วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนวคำตอบข้อสอบปลายภาค ๑/๒๕๕๕

แนวคำตอบข้อสอบปลายภาค วิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย รหัส ๒๕๖๑๑๐๑ ๓ (๓-๐) คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้ออกข้อสอบ อาจารย์โกศล บุญคง ผศ.สมนึก ขวัญเมือง คำสั่ง ข้อสอบทั้งหมดมี ๔ ข้อ ให้นักศึกษาทำข้อสอบทุกข้อ คะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน สอบวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. ****************************************************** ข้อ ๑. ระบบกฎหมายหลักของโลกในโลกนี้มีระบบกฎหมายที่ใช้กันอยู่หลายระบบด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่นักศึกษาเล่าเรียนมามีเพียงสองระบบ คือระบบใดบ้าง จงอธิบายถึงลักษณะสำคัญ ( ๒๕ คะแนน) แนวคำตอบ ในการที่มนุษย์มาอยู่รวมกันจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดความประพฤติของมนุษย์เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม กฎเกณฑ์นี้เองเรียกว่า “กฎหมาย” กฎหมายที่ใช้อยู่ในแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของแต่ละสังคม ดังนั้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการอยู่รวมกันในสังคมโลกจึงจำเป็นที่ต้องควรทราบถึงพัฒนาการของระบบกฎหมายที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งระบบกฎหมายออกได้เป็น ๔ ระบบ ดังนี้คือ ๑. ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law) ๒. ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ๓. ระบบกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law) ๔. ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม (Religious and Traditional Law) ตามประเด็นปัญหาในคำถามจึงจะกล่าวถึงเพียงสองระบบที่สำคัญตามที่ได้ศึกษามากล่าวคือ ๑. ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law) คำว่า “โรมาโน” หมายถึง กรุงโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ส่วนคำว่า “เยอรมันนิค” หมายถึง ชาวเยอรมัน การที่ตั้งชื่อระบบกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศอิตาลีและประเทศเยอรมัน เนื่องจาก อิตาลีเป็นประเทศแรกที่รื้อฟื้นกฎหมายโรมันในอดีตขึ้นมาปรับใช้กับประเทศของตน โดยเมื่อประมาณปี ค.ศ. ๑๑๑๐ประเทศอิตาลีเริ่มมีการพัฒนาประเทศทำให้มีการค้าขายมากขึ้น มีการค้าขายระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองขึ้น กฎหมายในประเทศซึ่งมีอยู่เดิมใช้บังคับไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในระบบเศรษฐกิจที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงได้มีการฟื้นฟูกฎหมายโรมันขึ้นมาใช้ โดยมีการนำมาศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยที่เมืองโบลอกนา (Bologna) ปรากฏว่ากฎหมายโรมันมีบทบัญญัติที่สามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ และเห็นว่ากฎหมายโรมันใช้ได้และเป็นธรรม ประเทศอิตาลีจึงได้รับเอากฎหมายโรมันมาบัญญัติใช้บังคับในเวลาต่อมาและกฎหมายโรมันจึงได้ถูกถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาทั่วไป ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่สองที่ได้รับเอากฎหมายโรมันมาใช้เช่นเดียวกันกับประเทศอิตาลี ต่อมาประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สเปน ได้นำกฎหมายโรมันมาปรับใช้กับประเทศของตนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิคนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศในภาคพื้นยุโรป แต่ปัจจุบันระบบกฎหมายนี้มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลกในทวีปต่างๆ ไม่ว่าทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส หรือเม็กซิโก ชิลี เปรู อาร์เจนตินา ที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน แม้กระทั่งประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ซาอีร์ โซมาเลีย รวันดา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสก็ได้รับอิทธิพลของระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิคทั้งสิ้น และประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทยด้วย ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค คือ -กฎหมายระบบนี้ถือว่ากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีความสำคัญกว่าคำพิพากษาของศาล และจารีต ประเพณี -กฎหมายระบบนี้ คำพิพากษาของศาลไม่ใช่ที่มาของกฎหมาย แต่เป็นเพียงบรรทัดฐานแบบอย่างของ การตีความหรือการใช้กฎหมายของศาลเท่านั้น -การศึกษากฎหมาย ต้องเริ่มต้นจากตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ จะถือเอาคำพิพากษาศาล หรือความเห็น ของนักกฎหมายเป็นหลักเช่นเดียวกับหลักกฎหมายไม่ได้ -กฎหมายระบบนี้มีการแบ่งแยกกฎหมายออกเป็น ๒ สาย คือ กฎหมายเอกชนซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนด ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายเกษตร เป็นต้น และกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองของรัฐ เช่น กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายภาษีอากร เป็นต้น ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมานิค (Romano Germanic) นี้ บางตำราเรียกว่า ระบบประมวล กฎหมาย หรือ ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) ๒ . ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์นั้นมีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเดิมก่อนศตวรรษที่ ๑๑ ประเทศอังกฤษยังไม่เป็นปึกแผ่นโดยแบ่งการปกครองเป็นตามแคว้นหรือเผ่าของตนเอง มีระบบกฎหมายและระบบศาลตามเผ่าของตนเองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อมาประมาณศตวรรษที่ ๑๐-๑๕ พระเจ้าวิลเลี่ยม ดยุคแห่งแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศสได้ยกกองทัพเข้ายึดครองเกาะอังกฤษหลังจากการสู้รบกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยผลัดกันยกกองทัพไปรบ การรบครั้งแรกก็ไม่ได้ชัยชนะ ต่อมาก็บุกเข้าไปยึดครองอังกฤษได้ เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในอังกฤษยอมสวามิภักดิ์และยอมอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าวิลเลี่ยมหรือดยุคแห่งนอร์มังดี นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมและปกครองเกาะอังกฤษให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การนำของดยุคแห่งนอร์มังดี อังกฤษจึงเป็นปึกแผ่นครั้งแรกตามประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการปกครองในครั้งนั้นพระเจ้าวิลเลี่ยมมิได้เลิกอำนาจของหัวหน้าเผ่าหรือนำวัฒนธรรม อารยธรรมของนอร์มังดีเข้าไปใช้ในเกาะอังกฤษ แต่ใช้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ของยุโรปภาคพื้นทวีปผสมผสานไปกับระบบที่เป็นอยู่ของเผ่าต่าง ๆ บนเกาะอังกฤษโดยทรงถือว่าพระองค์เป็นเจ้าของราชอาณาจักรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วแบ่งดินแดนต่าง ๆ ให้กับขุนนางและยอมรับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ของอังกฤษที่ยอมเข้าสวามิภักดิ์เป็นขุนนางของพระองค์ ดังนั้นระบบศักดินาสวามิภักดิ์จึงเข้าไปฝังรากในอังกฤษด้วยพระเจ้าวิลเลี่ยมเป็นกษัตริย์ มีขุนนางปกครองแคว้นต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปจากแคว้นนอร์มังดี เป็นการตอบแทนที่ทำสงครามชนะ อีกส่วนหนึ่งก็คือบรรดาหัวหน้าเผ่าที่ยอมสวามิภักดิ์ การใช้กฎหมายต่าง ๆ ใช้กฎหมายชนเผ่าต่อไปตามเดิม ต่อมาพระเจ้าวิลเลี่ยมเห็นความจำเป็นว่าถ้าจะทำให้การปกครองเป็นเอกภาพเป็นปึกแผ่นและอำนาจของพระองค์เข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีกฎหมายที่เหมือนกันใช้ร่วมกันทั้งประเทศหรือทั่วทั้งราชอาณาจักร ถ้าปล่อยให้แต่ละแคว้นมีระบบกฎหมาย ระบบการบริหาร ระบบตัดสินคดีความของตัวเองแตกต่างกันไปหมด การที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่นย่อมจะเป็นไปไม่ได้ การที่จะทำให้สังคมชาติมีความเป็นปึกแผ่น มีความเป็นรัฐที่มีการจัดระเบียบที่ดีจะต้องทำอยู่ ๒ อย่าง คือ การจัดระบบกฎหมายเสียใหม่ทั้งรัฐให้เหมือนกัน และจัดระบบการปกครองที่ทำให้อำนาจนั้นมีเอกภาพ ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) ขึ้น กฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) เป็นกฎหมายที่วิวัฒนาการมาจากคำพิพากษาของศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) อันเนื่องมาจากเดิมการพิจารณาคดีของศาลในแคว้นต่างๆ มีการพิจารณาคดีตามจารีตประเพณีของแคว้นหรือชนเผ่าตนเอง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการกระทำความผิดหรือมีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเกิดขึ้นต่างแคว้นกัน ศาลในแต่ละแคว้นตัดสินแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) โดยมีการคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความสามารถจากส่วนกลางหมุนเวียนออกไปพิจารณาคดีในศาลท้องถิ่นทั่วทุกแคว้น มีการพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) แทนการพิจารณาคดีแบบเดิม โดยถือว่าเมื่อศาลหลวงมีคำพิพากษาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอย่างใดแล้วศาลอื่น ๆ ต้องผูกพันพิพากษาคดีตามศาลหลวง ซึ่งในระยะต้น ๆ มีปัญหาขัดแย้งในการพิพากษาคดีมาก เพราะแต่ละแคว้นก็มีจารีตประเพณีเป็นของตนเอง การใช้กฎหมายบังคับจึงต้องใช้กฎหมายจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น แต่ในระยะต่อมาความขัดแย้งเหล่านี้ค่อย ๆ หมดไปเกิดเป็นจารีตประเพณีที่ถือเป็นหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่มีลักษณะเป็นสามัญ (Common) และใช้กันทั่วไปในศาลทุกแคว้น ด้วยเหตุนี้กฎหมายคอมมอน ลอว์ จึงเริ่มเกิดขึ้นประเทศอังกฤษนับแต่นั้นเป็นต้นมาเนื่องจากจารีตประเพณีที่ใช้บังคับมิได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ศาลจึงเป็นผู้ที่นำจารีตประเพณีมาใช้และพิจารณาพิพากษาคดีโดยอาศัยประเพณีดังกล่าว คำพิพากษาศาลได้มีการบันทึกเอาไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ผู้พิพากษาคนต่อ ๆ มาใช้เป็นแบบอย่าง (Precedent) กล่าวคือ เมื่อศาลใดได้วินิจฉัยปัญหาใดไว้ครั้งหนึ่งแล้วศาลต่อ ๆ มาซึ่งพิจารณาคดี ซึ่งมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันย่อมต้องผูกพันในอันที่จะต้องพิพากษาตามคำพิพากษาก่อน ๆ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างนั้นด้วยคำพิพากษาของศาลจึงมีลักษณะเป็นกฎหมายอย่างหนึ่งแม้ว่าศาลจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกันทั่วประเทศแล้วก็ตามแต่กฎหมายคอมมอน ลอว์ ก็ยังมีช่องว่างและไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ทุกเรื่อง อันเนื่องจากสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และความซับซ้อนของเศรษฐกิจ คำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ไม่อาจใช้บังคับกับข้อเท็จจริงบางเรื่องได้ส่งผลให้ไม่อาจจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมได้ ครั้นต่อมาเมื่อรัฐสภาอังกฤษมีอำนาจมากขึ้น ได้มีการตรากฎหมายลายลักษณ์อักษร (Statutory Law) ขึ้นใช้บังคับอย่างแพร่หลาย โดยถือว่าเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องและเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอน ลอว์ซึ่งเป็นหลักทั่วไป ระบบคอมมอน ลอว์ ปัจจุบันมีที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศที่เคยอยู่ในเครือจักรภพของอังกฤษ เป็นต้น ลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ คือคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ศาลต้องผูกพันพิพากษาคดีตามแนวคำพิพากษาที่ได้มีมาแต่เดิม ตามหลัก “ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน” -คำพิพากษาของศาลมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเพียง ข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอนลอว์ ในกรณีที่ไม่มีคำพิพากษามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น -การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากการศึกษาคำพิพากษาของศาลที่มีมาแต่เดิมเป็นหลัก -มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) นี้ บางตำราเรียกว่า ระบบกฎหมายจารีตประเพณี สรุป ระบบกฎหมายหลักในโลกมีสองระบบคือระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law) หรืออาจเรียกว่า ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร(civil Law) และระบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ข้อ ๒. จงอธิบายคำตอบ ในสองข้อย่อยต่อไปนี้ ให้ละเอียดตามความเข้าใจของนักศึกษา ข้อ ๒.๑ ให้นักศึกษาอธิบายถึง หลักความยุติธรรม (Equity) ที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดีในระบบศาลซานเซอรี่ ของอังกฤษ (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ ในสมัยแรกเริ่มจัดตั้งศาลชานเซอรี่นั้น ศาลใช้หลักสำนึกอันดีงามและหลักความเป็นธรรมในการตัดสินคดี แต่ไม่มีความนึกคิดที่จะยึดถือหลักบรรทัดฐานคำพิพากษาแต่ประการใด ในศตวรรษที่ ๑๗ มีการตั้งผู้พิพากษาไปแทนชานเซลเล่อร์ซึ่งเป็นนักบวชในคริสตศาสนาและพิมพ์รายคำพิพากษา (report) ขึ้นมาจึงทำให้มีการถือตาม คำพิพากษาที่เคยมีอยู่แต่เก่าก่อนและวางหลัก (maxims) ที่ใช้ในการตัดสินคดี เช่น ๑. เอคควิตี้จะไม่บังคับตามสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งของสัญญามีอำนาจการต่อรองเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก ๒. บุคคลที่มาแสวงหาความเป็นธรรมจะต้องมาด้วยมือสะอาด ๓. เอคควิตี้ไม่ใช่เป็นเครื่องมือสำหรับการแก้แค้น ๔. เอคควิตี้ใช้บังคับเอากับตัวบุคคล ๕. เอคควิตี้เป็นฝ่ายตามกฎหมาย ๖. เอคควิตี้จะต้องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาเสมอ ๗. เอคควิตี้คือความเสมอภาค ๘. ระหว่างความเท่าเทียมกันผู้ที่มาก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า ฯลฯ ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดพอที่จะสรุปข้อแตกต่างระหว่างคอมมอนลอว์กับ เอคควิตี้ได้ ดังนี้ ๑. สภาพแห่งคดี คอมมอนลอว์บังคับเอากับทรัพย์สินของจำเลย กล่าวคือโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินตราเท่านั้น การไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลไม่เป็นหมิ่นอำนาจศาล สำหรับเอคควิตี้นั้นบังคับเอากับเนื้อตัวร่างกาย การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลเป็นการหมิ่นอำนาจศาล ๒. การพิจารณาคดี คดีคอมมอนลอว์ใช้ลูกขุนเป็นผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริง ส่วนผู้พิพากษาเป็น ผู้วินิจฉัยข้อกฎหมาย สำหรับคดีเอคควิตี้นั้นพิจารณาต่อหน้าชานเซลเล่อร์ ไม่มีการพิจารณาข้อเท็จจริงโดยลูกขุน ชานเซลเล่อร์เป็นผู้พิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ๓. การเยียวยา คดีคอมมอนลอว์ให้การเยียวยาแต่เฉพาะเป็นเงินตรา สำหรับคดีเอคควิตี้นั้นโจทก์อาจได้รับความบรรเทาความเดือดร้อนโดยศาลอาจสั่งให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้เฉพาะสิ่ง (specific performance) ตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือสั่งห้ามจำเลยกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด (injunction) หลังจากที่ประเทศอังกฤษได้ปฏิรูปกิจการศาลในปี ๑๘๗๓-๗๕ โดย เธอะ จูดิเคเจอร์ แอคท์ (The Judicture Act) ทำให้ศาลส่วนกลางมีอำนาจใช้ทั้งกฎหมาย คอมมอนลอว์และเอคควิตี้ ดังนั้นโจทก์จึงอาจนำคดีคอมมอนลอว์และเอคควิตี้มาฟ้องในศาลเดียวกันโดยไม่ต้องแยกฟ้องเหมือนสมัยก่อน ข้อ ๒.๒ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายชาวโรมันในอดีต ที่ได้นำความคิดเห็นของนักปราชญ์ มาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร จงอธิบายว่าส่วนประกอบอะไรบ้าง (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน (The Justinian Code) เป็นกฎหมายของโรมันที่จัดทำขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. ๕๒๘โดยจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบไปด้วยนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง เพื่อรวบรวมกฎหมายโรมันให้มีลักษณะเป็นหมวดหมู่ยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาจดจำ ได้ตัดข้อความเกี่ยวกับศาสนาและสิ่งที่ไม่เป็นสาระออกเพื่อให้มีแต่หลักสำคัญ และเรียกประมวลกฎหมายฉบับนี้ว่า “ประมวลกฎหมายจัสติเนียน หรือ คอร์ปัส จูริส ซิวิลิส” (Corpus Juris Civilis) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่มีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมายของประเทศต่างๆ ในยุโรประยะหลังๆ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นกฎหมายที่มีความแน่นอนเป็นหลักเป็นฐาน เนื่องจากได้จัดทำเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรทำให้สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ และยังสามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย จึงเป็นประมวลกฎหมายที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นต้นแบบของหลักกฎหมายและแนวความคิดในการจัดทำประมวลกฎหมายของประเทศต่างๆ ในระยะหลังต่อ มาจนถึงในปัจจุบัน จักรพรรดิจัสติเนียน (The Justinian) ได้ทรงโปรดให้มีการรวบรวมเอาจารีตประเพณีและกฎหมายของพวกโรมันที่มีการร่างเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นแล้วมารวบรวมไว้เป็นเล่มอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ ส่วนคือ ส่วนที่ ๑ เรียกว่า Codex (โคเด็กซ์) คือประมวลกฎหมายโรมัน มีทั้งหมด ๑๒ หมวด จักรพรรดิจัสติ เนียนได้มอบหมายให้รัฐมนตรี ๑๐ คน ทำการร่างโดยมีการยกร่างเอากฎหมายเก่าๆ ของพวกโรมันมาชำระสะสาง กฎหมายใดไม่ทันสมัยก็ตัดทิ้งไปเอากฎหมายทันสมัยมาใส่แทนเป็นประมวลกฎหมายเสร็จในราวปี ค.ศ. ๕๒๙ ส่วนที่ ๒ เรียกว่า Digest (ไดเจสท์) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของประมวลกฎหมายจัสติเนียน จักรพรรดิจัสติเนียนได้มอบหมายให้ทรีบอเนียน (Tribonian) ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนหนึ่งศึกษาข้อเขียนของกฎหมายโรมันรุ่นเก่าๆ และพยายามสกัดเอาหลักกฎหมายมาจากพวกข้อเขียน ตำรา และเอามารวบรวม มีการอธิบาย มีการวางหลักกฎหมาย การตีความ รวบรวมไว้ทั้งหมด ๕๐ หมวด ประกอบด้วย ๑๕๐,๐๐๐ บรรทัด รวบรวมหลักกฎหมายที่สกัดไว้ถึง ๙,๑๒๓ หลัก เสร็จในราวปี ค.ศ.๕๓๐ กฎหมายส่วนที่เรียกว่า Digest นี้เอง ตอนหลังมีการค้นพบในทางตอนเหนือของอิตาลีและประเทศต่างๆ นำไปศึกษาค้นคว้าปรับปรุงกฎหมายของประเทศตนเอง ส่วนที่ ๓ เรียกว่า Novel (โนเวล) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนและกฎหมายที่ ตราขึ้นภายหลังที่มีประมวลกฎหมายโรมันแล้วเป็นการแก้ไขส่วนที่เรียกว่า Codex ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อยู่ในระหว่าง ค.ศ.๕๓๔ – ค.ศ.๕๖๕ ส่วนที่ ๔ เรียกว่า Institute (อินสติติวท์) เป็นตำราวางพื้นฐานที่จะเริ่มต้นศึกษากฎหมายในสมัย โรมัน จัดพิมพ์ในปี ค.ศ.๕๓๓ แบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ “Persona” ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในฐานะต่างๆ ในสังคม “Res” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สิน “Actio” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาคดี ข้อ ๓. “อุทลุม” ที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกับหลักการที่ปรากฎในประมวลกฏหมายและพานิชย์หรือไม่ จงอธิบาย ( ๒๕ คะแนน) แนวคำตอบ อุทลุม (/อุดทะลุม/) ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นศัพท์กฎหมายไทย โดยเป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า "ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง คำ "อุทลุม" นี้ใช้เรียกบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่กระทำผิดธรรมะบังอาจฟ้องร้องบุพการีผู้มีพระคุณ เรียกว่า "คนอุทลุม" และเรียกคดีในกรณีนี้ว่า "คดีอุทลุม" ดังที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะรับฟ้อง ดังนี้ "มาตรา ๒๑ อนึ่ง ในฟ้องนั้นเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อันหาความแก่พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ดี ให้ยกฟ้องเสีย มาตรา ๒๕ ผู้ใดเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ตา ยาย แลมันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกรรจ์ อย่าให้มันคนร้ายนั้นดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป แล้วอย่าให้บังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย" ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้น คณะกรรมการร่างได้รับเอาหลักการว่าด้วยคุณธรรมของมนุษย์หลายเรื่องจากกฎหมายตราสามดวงมาโดยตรงทีเดียว ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมายของชาติใดอีกแล้ว อันรวมถึงเรื่องคดีอุทลุมด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ครอบครัว, ลักษณะ ๒ บิดามารดากับบุตร, หมวด ๒สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ที่ยังใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน ห้ามผู้สืบสันดาน (descendant) ฟ้องบุพการี (ascendant) ของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา โดยบัญญัติว่า "มาตรา ๑๕๖๒ ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" ทั้งนี้ โดยเหตุที่บทบัญญัติมาตรา ๑๕๖๒ ข้างต้น ตัดสิทธิของบุคคล ศาลไทยจึงตีความโดยเคร่งครัดว่า "บุพการี" ซึ่งหมายถึง "ผู้ที่ทำการอุปการะมาก่อน" นั้น ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และทวด โดยทางสายโลหิตเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงกรณีที่บุตรบุญธรรมจะฟ้องบุพการีบุญธรรมของตน ดังแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๗/๒๕๔๘ บทกฎหมายที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒ ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น" อย่างไรก็ดี การที่บุตรจะฟ้องบุพการีของตนมิใช่เพื่อให้รับผิดต่อกันในทางส่วนตัว หรือในฐานะอื่นที่ไม่ถือว่าเป็นการพิพาทกันระหว่างบุตรกับบุพการี ไม่จัดเป็นอุทลุมตามกฎหมายปัจจุบัน ดังศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๙๘/๒๕๑๙ "...จำเลยฎีกาว่า...การที่โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนผู้เยาว์เป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๓๔ [มาตรา ๑๕๖๒ ปัจจุบัน] เห็นว่า...การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จากจำเลย ก็ไม่เป็นคดีอุทลุม เพราะฟ้องในฐานะที่เป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่ใช่ฟ้องในนามผู้เยาว์หรือในฐานะผู้แทนผู้เยาว์" ข้อ ๔. จงอธิบายคำตอบ ในสองข้อย่อยต่อไปนี้ ให้ละเอียดตามความเข้าใจของนักศึกษา ๔.๑ มีคำกล่าวว่าระบบกฎหมายในภาคพื้นยุโรปมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการร่างประมวลกฎหมายขึ้นมาใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นแบบ Civil Law จงอธิบายเหตุผลเพื่อสนับสนุนคำกล่าวข้างต้น (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ แม้ว่าผู้นำในวงการกฎหมายสมัยนั้น คือกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบกฎหมายแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (COMMON LAW SYSTEM) แต่เหตุ ใดรัฐกาลที่ ๕ ทรงเลือกใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายในระบบลายลักษณ์อักษร (CIVIL LAW SYSTEM) ในเรื่องนี้มีข้อสรุปจากคณะกรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายว่า ระบบกฎหมายอังกฤษเหมาะสมสำหรับชาวอังกฤษมากกว่าประเทศอื่น เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีและคำพิพากษาของศาลเป็นหลัก ตัวบทกฎหมายก็มิได้มีการรวมไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรนั้น มีกฎหมายโรมันเป็นหลัก เป็นกฎหมายที่มีการแบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย มีตัวบทที่แน่นอนและเป็นหลักฐานเหมาะสำหรับประเทศไทยที่ในขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบัญญัติกฎหมาย คือ ความชัดเจน เข้าใจง่าย ใช้สะดวก และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประเทศโดยส่วนมากในทวีปยุโรปใช้ระบบประมวลกฎหมาย การที่ประเทศไทยใช้ระบบเดียวกันทำให้สะดวกในการเจรจาขอปลดเปลื้องสิทธิเสรีภาพนอกอานาเขตต่อไป จากการที่ได้ศึกษาวิวัฒนาการของกฎหมายต่างประเทศ ทำให้เราสามารถทราบว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยได้รับอิทธิพลจากกฎหมายประเทศต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในระบบซีวิลลอว์ กล่าวคือใน บรรพ ๑ และบรรพ ๒ได้ลอกเลียนมาจากกฎหมายแพ่งเยอรมัน และกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นการนำเอาระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมานิคมาใช้นั้นเอง เพราะเห็นว่ากลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรนั้น มีกฎหมายโรมันเป็นหลัก เป็นกฎหมายที่มีการแบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย มีตัวบทที่แน่นอนและเป็นหลักฐานเหมาะสำหรับประเทศไทย บรรพ ๓ ว่าด้วยเอกเทศสัญญา มีการเอาแบบอย่างกฎหมายมาจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในลักษณะ ๑ กฎหมายว่าด้วย ซื้อขาย ได้ยึดถือพระราชบัญญัติซื้อขายสินค้า (The Sale of Goods Act ๑๘๙๓) มาเป็นแบบอย่าง ในส่วนที่เป็นกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินได้นำเอาบทบัญญัติส่วนใหญ่ของเธอะบิลล์ ออฟ เอ๊คซ์เจนจ์ แอคท์ ค.ศ. ๑๘๘๒ (The Bill of Exchange Act, ๑๘๘๒) ของอังกฤษมาเป็นรากฐานในการร่าง นอกจากนี้กฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทจำกัด ก็ได้ต้นแบบมาจากกฎหมายอังกฤษเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบคอมมอนลอว์ อยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น จึงถือว่าระบบกฎหมายในภาคพื้นยุโรปมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการร่างประมวลกฎหมายขึ้นมาใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นแบบ Civil Law ๔.๒ จงอธิบายถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ของประเทศไทย มาพอสังเขป (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศสยามต้องผจญอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม จนที่สุดหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน รวมถึงสยามเองก็จำต้องยอมรับนับถือเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ของตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศตน โดยเฉพาะด้านการเมืองการปกครองของสยามนั้น ชาวตะวันตกต่างดูถูกดูแคลนว่าพระราชกำหนดบทพระอัยการกฎหมายตราสามดวงมีความล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ยอมให้ใช้กฎหมายเหล่านั้นแก่ตนเป็นอันขาด เป็นเหตุให้สยามจำต้องทำสนธิสัญญาเสียเปรียบกับชาติตะวันตกหลายประเทศยอมยกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ชาวต่างชาติ แต่ในกระวนการมีปัญหาอุปสรรคสรุปได้ ดังนี้ ๑. กรรมการชุดแรกมีการเปลี่ยนแปลงเอาผู้ไม่มีความสามารถมาร่างประมวลกฎหมาย กล่าวคือกรรมการชุดนี้เป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมดมียอร์ช ปาดู เป็นประธาน เริ่มลงมือร่างประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้แก่ ราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๗ ชอร์ช ปาดู เดินทางกลับไปยุโรปและได้แนะนำเดแลสเตร (Délestrée) แก่ทางการไทยให้รับหน้าที่แทนตน ปรากฏว่าเดแลสเตรผู้นี้ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการยกร่าง ซ้ำเขายังรื้อโครงการที่ชอร์ช ปาดู และคณะทำไว้ก่อนหน้า ทำให้ร่างประมวลกฎหมายเกิดความอลเวง และการดำเนินงานเป็นไปโดยเชื่องช้าอย่างถึงที่สุด เมื่อชอร์ช ปาดู เดินทางกลับมาใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึงกับตกตะลึงที่รับทราบว่างานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยุ่งเหยิงถึงเพียงนั้น ทั้งที่ตนได้วางระเบียบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เขาถึงเจรจราให้เดแลสเตรลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสีย เพื่อเขาจะได้กลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง และแล้ว งานร่างประมวลกฎหมายก็ดำเนินต่อไป ๒. ปัญหาตั้งกรรมการหลายชุดเกินไป กรรมการชุดที่สองการ ดำเนินงานก็มิใช่ง่าย เนื่องจากในการหยิบ ยกบทกฎหมายของไทยแต่เดิมขึ้นมาพิจารณาประกอบนั้น ตัวบทกฎหมายทางวิธีพิจารณาความและทางอาญามีมากกว่าทางแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ได้ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้รับตำแหน่งแทน ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหลายคณะจนเฝือ เช่น คณะกรรมการช่วยยกร่าง คณะกรรมการตรวจคำแปลให้ถูกต้องทั้งด้านกฎหมายและการใช้ภาษา เป็นผลให้งานร่างกฎหมายเป็นไปอย่างติด ๆ ขัด ๆ และการติดต่อประสานงานกันระหว่างคณะกรรมการทั้งหลายเป็นไปอย่างล่าช้า มีความคืบหน้า น้อยมาก ๓. มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา ที่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยอ่านแล้วไม่เข้าใจ กรรมการร่างกฎหมายชุดที่ ๓ พบว่าการดำเนินงานโดยเอกัตภาพของกรมร่างกฎหมาย กระทรวง ยุติธรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การตรวจชำระร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และบรรพ ๒ เสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทว่า ร่างทั้งสองกลับมิใช่ร่างที่สมบูรณ์แบบ เพราะเดิมนั้นจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนจะแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็แปลมาตรงตัวเลยทีเดียว กรรมการร่างกฎหมายฝ่ายที่เป็นชาวสยามอ่านแล้วไม่เข้าใจ คณะกรรมการร่างกฎหมายจึงลงมติว่าควรจัดพิมพ์และแจกจ่ายร่างฉบับดังกล่าวให้บรรดาผู้พิพากษาสุภาตุลาการทนายความและนักกฎหมายทั้งหลายได้อ่านเสียก่อน เพื่อหยั่งฟังเสียงดูความเห็นของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ หลักทั่วไป และบรรพ ๒ หนี้ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๖ แต่ให้มีผลใช้บังคับในวันที่ ๑ มกราคม ปีถัดไป ปรากฏว่าประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะหมู่ผู้พิพากษาและทนายความวิพากษ์วิจารณ์ว่า "อ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ๔. การเปลี่ยนแบบจากการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเป็นแม่แบบมาเป็น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน เป็นแม่แบบแทน ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ นั้นเอง ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ ๔ โดยชุดนี้ ประกอบด้วย มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) และเรอเน กียง (René Guyon) คณะกรรมการได้ประชุมปรึกษากันเพื่อหาวิธีการให้งานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดำเนินไปโดยตลอดรอดฝั่ง ซึ่งครั้งนั้น พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) เสนอว่า จากเดิมที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (Code civil des Français) ซึ่งมี 3 บรรพ เป็นแม่แบบ ควรเปลี่ยนมาใช้ เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค (Bürgerliches Gesetzbuch) หรือประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน เป็นแม่แบบแทน ด้วยการลอก มินโป (民法, Minpō) หรือประมวลกฎหมายแพ่งแห่งญี่ปุ่น ที่ยกร่างโดยอาศัยเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคเป็นแม่แบบก่อนแล้ว ประกอบกับการใช้ซีวิลเกเซทซ์บุค (Zivilgesetzbuch) หรือประมวลกฎหมายแพ่งสวิส เป็นแม่แบบอีกฉบับหนึ่ง แต่เพื่อไม่ให้เสียไมตรีกับทางฝรั่งเศส จึงนำเอาบทบัญญัติบางช่วงบางตอนจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับเดิมที่ประกาศใน พ.ศ. ๒๔๖๖ มาประกอบด้วย ที่สุดก็ได้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพแรก ๆ ที่สมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ๕. ปัญหาอิทธพลของระบบคอมมอนลอว์ที่มีมาก่อน และการปรับกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศ แถบยุโรปให้เหมาะสมกับสังคมไทย ภายหลังจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และบรรพ ๒ ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ พร้อมกับการประกาศใช้บรรพ ๓ ในเวลาเดียวกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ กรมร่างกฎหมายซึ่งวิวัฒนามาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันก็รับหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายสืบต่อมา โดยในการร่างบรรพอื่น ๆ นั้น แม้จะมีประมวลกฎหมายแพ่งของชาติอื่น ๆ ในระบบซีวิลลอว์เป็นแม่แบบ แต่หลักกฎหมายของระบบคอมมอนลอว์ที่เคยใช้อยู่แต่เดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ การรับกฎหมายของต่างชาติเข้าหาได้หยิบยกมาทั้งหมด ทว่า ได้ปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย จากปํญหาและอุปสรรคข้างต้นทำให้การร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขั้น ใช้เวลาถึง ๓๐ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะมีความยาวมาก มีทั้งสิ้น ๑๗๕๕ มาตรา จำนวน ๖ บรรพ ประกาศใช้ครบทุกบรรพเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๗ **************************************************** บทพิสูจน์ความแกร่ง แห่งเพชรแท้ ความแน่วแน่ที่จะไป...ให้ถึงฝัน จะย่อท้อหวั่นไหว ทำไมกัน หวังและวันแห่งเส้นชัย...ไม่ไกลเกิน

ไม่มีความคิดเห็น: