วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2551

ผู้บุกเบิกการปลูกยางพาราแห่งด่านขุนทด


ผู้บุกเบิกการปลูกยางพาราแห่งด่านขุนทด

เรื่อง/ภาพ โกศล บุญคง
นายสมศักดิ์ เลิศกิจลักษณ์ หรือเฮียเซ้ง

ที่มาของชื่ออำเภอด่านขุนทด แยกส่วนประกอบเป็น ๒ ส่วน คือ "ด่าน" และ "ขุนทด" การที่ได้ชื่อว่า "ด่าน" เพราะมีฐานะเป็นด่าน มีเขตติดต่อระหว่างอาณาจักรโคตรบูรณ์ และ อาณาจักรทวาราวดี มีผู้ดูแลปกครองด่านซึ่งสันนิษฐานว่าชื่อขุนศิริทศ ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อด่าน คือ ด่านขุนทดการก่อตั้ง เดิมอำเภอด่านขุนทดเป็นแขวงเมืองหนึ่งของอำเภอสันเทียะ (โนนไทย) และมีฐานะเป็นเพียงด่านแห่งหนึ่งโดยมีพระเสมารักษาเขต เป็นผู้ปกครองดูแล คอยเก็บส่วย อากร ส่งไปยังอำเภอสันเทียะ การปกครองหน้าด่านนี้ใช้วิธีการปกครองกันเองและเลือกผู้ปกครองเอง พุทธศักราช ๒๔๕๑ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าสถาปนาด่านขุนทดขึ้นเป็นอำเภอด่านขุนทด ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็น อำเภอบ้านหาญเพราะตั้งที่ทำการ ณ บริเวณบ้านหาญและเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพันชนะ จนถึง พุทธศักราช ๒๔๕๖ จึงเปลี่ยนมาเป็นอำเภอด่านขุนทดอีกครั้งหนึ่ง ในสภาพปัจจุบัน อำเภอด่านขุนทด แบ่งการปกครองเป็น ๑๙ ตำบล ๒๐๘ หมู่บ้าน มีสุขาภิบาล ๑ แห่ง คือ สุขาภิบาลด่านขุนทด

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ วัดบ้านไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดพิมาน จากตัวเมืองเดินทางตามถนนมิตรภาพ ถึงกิโลเมตรที่ ๒๓๗ แยกขวาผ่านอำเภอขามทะเลสอและบ้านหนองสรวงไปจนถึงอำเภอด่านขุนทด ระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร จากโรงพยาบาลด่านขุนทดใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๑๗ เป็นระยะทางอีกประมาณ ๑๑ กิโลเมตร วัดบ้านไร่เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเป็นสถานที่จำพรรษาของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ)
วกมาเข้าเรื่องอาชีพการเกษตรของเรา พบว่าด่านขุนทดมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง ๙๓๑.๔๐ มิลลิเมตร และมีจำนวนวันฝนตกเฉลี่ยเพียง ๘๐.๓๐ วันต่อปี โดยคิดตัวเลขสถิติ ๑๐ ปีย้อนหลัง(ข้อมูลของสถานีอุตุนิยมวิทยานครราชสีมาจากปี ๒๕๓๖ - ๒๕๔๕) นับว่าเป็นเขตแห้งแล้ง มากทีเดียว เกษตรกรส่วนใหญ่จะยึดอาชีพปลูกพืชไร่ คือมันสำปะหลัง ข้าวโพด และเลี้ยงวัว ท่ามกลางเปลวแดดอันแผดจ้าข้าพเจ้าขับรถผ่าน สี่แยกบ้านวังม่วงที่มีป้ายบอกตรงไปยังอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เดินทางไปได้ ๒๕ กิโลเมตร ถึงตลาดห้วยบง เลี้ยวขวาผ่านหมู่บ้านอีก ๓ หมู่บ้านก็จะถึงบ้านหินแตก แต่เดี๋ยวนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อให้ดูเป็นมงคลไม่แสดงถึงความแปลกแยกเหมือนก่อนโดยมีชื่อใหม่ว่าบ้านศิลาร่วม หมู่ ๔ ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา แทบไม่น่าเชื่อว่า จะพบกับสวนยางพาราอายุ ๒ ปี ที่เพิ่งไถกลบตอซังเข้าโพดหลังเก็บเกี่ยวเพราะเริ่มเข้าฤดูแล้งแล้ว พอขับผ่านเข้าไปกลางสวนยังพบกับต้นยาง ที่เปิดกรีดมาได้ ราว ๔ ปีแล้ว กำลังแตกไปอ่อนเขียวขจี ตัดกับพื้นที่รอบๆ ที่เหลือแต่ซังข้าวโพดสีน้ำตาลสุดลูกหูลูกตา นั้นคือสวนยางของ นายสมศักดิ์ เลิศกิจลักษณ์ หรือเฮียเซ้ง อายุ ๕๗ ปี เกษตรกรคนขยันของเรานั้นเอง เฮียเซ้งเป็นคนที่เกิดในตลาดอำเภอด่านขุนทด แต่ในวัยหนุ่มเฮียเซ้งเล่าให้ฟังว่า ได้ออกจากบ้านไปแสวงหาโชคลาภทางดินแดนด้ามขวานของประเทศไทยเพราะได้ยินข่าวว่า เป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ โดยไปรับเหมาทำโอ่งแก่ชาวบ้านตามโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล เริ่มต้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลังจากนั้นก็ตระเวนรับทำโอ่งไปอีกหลายจังหวัดเช่น ตรัง สตูล ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดยะลา จนเกือบทั่วทั้งภาคใต้ก็ว่าได้ ด้วยความที่เป็นคนอัธยาศัยดี อ่อนน้อมถ่อมตน เฮียเซ้งจึงได้รับความเมตตาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หางานมาให้อย่างสม่ำเสมอจนไดเงินเป็นกอบเป็นกำก้อนใหญ่ที่เดียว ด้วยความที่คร่ำหวอดอยู่กับหมู่บ้านในชนบทของท้องถิ่นภาคใต้หลายปี เฮียเซ้งจึงนำเงินก้อนหนึ่งกลับมาซื้อที่แปลงหนึ่งในเขตบ้านศิลาร่วม จำนวน ๘๐ ไร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ในราคาไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท และลงมือปลูกยางพาราครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๒ ในเนื้อที่ ประมาณ สวนยางที่เปิดกรีดแล้ว ๙๐๐ ต้น ๔๐ ไร่ เพราะจำได้ว่าหมดต้นยางไป ๓,๐๐๐ ต้น ปลูกระยะ ระหว่างต้น ๓ เมตร ระหว่างแถว ๗ เมตร แต่การบำรุงรักษาหลังจากปลูกแล้วแทบจะไม่ได้ทำเลยเนื่องจาก ประการที่หนึ่งยังไม่มั่นใจว่าต้นยางที่ปลูกลงไปจะให้น้ำยางเหมือนที่ทางภาคใต้ได้รับหรือไม่ ประการต่อมาปัญหาวัชพืชรุนแรงมากคนทางอีสานก็จะใช้วิธีการไถเพียงอย่างเดียว เฮียเซ้งก็เช่นกันไถชิดแถวยางทุก ๆ ปี แม้ยางจะโตแล้วก็ตาม ส่วนอีกประการหนึ่งคือนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่จำเป็นกว่าเสียก่อนเรื่องการใส่ปุ๋ยให้กับต้นยางไว้ลำดับหลังสุด แต่แม้จะเลี้ยงดูตามยะถากรรมสวนยางแปลงนี้ก็ยังเจริญเติบโตอย่างช้าๆ ไปตามกาลเวลาจนอายุยางได้ ๑๐ ปี แต่หาคนกรีดไม่ได้ ประกอบกับยังไม่แน่ใจว่าจะได้ผลผลิตน้ำยางมากแค่ใหนจึงตัดโค่นต้นยางไปเผาถ่านเสียเกือบ ๒๐ ไร่ คงเหลือต้นยางที่กรีดอยู่ในปัจจุบันเพียง ๙๐๐ ต้น ด้วยความบังเอิญที่เจอลูกน้องมาช่วยงานที่ในไร่ มีฝีมือกรีดยางเป็น จึงได้เปิดกรีดเมื่อปี ๒๕๔๖ แต่การกรีดจะไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปีเหมือนรายอื่นๆ ทั่วไปเพราะลูกน้องคนนี้จะทำงานหลายอย่างจะต้องหยุดการกรีดยางบ่อยๆ เช่นช่วงทำนาก็จะหยุดยางไปไถที่ดำนาเสร็จจึงกลับมากรีดต่อ ถึงกระนั้นก็ตาม เฮียเซ้งบอกว่าปี่ที่แล้วได้ ผลผลิตยางแผ่นดิบรวม ๒,๕๐๐ กิโลกรัม ไปขายที่บุรีรัมย์ได้ราคา ระหว่าง ๗๐-๘๐ บาท ขายได้เป็นเงินราว ๑๘๗,๕๐๐ บาท รายได้และค่าใช้จ่ายทุกอย่างแบ่งกับคนกรีดคนละครึ่งทุกรายการ
ช่วงที่ปลูกยางแปลงแรก ๔๐ ไร่แล้วเฮียเซ้งก็ยังรับจ้างทำโอ่งอยู่ในภาคใต้อยู่ถึง ๑๒ ปี จึงกลับมาทำไร่ ทำสวนอยู่ที่อำเภอด่านขุนทดบ้านเกิด โดยมาซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๑๐๐ ไร่ เมื่อเห็นว่าในเขตอำเภอด่านขุนทดปลูกยางให้น้ำยางแน่นอนแล้ว จึงปลูกเพิ่มอีก ๑,๐๐๐ ต้นในปี ๒๕๔๘ และ ๙,๐๐๐ ต้นในปี ๒๕๔๙ รวมทั้งหมดเป็นการปลูกเพิ่มอีก ๑๒๐ ไร่ ในระหว่างแถวยางปีที่แล้วได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ NK ๔๘ เต็มทั้งหมดเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อปลายฤดูฝนปี ๒๕๕๐ ได้ถึง ๑๐๐ ตัน ประกอบกับราคาข้าวโพดปีนี้ดี ได้กิโลกรัมละ ๘.๑๕ บาท จึงคิดเป็นเม็ดเงินที่เฮียเซ้งได้รับจากการขายข้าวโพด ๘๑๕,๐๐๐ บาท เมื่อถามถึงต้นทุนก็พบว่าเป็น ข้าวโพดที่ปลูกแซมยาง
ค่าใช้จ่ายมีรายละเอียดดังนี้
ค่าไถเตรียมดิน ไร่ละ ๓๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
เมล็ดพันธุ์ ๓ กิโลกรัมต่อไร่ ราคาเมล็ด ๑๐๐ บาทต่อกิโลกรัม เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
ค่ารถพร้อมเครื่องหยอดเมล็ด ๑๒๐ บาทต่อไร่ เป็นเงิน ๑๔,๔๐๐ บาท
ค่าทำรุ่น(ปราบวัชพืช)โดยใช้รถไถพรวน ๑ ครั้ง ๓๐๐ บาทต่อไร่ เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
ค่าปุ๋ยใส่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกใช้สูตร ๑๖-๘-๘ ใส่พร้อมหยอดเมล็ด อัตรา ๑๕ กิโลกรัมต่อไร่ และครั้งที่ ๒ เมื่อข้าวโพดอายุ ๒๑ วัน ใส่ยูเรียผสมกับสูตร ๑๖-๘-๘ ในอัตรายูเรีย ๔๐ กิโลกรัม และ สูตร ๑๖-๘-๘ ในอัตรา ๒๕ กิโลกรัมต่อไร่ คิดปุ๋ยราคา ๑๕ บาทต่อกิโลกรัม จึงคิดต้นทุนค่าปุ๋ยทั้งสิ้นในพื้นที่ ๑๒๐ ไร่ เป็นเงิน ๑๔๔,๐๐๐ บาท
ค่าแรงงานทั้งหมด คือใส่ปุ๋ย ปราบวัชพืช ๑๒๐ บาท/ไร่
เก็บเกี่ยว ๘๐๐ บาท/ไร่ ๑๒๐ ไร่ เป็นเงิน ๙๖,๐๐๐ บาท
ค่าขนส่งผลิตผล ๑๕ สตางค์/กิโลกรัม เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐บาท
ค่าจ้างสีเมล็ดข้าวโพด ๒๕ บาท/กิโลกรัม เป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท
รวมต้นทุนทั้งหมดเป็นเงิน ๔๐๒,๔๐๐ หักลบกลบหนี้แล้วยังมีกำไรถึง ๔๑๒,๖๐๐ บาท
ผลพลอยได้คือซังข้าวโพดและแกนข้าวโพดหลังจากสีเอาเมล็ดไปขายแล้วเอามาใช้เลี้ยงวัว ซึ่งมีอยู่จำนวน ๕๒ ตัว ทำคอกไว้ใกล้กับสวนยางนั้นเอง ส่วนมูลวัวก็นำมาทำปุ๋ยหมักโดยใช้เศษซังข้าวโพดนั้นเองโดยสลับชั้นกับมูลวัวแล้วใช้สาร พด.๑ เป็นตัวเร่งเพื่อใช้ใส่ต้นยางพารา กองปุ๋ยหมัก
ในช่วงที่ปุ๋ยราคาแพง นอกจากนั้นเฮียเซ้งยังทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เองอีกต่างหากโดย ซังข้าวโพดเก็บไว้เลี้ยงวัวและทำปุ๋ยหมักหาพาชนะไปให้คนเขาเทเศษเปลือกผัก ผลไม้ในตลาดสดรวมไว้ให้ และไปซื้อ ถังน้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลมา ในกิโลกรัมละ ๖.๕ บาท หมักเอาไว้ที่โรงเลี้ยงวัวนั้นแหละ ทิ้งไว้จนเวลาผ่านไป ๒-๓ เดือนเปิดดูมีกลิ่นหอม น้ำสีน้ำตาลเข้มก็ นำไปใช้ได้ ในปีนี้เฮียเซ้งยังเก็บเมล็ดพืชคลุมดินเพอราเรียที่ปลูกในระหว่างแถวยาง ได้อีก ๖๐ กิโลกรัม แต่พบปัญหาว่าค่าแรงเก็บเกี่ยวแพงเหลือเกินถ้าขายต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท ยังไม่คุ้มค่าแรงจ้างลูกน้องเก็บเลยยังไงก็ต้องฝากให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางนำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ในการส่งเสริมการปลูกพืชคลุมดินด้วย แต่อย่างไรก็ตามเฮียเซ้งบอกว่าจะเก็บไว้ปลูกเองเป็นการสานต่อโครงการธนาคารเมล็ดพืชคลุมดินของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครราชสีมาอีกแรงหนึ่งยังไงก็ขอให้กำลังใจเกษตรกรคนเก่งของเราให้สู้ต่อไป


หนังสืออ้างอิง :
ขอขอบคุณ นายสมศักด์ เลิศกิจลักษณ์ บ้านเลขที่ ๑๕๖-๑๕๘ หมู่ ๑๑ ตำบลด่านขุนทด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โทร. ๐-๔๔๓๘-๙๐๙๓, ๐๘-๙๐๖๗-๙๕๗๐ ผู้ให้ข้อมูล
เอกสารแนะนำเรื่อง ระบบเกษตรกรรมที่เหมาะสมในเขตน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต ๔ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ธันวาคม,๒๕๔๔) : ๕๐ หน้า.
อำเภอด่านขุนทด ,[URL] : http://www.koratcultural.com/thai/kongdee/database/aspboard_Question.asp?GID=53
สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครราชสีมา.

ไม่มีความคิดเห็น: