วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ศก.ใต้เผชิญวิกฤต "ลุงแซม" 1-2 ปี กูรูแนะรัฐจับตาใกล้ชิด-ภาคอุตฯต้องปรับตัวสู้


ช่วงนี้ราคาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำอย่างหนัก โดยฌฉพาะยางพาราเราจึงมาดูแนววิเคราะห์ของผู้รู้กันว่าสาเหตุมาจากอะไร

แบงก์ชาติระดมสมองผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งต่อเศรษฐกิจในภาคใต้ ชี้ราคาน้ำมันและวิกฤตซับไพรม์ปะทุในสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกปั่นป่วน และอัตราการแลกเปลี่ยนเงินผันผวน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาชี้ จีน อินเดีย บราซิล และรัสเซียเร่งพัฒนาประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีความต้องการยานยนต์สูง ทำให้ยางพารายังเป็นที่ต้องการและราคาสูง แต่วิกฤต Lehman ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างน้อย 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน แนะภาคอุตสาหกรรมปรับตัวรับวิกฤตสหรัฐฯ พร้อมจี้ภาครัฐลงมาดูแลและช่วยเหลือ
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ จัดสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2551 โดยมีการเสวนาทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภาคใต้ ในปี 2552 ที่ โรงแรมเจ.บี. หาดใหญ่ จ.สงขลา
ดร.นิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2551 ราคายางพาราได้ถีบตัวสูงขึ้นถึง กิโลกรัมละ 100 บาท แพงที่สุดในรอบ 2 ปี ทำให้เกษตรหันมาทำสวนยางกันมากขึ้น ซึ่งในปีหนึ่งมีการผลิตยางพารามากกว่า 10 ล้านตัน
ด้านราคาสินค้ายางพาราในตลาดล่วงหน้าปี 2551 เมื่อเทียบกัน 3 ตลาดคือ AFET ประเทศไทย, TOCOM เมืองโตเกียว และ SICOM ประเทศสิงคโปร์ ราคายางพารายังอยู่ในระดับเดียวกันทั้งปี ซึ่งราคายางพาราในตลาดล่วงหน้าเป็นราคาเดียวกันกับตลาดจริง เพื่อใช้ประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา รักษารายได้หรือต้นทุนในอนาคตด้วยตนเอง ขณะเดียวกันยังสามารถเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนแก่ผู้ที่ต้องการผลตอบแทน จากความผันผวนของราคายางพาราอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาและความต้องการใช้ยางพารานั้นขึ้นอยู่

1. วิกฤตเศรษฐกิจ มีผลกระทบทางด้าน Demand ของการใช้รถ

2. ราคาน้ำมัน จากที่ปัจจุบันนั้นราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการใช้ยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์มากขึ้น และประเทศผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ เช่นจีนได้หันมาปลูกยางพาราเพื่อรองรับการใช้ในอนาคต นอกเหนือจากพึ่งพาการนำเข้าเพียงอย่างเดียว

3. ค่าของเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนก็มีผลกระทบต่อราคายางด้วย
ด้านนายไชยยศ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่หลายประเทศมีการพัฒนาเพื่อให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น จีน, อินเดีย, บราซิล และรัสเซีย จีนนั้นพัฒนาด้านการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานทางการลงทุน เพื่อเชิญชวนให้ต่างประเทศเข้าไปร่วมลงทุนมากขึ้น ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ มีการขยายตัวอย่างมากเพื่อรองรับความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออก
“กองทุนต่างๆ ทั่วโลกมองเห็นช่องทางในการลงทุนในธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการที่น้ำมันปรับราคาสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของไทย คือ ราคาเครื่องอุปโปคบริโภคสูงขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น และการขนส่งปรับราคาเพิ่มขึ้น ด้านยางพาราก็ได้ปรับราคาจาก 40 บาท/กก. ขึ้นไปถึง 100 บาท/กก. กว่า 80% ของพื้นที่ที่ปลูกยางพาราของประเทศไทยอยู่ในภาคใต้ ส่งผลให้เศรษฐกิจใต้ดีตามไปด้วย” นายไชยยศ กล่าวต่อและว่า
อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินของโลกทำให้เกิดหลุมดำ มีการล่มสลายของสถาบันการเงินของโลกในสหรัฐฯ ทำให้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่เกิดวิกฤตทางการเงินของโลก จากที่การส่งออกของประเทศไทยมีสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำมันแพงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งราคาน้ำมันคาดว่าจะยังแกว่งตัวอยู่ในระดับที่สูง เพราะความต้องการน้ำมันดิบของโลกยังเพิ่มขึ้น จากปี 2550 ที่ใช้น้ำมันไป 85.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2551ใช้น้ำมันไป 86.3 ล้านบาร์เรล/วัน และนักวิชาการได้คาดการณ์ว่าในปี 2552 ความต้องการน้ำมันดิบของโลกจะอยู่ที่ 87.3 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้นในปัจจุบัน มีอยู่ 2 ปัจจัยคือ การเก็งกำไรและความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว รวมทั้งปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน คือ กำลังการกลั่นที่จำกัด, ค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อก, ค่าวางท่อจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งจำหน่าย และค่าขุดเจาะน้ำมันดิบ แต่สาเหตุที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันนั้นมีความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากการซื้อขายล่วงหน้าต่างกัน
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานการณ์พลังงานในปี 2551 (มกราคม –กรกฎาคม ) ครึ่งปีแรก ประเทศไทยใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่า 1.035 ล้านล้านบาท ปริมาณการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในประเทศ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งแบ่งเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ออกเป็น 2 ส่วนคือ ไฟฟ้า 60% และน้ำมัน 40%
สำหรับสถานการณ์ปิโตรเลียมของประเทศไทยในปี 2550 จะพึ่งพิงการนำเข้ามากที่สุด ถึง 61% และปิโตรเลียมในประเทศ 38.6% ซึ่งอยู่ในรูปของการจัดหาน้ำมันดิบ ยอดการจัดหารวม 1,592.5 พันบาร์เรล/วัน เมื่อผ่านโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติแล้ว ก็จะนำออกจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น ก๊าซหุงต้ม, น้ำมันเบนซิน, ดีเซล, ยางมะตอย, น้ำมันดิบส่งออก, ผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมรถยนต์ ฯลฯ รวมยอดจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 1,210.6 พันบาร์เรล/วัน และส่งออก 195.9 พันบาร์เรล/วัน
“ด้านผลกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลกต่อประเทศไทย หากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้น 0.20 บาท/ลิตร ส่วนผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนคือ ถ้าเงินบาทแข็งขึ้นลดลง 1 บาท/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศก็จะลดลง 0.80 บาท/ลิตร ทั้งนี้หากน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 5 เหรียญ ราคาน้ำมันในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น 1 บาท” นายชวลิตกล่าวต่อและว่า
ผลกระทบจากการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันสูง คือ ต้องจ่ายแพงขึ้นในขณะที่ปริมาณเท่าเดิม ขาดดุลการค้า และมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน (ลดค่าเงิน) มีความผันผวน คือ ต้นทุนของสินค้าสูง และศักยภาพในการแข่งขันของประเทศลดลง รวมทั้งการเสี่ยงต่อการขาดแคลนจึงต้องมีการสำรองน้ำมันไว้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับยุทธศาสตร์พลังงานไทยในปัจจุบันและปี 2552 นายชวลิต กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้กำหนดแนวทางแก้ไขจากผลกระทบการพึ่งพิงน้ำมันสูงไว้ คือ 1. กระจายโครงสร้างการใช้เชื้อเพลิงให้หลากหลาย เช่น หันมาใช้พลังงานถ่านหิน/ลิกไนต์, แก๊สโซฮอล์, ไบโอดีเซล, พลังงานลม/แสงแดด และก๊าซชีวภาพ 2. สำรองน้ำมันตามกฎหมาย 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในภาคขนส่ง ต้องมีการพัฒนาระบบราง ส่งเสริมรถประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานทดแทนNGV เอทานอลและไบโอดีเซล ส่วนในภาคอุตสาหกรรมควรส่งเสริมอุปกรณ์และอาคารประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานทดแทนน้ำมัน เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน 4. พัฒนาพลังงานทดแทน เพิ่มสัดส่วนจาก 0.5% ในปี 2545 เป็น 10.3% ในปี 2554 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย และส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซิน 91 มาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 ทั้งหมด รถยนต์ E20 30,000 คันในปี 2551 เพิ่มเป็น 150,000 คัน ในปี 2554 และสัดส่วนในการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลดลงเหลือร้อยละ 3 ของการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทั้งหมด ส่วนการผลิตเอทานอลมีปริมาณสูงพอจะขยายไปสู่ E85 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 45 ราย กำลังผลิตรวม 12 ล้านลิตร/วัน
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของไบโอดีเซล เป็นเชื้อเพลิงที่กลั่นมาจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งในปี 2551-2555 จะมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ถึง 2.5 ล้านไร่ ความต้องการ B100 ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2548 ที่มี 0.0007 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นมาในปี 2551 เป็น 1.20 ล้านลิตร/วัน และคาดว่าในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นถึง 3.14 ล้านลิตร/วัน ส่วนราคาการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลในไทยนั้น กำหนดจากราคาที่ประเทศมาเลเซียบวก 3 และราคาดีเซลหน้าโรงกลั่น 24 บาท การปรับตัวในระยะยาวคือ ต้องมีการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่ให้มากขึ้น
พลังงานทดแทนที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ คือ ก๊าซ NGV ซึ่งเป้าหมายการขยายการใช้รถ NGV คือ 1. มุ่งขยายรถโดยสารมวลชนในเขต กทม.และปริมณฑลทั้งหมด (แท็กซี่และรถเมล์) 2. มุ่งขยายรถโดยสารระหว่างจังหวัด และรถบรรทุกหัวลากทั่วทุกภูมิภาค
สำหรับ จ.สงขลา สนับสนุนให้มีการส่งต่อก๊าซ NGV จากส่วนกลางไปยังทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนทางภาคใต้นั้นท่อก๊าซจากส่วนกลางได้กระจายมาถึงแค่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ยังมาไม่ถึงสงขลาก็เพราะสถานีแม่ที่ อ. จะนะนั้นยังก่อสร้างไม่เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามหากโครงการส่งต่อท่อก๊าซ NGV ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดของไทยได้นั้น จะทำให้สถานีลูกได้ใช้ก๊าซ NGV กันอย่างทั่วถึงและไม่ขาดแคลนตึงตัวมากขึ้น จึงต้องดึงเงินไปหาแหล่งลงทุนใหม่ คิดว่าวิกฤตครั้งนี้น่าจะมีอยู่ 1-2 ปี ไม่น่าจะฟื้นตัวได้ง่าย
ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถใช้ต้นทุนได้ในราคาต่ำ คือ

1. เจาะตลาดใหม่เพื่อกระจายสินค้าให้มากที่สุด ตลาดใหญ่ๆเช่น จีน, อินเดีย, บราซิล และรัสเซีย

2. ด้านการผลิต การบริหารจัดการ ทำให้สินค้ามีคุณภาพดีสม่ำเสมอ สอดคล้องไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากลหรือให้ใกล้เคียงที่สุด และ 3. สามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด (5 M)
นอกจากผู้ประกอบการต้องพัฒนาและดำเนินการเองแล้ว ยังต้องการการสนับสนุนและการส่งเสริมจากรัฐบาลด้วย รวมถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มคุณภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจะเป็นแนวทางที่ทำให้องค์กรนั้นสามารถอยู่รอดต่อไปได้

แหล่งอ้างอิงจาก.. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น: