วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนวตอบข้อสอบปลายภาค ภาคที่ ๑/๒๕๕๕

แนวตอบข้อสอบปลายภาค วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ รหัส ๒๕๖๕๐๔ ๓ (๓-๐) คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้ออกข้อสอบ อาจารย์โกศล บุญคง ผศ.สมนึก ขวัญเมือง คำสั่ง ข้อสอบทั้งหมดมี ๔ ข้อ ให้นักศึกษาทำข้อสอบทุกข้อ คะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน สอบวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ************************************************* ข้อ ๑. ให้นักศึกษาอธิบายถึงรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรว่าหมายถึงอะไร ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้ประเทศไทยอยู่ในระบบรัฐสภานั้น ให้นักศึกษาอธิบายระบบรัฐสภา ( Parliamentary System ) มาให้เข้าใจ (๒๕ คะแนน) แนวคำตอบ รัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันมี ๒ ประเภทด้วยกัน คือ ๑. รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (unwritten constitution) หรือรัฐธรรมนูญประเภทจารีตประเพณี ซึ่งอังกฤษเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญประเภทนี้ เนื่องจากวิวัฒนาการทางการปกครองประชาธิปไตยของอังกฤษ ที่อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกสารอื่นๆ ที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น จากคำพิพากษาของศาล ธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาจนผู้ปกครองไม่อาจละเมิดได้ เอกสารสำคัญ เช่น มหากฎบัตร (magna carta) พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (bill of rights) พระราชบัญญัติสืบสันตติวงศ์ (act of settlement) เป็นต้น ดังนั้นอังกฤษจึงไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปของเอกสารกฎหมายที่รวมกันเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมดในฉบับเดียวกันนั่นเอง ๒.รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (written constitution) เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในรัฐสมัยใหม่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 พร้อมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และรวมถึงรัฐที่ปกครองแบบเผด็จการด้วย เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศระบบเผด็จการมีบทบัญญัติกำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์ หรือสถาบันทางการเมืองการปกครองของรัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ในรัฐธรรมนูญของประเทสที่ปกครองระบบประชาธิปไตยจะระบุการจำกัดอำนาจของรัฐและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร (written constitution) คือการกำหนดหลักเกณฑ์ระเบียบการเมืองการปกครอง และการบริหารของรัฐเป็นตัวบทกฎหมาย เรียบเรียงเป็นเรื่องๆ และรวบรวมให้อยู่ในฉบับเดียวกัน เมื่อจะใช้ให้เป็นหลักการปกครองก็อ้างบทบัญญัติในเอกสารที่ทำไว้นี้ ส่วนกฎหมายอื่นนอกนี้นั้นไม่นับเป็นรัฐธรรมนูญ ประเทศที่จัดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันตามสถิติข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีเป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของรูปแบบ โดยทั่วไป เราอาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหรือระบบ ได้แก่ (๑) ระบบรัฐสภา (๒) ระบบประธานาธิบดี และ (๓) ระบบผสม ระบบรัฐสภา เป็นระบบโครงสร้างการปกครองที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบ ลักษณะสำคัญของระบบรัฐสภาคือ รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมาจากการตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา กล่าวคือรัฐบาลอยู่ในอำนาจได้ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของรัฐสภา ถ้ารัฐสภาไม่ไว้วางใจเมื่อใด เมื่อนั้นรัฐบาลก็ขาดความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป นั่นก็คือ ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจโดยเด็ดขาดระหว่างอานาจฝ่ายนิติบัญญัติกับอานาจฝ่ายบริหาร Bernard E. Brown และคณะ ได้กล่าวถึงโครงสร้างการปกครองระบบรัฐสภาว่าประกอบด้วยลักษณะสาคัญ ๕ ประการคือ ( ๑) ความเป็นประชาธิปไตย การตัดสินใจทางการเมืองกระทาโดยผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเพียงปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้นำดังกล่าว (๒) อานาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา ตามกฎหมาย รัฐสภาจะทาอะไรก็ได้ และไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลที่จะประกาศว่าการกระทาของรัฐสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (๓) การเชื่อมโยงระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอานาจบริหาร ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างมากในสภาเป็นฝ่ายบริหาร ในขณะเดียวกันก็รักษาตาแหน่งในสภาของตนในฐานะสมาชิกรัฐสภาไว้ด้วย คือไม่มีการแบ่งแยกอำนาจโดยเด็ดขาดระหว่างอานาจฝ่ายบริหารกับอานาจฝ่ายนิติบัญญัติ (๔) ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ แม้ว่าฝ่ายการเมืองจะมีความเชื่อมโยงกัน แต่ฝ่ายตุลาการเป็นอิสระและปลอดจากการแทรกแซงโดยอิทธิพลทางการเมือง ผู้พิพากษาดารงตำแหน่งตลอดชีพ และได้มีการพัฒนาธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม (๕) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล โดยปกติจะมีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่แก้ไขยาก และเป็นกฎหมายที่กฎหมายอื่นที่มีฐานะหรือศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งไม่ได้ ถ้าขัดหรือแย้งก็จะไม่มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยมีการปกครองระบบรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ดังนี้ มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นการปกครองแบบมีผู้แทน ซึ่งรัฐบาลได้รับแต่งตั้งจากผู้แทน ขัดกับ "การปกครองแบบ ประธานาธิบดี" อันมีประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกตังเข้ามา เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล ภายใต้ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา รัฐบาลบริหารประเทศโดยมอบหน้าที่ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหาร ตลอดจนถูกวิจารณ์ ตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างต่อเนื่องโดยสภานิติบัญญัติซึ่งได้รับเลือกจากประชาชน ระบบรัฐสภามีสิทธิถอดถอนนายรัฐมนตรีได้เมื่อถึงเวลาที่สภาเห็นว่าผู้นั้นทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของฝ่ายนิติบัญญัติ การถอดถอนนี้เรียกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติตัดสินใจว่าจะถอดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งหรือไม่โดยการสนับสนุนเสียงข้างมากต่อการถอดถอนผู้นั้นในบางประเทศ นายกรัฐมนตรียังสามารถยุบสภาและเรียกการเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อใดก็ตามที่ผู้นั้นเลือก และตามแบบนายกรัฐมนตรีจะจัดการเลือกตั้งเมื่อผู้นั้นทราบดีว่าตนได้รับการสนับสนุนดีจากสาธารณะที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา ในประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอื่น แทบไม่เคยจัดการเลือกตั้งพิเศษ แต่นิยมรัฐบาลเสียงข้างน้อยกะทั่งการเลือกตั้งปกติครั้งถัดไป ระบบรัฐสภามีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขรัฐบาลและประมุขฝ่ายบริหาร จะมีพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีเป็นประมุขก็ได้ แต่ไม่มีอำนาจบริหาร สรุป ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายความว่า อำนาจอธิปไตย หรือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศมาจากปวงชนชาวไทย อันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยอำนาจขององค์กรทั้ง 3 ฝ่าย จะต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน และอยู่ในลักษณะการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ข้อ ๒. หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญหมายถึงอะไร และวิธีการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญในประเทศต่าง มีกี่วิธี ขอให้อธิบาย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร จงอธิบายและยกหลักกฏหมายประกอบ (๒๕ คะแนน) แนวคำตอบ คำตอบประเด็นที่ ๑ หลักความเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐธรรมนูญ ได้นำมาสู่แนวคิดในการสร้างระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุด และให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่มีสถานะเหนือกฎหมายใดๆนั้นเกิดผลได้จริง ทั้งนี้โดยการกำหนดให้มีองค์กรที่มีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติไว้ในองค์กรที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศนั้นๆยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมทุกศาล มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกันข้ามกับให้ระบบที่ใช้อยู่ในประเทศออสเตรีย และประเทศฝรั่งเศส ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามลำดับ เป็นองค์กรพิเศษองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมาย มิให้ขัดรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ เป็นต้น ๑. การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับในประเทศฝรั่งเศส ในสมัยสาธารณรัฐที่ ๑– ๓(ค.ศ. ๑๗๘๙–๑๙๔๖) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ของปรัชญาเมธีคนสำคัญรุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ได้มีอิทธิพล อย่างมากในระบอบรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้แนวคิดของรุสโซ จึงส่งผลต่อระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ตามแนวคิดของรุสโซ แม้รัฐธรรมนูญมีสถานะสูงสุด ที่กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งมิได้ แต่การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา (loi) ซึ่งเป็นการแสดงออกของเจตนารมณ์ร่วมกันของปวงชน โดยองค์กรอื่นใดจึงมิอาจจะกระทำมิได้ นักนิติศาสตร์ได้อธิบายว่า “รัฐสภา” จะเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยเองว่ากฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อรัฐสภาได้ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับแล้ว ก็ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่ากฎหมายนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แนวคิดที่ว่า กฎหมาย (loi) เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งทำให้ไม่อาจมีองค์กรใดที่จะมีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญนี้ จึงปฏิเสธข้อเสนอของ ซีเอเยส์ (Sieyes) ที่จัดตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้น ทำหน้าที่ในการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า “คณะลูกขุนผู้พิทักษ์” (jury constitutionnaire) โดยได้มีการแก้ไขเป็นคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ และมีลักษณะเป็นองค์กรพิเศษที่มีอำนาจในการควบคุมร่างกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ในยุคต่อมา ๒. การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ในการตัดสินคดี Marbury V. Madison. ของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. ๑๘๐๓ ซึ่งศาลสูงสุดได้วางหลักว่า ศาลทั้งหลายมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ตราขึ้น โดยสภาคองเกรส ซึ่งมีข้อมีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะได้ โดยประธานศาลสูงสุด John Mashall ได้ให้เหตุผลว่าเมื่อศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจหน้าที่ในการใช้บังคับกฎหมายแก่กรณีต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นความจำเป็นอยู่เอง ที่ศาลจะต้องตรวจสอบ ตีความและวินิจฉัยว่าอะไรคือกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับได้ ดังนั้น ถ้ามีกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนี้มีศักดิ์ที่สูงกว่ากฎหมายใดๆ ที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาด โดยยึดหลักว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุด และกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ เพราะมิฉะนั้นแล้ว การปฏิเสธหลักการดังกล่าวย่อมจะเป็นการทำลายรากฐานของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสำหรับกระบวนการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ด้วยเหตุที่ระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกา เป็นระบบกระจายอำนาจ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรมทุกศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา โดยมีกระบวนการพิจารณาอันเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ นับตั้งแต่ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ ได้วางหลักไว้ในการตัดสินคดี Marbury V. Madison ในปี ค.ศ.๑๘๐๓ เป็นต้นมา หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก โดยมีศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกำหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ในเวลาต่อมา ๓. การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยองค์กรพิเศษ แนวคิดในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยองค์กรพิเศษองค์กรเดียว ได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก โดย Hans Kelsen นักปรัชญากฎหมาย ชาวออสเตรีย ซึ่งเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญขึ้นโดยเฉพาะ Kelsen ได้อธิบายว่า การวินิจฉัยว่ากฎใดใช้บังคับมิได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ เมื่อโดยปกติแล้ว กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับ ย่อมต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม การระงับผลของกฎหมายโดยการวินิจฉัยว่ากฎหมายใช้บังคับมิได้ จึงเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติในทางลบ (negative act of legislation) ดังนั้น ศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นจึงต้องมีรากฐานที่มาจากองค์กรนิติบัญญัติ โดยให้องค์กรนิติบัญญัติมีส่วนในการแต่งตั้ง และเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งศาลพิเศษที่มีอำนาจเพิกถอนกฎหมายของรัฐสภา เพื่อให้คำวินิจฉัยนั้นเกิดผลบังคับเป็นการทั่วไป คำตอบประเด็นที่สองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและร่างกฎหมายนั้น มีสองรูปแบบกล่าวคือ กรณีการตรวจสอบบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (หรือกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่แล้ว) หากเป็นการส่งมาโดยศาลอื่นนั้น รัฐธรรมนูญให้อ้างอิงกับมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญที่ใช้คำว่า “(บทบัญญัติใดของกฎหมาย) ... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” แต่ในการตรวจสอบแบบเดียวกัน (คือบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลบังคับแล้ว) ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญกลับใช้คำว่า “(บทบัญญัติของกฎหมาย)... มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” หรือกรณีของการตรวจสอบร่างกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการตราหรือประกาศให้มีผลใช้บังคับ กรณีการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๔๑ ใช้คำว่า “พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ในขณะที่การตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ ใช้คำว่า “...มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” และ “...ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่ามีถ้อยคำแตกต่างกันอยู่บ้างแต่ทั้งนี้ก็เพื่อคุมครองความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แยกได้เป็นสองกรณี ดังนี้ กรณีที่ ๑ การควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก่อนกฎหมายบังคับใช้ รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดไว้ดังนี้ มาตรา ๑๕๐ ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา ๑๔๖ หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา ๑๔๗ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง (๑) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า (๒) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๑๔๖ หรือมาตรา ๑๔๗ แล้วแต่กรณี ต่อไป มาตรา ๑๕๑ บทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ ให้นำมาใช้บังคับกับร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วยโดยอนุโลม กรณีที่ ๒ การตรวจสอบ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว การควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว กรณีที่พระราชบัญญัติได้ประกาศใช้บังคับแล้ว หากต่อมาปรากฏว่าบทบัญญัติของกฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีการควบคุมกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้มีช่องทางการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ๔ กรณี คือ ๑) การพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๑) การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๑ ต้องเป็นกรณีที่มีคดีเกิดขึ้นในศาลก่อน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร หรือศาลอื่น และไม่ว่าคดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลใดก็ตาม หากศาลเห็นเองหรือคู่ความ(โจทก์-จำเลย หรือผู้ฟ้อง-ผู้ถูกฟ้อง)ในคดีนั้นโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (ในกรณีนี้ศาลสามารถพิจารณาต่อไปได้แต่ต้องรอการพิพากษาคดีไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนี้หมายถึง กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติซึ่งตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือรัฐสภาหรือกฎหมายที่ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ เช่น พระราชกำหนดที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว เป็นต้น ๒) การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้เสนอ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๔๕) การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๔๕ ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีในศาลก่อนเหมือนกับกรณีตาม ๑) การเสนอเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยหลักการแล้วเป็นกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวม หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องเรียน สำหรับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น มีความหมายเดียวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม ๑) ซึ่งหมายถึง กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติซึ่งตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือรัฐสภา หรือกฎหมายที่ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ เช่น พระราชกำหนดที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว เป็นต้น ๓) การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้เสนอ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๗) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญสำหรับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น มีความหมายเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วตาม ๑) และ ๒) กล่าวคือเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติซึ่งตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือรัฐสภา หรือกฎหมายที่ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ เช่น พระราชกำหนดที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว เป็นต้น ๔) การพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของบุคคลซึ่ง ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๒) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอ่นื ได้แล้ว สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับ รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทเฉพาะกาลให้ศาลรัฐธรรมนูญออกเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญได้ออก “ข้อกำหนด ฯ” มาใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามข้อกำหนด ฯ ข้อ ๒๑ และข้อ ๒๒ บัญญัติว่า "ข้อที่ ๒๑ บุคคลที่ ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นไกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วทั้งนี้ตามมาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๔๕ (๑) และมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญ" ”ข้อ ๒๒ การยื่นคำร้องของบุคคลตามข้อ ๒๑ นอกจากต้องดำเนินการตามข้อ ๑๘ แล้ว ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วด้วย” ผู้ที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ (๑) ต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้อันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (๒) บุคคลนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ (๓) ต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วการใช้สิทธิของบุคคลในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว หมายความว่า หากบุคคลใดสามารถใช้สิทธิทางศาลตาม ๑)หรือสามารถใช้สิทธิโดยการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตาม ๒) หรือสามารถใช้สิทธิโดยการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตาม ๓) ได้ บุคคลนั้นจะต้องใช้สิทธิตามช่องทางนั้นก่อนนอกจากว่าไม่สามารถใช้สิทธิตามช่องทางนั้นได้แล้ว จึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ การใช้สิทธิของบุคคลในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว หมายความว่า หากบุคคลใดสามารถใช้สิทธิทางศาลตาม ๑) หรือสามารถใช้สิทธิโดยการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตาม ๒) หรือสามารถใช้สิทธิโดยการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตาม ๓) ได้ บุคคลนั้นจะต้องใช้สิทธิตามช่องทางนั้นก่อนนอกจากว่าไม่สามารถใช้สิทธิตามช่องทางนั้นได้แล้ว จึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ข้อ ๓. ให้นักศึกษาตอบคำถามสองข้อย่อยต่อไปนี้ ข้อ ๓.๑ การที่มีข่าวทางสื่อมวลชนทีนิวส์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ ว่า “ประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมพรรคฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการตั้งกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์นี้ว่า มีเรื่องที่เข้าข่ายอยู่ในกระทู้ถามสด ๒ เรื่อง คือ เรื่องแรกคือกรณีน้ำท่วม ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยจะถามถึงความคืบหน้าในการป้องกันและแก้ไข หลังรัฐบาลยืนยันว่าปีนี้น้ำไม่ท่วมว่าเชื่อถือได้มากเพียงใด ใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่ รวมทั้งปัญหาการเยียวยาที่ยังค้างจากปีที่แล้ว และงบประมาณการดำเนินงานสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพบการทุจริตกว่าร้อยละ 35 ของงบประมาณ สำหรับกระทู้ถามสดกรณีการกำกับดูแลตำรวจของรัฐบาล เนื่องจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ระดมตำรวจไปที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายข่มขู่คุกคามพรรคการเมือง สืบเนื่องจากกรณีที่ นายราเมศ รัตนเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ส่งหนังสือร้องเรียนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่ามีการติดภาพถ่ายของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ขณะให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประดับยศพล.ต.ท.ให้ ทั้งนี้มองว่าอาจเป็นการผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากแทนที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ จะไปชี้แจงกับ ผบ.ตร. แต่กลับนำตำรวจมาบุกพรรคประชาธิปัตย์” การตั้งกระทู้ถามสด เป็นการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอันมีความเกี่ยวข้องกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ (Check and balance) ตามแนวคิดของมองเตสกิเออร์(Montesquieu) อย่างไร จงอธิบาย มาให้เข้าใจ (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทย กล่าวคือ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างฝ่ายต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น แต่อาจจะด้วยวิธีการและจำนวนที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักการใหญ่ ๆ รัฐสภามีหน้าที่พิจารณาออกกฎหมายบังคับให้แก่ประชาชนตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด กฎหมายที่จะออกมาจากรัฐสภาต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและจากวุฒิสภา จึงจะนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาของไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงมีอำนาจหน้าที่ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมทั้งตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติงานของรัฐบาลโดยบัญญัติไว้ในส่วนที่ ๙ ว่าด้วยการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ดังนี้ มาตรา ๑๕๖ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน มาตรา ๑๕๗ การบริหารราชการแผ่นดินเรื่องใดที่เป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเรื่องที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชน หรือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมในวันนั้นว่าจะถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเรื่องนั้นโดยไม่ต้องระบุคำถาม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในวาระการประชุมวันนั้น การถามและการตอบกระทู้ตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินนั้นได้เรื่องละไม่เกินสามครั้ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้น ในส่วนของวุฒิสภาอันมีสมาชิกวุฒิสภาเป็นสมาชิก นอกจากจะมีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว วุฒิสภายังมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลหรือองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมบัญญัติไว้อีกด้วย เช่น ถอดถอนนายกรัฐมนตรี นักการเมือง เป็นต้น ดังนั้นการตั้งกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามประเด็นในคำถามจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นไปตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ(check and balance) ของมองเตสกิเออร์มองเตสกิเออ (Montesquieu) นักคิดนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส ผู้ให้กำเนิดแนวคิดในการแบ่งแยกอำนาจปกครองสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยออกเป็น ๓ ฝ่าย โดยพิจารณาในแง่ขององค์กรผู้ใช้อำนาจออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ตามแนวคิดของอริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์การเมืองชาวกรีกโบราณ บนพื้นฐานหรือมีเป้าประสงค์ประการสำคัญแหล่งหลักการคือการให้อำนาจแต่ละฝ่ายถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันทั้งสามฝ่าย และเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปลอดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบขององค์กรภาครัฐที่ใช้อำนาจหนึ่งอำนาจใดที่อาจละเมิดลิดรอนโดยอำนาจรัฐไม่ว่าฝ่ายใด การถ่วงดุลอำนาจ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแบ่งแยกอำนาจมิได้หมายความว่า องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งสาม คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการจะต้องมีอำนาจเท่าเทียมกัน โดยอำนาจใดอำนาจหนึ่งอาจอยู่เหนืออีกอำนาจหนึ่งได้และอีกฝ่ายหนึ่งก็มีขั้นตอนในการลดอำนาจของอีกฝ่ายตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้ไว้ อาจกล่าวได้ว่า การถ่วงดุลอำนาจมักเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร ดังนี้ 1. กรณีฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร หมายถึง อำนาจที่สภาผู้แทนราษฏรเปิดประชุมเพื่ออภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศเกิดความผิดพลาดเสียหาย หรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเมื่อมีการลงมติภายหลังการอภิปราย หากรัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนหรือไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น ก็จะมีผลให้รัฐบาลต้องลาออก เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยผลของการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล อาจจะเป็นการไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวก็มีผลถึงคณะรัฐมนตรีร่วมคณะทุกคน ต้องพ้นความเป็นรัฐมนตรี แต่หากเป็นการเปิดอภิปรายเฉพาะรัฐมนตรีบางคน รัฐมนตรีคนที่ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งก็จะพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีเฉพาะราย ส่วนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ไม่ถูกอภิปรายก็ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งคนและรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี ต้องแต่งตั้งมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2. กรณีฝ่ายบริหารมีอำนาจสูงสุดเหนือฝ่ายนิติบัญญํติ กรณีฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ หมายถึง การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีอันมีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อันมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดต้องพ้นสภาพ ซึ่งมักจะเกิดจากสภาผู้แทนราษฎรเกิดความวุ่นวาย หรือเกิดวิกฤติจนไม่สามารถควบคุมได้ หรือร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลไม่ได้รับความเห็นชอบ เช่น พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างมีอำนาจที่จะถ่วงดุลซึ่งกันและกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นอำนาจที่เป็นอิสระเฉพาะ เนื่องจากการพิจารณาคดีความต่าง ๆ ย่อมต้องเป็นกลางและเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ จึงอาจกล่าวได้ว่าฝ่ายตุลาการเป็นฝ่ายที่มิได้มีการถ่วงดุลหรือคานอำนาจกับฝ่ายใด กล่าวโดยสรุปได้ว่า อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ อำนาจทั้งสามฝ่ายจะมีการถ่วงดุลกันอยู่ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจจนเกินขอบเขต ข้อ ๓.๒ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติวิธีการและขั้นตอนตั้งแต่การเสนอร่างกฎหมายจนกระทั่งประกาศใช้กฎหมาย เอาไว้ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง(๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติวิธีการและขั้นตอนตั้งแต่การเสนอร่างกฎหมายจนกระทั่งประกาศใช้กฎหมาย เอาไว้ดังนี้ ขั้นตอนที่ ๑ ขั้นตอนเสนอร่างกฎหมาย รัฐธรรมนูญได้กำหนดผู้มีสิทธิริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย ดังนี้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญผู้มีสิทธิเสนอได้ คือ (๑) คณะรัฐมนตรี (๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ (๓) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานศาลหรือ ประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ร่างพระราชบัญญัติ ผู้มีสิทธิเสนอได้คือ พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ผู้มีอำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติมีด้วยกันทั้งสิ้น 4 ฝ่าย ได้แก่ (๑) คณะรัฐมนตรี (๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ คน (๓) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กร และกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ (๔) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่กำหนดในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยและหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ การเสนอร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่กระบวนจัดทำร่างพระราชบัญญัติจากส่วนราชการ กระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้จัดทำ โดยหน่วยราชการอาจใช้ข้าราชการหรือนิติกรภายในหน่วยงานเป็นผู้ร่าง หรืออาจว่าจ้างนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญให้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยและมอบหมายให้ผู้วิจัยทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายขึ้นด้วยก็ได้ หรือในบางกรณีฝ่ายการเมืองอาจเป็นผู้ริเริ่มให้มีร่างพระราชบัญญัติใหม่หรือร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขกฎหมายเดิม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ร่างกฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในทางนโยบายการบริหารประเทศ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการของร่างพระราชบัญญัติแล้ว ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางด้านการร่างกฎหมายของรัฐบาลเป็นผู้ตรวจพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกาแบ่งแยกออกเป็นกรรมการร่างกฎหมายต่างๆ จำนวน 12 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการร่างกฎหมายจำนวนประมาณ 9 คน การประชุมแบ่งออกเป็น ๓ วาระ ได้แก่ วาระที่ ๑ การพิจารณาหลักการทั่วไปและสาระสำคัญของกฎหมาย วาระที่ ๒ เป็นการตรวจพิจารณารายมาตรา โดยจะเป็นการตรวจพิจารณาทั้งในแง่เนื้อหากฎหมาย (content) แบบของกฎหมาย (format) รวมถึงถ้อยคำที่ใช้ วาระที่ ๓ เป็นการตรวจพิจารณาความสมบูรณ์ของร่างพระราชบัญญัติทั้งฉบับ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งร่างกฎหมายกลับไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการตรวจพิจารณานั้นมีการแก้ไขเล็กน้อยหรือเป็นการแก้ไขตามแบบการร่างกฎหมายสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และสภาผู้แทนราษฎรต่อไปตามลำดับในระเบียบวาระ ยกเว้นในกรณีที่คณะรัฐมนตรีร้องขอไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ สภาพิจารณาร่างกฎหมายนั้นเป็นเรื่องด่วนซึ่งจะได้รับการพิจารณาก่อน นอกจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ผู้ที่จะเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงินจะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี จึงจะเสนอได้ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงินบางฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินนั้น ในทางปฏิบัติคณะรัฐมนตรีจะที่เป็นผู้เสนอ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะรู้สภาพการเงินของประเทศ รายรับ รายจ่ายต่าง ๆ เป็นอย่างดี ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงินนั้น หมายความถึง ร่างพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คือ การตั้งขึ้น หรือยกเลิก หรือลด หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโดนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน หรือการกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ หรือเงินตรา ขั้นตอนที่ ๒ การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรการ จะพิจารณาจะแบ่งเป็น ๓ วาระตามลำดับ ได้แก่ วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ ในวาระที่ ๑ จะเป็นการพิจารณาว่าจะรับหลักการแห่งร่างกฎหมายนั้นหรือไม่ โดยให้ผู้เสนอร่างกฎหมายอภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อสภาผู้แทนราษฎร กรณีเป็นร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งรับผิดชอบร่างพระราชบัญญัติจะเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติในนามคณะรัฐมนตรี จากนั้นจึงเปิดให้มีการอภิปรายคัดค้านหรือสนับสนุนโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อการอภิปรายสิ้นลงสุดแล้วที่ประชุมจะลงมติว่าจะรับหลักการแห่งร่างกฎหมายฉบับนั้นหรือไม่ ถ้าที่ประชุมมติรับหลักการก็จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ ๒ แต่ถ้าไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายนั้นก็เป็นอันตกไป วาระที่ ๒ ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการและการพิจารณารายมาตรา การพิจารณาในวาระที่ ๒ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ขั้นตอน คือ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในขั้นตอนแรก คือการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ โดยมากจะเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและบุคคลภายนอกก็ได้ กรรมาธิการแต่ละคนอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหมหรือตัดทอนหรือแกไขมาตราเดิมได แตตองไมขัดกับหลักการแห่งรางพระราชบัญญัตินั้น หากที่ประชุมคณะกรรมาธิการนั้นเห็นด้วยก็จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไปตามนั้น แต่ถ้าคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และกรรมาธิการผู้นั้นยืนยันที่จะขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม กรรมาธิการผู้นั้นก็มีสิทธิ “ขอสงวนความเห็น” ของตนไว้เพื่ออภิปรายในที่ประชุมสภาให้ที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด เมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นโดยแสดงร่างเดิมและร่างที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งรายงานต่อประธานสภา ขั้นตอนที่สอง คือการพิจารณารายมาตราในที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นอีกครั้ง ในการพิจารณานี้จะเป็นการพิจารณารายมาตราไปจนจบ ถ้ามีมาตราใดแก้ไขเพิ่มเติม หรือมีผู้สงวนคำแปรญัตติ หรือกรรมาธิการสงวนความเห็นไว้ ก็จะหยุดการพิจารณาไว้ก่อน และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายเฉพาะในมาตรานั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้นสภาจะพิจารณาทั้งร่างเป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่ง วาระที่ ๓ ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมาย ในขั้นตอนนี้ที่ประชุมสภาจะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมาย โดยจะไม่มีการอภิปรายใดๆ อีก หากลงมติเห็นชอบก็จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป แต่ถ้าผลการลงมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายก็จะตกไป ในลำดับถัดมา สภาผู้แทนราษฎรจะเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา วุฒิสภาจะมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวุฒิสภาได้รับร่างนั้นแล้ว ก็จะดำเนินการโดยการแบ่งเป็น ๓ วาระเช่นเดียวกับการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร ขั้นตอนที่ ๓ การพิจารณาของวุฒิสภา ขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของวุฒิสภามีลักษณะทำนองเดียวกับของสภาผู้แทนราษฎร แต่ที่แตกต่างก็คือ วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด กล่าวคือ ถ้าเป็นร่างกฎหมายทั่วไปต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน ๖๐วัน แต่ถ้าร่างกฎหมายนั้นเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน วุฒิสภาต้องพิจารณา ให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน ทั้งนี้ เว้นแต่วุฒิสภาจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษซึ่งต้อง ไม่เกิน ๓๐ วัน (กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างกฎหมายนั้นมาถึงวุฒิสภา) ถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายนั้น แต่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไม่มีกำหนดเวลาใด ๆ ส่วนกระบวนการหรือขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภานั้นข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดไว้มีลักษณะทำนองเดียวกับของสภาผู้แทนราษฎรที่ได้กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ โดยปกติวุฒิสภาจะพิจารณาร่างกฎหมายเป็น ๓ วาระ วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการหรือเห็นชอบด้วยกับหลักการ การพิจารณาในวาระที่ ๑ นี้ วุฒิสภาจะพิจารณาและลงมติว่าจะรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้พิจารณา หรือไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน และส่งร่างกฎหมายนั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร หากวุฒิสภามีมติรับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา วุฒิสภาก็จะพิจารณาในลำดับต่อไปเป็นวาระที่สอง วาระที่ ๒ เป็นการพิจารณารายละเอียดเรียงลำดับมาตรา การพิจารณาในวาระที่สอง วุฒิสภาจะพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้ง หรือกรรมาธิการเต็มสภาซึ่งโดยปกติจะพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้ง การพิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภาจะกระทำได้ต่อเมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าสิบคน และที่ประชุมวุฒิสภาอนุมัติ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยกรรมาธิการเต็มสภานั้น วุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาปัญหาใดโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ได้ เมื่อพิจารณาเรียงลำดับมาตราจนจบร่างฯ นั้นแล้ว วุฒิสภาจะพิจารณาทั้งร่างเป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์โดยสมาชิกอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำได้ แต่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความใดไม่ได้ นอกจากเนื้อความที่ยังเห็นว่าขัดแย้งกันอยู่ จากนั้นก็จะเป็นการพิจารณาในวาระที่ ๓ วาระที่ ๓ ขั้นลงมติให้ความเห็นชอบ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สามนี้ไม่มีการอภิปราย วุฒิสภาจะลงมติว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร หรือถ้าในการพิจารณาในวาระที่สองได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายนั้น วุฒิสภาก็จะลงมติว่าให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมติให้แก้ไขเพิ่มเติมหมายความว่าให้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่ได้พิจารณาไว้ในวาระที่สอง และมติไม่แก้ไขเพิ่มเติมหมายความว่าวุฒิสภาเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีการ แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวุฒิสภามีมติเห็นชอบด้วยหรือไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร หรือให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติให้ประธานวุฒิสภาแจ้งให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ก่อนที่จะส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังสภาผู้แทนราษฎร หากมีข้อความผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา วุฒิสภาอาจนำร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับมาทบทวนข้อผิดพลาดนั้นได้ หากที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ โดยให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นและให้กระทำโดยกรรมาธิการเต็มสภา ในกรณีที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ และเมื่อทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ให้เสนอให้แต่ละสภาพิจารณา เมื่อกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ให้รายงานและเสนอร่างกฎหมายนั้นต่อสภาทั้งสองเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบด้วยร่างกฎหมายที่คณะกรรมาธิการ ร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ให้ดำเนินการเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ถือว่า “ ยับยั้ง ” ร่างกฎหมายไว้ก่อน เพื่อรอเวลาในการยกขึ้นมาพิจารณา ข้อ ๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร ให้อธิบาย (๒๕ คะแนน) แนวคำตอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐หมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๑ ว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ (๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่า ด้วย การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้ (๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภา พิจารณาเป็นสามวาระ (๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนน โดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (๔) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมด้วย การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอา เสียงข้างมากเป็นประมาณ (๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป (๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนน โดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่า กึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (๗) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๑๕๑ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม เงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือ ๑. รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติในมาตรา 68 บัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้มิได้" ๒. ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้ *************************************************************** บทพิสูจน์ความแกร่ง แห่งเพชรแท้ ความแน่วแน่ที่จะไป...ให้ถึงฝัน จะย่อท้อหวั่นไหว ทำไมกัน หวังและวันแห่งเส้นชัย...ไม่ไกลเกิน **********************************************

แนวคำตอบข้อสอบปลายภาค ๑/๒๕๕๕

แนวคำตอบข้อสอบปลายภาค วิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย รหัส ๒๕๖๑๑๐๑ ๓ (๓-๐) คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้ออกข้อสอบ อาจารย์โกศล บุญคง ผศ.สมนึก ขวัญเมือง คำสั่ง ข้อสอบทั้งหมดมี ๔ ข้อ ให้นักศึกษาทำข้อสอบทุกข้อ คะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน สอบวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. ****************************************************** ข้อ ๑. ระบบกฎหมายหลักของโลกในโลกนี้มีระบบกฎหมายที่ใช้กันอยู่หลายระบบด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่นักศึกษาเล่าเรียนมามีเพียงสองระบบ คือระบบใดบ้าง จงอธิบายถึงลักษณะสำคัญ ( ๒๕ คะแนน) แนวคำตอบ ในการที่มนุษย์มาอยู่รวมกันจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดความประพฤติของมนุษย์เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม กฎเกณฑ์นี้เองเรียกว่า “กฎหมาย” กฎหมายที่ใช้อยู่ในแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของแต่ละสังคม ดังนั้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการอยู่รวมกันในสังคมโลกจึงจำเป็นที่ต้องควรทราบถึงพัฒนาการของระบบกฎหมายที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งระบบกฎหมายออกได้เป็น ๔ ระบบ ดังนี้คือ ๑. ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law) ๒. ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ๓. ระบบกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law) ๔. ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม (Religious and Traditional Law) ตามประเด็นปัญหาในคำถามจึงจะกล่าวถึงเพียงสองระบบที่สำคัญตามที่ได้ศึกษามากล่าวคือ ๑. ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law) คำว่า “โรมาโน” หมายถึง กรุงโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ส่วนคำว่า “เยอรมันนิค” หมายถึง ชาวเยอรมัน การที่ตั้งชื่อระบบกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศอิตาลีและประเทศเยอรมัน เนื่องจาก อิตาลีเป็นประเทศแรกที่รื้อฟื้นกฎหมายโรมันในอดีตขึ้นมาปรับใช้กับประเทศของตน โดยเมื่อประมาณปี ค.ศ. ๑๑๑๐ประเทศอิตาลีเริ่มมีการพัฒนาประเทศทำให้มีการค้าขายมากขึ้น มีการค้าขายระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองขึ้น กฎหมายในประเทศซึ่งมีอยู่เดิมใช้บังคับไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในระบบเศรษฐกิจที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงได้มีการฟื้นฟูกฎหมายโรมันขึ้นมาใช้ โดยมีการนำมาศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยที่เมืองโบลอกนา (Bologna) ปรากฏว่ากฎหมายโรมันมีบทบัญญัติที่สามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ และเห็นว่ากฎหมายโรมันใช้ได้และเป็นธรรม ประเทศอิตาลีจึงได้รับเอากฎหมายโรมันมาบัญญัติใช้บังคับในเวลาต่อมาและกฎหมายโรมันจึงได้ถูกถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาทั่วไป ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่สองที่ได้รับเอากฎหมายโรมันมาใช้เช่นเดียวกันกับประเทศอิตาลี ต่อมาประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สเปน ได้นำกฎหมายโรมันมาปรับใช้กับประเทศของตนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิคนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศในภาคพื้นยุโรป แต่ปัจจุบันระบบกฎหมายนี้มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลกในทวีปต่างๆ ไม่ว่าทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส หรือเม็กซิโก ชิลี เปรู อาร์เจนตินา ที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน แม้กระทั่งประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ซาอีร์ โซมาเลีย รวันดา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสก็ได้รับอิทธิพลของระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิคทั้งสิ้น และประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทยด้วย ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค คือ -กฎหมายระบบนี้ถือว่ากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีความสำคัญกว่าคำพิพากษาของศาล และจารีต ประเพณี -กฎหมายระบบนี้ คำพิพากษาของศาลไม่ใช่ที่มาของกฎหมาย แต่เป็นเพียงบรรทัดฐานแบบอย่างของ การตีความหรือการใช้กฎหมายของศาลเท่านั้น -การศึกษากฎหมาย ต้องเริ่มต้นจากตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ จะถือเอาคำพิพากษาศาล หรือความเห็น ของนักกฎหมายเป็นหลักเช่นเดียวกับหลักกฎหมายไม่ได้ -กฎหมายระบบนี้มีการแบ่งแยกกฎหมายออกเป็น ๒ สาย คือ กฎหมายเอกชนซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนด ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายเกษตร เป็นต้น และกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองของรัฐ เช่น กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายภาษีอากร เป็นต้น ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมานิค (Romano Germanic) นี้ บางตำราเรียกว่า ระบบประมวล กฎหมาย หรือ ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) ๒ . ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์นั้นมีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเดิมก่อนศตวรรษที่ ๑๑ ประเทศอังกฤษยังไม่เป็นปึกแผ่นโดยแบ่งการปกครองเป็นตามแคว้นหรือเผ่าของตนเอง มีระบบกฎหมายและระบบศาลตามเผ่าของตนเองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อมาประมาณศตวรรษที่ ๑๐-๑๕ พระเจ้าวิลเลี่ยม ดยุคแห่งแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศสได้ยกกองทัพเข้ายึดครองเกาะอังกฤษหลังจากการสู้รบกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยผลัดกันยกกองทัพไปรบ การรบครั้งแรกก็ไม่ได้ชัยชนะ ต่อมาก็บุกเข้าไปยึดครองอังกฤษได้ เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในอังกฤษยอมสวามิภักดิ์และยอมอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าวิลเลี่ยมหรือดยุคแห่งนอร์มังดี นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมและปกครองเกาะอังกฤษให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การนำของดยุคแห่งนอร์มังดี อังกฤษจึงเป็นปึกแผ่นครั้งแรกตามประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการปกครองในครั้งนั้นพระเจ้าวิลเลี่ยมมิได้เลิกอำนาจของหัวหน้าเผ่าหรือนำวัฒนธรรม อารยธรรมของนอร์มังดีเข้าไปใช้ในเกาะอังกฤษ แต่ใช้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ของยุโรปภาคพื้นทวีปผสมผสานไปกับระบบที่เป็นอยู่ของเผ่าต่าง ๆ บนเกาะอังกฤษโดยทรงถือว่าพระองค์เป็นเจ้าของราชอาณาจักรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วแบ่งดินแดนต่าง ๆ ให้กับขุนนางและยอมรับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ของอังกฤษที่ยอมเข้าสวามิภักดิ์เป็นขุนนางของพระองค์ ดังนั้นระบบศักดินาสวามิภักดิ์จึงเข้าไปฝังรากในอังกฤษด้วยพระเจ้าวิลเลี่ยมเป็นกษัตริย์ มีขุนนางปกครองแคว้นต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปจากแคว้นนอร์มังดี เป็นการตอบแทนที่ทำสงครามชนะ อีกส่วนหนึ่งก็คือบรรดาหัวหน้าเผ่าที่ยอมสวามิภักดิ์ การใช้กฎหมายต่าง ๆ ใช้กฎหมายชนเผ่าต่อไปตามเดิม ต่อมาพระเจ้าวิลเลี่ยมเห็นความจำเป็นว่าถ้าจะทำให้การปกครองเป็นเอกภาพเป็นปึกแผ่นและอำนาจของพระองค์เข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีกฎหมายที่เหมือนกันใช้ร่วมกันทั้งประเทศหรือทั่วทั้งราชอาณาจักร ถ้าปล่อยให้แต่ละแคว้นมีระบบกฎหมาย ระบบการบริหาร ระบบตัดสินคดีความของตัวเองแตกต่างกันไปหมด การที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่นย่อมจะเป็นไปไม่ได้ การที่จะทำให้สังคมชาติมีความเป็นปึกแผ่น มีความเป็นรัฐที่มีการจัดระเบียบที่ดีจะต้องทำอยู่ ๒ อย่าง คือ การจัดระบบกฎหมายเสียใหม่ทั้งรัฐให้เหมือนกัน และจัดระบบการปกครองที่ทำให้อำนาจนั้นมีเอกภาพ ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) ขึ้น กฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) เป็นกฎหมายที่วิวัฒนาการมาจากคำพิพากษาของศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) อันเนื่องมาจากเดิมการพิจารณาคดีของศาลในแคว้นต่างๆ มีการพิจารณาคดีตามจารีตประเพณีของแคว้นหรือชนเผ่าตนเอง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการกระทำความผิดหรือมีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเกิดขึ้นต่างแคว้นกัน ศาลในแต่ละแคว้นตัดสินแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) โดยมีการคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความสามารถจากส่วนกลางหมุนเวียนออกไปพิจารณาคดีในศาลท้องถิ่นทั่วทุกแคว้น มีการพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) แทนการพิจารณาคดีแบบเดิม โดยถือว่าเมื่อศาลหลวงมีคำพิพากษาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอย่างใดแล้วศาลอื่น ๆ ต้องผูกพันพิพากษาคดีตามศาลหลวง ซึ่งในระยะต้น ๆ มีปัญหาขัดแย้งในการพิพากษาคดีมาก เพราะแต่ละแคว้นก็มีจารีตประเพณีเป็นของตนเอง การใช้กฎหมายบังคับจึงต้องใช้กฎหมายจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น แต่ในระยะต่อมาความขัดแย้งเหล่านี้ค่อย ๆ หมดไปเกิดเป็นจารีตประเพณีที่ถือเป็นหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่มีลักษณะเป็นสามัญ (Common) และใช้กันทั่วไปในศาลทุกแคว้น ด้วยเหตุนี้กฎหมายคอมมอน ลอว์ จึงเริ่มเกิดขึ้นประเทศอังกฤษนับแต่นั้นเป็นต้นมาเนื่องจากจารีตประเพณีที่ใช้บังคับมิได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ศาลจึงเป็นผู้ที่นำจารีตประเพณีมาใช้และพิจารณาพิพากษาคดีโดยอาศัยประเพณีดังกล่าว คำพิพากษาศาลได้มีการบันทึกเอาไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ผู้พิพากษาคนต่อ ๆ มาใช้เป็นแบบอย่าง (Precedent) กล่าวคือ เมื่อศาลใดได้วินิจฉัยปัญหาใดไว้ครั้งหนึ่งแล้วศาลต่อ ๆ มาซึ่งพิจารณาคดี ซึ่งมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันย่อมต้องผูกพันในอันที่จะต้องพิพากษาตามคำพิพากษาก่อน ๆ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างนั้นด้วยคำพิพากษาของศาลจึงมีลักษณะเป็นกฎหมายอย่างหนึ่งแม้ว่าศาลจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกันทั่วประเทศแล้วก็ตามแต่กฎหมายคอมมอน ลอว์ ก็ยังมีช่องว่างและไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ทุกเรื่อง อันเนื่องจากสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และความซับซ้อนของเศรษฐกิจ คำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ไม่อาจใช้บังคับกับข้อเท็จจริงบางเรื่องได้ส่งผลให้ไม่อาจจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมได้ ครั้นต่อมาเมื่อรัฐสภาอังกฤษมีอำนาจมากขึ้น ได้มีการตรากฎหมายลายลักษณ์อักษร (Statutory Law) ขึ้นใช้บังคับอย่างแพร่หลาย โดยถือว่าเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องและเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอน ลอว์ซึ่งเป็นหลักทั่วไป ระบบคอมมอน ลอว์ ปัจจุบันมีที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศที่เคยอยู่ในเครือจักรภพของอังกฤษ เป็นต้น ลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ คือคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ศาลต้องผูกพันพิพากษาคดีตามแนวคำพิพากษาที่ได้มีมาแต่เดิม ตามหลัก “ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน” -คำพิพากษาของศาลมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเพียง ข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอนลอว์ ในกรณีที่ไม่มีคำพิพากษามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น -การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากการศึกษาคำพิพากษาของศาลที่มีมาแต่เดิมเป็นหลัก -มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) นี้ บางตำราเรียกว่า ระบบกฎหมายจารีตประเพณี สรุป ระบบกฎหมายหลักในโลกมีสองระบบคือระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law) หรืออาจเรียกว่า ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร(civil Law) และระบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ข้อ ๒. จงอธิบายคำตอบ ในสองข้อย่อยต่อไปนี้ ให้ละเอียดตามความเข้าใจของนักศึกษา ข้อ ๒.๑ ให้นักศึกษาอธิบายถึง หลักความยุติธรรม (Equity) ที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดีในระบบศาลซานเซอรี่ ของอังกฤษ (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ ในสมัยแรกเริ่มจัดตั้งศาลชานเซอรี่นั้น ศาลใช้หลักสำนึกอันดีงามและหลักความเป็นธรรมในการตัดสินคดี แต่ไม่มีความนึกคิดที่จะยึดถือหลักบรรทัดฐานคำพิพากษาแต่ประการใด ในศตวรรษที่ ๑๗ มีการตั้งผู้พิพากษาไปแทนชานเซลเล่อร์ซึ่งเป็นนักบวชในคริสตศาสนาและพิมพ์รายคำพิพากษา (report) ขึ้นมาจึงทำให้มีการถือตาม คำพิพากษาที่เคยมีอยู่แต่เก่าก่อนและวางหลัก (maxims) ที่ใช้ในการตัดสินคดี เช่น ๑. เอคควิตี้จะไม่บังคับตามสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งของสัญญามีอำนาจการต่อรองเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก ๒. บุคคลที่มาแสวงหาความเป็นธรรมจะต้องมาด้วยมือสะอาด ๓. เอคควิตี้ไม่ใช่เป็นเครื่องมือสำหรับการแก้แค้น ๔. เอคควิตี้ใช้บังคับเอากับตัวบุคคล ๕. เอคควิตี้เป็นฝ่ายตามกฎหมาย ๖. เอคควิตี้จะต้องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาเสมอ ๗. เอคควิตี้คือความเสมอภาค ๘. ระหว่างความเท่าเทียมกันผู้ที่มาก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า ฯลฯ ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดพอที่จะสรุปข้อแตกต่างระหว่างคอมมอนลอว์กับ เอคควิตี้ได้ ดังนี้ ๑. สภาพแห่งคดี คอมมอนลอว์บังคับเอากับทรัพย์สินของจำเลย กล่าวคือโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินตราเท่านั้น การไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลไม่เป็นหมิ่นอำนาจศาล สำหรับเอคควิตี้นั้นบังคับเอากับเนื้อตัวร่างกาย การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลเป็นการหมิ่นอำนาจศาล ๒. การพิจารณาคดี คดีคอมมอนลอว์ใช้ลูกขุนเป็นผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริง ส่วนผู้พิพากษาเป็น ผู้วินิจฉัยข้อกฎหมาย สำหรับคดีเอคควิตี้นั้นพิจารณาต่อหน้าชานเซลเล่อร์ ไม่มีการพิจารณาข้อเท็จจริงโดยลูกขุน ชานเซลเล่อร์เป็นผู้พิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ๓. การเยียวยา คดีคอมมอนลอว์ให้การเยียวยาแต่เฉพาะเป็นเงินตรา สำหรับคดีเอคควิตี้นั้นโจทก์อาจได้รับความบรรเทาความเดือดร้อนโดยศาลอาจสั่งให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้เฉพาะสิ่ง (specific performance) ตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือสั่งห้ามจำเลยกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด (injunction) หลังจากที่ประเทศอังกฤษได้ปฏิรูปกิจการศาลในปี ๑๘๗๓-๗๕ โดย เธอะ จูดิเคเจอร์ แอคท์ (The Judicture Act) ทำให้ศาลส่วนกลางมีอำนาจใช้ทั้งกฎหมาย คอมมอนลอว์และเอคควิตี้ ดังนั้นโจทก์จึงอาจนำคดีคอมมอนลอว์และเอคควิตี้มาฟ้องในศาลเดียวกันโดยไม่ต้องแยกฟ้องเหมือนสมัยก่อน ข้อ ๒.๒ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายชาวโรมันในอดีต ที่ได้นำความคิดเห็นของนักปราชญ์ มาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร จงอธิบายว่าส่วนประกอบอะไรบ้าง (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน (The Justinian Code) เป็นกฎหมายของโรมันที่จัดทำขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. ๕๒๘โดยจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบไปด้วยนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง เพื่อรวบรวมกฎหมายโรมันให้มีลักษณะเป็นหมวดหมู่ยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาจดจำ ได้ตัดข้อความเกี่ยวกับศาสนาและสิ่งที่ไม่เป็นสาระออกเพื่อให้มีแต่หลักสำคัญ และเรียกประมวลกฎหมายฉบับนี้ว่า “ประมวลกฎหมายจัสติเนียน หรือ คอร์ปัส จูริส ซิวิลิส” (Corpus Juris Civilis) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่มีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมายของประเทศต่างๆ ในยุโรประยะหลังๆ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นกฎหมายที่มีความแน่นอนเป็นหลักเป็นฐาน เนื่องจากได้จัดทำเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรทำให้สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ และยังสามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย จึงเป็นประมวลกฎหมายที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นต้นแบบของหลักกฎหมายและแนวความคิดในการจัดทำประมวลกฎหมายของประเทศต่างๆ ในระยะหลังต่อ มาจนถึงในปัจจุบัน จักรพรรดิจัสติเนียน (The Justinian) ได้ทรงโปรดให้มีการรวบรวมเอาจารีตประเพณีและกฎหมายของพวกโรมันที่มีการร่างเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นแล้วมารวบรวมไว้เป็นเล่มอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ ส่วนคือ ส่วนที่ ๑ เรียกว่า Codex (โคเด็กซ์) คือประมวลกฎหมายโรมัน มีทั้งหมด ๑๒ หมวด จักรพรรดิจัสติ เนียนได้มอบหมายให้รัฐมนตรี ๑๐ คน ทำการร่างโดยมีการยกร่างเอากฎหมายเก่าๆ ของพวกโรมันมาชำระสะสาง กฎหมายใดไม่ทันสมัยก็ตัดทิ้งไปเอากฎหมายทันสมัยมาใส่แทนเป็นประมวลกฎหมายเสร็จในราวปี ค.ศ. ๕๒๙ ส่วนที่ ๒ เรียกว่า Digest (ไดเจสท์) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของประมวลกฎหมายจัสติเนียน จักรพรรดิจัสติเนียนได้มอบหมายให้ทรีบอเนียน (Tribonian) ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนหนึ่งศึกษาข้อเขียนของกฎหมายโรมันรุ่นเก่าๆ และพยายามสกัดเอาหลักกฎหมายมาจากพวกข้อเขียน ตำรา และเอามารวบรวม มีการอธิบาย มีการวางหลักกฎหมาย การตีความ รวบรวมไว้ทั้งหมด ๕๐ หมวด ประกอบด้วย ๑๕๐,๐๐๐ บรรทัด รวบรวมหลักกฎหมายที่สกัดไว้ถึง ๙,๑๒๓ หลัก เสร็จในราวปี ค.ศ.๕๓๐ กฎหมายส่วนที่เรียกว่า Digest นี้เอง ตอนหลังมีการค้นพบในทางตอนเหนือของอิตาลีและประเทศต่างๆ นำไปศึกษาค้นคว้าปรับปรุงกฎหมายของประเทศตนเอง ส่วนที่ ๓ เรียกว่า Novel (โนเวล) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนและกฎหมายที่ ตราขึ้นภายหลังที่มีประมวลกฎหมายโรมันแล้วเป็นการแก้ไขส่วนที่เรียกว่า Codex ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อยู่ในระหว่าง ค.ศ.๕๓๔ – ค.ศ.๕๖๕ ส่วนที่ ๔ เรียกว่า Institute (อินสติติวท์) เป็นตำราวางพื้นฐานที่จะเริ่มต้นศึกษากฎหมายในสมัย โรมัน จัดพิมพ์ในปี ค.ศ.๕๓๓ แบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ “Persona” ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในฐานะต่างๆ ในสังคม “Res” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สิน “Actio” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาคดี ข้อ ๓. “อุทลุม” ที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกับหลักการที่ปรากฎในประมวลกฏหมายและพานิชย์หรือไม่ จงอธิบาย ( ๒๕ คะแนน) แนวคำตอบ อุทลุม (/อุดทะลุม/) ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นศัพท์กฎหมายไทย โดยเป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า "ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง คำ "อุทลุม" นี้ใช้เรียกบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่กระทำผิดธรรมะบังอาจฟ้องร้องบุพการีผู้มีพระคุณ เรียกว่า "คนอุทลุม" และเรียกคดีในกรณีนี้ว่า "คดีอุทลุม" ดังที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะรับฟ้อง ดังนี้ "มาตรา ๒๑ อนึ่ง ในฟ้องนั้นเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อันหาความแก่พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ดี ให้ยกฟ้องเสีย มาตรา ๒๕ ผู้ใดเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ตา ยาย แลมันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกรรจ์ อย่าให้มันคนร้ายนั้นดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป แล้วอย่าให้บังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย" ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้น คณะกรรมการร่างได้รับเอาหลักการว่าด้วยคุณธรรมของมนุษย์หลายเรื่องจากกฎหมายตราสามดวงมาโดยตรงทีเดียว ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมายของชาติใดอีกแล้ว อันรวมถึงเรื่องคดีอุทลุมด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ครอบครัว, ลักษณะ ๒ บิดามารดากับบุตร, หมวด ๒สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ที่ยังใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน ห้ามผู้สืบสันดาน (descendant) ฟ้องบุพการี (ascendant) ของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา โดยบัญญัติว่า "มาตรา ๑๕๖๒ ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" ทั้งนี้ โดยเหตุที่บทบัญญัติมาตรา ๑๕๖๒ ข้างต้น ตัดสิทธิของบุคคล ศาลไทยจึงตีความโดยเคร่งครัดว่า "บุพการี" ซึ่งหมายถึง "ผู้ที่ทำการอุปการะมาก่อน" นั้น ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และทวด โดยทางสายโลหิตเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงกรณีที่บุตรบุญธรรมจะฟ้องบุพการีบุญธรรมของตน ดังแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๗/๒๕๔๘ บทกฎหมายที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒ ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น" อย่างไรก็ดี การที่บุตรจะฟ้องบุพการีของตนมิใช่เพื่อให้รับผิดต่อกันในทางส่วนตัว หรือในฐานะอื่นที่ไม่ถือว่าเป็นการพิพาทกันระหว่างบุตรกับบุพการี ไม่จัดเป็นอุทลุมตามกฎหมายปัจจุบัน ดังศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๙๘/๒๕๑๙ "...จำเลยฎีกาว่า...การที่โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนผู้เยาว์เป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๓๔ [มาตรา ๑๕๖๒ ปัจจุบัน] เห็นว่า...การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จากจำเลย ก็ไม่เป็นคดีอุทลุม เพราะฟ้องในฐานะที่เป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่ใช่ฟ้องในนามผู้เยาว์หรือในฐานะผู้แทนผู้เยาว์" ข้อ ๔. จงอธิบายคำตอบ ในสองข้อย่อยต่อไปนี้ ให้ละเอียดตามความเข้าใจของนักศึกษา ๔.๑ มีคำกล่าวว่าระบบกฎหมายในภาคพื้นยุโรปมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการร่างประมวลกฎหมายขึ้นมาใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นแบบ Civil Law จงอธิบายเหตุผลเพื่อสนับสนุนคำกล่าวข้างต้น (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ แม้ว่าผู้นำในวงการกฎหมายสมัยนั้น คือกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบกฎหมายแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (COMMON LAW SYSTEM) แต่เหตุ ใดรัฐกาลที่ ๕ ทรงเลือกใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายในระบบลายลักษณ์อักษร (CIVIL LAW SYSTEM) ในเรื่องนี้มีข้อสรุปจากคณะกรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายว่า ระบบกฎหมายอังกฤษเหมาะสมสำหรับชาวอังกฤษมากกว่าประเทศอื่น เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีและคำพิพากษาของศาลเป็นหลัก ตัวบทกฎหมายก็มิได้มีการรวมไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรนั้น มีกฎหมายโรมันเป็นหลัก เป็นกฎหมายที่มีการแบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย มีตัวบทที่แน่นอนและเป็นหลักฐานเหมาะสำหรับประเทศไทยที่ในขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบัญญัติกฎหมาย คือ ความชัดเจน เข้าใจง่าย ใช้สะดวก และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประเทศโดยส่วนมากในทวีปยุโรปใช้ระบบประมวลกฎหมาย การที่ประเทศไทยใช้ระบบเดียวกันทำให้สะดวกในการเจรจาขอปลดเปลื้องสิทธิเสรีภาพนอกอานาเขตต่อไป จากการที่ได้ศึกษาวิวัฒนาการของกฎหมายต่างประเทศ ทำให้เราสามารถทราบว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยได้รับอิทธิพลจากกฎหมายประเทศต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในระบบซีวิลลอว์ กล่าวคือใน บรรพ ๑ และบรรพ ๒ได้ลอกเลียนมาจากกฎหมายแพ่งเยอรมัน และกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นการนำเอาระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมานิคมาใช้นั้นเอง เพราะเห็นว่ากลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรนั้น มีกฎหมายโรมันเป็นหลัก เป็นกฎหมายที่มีการแบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย มีตัวบทที่แน่นอนและเป็นหลักฐานเหมาะสำหรับประเทศไทย บรรพ ๓ ว่าด้วยเอกเทศสัญญา มีการเอาแบบอย่างกฎหมายมาจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในลักษณะ ๑ กฎหมายว่าด้วย ซื้อขาย ได้ยึดถือพระราชบัญญัติซื้อขายสินค้า (The Sale of Goods Act ๑๘๙๓) มาเป็นแบบอย่าง ในส่วนที่เป็นกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินได้นำเอาบทบัญญัติส่วนใหญ่ของเธอะบิลล์ ออฟ เอ๊คซ์เจนจ์ แอคท์ ค.ศ. ๑๘๘๒ (The Bill of Exchange Act, ๑๘๘๒) ของอังกฤษมาเป็นรากฐานในการร่าง นอกจากนี้กฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทจำกัด ก็ได้ต้นแบบมาจากกฎหมายอังกฤษเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบคอมมอนลอว์ อยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น จึงถือว่าระบบกฎหมายในภาคพื้นยุโรปมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการร่างประมวลกฎหมายขึ้นมาใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นแบบ Civil Law ๔.๒ จงอธิบายถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ของประเทศไทย มาพอสังเขป (๑๒.๕ คะแนน) แนวคำตอบ กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศสยามต้องผจญอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม จนที่สุดหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน รวมถึงสยามเองก็จำต้องยอมรับนับถือเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ของตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศตน โดยเฉพาะด้านการเมืองการปกครองของสยามนั้น ชาวตะวันตกต่างดูถูกดูแคลนว่าพระราชกำหนดบทพระอัยการกฎหมายตราสามดวงมีความล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ยอมให้ใช้กฎหมายเหล่านั้นแก่ตนเป็นอันขาด เป็นเหตุให้สยามจำต้องทำสนธิสัญญาเสียเปรียบกับชาติตะวันตกหลายประเทศยอมยกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ชาวต่างชาติ แต่ในกระวนการมีปัญหาอุปสรรคสรุปได้ ดังนี้ ๑. กรรมการชุดแรกมีการเปลี่ยนแปลงเอาผู้ไม่มีความสามารถมาร่างประมวลกฎหมาย กล่าวคือกรรมการชุดนี้เป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมดมียอร์ช ปาดู เป็นประธาน เริ่มลงมือร่างประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้แก่ ราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๗ ชอร์ช ปาดู เดินทางกลับไปยุโรปและได้แนะนำเดแลสเตร (Délestrée) แก่ทางการไทยให้รับหน้าที่แทนตน ปรากฏว่าเดแลสเตรผู้นี้ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการยกร่าง ซ้ำเขายังรื้อโครงการที่ชอร์ช ปาดู และคณะทำไว้ก่อนหน้า ทำให้ร่างประมวลกฎหมายเกิดความอลเวง และการดำเนินงานเป็นไปโดยเชื่องช้าอย่างถึงที่สุด เมื่อชอร์ช ปาดู เดินทางกลับมาใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึงกับตกตะลึงที่รับทราบว่างานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยุ่งเหยิงถึงเพียงนั้น ทั้งที่ตนได้วางระเบียบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เขาถึงเจรจราให้เดแลสเตรลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสีย เพื่อเขาจะได้กลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง และแล้ว งานร่างประมวลกฎหมายก็ดำเนินต่อไป ๒. ปัญหาตั้งกรรมการหลายชุดเกินไป กรรมการชุดที่สองการ ดำเนินงานก็มิใช่ง่าย เนื่องจากในการหยิบ ยกบทกฎหมายของไทยแต่เดิมขึ้นมาพิจารณาประกอบนั้น ตัวบทกฎหมายทางวิธีพิจารณาความและทางอาญามีมากกว่าทางแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ได้ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้รับตำแหน่งแทน ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหลายคณะจนเฝือ เช่น คณะกรรมการช่วยยกร่าง คณะกรรมการตรวจคำแปลให้ถูกต้องทั้งด้านกฎหมายและการใช้ภาษา เป็นผลให้งานร่างกฎหมายเป็นไปอย่างติด ๆ ขัด ๆ และการติดต่อประสานงานกันระหว่างคณะกรรมการทั้งหลายเป็นไปอย่างล่าช้า มีความคืบหน้า น้อยมาก ๓. มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา ที่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยอ่านแล้วไม่เข้าใจ กรรมการร่างกฎหมายชุดที่ ๓ พบว่าการดำเนินงานโดยเอกัตภาพของกรมร่างกฎหมาย กระทรวง ยุติธรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การตรวจชำระร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และบรรพ ๒ เสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทว่า ร่างทั้งสองกลับมิใช่ร่างที่สมบูรณ์แบบ เพราะเดิมนั้นจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนจะแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็แปลมาตรงตัวเลยทีเดียว กรรมการร่างกฎหมายฝ่ายที่เป็นชาวสยามอ่านแล้วไม่เข้าใจ คณะกรรมการร่างกฎหมายจึงลงมติว่าควรจัดพิมพ์และแจกจ่ายร่างฉบับดังกล่าวให้บรรดาผู้พิพากษาสุภาตุลาการทนายความและนักกฎหมายทั้งหลายได้อ่านเสียก่อน เพื่อหยั่งฟังเสียงดูความเห็นของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ หลักทั่วไป และบรรพ ๒ หนี้ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๖ แต่ให้มีผลใช้บังคับในวันที่ ๑ มกราคม ปีถัดไป ปรากฏว่าประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะหมู่ผู้พิพากษาและทนายความวิพากษ์วิจารณ์ว่า "อ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ๔. การเปลี่ยนแบบจากการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเป็นแม่แบบมาเป็น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน เป็นแม่แบบแทน ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ นั้นเอง ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ ๔ โดยชุดนี้ ประกอบด้วย มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) และเรอเน กียง (René Guyon) คณะกรรมการได้ประชุมปรึกษากันเพื่อหาวิธีการให้งานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดำเนินไปโดยตลอดรอดฝั่ง ซึ่งครั้งนั้น พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) เสนอว่า จากเดิมที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (Code civil des Français) ซึ่งมี 3 บรรพ เป็นแม่แบบ ควรเปลี่ยนมาใช้ เบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุค (Bürgerliches Gesetzbuch) หรือประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน เป็นแม่แบบแทน ด้วยการลอก มินโป (民法, Minpō) หรือประมวลกฎหมายแพ่งแห่งญี่ปุ่น ที่ยกร่างโดยอาศัยเบือร์แกร์ลีเชสเกเซทซ์บุคเป็นแม่แบบก่อนแล้ว ประกอบกับการใช้ซีวิลเกเซทซ์บุค (Zivilgesetzbuch) หรือประมวลกฎหมายแพ่งสวิส เป็นแม่แบบอีกฉบับหนึ่ง แต่เพื่อไม่ให้เสียไมตรีกับทางฝรั่งเศส จึงนำเอาบทบัญญัติบางช่วงบางตอนจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับเดิมที่ประกาศใน พ.ศ. ๒๔๖๖ มาประกอบด้วย ที่สุดก็ได้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพแรก ๆ ที่สมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ๕. ปัญหาอิทธพลของระบบคอมมอนลอว์ที่มีมาก่อน และการปรับกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศ แถบยุโรปให้เหมาะสมกับสังคมไทย ภายหลังจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และบรรพ ๒ ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ พร้อมกับการประกาศใช้บรรพ ๓ ในเวลาเดียวกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ กรมร่างกฎหมายซึ่งวิวัฒนามาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันก็รับหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายสืบต่อมา โดยในการร่างบรรพอื่น ๆ นั้น แม้จะมีประมวลกฎหมายแพ่งของชาติอื่น ๆ ในระบบซีวิลลอว์เป็นแม่แบบ แต่หลักกฎหมายของระบบคอมมอนลอว์ที่เคยใช้อยู่แต่เดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ การรับกฎหมายของต่างชาติเข้าหาได้หยิบยกมาทั้งหมด ทว่า ได้ปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย จากปํญหาและอุปสรรคข้างต้นทำให้การร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขั้น ใช้เวลาถึง ๓๐ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะมีความยาวมาก มีทั้งสิ้น ๑๗๕๕ มาตรา จำนวน ๖ บรรพ ประกาศใช้ครบทุกบรรพเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๗ **************************************************** บทพิสูจน์ความแกร่ง แห่งเพชรแท้ ความแน่วแน่ที่จะไป...ให้ถึงฝัน จะย่อท้อหวั่นไหว ทำไมกัน หวังและวันแห่งเส้นชัย...ไม่ไกลเกิน