉนดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดั่งเช่นในปัจจุบันแต่ออกให้เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษี - ที่ดินทั้งในและนอกเมืองในแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยาเป็นของพระเจ้าอยู่หัวราษฎรเป็นผู้ถือครองในฐานะผู้อาศัยเสียภาษีเป็นเสมือนค่าเช่า ห้ามมิให้ซื้อขายซึ่งกันและกัน - ผู้ที่จะได้ที่ดินจะต้องขออนุญาตจับจองหรือทางราชการจัดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องที่ดินดังกล่าวนี้ คือ กรมนาซึ่งเป็นกรมหนึ่งใน 4 กรมที่เรียกว่า จตุสดมภ์ คือ กรมเมือง (กรมเวียง) กรมวัง กรมคลังและกรมนา ทั้ง 4 กรมเป็นกรมใหญ่ประจำอยู่ส่วนกลาง ผู้บังคับบัญชาเป็นตำแหน่งเสนาบดี 1.2.2 สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 - 2031) ได้ทรงตั้งเสนาบดี เพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง ในหนังสือพระราชพงศาวดารใช้คำว่า “เอาทหารเป็นสมุหกลาโหม เอาพลเรือนเป็น สมุหนายก” คือ ทรงตั้งกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายทหารทั่วไปกระทรวงหนึ่งระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไปกระทรวงหนึ่ง เสนาบดีทั้ง 2กระทรวงนี้มียศเป็นอัครมหาเสนาบดีสูงกว่าเสนาบดีจตุสดมภ์ ส่วนเสนาบดีจตุสดมภ์นั้นก็ได้พระราชทานนามใหม่ในพระราชพงศาวดารใช้คำว่า “เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาล เอาขุนวังเป็นพระธรรมาธิกรณ์ เอาขุนนาเป็นพระเกสรตรธิบดี เอาขุนคลังเป็นพระโกษาธิบดี ให้ถือศักดินาหมื่น” 1.2.3 สมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2175) เรียกตำแหน่งเสนาบดีกรมนาว่า เจ้า พระยายลเทพเทพเสนาบดีศรีไชยนพรัตน์เกษตราธิบดีอภัยพิริยะบรากรมพาหุ นามเจ้าพระยาพล เทพ นามนี้ได้ใช้ตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และได้มีการตราพระธรรมนูญตรากระทรวงขึ้นสำหรับใช้ในตำแหน่งเกษตราธิบดี 9 ดวง มีตรา 2 ดวงที่เกี่ยวกับงานที่ดิน คือ ตราเทพยดาทรงเครื่องยืนบนแทนถือเส้นเชือกใช้ไปรังวัดนาและชันสูตรนาซึ่งวิวาทกันและใช้ไปพระราชทานนาให้แก่ผู้มีบำเหน็จความชอบกับตรานัคลีอังคัลรูปพราหมณ์ทรงเครื่องแบกไถ สำหรับใช้ไปเลิกรั้งดงพงแขมกล่าวโดยสรุป หน้าที่ของกรมนาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีอยู่กว้างขวางทั้งในหน้าที่บริหารและหน้าที่ตุลาการในทางบริหารมีหน้าที่จัดที่ดินซึ่งยังรกร้างเป็นทำเลเปล่าให้ราษฎรเข้าโก่นสร้างให้มีประโยชน์ขึ้นเขียนโฉนดไว้แก่ผู้โก่นสร้างที่ดิน มีหน้าที่เกี่ยวกับการชลประทานเก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวงจัดเรื่องที่ดินเพื่อการศาสนาและแก่บุคคล ส่วนในทางตุลาการมีหน้าที่ระงับคดีวิวาทในเรื่องที่ดิน เช่น แย่งนากันทำ รวมถึงระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการลักเครื่องมือทำนา ลักแอก ลักไถ เป็นต้น (100 ปีกรมที่ดิน, 2543, หน้า 25) 1.3 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 1.3.1 รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 2 งานที่ดินยังคงดำเนินการเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีกรมนาเป็นผู้รับผิดชอบเช่นเดิม 1.3.2 สมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่บ้านขึ้น กล่าวคือ ในปีจุล ศักราช 1203 (ร.ศ.60 พ.ศ.2384) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่ามีการออกใบอนุญาตให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เรียกว่าโฉนด ออกให้ในที่ไร่ นา สวน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นมา ส่วนที่ดินเป็นที่บ้านที่อยู่อาศัยไม่มีการออกหนังสือสำคัญแต่อย่างใดและปรากฏมีกรณีพิพาทรุกล้ำกันอยู่เสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่บ้านทำขึ้นทำเฉพาะภายในกำแพงพระนครขึ้นก่อนหากเป็นที่นิยมแพร่หลายก็ให้กระจายไปออกในหัวเมือง ลักษณะรูปแบบหนังสือสำคัญสำหรับที่บ้านเป็นหนังสือเขียนด้วยดินสอบนกระดาษข่อยต่อมาเปลี่ยนเป็นกระดาษฝรั่งแทน กระทรวงการนครบาลเป็นเจ้าหน้าที่ในการออกหนังสือสำคัญชนิดนี้ วิธีดำเนินการเมื่อมีผู้ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่บ้านให้นายอำเภอไปทำการรังวัดแล้วประกาศโฆษณาหาผู้คัดค้านภายในเวลาที่กำหนดเมื่อไม่มีผู้ใด โต้แย้งคัดค้านประการใดก็ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่บ้านให้ผู้ขอต่อไป ส่วนในหัวเมืองให้ผู้ว่าราชการเมืองหรือสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้ดำเนินการและเมื่อมีการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ใดก็ให้เปลี่ยนหนังสือสำคัญฉบับนี้สำหรับที่บ้านเป็นโฉนดที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิต่อไปหนังสือสำคัญสำหรับที่บ้านจึงไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือเพื่อเก็บภาษีอากรแต่อย่างใดแต่ออกให้เพื่อเป็นหลักฐานและขอบเขตที่ดินที่ตนปลูกบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น 1.3.3 สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตั้งแต่ พ.ศ.2394 - 2411) พระองค์ทรงปรับปรุงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน ส่วนราชการในด้านที่ดินนั้นคงมีการจัดทำโฉนดเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่ยังไม่ทั่วถึง เหตุว่าผู้ใดจะทำประโยชน์จะต้องไปขออนุญาตราษฎรมักไม่ขออนุญาตจึงทำให้การเก็บภาษีอากรขาดไปบ้าง ดังนั้นในปีจุลศักราช 1226 (ร.ศ.83 พ.ศ.2407) พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าให้ข้าหลวงเสนาออกไปทำการรังวัดที่นาโคดู่ คือนาหว่านที่ทำได้โดยอาศัยทั้งน้ำฝนและน้ำท่าเป็นนาที่ทำได้ผลดีบริเวณนาในท้องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) อ่างทอง สุพรรณบุรี และลพบุรี ข้าหลวงเดินนาเป็นเจ้าหน้าที่ทำตราแดงหรือบางคนเรียกว่าโฉนดตราแดงมีความหมายเช่นเดียวกัน ลักษณะของตราแดงเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินที่เป็นนาบอกตำบลที่ดินตั้งอยู่ ชื่อเจ้าของนา ระยะกว้าง ยาวจำนวนเนื้อที่อาณาเขตติดต่อข้างเคียงทั้งสี่ทิศมีชื่อข้าหลวงเดินนาซึ่งเป็นผู้ออกตราแดง โดยออกให้แก่เจ้าของนาเพื่อประโยชน์ในการเก็บเงินค่านามากกว่าที่จะให้เป็นหนังสือสำหรับแสดงกรรมสิทธิ์ กล่าวคือ เมื่อออกตราแดงให้เจ้าของนาไปแล้วจะได้เก็บเงินค่านาตามจำนวนที่ดินในตราแดงนั้นทุกๆ ปี แต่ก็เป็นหลักฐานในเรื่องสิทธิในที่ดินอยู่บ้างที่แสดงว่าผู้มีชื่อในตราแดงนั้นเป็นเจ้าของนาอาจมีการสืบมรดกตกทอดกันต่อๆ ไปจนถึงลูกหลาน ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) เพื่อเปลี่ยนตราแดงเป็นโฉนดที่ดินทั้งหมดในสมัยนี้ได้มีพระบรมราชโองการประกาศกำหนดที่ให้ขาย ให้เช่าแก่คนนอกประเทศตามประกาศ ณ วันพฤหัส ขึ้นสองค่ำ เดือนเจ็ด ปีมะโรง นักษัตรอัฐศกศักราช 1218 (พ.ศ.2399) มีหลักการว่าที่ดินภายในพระนครและห่างกำแพงพระนครออกไปในรัศมี 200 เส้นห้ามไม่ให้ผู้ใดขายที่ดินแก่คนต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 10 ปี หากผู้ใดมีความจำเป็นอาจได้รับอนุญาตจากเสนาบดีจึงจะขายได้ เหตุผลที่มีการประกาศห้ามไม่ให้ขายที่ดินแก่คนต่างด้าวนั้น เนื่องมาจากในรัชสมัยของพระองค์มีชาวต่างประเทศเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยและซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยทำกินและเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในประเทศไทยมากขึ้นและประเทศเพื่อนบ้านก็ได้สูญเสียเอกราชไปเนื่องจากยอมให้กองทัพและขบวนการค้าขายที่ซ่อนนโยบายขยายอำนาจหาเมืองขึ้นไว้เป็นฉากหลังมาตั้งมั่นอยู่ในบ้านเมืองพอได้โอกาสก็ยึดอำนาจเอาบ้านเอาเมืองเสีย ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงห้ามมิให้ขายที่ดินแก่คนต่างด้าวภายในรัศมี 200 เส้น จากพระนครดังกล่าวแล้วข้างต้นและได้มีประกาศเรื่องฝรั่งทำหนังสือสัญญาลงวันพฤหัส แรมค่ำหนึ่ง เดือนเจ็ด ปีมะโรงนักษัตรอัฐศก บัญญัติเรื่อง คนสัญชาติฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา และคนในบังคับดังกล่าวจะซื้อหรือเช่าที่ดิน นอกจากนี้ยังมีประกาศขายสวน ขายนา ฝากแก่กัน ตามประกาศ ณ วันอาทิตย์ แรมสิบเอ็ดค่ำ ปีขาล อัฐศกศักราช 1228 (ร.ศ.85 พ.ศ.2409) โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า การขายฝากหรือการจำนำที่สวนที่นาถ้าผู้ขายหรือผู้จำนำได้มอบโฉนดตราแดงหรือหนังสือสำคัญอื่นๆ ให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับจำนำก็ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของผู้ซื้อหรือผู้รับจำนำถ้าไม่ได้มอบก็ไม่ตก (100 ปีกรมที่ดิน, 2543, หน้า 32) 1.4 สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ.2411 โดยมีสมเด็จพระเจ้ายาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลานานถึง 42 ปี (พ.ศ.2411 - 2453) ทรงปกครองทำนุบำรุงสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองนานัปการ อาทิเช่น ทรงเลิกทาส ดำเนินวิเทโศบายฉลาดลึกซึ้งทำให้ชาติปลอดภัยจากการรุกรานแสดงอาณานิคมของมหาอำนาจทรงวางรากฐานปกครองระบอบประชาธิปไตย ทรงเป็นนักปกครองยอดเยี่ยมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครอง การศาล ตั้งกระทรวง กรม ได้แก่ กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหมกรมท่า กรมวัง กรมเมือง กรมนา กรมพระคลัง กรมยุติธรรม กรมยุทธนาธิการ กรมธรรมการ และกรมมุรธาธิการ วางพื้นฐานในทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและอื่นๆ มากมาย สำหรับราชการในหน้าที่ที่เกี่ยวกับที่ดินพระองค์ทรงวางพื้นฐานในการปรับปรุงสิทธิของผู้ถือครองที่ดินได้ตรวจบทกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินออกใช้บังคับหลายฉบับกระทำในรูปประกาศพระบรมราชโองการบ้างในรูปพระราชบัญญัติบ้างโดยมีความมุ่งหมายที่จะให้เจ้าของที่ดินผู้ลงทุนแรงทำประโยชน์ในที่ดินได้รับความเป็นธรรมและป้องกันระงับข้อวิวาทบาดหมางเนื่องจากการแย่งสิทธิในที่ดินกัน กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินที่สำคัญก็คือประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) และพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดินใช้บังคับจนถึง พ.ศ.2497 หนังสือสำคัญสำหรับที่ดินออกใช้ในรัชกาลที่ 5 มีดังต่อไปนี้ คือ โฉนดสวน โฉนดป่า ใบเหยียบย่ำ ตราจอง โฉนดตราจอง โฉนดแผนที่ โฉนดที่ดิน 1.4.1 โฉนดสวน เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินออกตามประกาศซึ่งจะเดินสวนจุลศักราช 1236 (ร.ศ.93 พ.ศ.2417) โดยเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ ผู้ว่าการกรมนาเป็นผู้จัดการ โดยพระบรมราชโองการตั้งข้าราชการหลายเหล่าจำนวน 8 นาย เป็นข้าหลวงไปดำเนินการรังวัดที่สวนสำรวจต้นผลไม้ยืนต้นที่มีอายุเกิน 3 ปีขึ้นไปต้องเสียอากรสวน คือ หมาก พลู มะปราง มะม่วงทุเรียน มังคุด ลางสาด ส่วนต้นไม้อื่นๆ ที่อยู่ในสวนนั้นไม่ต้องเสียอากร การสำรวจสวนมีกำหนดทำการสำรวจทุกๆ 10 ปี หรือเปลี่ยนรัชกาลใหม่ได้ครบกำหนด 3 ปี อีกครั้งหนึ่งการออกโฉนดสวนออกให้แก่เจ้าของสวน มิได้เกี่ยวถึงนาและที่อื่นๆ มีความมุ่งหมายในการเก็บอากรสวนเท่านั้นลักษณะของโฉนดสวนเป็นแบบพิมพ์มีต้นขั้วมีสาระสำคัญที่ตั้งที่ดิน ชื่อเจ้าของสวน รายชื่อข้าหลวงจำนวน 8 นาย จำนวนต้นผลไม้ ทั้ง 7 ชนิด ดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือชนิดไม้ใหญ่และไม้เล็ก จำนวนเงินต้องเสียอากรสวน วันเดือนปีที่ออกโฉนด ประทับตราให้ไว้เป็นสำคัญถ้าโฉนดสวนเป็นอันตรายสูญเสียเจ้าของสวนขอออกใบแทนได้ 1.4.2 โฉนดป่า เป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินชนิดหนึ่งซึ่งออกในยุคเดียวกับโฉนดสวนออกให้ในที่ดินที่ปลูกพรรณไม้ชนิดเล็กและที่ไม่อยู่ในลักษณะที่จะต้องเสียอากรต้นผลไม้โฉนดป่าออกในที่ปลูกพืชล้มลุก (ไม่ใช่ต้นไม้ 7 ชนิดที่ออกโฉนดสวน) เช่นสวนผักต่างๆ สวนอ้อยหรือสวนจาก เป็นต้น โดยมีบัญชีต้นไม้โฉนดป่าเจ้าเมืองกรรมการเป็นผู้ออกให้มิได้เกี่ยวกับข้าหลวงเสนาอย่างใด การเก็บอากรโฉนดป่าเก็บตามจำนวนเนื้อที่ที่ระบุไว้ 1.4.3 ใบเหยียบย่ำ เป็นหนังสือที่เป็นใบอนุญาตให้จองที่ดินเพื่อให้ผู้ขอเข้าครอบครองทำที่ดินให้เกิดประโยชน์ในสมัยนี้ได้มีการออกใบเหยียบย่ำมาหลายแบบ ดังนี้1) ใบเหยียบย่ำอย่างเก่าก่อน ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) เป็นใบอนุญาตให้ราษฎรจับจองเข้าหักร้างถางพงทำประโยชน์ในที่ดินแต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือข้อบังคับฉบับใดและไม่มีระเบียบวิธีการปฏิบัติไว้โดยแน่นอนแต่เป็นที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นการจับจองซึ่งออกตามพระราชบัญญัติสำหรับผู้รักษาเมืองกรมการและเสนากำนันอำเภอ ซึ่งจะออกเดินประเมินนา จุลศักราช 1244 (ร.ศ.101 พ.ศ.2424) ผู้ใดมีความประสงค์จะขอที่ดินทำกินก็ให้ไปบอกเสนากำนันซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ กำนันตรวจสอบและพิจารณาเห็นควรก็ออก ใบ เหยียบย่ำ ใบเหยียบย่ำชนิดนี้เขียนด้วยเส้นดินสอบนกระดาษข่อยมีจำนวนเนื้อที่ที่ขอจับจองไม่เกิน100 ไร่ กำหนดให้ทำประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ถ้าผู้ถือใบเหยียบย่ำไม่ทำประโยชน์ภาย ในกำหนด 1 ปี เป็นอันสิ้นสิทธิการจับจองแต่ถ้าได้ทำประโยชน์เพียงใดก็ได้ไปเฉพาะที่ดินที่ทำประโยชน์เท่านั้น 2) ใบเหยียบย่ำตามข้อบังคับการหวงห้ามที่ดิน ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) นายอำเภอเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกใบเหยียบย่ำ ใบเหยียบย่ำชนิดนี้มีกำหนดอายุ 12 เดือน เมื่อครบกำหนดขอต่ออายุใหม่ได้ทุกรอบ 12 เดือน ถ้าผู้ถือใบเหยียบย่ำมีความประสงค์จะปันแลกเปลี่ยนหรือขายที่ดินแก่ผู้อื่นก็ให้นำใบเหยียบย่ำไปขอเปลี่ยนเจ้าของต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้โดยทำสัญญาและสลักหลังในใบเหยียบย่ำ ส่วนผู้รับโอนย่อมมีสิทธิในการจับจองที่ดินตามอายุของใบเหยียบย่ำเสมือนเป็นผู้ถือมาแต่เดิมหากใบเหยียบย่ำเป็นอันตรายสูญหายก็ขอรับใบแทนใหม่ได้ 3) ใบเหยียบย่ำออกตามกฎกระทรวงเกษตราธิการ ร.ศ.120 (พ.ศ.2444)หมวดที่ 8 ว่าด้วยการจับจองที่ดินตามความในข้อ 15 แห่งประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องออกโฉนด ที่ดิน ประกาศเมื่อวันที่ 15 กันยายน ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) ความว่าถ้าผู้ใดจะขอจับจองที่ดินว่างเปล่า ในท้องที่ที่ได้ออกโฉนดอย่างใหม่ (โฉนดแผนที่) แล้วให้ผู้นั้นปักไม้แก่นหมายเขตทุกมุมที่แล้วเชิญ กำนันผู้ปกครองท้องที่พร้อมทั้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงกับที่ที่จอขอจับจองไม่ต่ำกว่า 2 คน ไปเป็น พยานชันสูตรที่นั้นแล้วทำเรื่องราวขอจับจองยื่นต่อกรมการอำเภอผู้ปกครองท้องที่ เมื่อกรมการ อำเภอได้รับเรื่องราวและพิจารณาเห็นเป็นการถูกต้องแล้วก็ให้ออกใบเหยียบย่ำให้แก่ผู้จับจองไป และให้ปิดประกาศโฆษณาที่การขอจับจองที่รายนั้นไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ว่าการกำนันนาย ตำบลนั้นด้วยใบเหยียบย่ำนั้นต้องลงนามและประทับตราตำแหน่งนายอำเภอเป็นสำคัญและลงนาม กำนันนายตำบลที่นั้นเป็นพยานด้วยใบเหยียบย่ำชนิดนี้ให้มีกำหนด 1 ปี มีระเบียบให้ต่ออายุได้ แต่ผู้ ถือจะโอนให้ผู้อื่นต่อไปอีกไม่ได้และแม้จะได้ออกใบเหยียบย่ำให้แก่ผู้ใดไปแล้วก็ดีถ้าความปรากฏ ภายหลังว่าที่ดินที่อนุญาตให้จับจองเป็นที่ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีความประสงค์จะให้ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ก็ อาจไม่ยอมให้จับจองต่อไปอีกก็ได้หรือถ้าปรากฏว่าจับจองที่ดินมากกเกินกำลังความสามารถที่จะ ทำให้ที่ดินเกิดประโยชน์ได้จะจับจองแต่พอสมควรก็ได้ 4) ใบเหยียบย่ำ ออกตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) หมวดที่ 11 ว่าด้วยการจับจองที่ดิน มีวิธีดำเนินการเช่นเดียวกับใบเหยียบย่ำออกตามกฎ กระทรวง เกษตราธิการ ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) กล่าวคือใบเหยียบย่ำนี้ออกให้แก่ผู้ขอจับจองในเขตที่ ดินที่มีการ ออกโฉนดแผนที่แล้วนายอำเภอเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และโอนสิทธิการจับจองไม่ได้จำกัดจำนวน ให้จับจองตามกำลังความสามารถของผู้ขอจับจองเท่าที่จะเห็นสมควรต่อมามีพระราชบัญญัติออก โฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจับจองที่ดินให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังโดยกำหนดที่ดินที่จะอนุญาตให้จับจองต้องเป็นที่ดินรกร้างว่าง เปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคือที่ดินที่ไม่มีผู้ใดเข้าครอบครองเป็นเจ้าของ เช่น ที่ป่ารก ทุ่งว่าง เป็นต้น สาระสำคัญและประทับตราตำแหน่งนายอำเภอ ชื่อผู้ขอจับจอง ที่อยู่ สัญชาติ เชื้อ ชาติ ชื่อบิดามารดาของผู้ได้รับอนุญาตตำแหน่งแห่งที่ดิน ปริมาณเนื้อที่และเขตที่ดินเนื้อที่ที่อนุญาต ให้จับจองดังนี้ - นายอำเภออนุญาตได้ไม่เกิน 50 ไร่ - ข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) อนุญาตให้จับจองได้ไม่เกิน 100 ไร่ ใบเหยียบย่ำที่มีอายุ 2 ปี ถ้าไม่ทำประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเป็นอันสิ้นสิทธิการจับจองเฉพาะส่วนที่ไม่ได้ทำประโยชน์โอนไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก 1.4.4 ตราจอง เป็นใบหนังสืออนุญาตให้จองที่ดินเพื่อให้ผู้ขอเข้าใช้ประโยชน์ใน ที่ดิน 1) ตราจองออกตามพระราชบัญญัติสำหรับผู้รักษาเมืองกรมการแลเสนากำนัน อำเภอ ซึ่งจะออกเดินประเมินนา จุลศักราช 1236 (ร.ศ.93 พ.ศ.2417) ข้าหลวงกรมนาเป็นผู้ออกให้ อายุ 3 ปี ซึ่งมีบัญญัติไว้ในข้อ 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่าถ้า“ผู้ใดจับจองนาฟางลอยใน กรุงเทพมหานครและหัวเมืองไว้มากทำแต่น้อยไม่เต็มเนื้อที่ทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าพ้น 3 ปี ไปก็ดีหรือที่ได้ทำนาอยู่แล้วภายหลังไม่ทำทิ้งไว้พ้น 3 ปี ไปให้ขาดผลประโยชน์ในแผ่นดินถ้าผู้ใดจะไปทำนาในที่นั้นก็ให้มาบอกต่อมาเสนาผู้รักษาเมืองกรมการกำนันไปปักเสาทำสำคัญประทับตราให้นาเป็นสิทธิแก่ผู้ทำต่อไปเจ้าของเดิมมาว่ากล่าวประการใดห้ามอย่าให้เสนาผู้รักษาเมืองกรมการคืนนานั้นให้เป็นอันขาดทีเดียว ฯลฯ”ข้าหลวงกรมนานี้แต่เดิมมาได้มีการแต่งตั้งให้มีหน้าที่ออกเดินสำรวจเก็บเงินค่านาปีละหนึ่งครั้งและมีหน้าที่ออกตราจองให้แก่ผู้ทำนาด้วย ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการเก็บเงินที่นา ต่อมาการเก็บเงินค่านาเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร กระทรวงการคลังจึงเลิกข้าหลวงกรมนานั้นเสีย 2) ตราจองที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงขุดคลอง ออกให้แก่ราษฎรที่ช่วยขุดคลองตามประกาศขุดคลอง จุลศักราช 1239 (ร.ศ.96 พ.ศ.2420) ซึ่งทรง พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงออกไปตรวจหาที่ซึ่งมีที่ดินอุดมดีขุดคลองขึ้น ตำบลใดราษฎรทั้งปวงที่ต้องการที่ดินมากน้อยเท่าใดก็ให้ผู้ที่ต้องการนั้นออกเงินช่วยในการขุด คลองบ้างตามสมควรแก่ที่มากและน้อยถ้าไม่ออกเงินก็ให้ออกแรงช่วยและข้าหลวงจะได้ออกตรา จองให้แก่ราษฎรผู้นั้น ตราจองที่ออกให้แก่ราษฎรที่ช่วยขุดคลองนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรด กระหม่อมเพิ่มอายุตราจองขึ้นกว่าพระราชกำหนดเดิมอีก 2 ปี เป็น 5 ปี ถ้าครบ 5 ปีแล้วผู้ใดไม่ทำ สวนทำไร่ในที่ตราจองนั้นให้เกิดผลประโยชน์แก่แผ่นดินทิ้งรกร้างว่างเปล่าไม่เป็นประโยชน์สิ่งใด ข้าหลวงจะเรียกเอาตราจองนั้นคืน คลองที่ขุดได้แก่ คลองในทุ่งหลวง คลองรังสิต คลองประเทศบุรี รมย์ คลองนครเขื่อน เป็นต้น 3) ตราจองชั่วคราว ออกตามพระราชบัญญัติออกตราจองที่ดินชั่วคราว ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) ต่อมามีประกาศเปลี่ยนนามเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) เรียกตราจองดังกล่าวว่า โฉนดตราจองโฉนดตราจอง เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินออกตามพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจองและให้ใช้ในมณฑลพิษณุโลก ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) พระราช บัญญัติดังกล่าวใช้เฉพาะในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัยและอุตรดิตถ์ (ปัจจุบันรวมจังหวัด นครสวรรค์ด้วยเพราะมีการโอนเขตจังหวัดข้างเคียงมารวมกับจังหวัดนครสวรรค์รวมเป็น 5 จังหวัด ทีโฉนดตราจอง) ต่อมาทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการเดินสำรวจฯ เพื่อเปลี่ยนโฉนดตราจองเป็นโฉนดแผนที่โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2493 เป็นต้นมา¬ 1.4.5 โฉนดแผนที่ เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินออกตามประกาศออกโฉนด ที่ดิน ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) และออกตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2453) โฉนดแผนที่มีแผนที่จำลองไว้ในหลังโฉนด ที่เรียกว่าโฉนดแผนที่ก็เพื่อแตกต่างจากโฉนดสวน โฉนดป่า โฉนดตราแดง (ออกสมัยรัชกาลที่ 4) ซึ่งเป็นโฉนดอย่างเก่าที่ไม่มีแผนที่หลังโฉนดกล่าวคือ เมื่อทางราชการได้มีการออกโฉนดแผนที่ในท้องที่ใดก็บังคับให้ผู้ถือที่ดินมือเปล่าและผู้ถือหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินอย่างอื่นต้องนำรังวัดที่ดินเพื่อรับโฉนดแผนที่หรือเปลี่ยนหนังสือสำหรับที่ดินเดิมเป็นรับโฉนดแผนที่ชนิดเดียวกันเสียทั้งหมด ดังปรากฏตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ซึ่งบัญญัติว่า“ในบัดนี้มีความประสงค์จะเปลี่ยนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินเป็นโฉนดแผนที่ทั้งหมดเพราะเหตุฉะนั้น จึงให้เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการมีอำนาจแจ้งความในราชกิจจาให้เจ้าของที่มารับโฉนดหรือเปลี่ยนโฉนดได้ทุกแห่งทุกตำบล ถ้าผู้ใดขัดขืนไม่ช่วยพนักงานกระทำการรังวัดหรือการออกโฉนดแผนที่ให้สะดวกอย่างใดให้มีโทษปรับครั้งละ 100 บาท ลงมาเป็นพินัย แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร” 1.4.6 โฉนดที่ดิน เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีประวัติความเป็นมาเริ่ม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้นสู่ศาลบ่อยผลของการจัดระเบียบที่ดินเน้นหนักไปในทางแง่สำรวจตรวจเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับที่ดินโดยเจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีอากรออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของที่ดินยึดถือไว้นั้นไม่อาจระงับข้อพิพาทโต้แย้งในปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ได้เพราะหนังสือสำคัญของเจ้าพนักงานภาษีอากรมีข้อความไม่กระจ่างว่าผู้ใดมีสิทธิอยู่ในดินเพียงใดอย่างใด ส่วนมากมักจะระบุแต่ว่าได้ทำเอาสินปลูกผลพืชพันธุ์อะไรอันควรเรียกเก็บอากรได้บ้างจึงไม่เป็นหลักฐานพอที่จะใช้สืบยันสิทธิกันระหว่างคู่พิพาทได้ พระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกระทรวงเกษตรพาณิชยการ (เดิมคือกรมนา แต่ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง) และได้โปรดเกล้าฯ ย้ายนายพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)จากกรมยุทธนาธิการมาเป็นเสนาบดีของพระยาประชาชีพบริบาล (ผึ่ง ชูโต) ขณะนั้นยังไม่มี บรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นเสมียนตราอยู่ในกรมนานั้นขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองจัดดำเนินงานในเรื่องสิทธิในที่ดินให้รัดกุมขึ้นแต่การที่จะสร้างหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินให้เห็นได้ชัดแจ้งลงไว้ในโฉนดจะต้องมีการทำแผนที่ระวางรายละเอียด เรียกว่า คาดัสตรัลเซอร์เวย์ (Cadastral Survey) ซึ่งเวลานั้นยังจะจัดให้ลุล่วงไปโดยเร็วมิได้เพราะช่างแผนที่มีอยู่น้อย การทำหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินจึงยังชะงักอยู่ ข้อ 3. การอำนวยความยุติธรรมของศาลและวิธีพิจารณาคดีความในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามที่ได้ศึกษามามีเป็นประการใดบ้าง (30 คะแนน) แนวคำตอบ - สมัยกรุงสุโขทัย ในสมัยนี้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ดังคำพังเพยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประชาชนพลเมืองมีน้อย อยู่ในศีลในธรรมคดีความจึงมีไม่มาก พระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดกัน พระมหากษัตริย์จึงทรงตัดสินคดีความด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มี หลักฐานจากศิลาจารึกว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงมอบให้ขุนนางตัดสินคดีแทนด้วย ในสมัยนี้พอมีหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง “ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม ไพร่ฟ้า ลูกเจ้า ลูกขุนผิแลผิแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้วจึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่อเข้าผู้ลักมักผู้ซ่อนเห็นข้าวท่านบ่อใคร่พิน เห็นสินท่านบ่อใคร่เดือด” จากศิลาจารึกนี้ทำให้ทราบว่า การร้องทุกข์ในสมัยนั้นร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ไต่สวนพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง หรือให้ขุนนางเป็นผู้ไต่สวนให้ถ่องแท้และตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม ไม่ลำเอียงและไม่รับสินบน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญใน การพิจารณาคดีในสมัยนั้น สำหรับสถานที่พิจารณาคดีที่เรียกว่า ศาลยุติธรรมนั้นในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏว่ามีศาล ตัดสินคดีเหมือนในสมัยนี้ แต่ก็มีหลักฐานจากหลักศิลาจารึกว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ ป่าตาลเป็นที่พิจารณาคดี ซึ่งพอเทียบเคียงได้ว่าเป็นศาลยุติธรรมในสมัยนั้น “1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้ 14 เท่า จึงให้ช่างฟันกระดาษเขียนตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนหก 8 วัน วันเดือนเต็มเดือนบั้ง ฝูงปู่ครูเถร มหาเถรขึ้นนั่งเหนือกระดานหินสวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงถ้วยจำศีล ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือกระดาษหิน ให้ฝูงถ้วยลูกเจ้า ลูกขุน ฝูงถ้วยถือบ้านถือเมือง ในกลางป่าตาลมีศาลา 2 อัน อันหนึ่งชื่อศาลพระมาส อันหนึ่งชื่อพุทธศาลา กระดานหินนี้ชื่อมนังคศิลาบาท” จากศิลาจารึกนี้พอเทียงเคียงได้ว่า ป่าตาลเป็นศาลยุติธรรม สมัยสุโขทัย และพระแท่นมนังคศิลาบาทเป็นเสมือนบัลลังก์ศาลในสมัยนั้น สำหรับกฎหมายที่ใช้ในสมัยสุโขทัยซึ่งปรากฎในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งนั้น มีลักษณะคล้ายกฎหมายในปัจจุบัน เช่น กฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดิน “หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” กฎหมายพาณิชย์ “ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงินค้า ค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส” นอกจากนั้นแล้วในหลักศิลาจารึกยังกล่าวถึงกฎหมายลักษณะโจรและการลงโทษ เช่น ขโมยข้าทาสของผู้อื่น “ผิผู้ใดหากละเมิน และไว้ข้าท่านพ้น 3 วัน คนผู้นั้นไซร้ท่านจะให้ไหมแลวันแลหมื่นพัน” นอกจากกฎหมายต่าง ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกฎหมายปัจจุบันแล้ว ยังใช้กฎหมายคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียด้วย สำหรับการลงโทษในสมัยสุโขทัยตามหลักศิลาจารึก กฎหมายลักษณะโจรมีโทษเพียง ปรับเท่านั้น ไม่มีหลักฐานการลงโทษที่รุนแรงถึงตาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีไม่มากและเป็นผู้ที่เคร่งครัดอยู่ในศีลในธรรมตามหลักพุทธศาสนา ประชาชนจึงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข -สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บ้านเมืองก็เจริญขึ้นตามลำดับ ราษฎรก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้พระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์มีมากขึ้น จึงมิอาจทรงพระวินิจฉัยคดีความด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึงเช่นกาลก่อน จึงทรงมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยอรรถคดีของอาณาประชาราษฎร์ให้แก่ ราชครู ปุโรหิตา พฤฒาจารย์ ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์พราหมณ์ในราชสำนักและเสนาบดีต่าง ๆ เป็นผู้ว่าการยุติธรรมต่างพระเนตรพระกรรณ ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อาจใกล้ชิดกับราษฎรเหมือนสมัยสุโขทัย แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะดูเหมือนห่างไกลจากราษฎร แต่ว่าบทบาททางด้านการยุติธรรมนั้นกลับดูใกล้ชิดกับราษฎรอย่างยิ่ง โดยทรงเป็นที่พึงสุดท้ายของราษฎร ถ้าราษฎรเห็นว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดีก็มีสิทธิที่จะถวายฎีกา เพื่อขอให้พระมหากษัตริย์พระราชทานความเป็นธรรมแก่ตนได้ ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรง พระวิจารณญาณวินิจฉัยอรรถคดีใดด้วยพระองค์เอง พระบรมราชวินิจฉัยในคดีนั้นก็เป็นบรรทัดฐานที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมพึงถือปฏิบัติสืบต่อมา ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยุติธรรมแทนพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมี 3 กลุ่มได้แก่ ลูกขุน ณ ศาลหลวง ตระลาการ ผู้ปรับ การพิจารณาคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้กล่าวหาหรือผู้ที่จะร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์ต่อจ่าศาลว่าจะฟ้องความอย่างไรบ้าง จ่าศาลจะจดถ้อยคำลงในหนังสือแล้วส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงพิจารณาว่า เป็นการฟ้องร้องตามกฎหมายควรรับไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าเห็นควรรับไว้พิจารณาจะพิจารณาต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของศาลกรมไหนแล้วส่งคำฟ้องและตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น เช่น ถ้าเป็นหน้าที่กรมนา จะส่งคำฟ้องและโจทก์ไปที่ศาลกรมนา ตระลาการศาลกรมนาก็จะออกหมายเรียกตัวจำเลยมาถามคำให้การไต่สวนเสร็จแล้วส่งคำให้การไปปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวงว่ามีข้อใดต้องสืบพยานบ้าง เมื่อลูกขุนส่งกลับมาแล้ว ตระลาการก็จะทำการสืบพยานเสร็จแล้วก็ทำสำนวนให้โจทก์และจำเลยหยิกเล็บมือที่ดินประจำผูกสำนวน เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นสำนวนของโจทก์ จำเลย แล้วส่งสำนวนคดีไปให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง ลูกขุน ณ ศาลหลวงจะพิจารณาคดีแล้วชี้ว่าฝ่ายใดแพ้คดี เพราะเหตุใดแล้วส่งคำพิพากษาไปให้ผู้ปรับ ผู้ปรับจะพลิกกฎหมายและกำหนดว่าจะลงโทษอย่างไรตามมาตราใด เสร็จแล้วส่งคืนให้กรมนา ตระลาการกรมนาจะทำการปรับไหมหรือลงโทษตามคำพิพากษา หากคู่ความไม่พอใจตามคำพิพากษา ก็สามารถอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาหัวเมืองนั้น ๆ ถ้ายังไม่พอใจก็สามารถถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้อีก ศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมี 4 ศาลตามการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยเริ่มที่กรมวังก่อนแล้วจึงขยายไปยังที่กรมอื่น ๆ ในตองกลางกรุงศรีอยุธยามีการตั้งกรมต่าง ๆ ขึ้นจึงมีศาลมากมายกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกรมของตน ในช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยามีการรวมรวบกรมต่าง ๆ ขึ้นเป็นกระทรวงจึงแบ่งศาลออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ศาลความอาญา ศาลความแพ่ง สองศาลนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงวัง ชำระความคดีอาญาและคดีความแพ่งทั้งปวง ศาลนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล ชำระความคดีโจรผู้ร้าย เสี้ยนหนามแผ่นดิน ทั่วไป ศาลการกระทรวง ขึ้นอยู่กับกระทรวงอื่น ๆ ชำระคดีที่อยู่ในหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ ส่วนสถานที่พิจารณาคดีหรือที่ทำการของศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากศาลหลวงที่ ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้ว ศาลอื่น ๆ ไม่มีที่ทำการโดยเฉพาะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ที่ทำการของศาลหรือที่พิจารณาคดีคงใช้บ้านของตระลาการของศาลแต่ละคนเป็นที่ทำการ สำหรับที่ตั้งของศาลหลวงนั้นมีหลักฐานตามหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 63ว่าด้วยตำนานกรุงเก่ากล่าวว่า ศาลาลูกขุนนอก คือศาลหลวงคงอยู่ภายในกำแพงชั้นนอกไม่สู้ห่างนัก คงจะอยู่มาทางใกล้กำแพงริมน้ำ เนื่องจากเมื่อขุดวังได้พบดินประจำผูกสำนวนมีตราเป็นรูปต่าง ๆ และบางก้อนก็มีรอยหยิกเล็บมือ ศาลหลวงคงถูกไฟไหม้เมือเสียกรุง ดินประจำผูกสำนวนจึงสุกเหมือนดินเผา มีสระน้ำอยู่ในศาลาลูกขุนใน สระน้ำนี้ในจดหมายเหตุซึ่งอ้างว่าเป็นคำให้การของขุนหลวงหาวัด ว่าเป็นที่สำหรับพิสูจน์คู่ความให้ดำน้ำในสระนั้น เพื่อพิสูจน์ว่ากล่าวจริงหรือกล่าวเท็จ สำหรับกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายดั้งเดิมของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นหลักกฎหมายที่ลูกขุนฝ่ายในศาลหลวงจะต้องยึดถือปฏิบัติ และใช้ในการวินิจฉัยคดี มีบทกำหนดลักษณะของตุลาการ ข้อพึงปฏิบัติของตุลาการ คำสั่งสอนตุลาการ พระราชศาสตร์ เป็นพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีของพระมหากษัตริย์ เช่น การวินิจฉัยคดีที่ราษฎรฎีกา เป็นต้น ซึ่งต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อมาจนกลายเป็นกฎหมาย พระราชกฎหมาย กำหนดกฎหมายอื่น ๆ เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ ทรงตราขึ้นตามความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละสมัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก การลงโทษผู้กระทำผิดในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรุนแรงมากถึงขั้นประหารชีวิต การประหารชีวิตโดยทั่วไป ใช้วิธีตัดศีรษะด้วยดาบ แต่ถ้าเป็นคดีกบฎประหารชีวิตด้วยวิธีที่ทารุณมาก การลงโทษหนักที่ไม่ถึงขั้นประหารชีวิตจะเป็นการลงโทษทางร่างกายให้เจ็บปวดทรมานโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เข็ดหลาบ *********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น: