วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เกษตรฯดันกองทุนพืชพลังงาน สร้างความมั่นใจขยายพื้นที่ปลูก

เกษตรฯดันกองทุนพืชพลังงาน สร้างความมั่นใจขยายพื้นที่ปลูก
เกษตรฯเล็งตั้งกองทุนพืชพลังงานทดแทน เร่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริม เดินตาม พ.ร.บ.ยางพารา เรียกเก็บค่าธรรมเนียมก่อนจ่ายเงินสงเคราะห์ไร่ละ 9,000 บาท สร้างความมั่นใจเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรนิยมหันมาปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และ ข้าวโพด กระทรวงเกษตรฯ จึงเห็นว่าพืชเหล่านี้ควรได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม ดังนั้นจึงได้มอบให้นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมพืชพลังงาน และผลักดันให้มีผลทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะยึดหลักการ พ.ร.บ.ยางพารา เป็นต้นแบบและแนวทาง โดยเฉพาะการสงเคราะห์ปลูกยางอัตราไร่ละ 9,000 บาท ซึ่งใช้เงินจากค่าธรรมเนียมพิเศษ หรือเงินเซส ซึ่งพืชพลังงานแม้ว่าผลผลิตส่วนใหญ่จะใช้อยู่ภายในประเทศ แต่ก็ควรเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในอัตราที่เหมาะสม โดยมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตพืชพลังงานของไทยจะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ
“หากพืชเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะขยายพื้นที่ปลูกและพัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้น โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรกรณีราคาสินค้าตกต่ำด้วย“ นายสมศักดิ์ กล่าว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การคุ้มครองและส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน ขณะนี้มีสองแนวทาง คือ 1.ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ยาง ให้คุ้มครองและส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานด้วย และ 2. ร่าง พ.ร.บ. ขึ้นใหม่ ส่วนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ยางพารานั้น กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ ประกอบกับการโค่นยางเก่าเพื่อปลูกปาล์ม กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจะจ่ายเงินสงเคราะห์ในอัตราไร่ละ 9,000 บาท แต่กรณีที่โค่นปาล์มใหม่อีกจะไม่ได้รับเงินสงเคราะห์นี้ ทำให้ชาวสวนปาล์มเรียกร้องให้ กระทรวงเกษตรฯ ตั้งกองทุนปลูกปาล์มขึ้นมา
"ส่วนการร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ ต้องนำ พ.ร.บ.ฉบับอื่นและกองทุนที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณาร่วมด้วย โดยเฉพาะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ส่วนพืชอื่นๆ ยังไม่มีกองทุนสนับสนุนที่ชัดเจน จึงไม่น่ามีปัญหา และกรณีที่ทุกฝ่ายเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนพืชพลังงานขึ้นมา คาดว่าจะเสนอให้ใช้งบจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นทุนประเดิม" นายอภิชาต กล่าว

จาก.. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น: